"...รัฐบาลยืนยันว่าจะสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้จะไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล จึงขออนุญาตให้การบินไทยเข้าไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของศาลฯ และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯภายใต้คำสั่งของศาล ซึ่งศาลจะพิจารณาแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการการฟื้นฟูการบินไทย..."
ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ ก็มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎมายล้มละลาย
“ผมเองรู้สึกว่า การที่ผมตัดสินใจให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ โดยไม่ปล่อยให้การบินไทยต้องเข้าสู่สถานะล้มละลาย ซึ่งอาจจะทำให้พนักงานมากกว่า 2 หมื่นคนถูกลอยแพนั้น พวกเราทุกคนคงไม่อยากให้เกิดเหตุการเช่นนั้นขึ้น คงไม่อยากเห็น
เพราะฉะนั้น รัฐบาลยืนยันว่าจะสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้จะไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล จึงขออนุญาตให้การบินไทยเข้าไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของศาลฯ และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯภายใต้คำสั่งของศาล ซึ่งศาลจะพิจารณาแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการการฟื้นฟูการบินไทย...” พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังประชุมครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ค.63 (อ่านประกอบ : ครม.ส่ง'การบินไทย' ฟื้นฟูกิจการต่อศาล 'บิ๊กตู่' หวังเห็นภาพสายการบินแห่งชาติกลับมา)
ทั้งนี้ หากศาลฯมีคำสั่งให้รับคำร้องฟื้นฟูกิจการฯไว้พิจารณาแล้ว บริษัท การบินไทย จะได้รับการคุ้มครองในหลายเรื่อง เช่น ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามมิให้เจ้าหนี้ยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้ เป็นต้น
ขั้นตอนต่อมา เมื่อศาลฯจะมีคำสั่งเรียกประชุม ‘เจ้าหนี้’ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ‘ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ' เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีรายการอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนด หาก ‘เจ้าหนี้’ ไม่คัดค้านก็ให้ ‘ผู้ทำแผนฯ’ นั้นทำแผนฟื้นฟูกิจการมาเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้
อย่างไรก็ดี หากเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการที่ ‘ผู้ทำแผนฯ’ เสนอ เจ้าหนี้ต้องมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ เพื่อกำหนดให้ 'บุคคลอื่น' มาเป็นผู้ทำแผน หากศาลฯเห็นชอบด้วย ให้ศาลฯตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจค้นหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2562 พบว่า บริษัทฯมีหนี้สิน 244,899 ล้านบาท
สำหรับหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัท การบินไทย หรือกว่า 2.12 แสนล้านบาทนั้น เป็นหนี้ค่าเช่า-ซื้อเครื่องบิน หนี้ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน หนี้เงินกู้ระยะสั้น หนี้เงินกู้ระยะยาว เจ้าหนี้การค้า และผลประโยชน์ตอบแทนพนักงาน ดังนี้
@หนี้สินระยะสั้นเพื่อบริหารสภาพคล่อง 2.19 หมื่นล้านบาท
บริษัทมีวงเงินสินเชื่อระยะสั้นประเภทวงเงิน Committed Credit Line จำนวน 13,500 ล้านบาท และประเภทวงเงิน Uncommitted Credit Line จำนวน 7,800 ล้านบาท และจำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ รวมแล้วเป็น 21,900 ล้านบาท
@เงินกู้ระยะยาว 2.3 หมื่นล. พบกู้สกุลยูโร-แบงก์ในประเทศ
บริษัทมีเงินกู้ยืมจากต่างประเทศสกุลเงินยูโรผ่านกระทรวงการคลัง 11,977.44 ล้านบาท (กระทรวงการคลังทำสัญญาเงินกู้กับต่างประเทศ และกระทรวงการคลังได้ให้บริษัทกู้ยืมต่อในสกุลเงินยูโร)
เงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สกุลเงินเยน เป็นเงิน 437.31 ล้านบาท และเงินกู้ยืมภายในประเทศจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ 10,873.36 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 23,288.11 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เงินกู้ดังกล่าวได้โอนไปเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี 5,392.75 ล้านบาท คงเหลือเป็นเงินกู้ยืมระยะยาว 17,895.36 ล้านบาท โดยเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ประกอบด้วย เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 3,768.08 ล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 1,624.67 ล้านบาท
สำหรับเงินกู้ยืมระยะยาวคงเหลือ 17,895.36 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 5,105.29 ล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 12,790.07 ล้านบาท
@หุ้นกู้คงเหลือ 7.4 หมื่นล้าน-พบ 73 สหกรณ์ฯถือเกือบ 50%
บริษัทมีหุ้นกู้คงเหลือ 74,108 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 โดยเป็นหุ้นกู้ระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี 9,085 ล้านบาท คงเหลือหนี้สินระยะยาว 65,023 ล้านบาท โดยบริษัทได้ขึ้นทะเบียนหุ้นกู้ไว้กับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และอยู่ในระบบซื้อขายหุ้นกู้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกเว้นการออกหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2552 ซึ่งเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนในวงจำกัด (ไม่เกิน 10 ราย)
สำหรับหุ้นกู้คงเหลือของบริษัทจำนวนดังกล่าว เป็นหุ้นกู้ที่ถือโดยสหกรณ์ออมทรัพย์ 73 แห่ง มีมูลค่าราคาทุนรวมแล้ว 36,181.24 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 50% ของหุ้นกู้คงเหลือทั้งหมดของบริษัท (อ่านประกอบ : เปิดชัดๆ! 73 สหกรณ์ถือหุ้นกู้บินไทย 3.7 หมื่นล. ก่อน 'บิ๊กตู่' ชี้ชะตา 'อุ้ม-ปล่อยล้มละลาย')
@หนี้สัญญาเช่า-ซื้อเครื่องบินคงเหลือ 32 ลำ 5 หมื่นล้าน
บริษัทได้ทำสัญญาเช่าเครื่องบิน โดยมีสิทธิเลือกที่จะซื้อได้กับสถาบันการเงินต่างประเทศและในประเทศ 21 แห่ง คงเหลือเครื่องบิน 32 ลำ เป็นภาระหนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าทั้งสิ้นที่มีกำหนดจ่ายในระหว่างปี 2563-2573 รวม 50,110.52 ล้านบาท
เมื่อหักส่วนที่จะบันทึกเป็นดอกเบี้ยจ่ายเมื่อถึงกำหนดจ่ายประมาณ 3,654.51 ล้านบาท คงเหลือเป็นเงินต้นภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 46,456.01 ล้านบาท ทั้งนี้ มีการโอนไปเป็นหนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี 7,253.02 ล้านบาท คงเหลือเป็นหนี้สินระยะยาว 39,202.99 ล้านบาท
(ที่มา : รายงานประจำปี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2562)
@หนี้สินค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน 1.4 หมื่นล้าน
นอกจากนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 บริษัทรับรู้รายการประมาณการหนี้สินระยะยาว ค่าซ่อมแซมและบำรุงอากาศยาน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 เป็นจำนวนเงิน 14,022.57 ล้านบาท
ประกอบด้วย การสำรองค่าซ่อมใหญ่เครื่องบินและส่วนประกอบอื่นๆ 6,642.59 ล้านบาท เครื่องยนต์เครื่องบิน 7,206.55 ล้านบาท (เครื่องยนต์เครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน 3,990.42 ล้านบาท และภายใต้สัญญาเช่าการเงิน 3,216.13 ล้านบาท) และค่าซ่อมบำรุงเพื่อเตรียมสภาพเครื่องบินเมื่อส่งมอบคืนตามสัญญาเช่า 173.43 ล้านบาท
@หนี้สินหมุนเวียน 8.5 พันล้าน-ค้างหนี้สนามบินกว่า 4.4 พันล.
บริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนอื่น-อื่นๆ เป็นจำนวน 8,528.56 ล้านบาท เช่น เจ้าหนี้ค่าธรรมเนียมสนามบิน 4,456.09 ล้านบาท เจ้าหนี้ค่าใช้จ่ายพนักงานท้องถิ่นในต่างประเทศ 530.95 ล้านบาท และเจ้าหนี้อื่นๆ 2,245.03 ล้านบาท เป็นต้น
@ผลประโยชน์พนักงาน-กองทุนบำเหน็จ 2.04 หมื่นล้าน
บริษัทมีภาระการจ่ายเงินสมทบกองทุนบำเหน็จพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยจ่ายสมทบกองทุนฯ ในอัตรา 10% ของเงินเดือนพนักงาน โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 กองทุนฯมียอดคงเหลือ 3,673.75 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับยอดภาระผูกพันของบริษัทที่จะต้องจ่ายให้พนักงาน
นอกจากนี้ บริษัทได้ประมาณการหนี้สินสำหรับผลประโยชน์พนักงาน พบว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 มีหนี้สินจำนวน 16,779.86 ล้านบาท
ซึ่งประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่ 1.การจ่ายเงินตอบแทนความชอบในการทำงาน 2.ผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณ 3.การจ่ายเงินค่าชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปี 4.ผลตอบแทนพนักงานระยะยาว (แหวน-เข็ม)
และ5.บัตรโดยสารฟรีหลังเกษียณ (พนักงานที่ทำงานครบ 15 ปี มีสิทธิขอบัตรโดยสารฟรีประเภทสำรองที่นั่งได้ เฉพาะเส้นทางที่บริษัททำการบินได้ 1 เที่ยว หากพนักงานยังคงทำงานอยู่กับบริษัทจะใช้สิทธินี้ได้อีกทุกรอบ 5 ปี หลังจากวันที่มีสิทธิครั้งก่อนและพนักงานสามารถเก็บสะสมสิทธิไว้ใช้เมื่อใดก็ได้)
ทันทีที่บริษัท การบินไทย ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายและศาลรับคำร้องไว้ บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัทฯ ซึ่งมีทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์ในประเทศ สถาบันการเงินต่างประเทศ และผู้ที่ถือหุ้นกู้ แม้กระทั่งเจ้าหนี้การค้า
จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในโหวต ‘ชี้ชะตา’ แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย!
อ่านประกอบ :
'อนุทิน' เผย 'การบินไทย' ต้องพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ-สหภาพฯ แถลงค้าน 'คลัง' ลดสัดส่วนถือหุ้น
คนร.เห็นชอบยื่น ครม.อนุมัติ ‘การบินไทย’ ขอฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายไทย
แห่ถอนเงิน 74 สหกรณ์! สมาชิกฯหวั่น 'การบินไทย'ล้ม หนี้สูญ สมาคมฯร้องรัฐอุ้มหุ้นกู้
ยื่นศาลฯฟื้นฟูกิจการบินไทย! ‘อนุทิน’ เผย ‘บิ๊กตู่’ ไฟเขียว-จ่อถก ‘คลัง’ อนุมัติ
อนาคต‘การบินไทย’ ยื่นศาลล้มละลายขอฟื้นฟูกิจการ ใครได้-ใครเสีย?
ยื่นศาลล้มละลาย-ให้คลังถือหุ้นต่ำกว่า50% ! มติที่ประชุม 4 รมต.เสนอ ‘บิ๊กตู่’ฟื้นฟูฯ ‘บินไทย’
เปิดชัดๆ! 73 สหกรณ์ถือหุ้นกู้บินไทย 3.7 หมื่นล. ก่อน 'บิ๊กตู่' ชี้ชะตา 'อุ้ม-ปล่อยล้มละลาย'
เป็นไปได้ หากไม่มีทางอื่น!‘บิ๊กตู่’แจงข้อเสนอยื่นล้มละลาย-ขอฟื้นฟูการบินไทย
(งบดุล เฉพาะส่วนหนี้สินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/