‘สกพอ.-บี.กริม’ เซ็นสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ 100 ไร่ ลงทุนสร้าง ‘โรงไฟฟ้าโคเจนฯ-โซลาร์ฟาร์ม’ กำลังผลิต 95 MW พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน ก่อนป้อนไฟฟ้าขายให้สนามบินอู่ตะเภาฯเป็นเวลา 25 ปี ขณะที่ ‘กองทัพเรือ’ เจ้าของโครงการสนามบินอู่ตะเภา รับรับส่วนแบ่งรายได้-ค่าเช่าที่ดิน ตลอดสัญญากว่า 8,179 ล้านบาท และจะได้ส่วนแบ่งเพิ่มอีก หากมีการลงทุนโรงไฟฟ้าเฟส 2 อีก 135 MW
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เป็นประธานลงนามสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
หลังจากก่อนหน้านี้ กองทัพเรือ ในฐานะเจ้าของโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ร่วมกับ สกพอ. ได้คัดเลือกบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุ 100 ไร่ เพื่อดำเนินการด้านสาธารณูปโภค โครงการงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา
สำหรับรายละเอียดโครงการดังกล่าวฯ เป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานกำลังผลิตติดตั้งระยะที่ 1 รวม 95 MW (เมกะวัตต์) แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generation Power Plant) ซึ่งใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ กำลังผลิต 80 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PV Solar Farm) กำลังผลิต 15 MW นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ (Energy Storage System) ขนาด 50 MW/h (เมกะวัตต์ชั่วโมง) วงเงินลงทุนประมาณ 3,800 ล้านบาท
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. ระบุว่า สิ่งที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะได้รับจากการลงทุนโครงการระบบไฟฟ้าและน้ำเย็นของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ ไม่ใช่แค่กระแสไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังได้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าชั้นนำที่ผสมผสานระหว่าง การผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม การผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ และการระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งทำให้สนามบินอู่ตะเภามีความมั่นคงด้านพลังงาน และถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ กล่าวว่า หลังจากลงนามสัญญาแล้ว บริษัทฯจะเริ่มเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานในระยะที่ 1 ทันที และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าระยะที่ 2 นั้น ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ไฟฟ้าของสนามบินและเมืองการบินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่ และภาครัฐจะจัดหาที่ดินเพิ่มเติมให้กับบริษัทฯได้เมื่อใด
นายโชคชัย ปัญญายงค์ ที่ปรึกษาพิเศษโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก สกพอ. กล่าวว่า ในระยะแรกบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ จะผลิตไฟฟ้าให้กับสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน รวม 95 MW และน้ำเย็นที่ผลิตได้จะนำไปใช้ในระบบปรับอากาศของสนามบิน ขณะเดียวกัน บริษัทฯยังมีการลงทุนระบบกักเก็บพลังงานขนาด 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งลดการสูญเสียพลังงาน และทำให้สนามบินฮุ่ตะเภามีไฟฟ้าใช้ตลอดเวลา
“หลังจากลงนามสัญญาวันนี้แล้ว บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯจะเริ่มลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเลย ซึ่งการก่อสร้างทั้งโครงการจะใช้เวลา 4 ปี 6 เดือน แต่จะมีโรงไฟฟ้าบางส่วนที่ก่อสร้างเสร็จเสร็จภายใน 2 ปีครึ่ง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ดังกล่าวจะนำไปสนับสนุนกิจกรรมในสนามบินอู่ตะเภาที่เปิดให้บริการก่อน ขณะที่ตามสัญญา บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ จะขายไฟฟ้าให้กับสนามบินและเมืองการบินได้เป็นเวลา 25 ปี 6 เดือน” นายโชคชัยกล่าว
สำหรับผลตอบแทนที่ภาครัฐและกองทัพเรือจะได้รับจากบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ นายโชคชัย กล่าวว่า บริษัทฯจะจ่ายค่าตอบแทนเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.จ่ายค่าที่ดินให้ภาครัฐคิดเป็นอัตรา 3% ของมูลค่าที่ดิน และ2.การจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับกองทัพเรือในสัดส่วน 15%
(สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เป็นประธานลงนามสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.63)
นายโชคชัย ระบุว่า แม้ว่าผู้ลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ซึ่งก็คือบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ กับผู้ลงทุนและบริหารสนามบินอู่ตะเภา คือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด จะเป็นเอกชนคนละรายกัน แต่จะไม่มีปัญหาในการบริหารจัดการแน่นอน เพราะหน่วยงานภาครัฐ โดยสกพอ. จะเป็นผู้วางแผนและบริหารจัดการในภาพรวม ทั้งนี้ เนื่องจากสนามบินอู่ตะเภาไม่ใช่สนามบินเอกชน แต่เป็นสนามบินของรัฐ ที่ภาครัฐให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน
“สนามบินอู่ตะเภาไม่ใช่สนามบินของเอกชน แต่เป็นสนามบินของรัฐ และเป็นการร่วมลงทุนกับเอกชนในส่วนการบริหารจัดการ อย่างการสร้างรันเวย์ก็เป็นหน้าที่ของกองทัพเรือ ส่วนระบบไฟฟ้าที่เราให้เอกชนเข้ามาเช่าสร้างนั้น เราจะมีกติกากลางเอาไว้ เช่น หากการผลิตไฟฟ้าของเอกชนมีปัญหา เราก็จะดึงไฟฟ้าจากการการไฟฟ้าฯ เข้ามาใช้สนามบิน โดยสกพอ. เป็นผู้วางระบบและเชื่อมโยงกับเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนทั้งหมด” นายโชคชัยกล่าว
เมื่อถามว่า การประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการดำเนินงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น พื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ด้วยการให้เช่าที่ราชพัสดุในพื้นที่เขตส่งเสริม : เมืองการบินตะวันออก โดยวิธีการคัดเลือก และกองทัพเรือ ได้คัดเลือกบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ ให้เป็นผู้ชนะประมูลตั้งแต่เดือนก.ย.61 แต่เหตุใดเพิ่งลงนามสัญญาวันที่ 26 มิ.ย.63 หรือ ผ่านมาแล้ว 1 ปี 9 เดือนนั้น นายโชคชัย กล่าวว่า เป็นเพราะต้องมีการจัดแผนให้สอดคล้องกับสนามบินอู่ตะเภา
“คืออย่างนี้ มันต้องมีการจัดแผนให้สอดคล้องกับสนามบิน เพราะตอนนั้นสนามบิน (อู่ตะเภา) เรายังไม่ได้ตัวผู้ลงทุนสนามบินเลย ถ้าไปเซ็นสัญญาไป คนผลิตไฟฟ้าก็ต้องรออยู่ดี” นายโชคชัยกล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการดำเนินงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น พื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาฯ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ จะสร้างโรงไฟฟ้าเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ขนาด 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินขนาด 15 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงาน 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง รวมขนาดโรงไฟฟ้าในระยะที่ 1 มีขนาด 95 เมกะวัตต์ โดยปริมาณไฟฟ้าส่วนที่เกินจากปริมาณการใช้ในพื้นที่ 6,500 ไร่ จะถูกนำไปจำหน่ายนอกพื้นที่
และก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าและระบบจำหน่ายจากโรงไฟฟ้าไปยัง Substation 2 ซึ่งมีการผลิตน้ำเย็นขนาดประมาณ 3,375 ตันความเย็น ใช้เงินลงทุนในระยะนี้ 3,557 ล้านบาท โดยสนอขายไฟฟ้าที่ระดับแรงตัน 115 KV ในอัตราส่วนลดร้อยละ 15.16% จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คิดเป็นราคาที่บริษัทฯ จะขายให้เท่ากับ 2.7900 บาท/หน่วย (ไม่รวม Vat)
ส่วนผลประโยชน์ที่กองทัพเรือ (ทร.) จะได้รับในระยะนี้ ประกอบด้วย อัตราส่วนลดร้อยละ 15.16% รวมค่าเช่าที่ดิน ค่าบริหารจัดการโรงไฟฟ้า คิดเป็นเงินรวม 8,179 ล้านบาท ในระยะเวลาสัญญา 25 ปี เฉลี่ย 327.16 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 3,172 ล้านบาท
ระยะที่ 2 สร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาด 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินหรือติตตั้งบนหลังคาหรือแบบลอยน้ำ ขนาด 55 เมกะวัตต์ (กรณี ทร.สามารถจัดสรรพื้นที่ขนาด 300 ไร่) รวมขนาดโรงไฟฟ้าในระยะที่ 2 มีขนาด 135 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนในระยะนี้ 2,377 ล้านบาท
โดยเสนอขายไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 115 KV ในอัตราส่วนลดร้อยละ 20 จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของ กฟผ. คิดเป็นราคาที่บริษัทฯจะขายให้เท่ากับ 2.630 บาท/หน่วย (ไม่รวม Vat) ส่วนผลประโยชน์ในการขายไฟฟ้าในระยะนี้ คือ 12,093 ล้านบาท ในระยะ 25 ปี เฉลี่ย 483.72 ล้านบาท โดยคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน เป็นเงิน 4,218 ล้านบาท
(ที่มา : กองทัพเรือสรุป รายละเอียดข้อเสนอ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ เมื่อเดือนก.ย.61 ซึ่งทำให้บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการดำเนินงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น พื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา แต่เนื่องการลงนามสัญญาล่าช้าจากกำหนด ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาก่อสร้างในระยะที่ 1 ส่วนการลงทุนระยะที่ 2 ยังไม่มีการกำนดระยะเวลาลงทุนที่แน่นอน)
อ่านประกอบ :
'อีอีซี-บีบีเอส'ลงนามร่วมทุน 2.9 แสนล้านพัฒนา'อู่ตะเภา-เมืองการบินฯ'
เคาะร่างสัญญาสนามบินอู่ตะเภา 2.9 แสนล้าน! กพอ.ชงครม.อนุมัติ-คาดเซ็นกลุ่มบีบีเอส มิ.ย.นี้
ให้ผลตอบแทนรัฐดีที่สุด! ทร.เคาะเลือกกลุ่มบีบีเอส 'หมอเสริฐ' พัฒนาอู่ตะเภาฯ 3.05 แสนล.
คดีอู่ตะเภา 2.9 แสนล.ยังไม่จบ! ทร.ขออัยการฯยื่นศาลปค.สูงสุดพิจารณาคดีใหม่-คู่ขนานเปิดซองกลุ่มซีพี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/