"...เมื่อศาลล้มละลายมีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว การบินไทยจะได้รับการคุ้มครอง หลายเรื่อง (มาตรา 90/12) เช่น ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ ถ้ามีการฟ้องหรือร้องขอคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้..."
การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 19 พฤษภาคม จะเป็นการชี้ชะตาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า จะแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชนอย่างเต็มตัวหรือไม่
ถ้า ครม.มีมติให้การบินไทยยื่นต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการตามข้อเสนอของที่ประชุมร่วมระหว่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ,นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่นหมายความว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้การบินไทยคงการเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังไม่ต้องมีภาระในการค้ำปกระกันเงินกู้ให้ของการบินไทยกว่า 50,000 ล้านบาท และเพิ่มทุนอีกประมาณ 80,000 ล้านบาทตามมติคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ก่อนหน้านี้
อนาคตของการบินไทยจะเป็นอย่างไร ถ้ามีการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย ต้องดูรายละเอียดและขั้นตอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนี้
การยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายฉบับนี้ เป็นไปตามมาตรา มาตรา 90/2 ที่ระบุว่า เจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 (เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯลฯ) อาจร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ไม่ว่า ลูกหนี้จะถูกฟ้องให้ล้มละลายแล้วหรือไม่
ในกรณีนี้ การบินไทย ในฐานะลูกหนี้สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการเองได้
ในการยื่น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จะต้องมีข้อมูลประกอบด้วย
1. ความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้หรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้
2. รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนที่ลูกหนี้เป็นหนี้อยู่รวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท
3. เหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ
4. ชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผน
5. หนังสือยินยอมของผู้ทำแผน ซึ่งผู้ทำแผนอาจเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล เจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ก็ได้
นอกจากนั้นการบินไทยจะต้องแนบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายมาพร้อมคำร้องขอ
เมื่อศาลล้มละลายมีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว การบินไทยจะได้รับการคุ้มครอง หลายเรื่อง (มาตรา 90/12) เช่น ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ ถ้ามีการฟ้องหรือร้องขอคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้
-ห้ามมิให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้และห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นเลิกกันโดยประการอื่น
-ห้ามมิให้ฟ้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหาย
-ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ในกรณีที่ได้ดำเนินการบังคับคดีไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นไว้
-ห้ามมิให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมาย ยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้
-ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้อง
เมื่อศาลรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว จะมีคำสั่งเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ถ้าเจ้าหนี้ไม่คัดค้านก็ให้ผู้ทำแผนนั้นทำแผนมาเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้
แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอ เจ้าหนี้ต้องมีมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้กำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผน ถ้าศาลเห็นชอบด้วย ให้ศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ
