'อีอีซี-บีบีเอส' ลงนามร่วมทุน 2.9 แสนล้านบาท พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก คาดรัฐได้ประโยชน์คืนกว่า 3 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานอีก 1.5 หมื่นคนในช่วง 5 ปีแรก 'บิ๊กตู่' เชื่อโครงการนี้อยู่คู่ประเทศไทยไปนานอีกร้อยปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการลงนามระหว่างสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ยื่นข้อเสนอเงินประกันขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนให้แก่รัฐดีที่สุด เพื่อร่วมกันลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท แต่เป็นโครงการที่รัฐได้ผลประโยชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มปีละ 15,600 ตำแหน่งในช่วง 5 ปีแรก นอกจากนั้นยังเกิดการพัฒนาบุคลากรด้านธุรกิจการบินและธุรกิจเชื่อมโยง โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา
ขณะเดียวกันการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอีอีซี ที่นอกจากจะเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของไทย และเชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินรองรับผู้โดยสารรวมกัน ได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ โครงการฯ จะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและ Logistics & Aviation รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของมหานครการบินภาคตะวันออกที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 กิโลเมตรรอบสนามบิน ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่พัทยาถึง จ.ระยอง
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอีอีซีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลแรกที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เริ่มโครงการ จนถึงวันนี้มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เข้ามาขับเคลื่อนต่อ ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะส่งเสริมความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจ ยังช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การลงนามวันนี้เป็นการยืนยันในเจตจำนงค์ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นแนวทางการลงทุนของรัฐต่อไปในอนาคต ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นมิติใหม่ในการก้าวเดินของประเทศไทย พร้อมยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค อีกทั้งจะมีความต่อเนื่องในการลงทุนในทุกมิติ ซึ่งรัฐบาลพยายามเร่งรัดในทุกเรื่องเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงขอบคุณประชาชนในพื้นที่ที่มีส่วนร่วม
"เราจะต้องเป็น New Normal คิดใหม่ ชีวิตที่เป็นปกติใหม่ ต้องมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นคือความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ไม่มีอะไรทำได้โดยคนๆ เดียวหรือหน่วยงานเดียว โครงการอีอีซีเกิดขึ้นโดยการนำพาของรัฐบาล มีหลายพรรคหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกคน ผมคาดหวังว่าสิ่งที่ทำวันนี้จะเป็นประโยชน์เพื่ออนาคต โครงการนี้มีอายุสัญญาโครงการกว่า 50 ปี ไม่ว่าเราจะอยู่หรือไม่อยู่ แต่โครงการนี้ก็จะอยู่คู่กับประเทศยาวนานเป็นร้อยปี" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
สำหรับผู้ร่วมลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ประกอบด้วย พลร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ , นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก , นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) , นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ ศรีชํานิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรี รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage