'อนุทิน' ระบุตามขั้นตอนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย อาจทำให้พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ ขณะที่สหภาพฯ ออกแถลงการณ์คัดค้านกระทรวงการคลังจ่อลดสัดส่วนการถือครองหุ้น ห่วงกระทบความเชื่อมั่น-สิทธิประโยชน์พนักงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบในหลักการเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ บมจ.การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นการฟื้นฟูกิจการ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ขออย่าเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องล้มละลาย เมื่อถามว่าในแผนดังกล่าวกระทรวงการคลังยังจะต้องค้ำประกันเงินกู้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า โดยหลักแล้วไม่ควร เพราะการบินไทยเป็นบริษัทมหาชน ถ้ากระทรวงการคลังต้องค้ำประกันเงินกู้ ก็คงไม่ต้องฟื้นฟูกิจการ
เมื่อถามว่าการขอฟื้นฟูกิจการจะส่งผลให้การบินไทยพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตามขั้นตอนคงเป็นอย่างนั้น เพราะจะทำให้คล่องตัวขึ้น ทั้งนี้การฟื้นฟูกิจการต้องมีการตกลงกันระหว่างเจ้าหนี้และผู้จัดทำแผนการฟื้นฟูฯ และเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้ว อำนาจบริหารจะไปอยู่กับผู้จัดทำแผนฯ ซึ่งศาลจะเป็นผู้แต่งตั้งตามคำแนะนำของเจ้าหนี้ ซึ่งผู้จัดทำแผนฯ จะเปรียบเสมือน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่หรือดีดี ของบริษัท
เมื่อถามย้ำว่า หลังการฟื้นฟู การบินไทยหลุดจากรัฐวิสาหกิจโดยอัตโนมัติหรือไม่ คงเป็นอย่างนั้น แต่ก็อยู่ที่แผน แน่นอนว่าแผนการฟื้นฟูกิจการต้องได้รับความเห็ฯชอบจากเจ้าหนี้ เดี๋ยวรอให้ถึงวันนั้นก่อน แต่การฟื้นฟูกิจการ สำหรับกิจการที่มีหนี้สินเยอะถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะมีภาษาเทคนิคที่เรียกว่า automatic stay หรือพักการชำระหนี้โดยผลของกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างหยุดหมด เจ้าหนี้จะขอให้ชำระหนี้ก็ไม่ได้
วันเดียวกันนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ออกแถลงการณ์สนับสนุนการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพราะเชื่อว่าจะส่งผลดีกับบริษัท และสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและกำไรดีกว่าเดิม
อย่างไรก็ตามสหภาพฯ คัดค้านการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของกระทรวงการคลัง ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1.การลดสัดส่วนดังกล่าวอาจส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ยื่นคัดค้านการร้องต่อศาลในการขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทสามารถออกหุ้นกู้ หรือขอขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน รวมถึงนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในบริษัท เพราะอาศัยสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นการลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลัง ถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในสายตาเจ้าหนี้และนักลงทุน
2.การลดสัดส่วนหุ้นเหลือต่ำกว่า 50% จะทำให้สหภาพฯ ถูกยุบไปตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในช่วงที่มีการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการปรับลดพนักงานบางตำแหน่ง รวมถึงลดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการบางประการของพนักงาน ดังนั้นการลดสัดส่วนหุ้น อาจถูกมองว่า รัฐไม่มีความจริงใจในการสนับสนุนการคุ้มครองแรงงานตามวิถีทางของกฎหมาย และเลือกปฏิบัติในแนวทางที่ไม่คำนึงถึงสิทธิของลูกจ้าง โดยสหภาพฯ ไม่เห็นด้วยในการลดสัดส่วนการถือหุ้น และจะคัดค้านจนถึงที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/