ศาตราจารย์ ดร.สหธน รัตนไพจิตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการให้ความเห็นว่า การที่การบินไทยสมควรจะยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายหรือไม่ ต้องดูว่า ว่า รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ตั้งธงว่า อย่างไร
“ถ้าตั้งธงว่า ต้องการให้การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป ก็ไม่ควรยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย แต่ควรฟื้นฟูกิจการหรือเจรจากับเจ้าหนี้นอกศาล ซึ่งทำให้รัฐบาลมีอำนาจต่อรองและเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละรายได้ง่ายกว่า เมื่อทำแผนฟืนฟูกิจการแล้ว แม้ต่อมาขายทรัพย์สินหรือขายหุ้นก็จะได้ราคาดีกว่า แต่ก็ต้องผ่าตัดองค์กรอย่างจริงจังไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายใด” รศ.สหธนกล่าว
ศาตราจารย์ ดร.สหธน กล่าวว่า แต่ถ้าตั้งธงว่า ไม่ต้องการให้การบินไทย เป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป ข้อดีคือ ไม่ต้องมีภาระในการค้ำประกันเงินกู้หรือต้องใส่เงินเข้ามาเพิ่มทุนเป็นจำนวนมาก ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอฟื้นฟูกิจการได้ แต่ต้องเข้าใจสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การลดทุนเหลือศูนย์หรือเกือบเหลือศูนย์ เช่น เหลือหุ้นละ 1 สตางค์ เพื่อล้างหนี้ที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้หุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่กว่าร้อยละ 50 ต้องหมดไปด้วย
(ศาตราจารย์ ดร.สหธน รัตนไพจิตร ขอบคุณภาพ : www.law.tu.ac.th)
ศาตราจารย์ ดร.สหธน กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปคือการแปลงหนี้ของเจ้าหนี้เป็นทุน ซึ่งหมายถึงเจ้าหนี้ต่างๆจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของหนี้ จากนั้นมีการเพิ่มทุนซึ่งอาจเป็นการเพิ่มทุนของผู้ลงทุนรายใหม่ๆ ตรงนี้อาจมีประเด็นว่า ถ้านักการเมืองหรือผู้มีอำนาจบางคน ต้องการให้กลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้ามาเป็นเจ้าของการบินไทยก็สามารถดึงเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ ส่วนรัฐนั้นจะเข้ามาถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ กระทรวงการคลังต้องใส่เงินเข้ามาตามสัดส่วน
จากกระบวนการฟื้นฟูกิจการดังกล่าว เห็นได้ว่า การยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการข้อดีคือ รัฐปลดภาระไม่ต้องอุ้มการบินไทยด้วยเงินนับแสนล้านบาทอีกต่อไปโดยไม่มีหลักประกันว่า การฟื้นฟูกิจการจะทำสำเร็จหรือไม่ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์แล้ว รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยล้มเหลวในการกอบกู้องค์กรแห่งนี้โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตที่เกาะกินการบินไทยมาอย่างยาวนานและเชื่อว่า เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้การบินไทยขาดทุน
อย่างไรก็ตาม การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล แน่นอนว่า กระทรวงการคลัง ต้องสูญเสียหุ้นที่ถืออยู่กว่าร้อยละ 50 ไปทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด แต่โอกาสที่จะฟื้นฟูกิจการสำเร็จมีมากกว่า เพราะเจ้าหนี้ที่เป็นเอกชนต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเองในการ ‘ผ่าตัดองค์กร’ ให้เกิดความโปร่งใสโดยไม่คำนึงหรือการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจทางการเมือง
แม้อาจมีพนักงานบางส่วนได้รับผลกระทบ แต่พนักงานส่วนใหญ่ที่มีความสามารถ ตั้งใจทำงานและสุจริตก็ยังคงอยู่ได้ เช่นเดียวกับการบินไทยยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้ว่า อาจจะเปลี่ยนมือจากของรัฐมาเป็นเอกชนอย่างเต็มตัว
แต่จุดที่ต้องเคลียร์กันให้ชัดเจนก็คือ การดึง ‘กลุ่มทุน’ เข้ามาเพิ่มทุนในช่วงการฟื้นฟูกิจการ ไม่ใช่ แผนของนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจบางคนที่จะเข้าฮุบ (อดีต?) สายการบินแห่งชาติตามที่มีข่าวสะพัดก่อนหน้านี้
อ่านประกอบ :
ยื่นศาลล้มละลาย-ให้คลังถือหุ้นต่ำกว่า50% ! มติที่ประชุม 4 รมต.เสนอ ‘บิ๊กตู่’ฟื้นฟูฯ ‘บินไทย’
เปิดชัดๆ! 73 สหกรณ์ถือหุ้นกู้บินไทย 3.7 หมื่นล. ก่อน 'บิ๊กตู่' ชี้ชะตา 'อุ้ม-ปล่อยล้มละลาย'
เป็นไปได้ หากไม่มีทางอื่น!‘บิ๊กตู่’แจงข้อเสนอยื่นล้มละลาย-ขอฟื้นฟูการบินไทย
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage