ที่ประชุม 4 รัฐมนตรี มีมติเสนอ ‘บิ๊กตู่-คนร.’ วันจันทร์หน้า ให้ ‘บินไทย’ ยื่นคำร้องต่อ ‘ศาลล้มลาย’ ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ตั้งผู้ทำแผน ‘คลัง’ ลดสัดส่วนถือหุ้นบินไทยต่ำกว่า 50% ด้าน 'อุตตม' ไม่ร่วมประชุม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2563 เวลา 15.00 น. ที่กระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ประชุมร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ,นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการคมนาคม ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางการฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุมซึ่งใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ เนื่องจากจะต้องเสนอแนวทางฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมพิจารณาก่อน
อย่างไรก็ตามการประชุมร่วมระหว่าง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรฯในครั้งนี้ นายอุตตม สาวสนายน รมว.คลัง ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
(ศักดิ์สยาม ชิดชอบ และถาวร เสนเนียม ขณะกำลังลงลิฟท์ โดยปฏิเสธให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับผลการประชุม วันที่ 14 พ.ค.63)
แหล่งข่าวจากที่ประชุม กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติเกี่ยวกับแนวทางฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย 2 ประเด็นสำคัญ และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจาณาในวันที่ 18 พ.ค.นี้ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ประกอบด้วย
1.ให้เสนอ คนร.เพื่อให้มีมติให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท การบินไทย ให้ต่ำกว่า 50% เพื่อให้บริษัท การบินไทย พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
2.ให้เสนอ คนร.ทบทวนแผนฟื้นฟูกิจกการฯบริษัท การบินไทย ที่ คนร.เคยมีมติก่อนหน้า โดยเสนอให้ยกเลิกการค้ำประกันเงินกู้ระยะสั้นของบริษัท การบินไทย วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงยกเลิกการเพิ่มทุนบริษัท การบินไทย วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท และให้บริษัท การบินไทย ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯตามพ.ร.บ.ล้มละลายต่อไป
“เมื่อบริษัท การบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯกิจการแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่กระทรวงการคลังต้องเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ของการบินไทยอีก รวมทั้งไม่จำเป็นต้องใส่เงินเพิ่มทุนแต่อย่างไร อย่างไรก็ตาม บริษัท การบินไทยจะต้องเสนอเสนอรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูฯต่อศาลและศาลจะมีคำสั่งเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาผู้ทำแผนต่อไป ส่วนการที่กระทรวงการคลังจะถือหุ้นในการบินไทยต่อไปหรือไม่ สัดส่วนเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟูฯ ”แหล่งข่าวกล่าว
อ่านประกอบ :
เปิดชัดๆ! 73 สหกรณ์ถือหุ้นกู้บินไทย 3.7 หมื่นล. ก่อน 'บิ๊กตู่' ชี้ชะตา 'อุ้ม-ปล่อยล้มละลาย'
(ที่มา : รายงานประจำปี บริษัท การบินไทย ปี 62)
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage