“…การส่งคืนเครื่องบินที่เช่าซื้อของสายการบินเอกชน ตามนิยามของธปท. เราไม่นับเป็นการส่งออก เพราะไม่มีการเปลี่ยนเจ้าของ เราเช่าซื้อเครื่องมาแล้วส่งกลับ ต่างจากนิยามของกรมศุลฯที่นับมูลค่าส่งออกจากสินค้าที่ออกจากด่านฯ ทำให้ตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค.ของธปท.ติดลบ 2.2% ต่างจากกระทรวงพาณิชย์ที่บวก 4.17% หรือห่างกัน 6%...”
การส่งออกกลับมาเป็น ‘ความหวัง’ ของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19
หลังกระทรวงพาณิชย์แถลงว่า ตัวเลขการส่งออกในเดือนมี.ค.2563 ขยายตัว 4.17% สูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยมีมูลค่าส่งออก 22,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับมูลค่าสูงสุดในรอบ 19 เดือน และเมื่อหักการส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและอาวุธแล้ว การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ 2.12%
ปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกไทยขยายตัวเกิน 4% เป็นผลจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักขยายตัวสูง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวได้ถึง 17.8% และเครื่องปรับอากาศขยายตัวได้ 8.1% เป็นต้น
สะท้อนถึงการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ของอุตสาหกรรมไทย (อ่านรายละเอียด : ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำ เดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2563)
“การส่งออกเดือนมี.ค.ที่เป็นบวก มีปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่ง คือ ผลกระทบสงครามการค้าหายไปค่อนข้างเยอะ ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เราเป็นซัพพลายเชนส่งออกได้เยอะ การส่งออกอาหารแปรรูป แช่เย็น แช่แข็ง อาหารกระป๋อง ทำได้ดีหลายรายการ เพราะคนอยู่บ้าน” พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา
พิมพ์ชนก ประเมินแนวโน้มการส่งออกทั้งปี 63 ว่า “มีความเป็นไปได้ที่จะติดลบ แต่เป็นเพราะน้ำมันที่ลดลง…และถ้าต่างประเทศไม่มีโควิดรอบสอง น่าจะอยู่ที่เกิน 0% บวกลบ แต่คงไม่ลงไปถึงติดลบ 8% ติดลบ 10% แน่นอน” (อ่านเพิ่มเติม : ส่งออกมี.ค.พลิกบวก 4.17% สูงสุดในรอบ 8 เดือน เหตุสงครามการค้าคลี่คลาย-บาทอ่อน)
แต่ทว่าการแถลงตัวเลขส่งออกเดือน มี.ค.63 ของกระทรวงพาณิชย์ กลับ ‘เขย่ง’ กับตัวเลขส่งออกของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ค่อนข้างมาก แม้ว่าปัจจุบันทั้งกระทรวงพาณิชย์ และธปท. จะใช้นิยามการส่งออกที่ ‘แตกต่างกัน’ ก็ตาม
“ตัวเลขส่งออกตามนิยามของธปท.จะคิดตามบัญชีดุลการชำระเงิน ต่างจากของกระทรวงพาณิชย์ที่ใช้นิยามของกรมศุลกากร แต่จะพบว่าตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค. ของเรากับที่กระทรวงพาณิชย์แถลงห่างกันพอสมควร” ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวในการแถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนมี.ค.63 เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา
ดอน ขยายความว่า สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขส่งออกของกระทรวงพาณิชย์บวกค่อนข้างมากนั้น มาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นการส่งคืนรถถังและเครื่องบินที่นำมาซ้อมรบคอบร้าโกลด์ และส่วนที่สอง เป็นการส่งคืนเครื่องบินที่เช่าซื้อของสายการบินเอกชนหลายสาย ที่เริ่มหยุดบิน เพราะได้รับผลกระทบโควิด-19
"การส่งคืนเครื่องบินที่เช่าซื้อของสายการบินเอกชน ตามนิยามของธปท. เราไม่นับเป็นการส่งออก เพราะไม่มีการเปลี่ยนเจ้าของ เราเช่าซื้อเครื่องมาแล้วส่งกลับ ต่างจากนิยามของกรมศุลฯที่นับมูลค่าส่งออกจากสินค้าที่ออกจากด่านฯ ทำให้ตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค.ของธปท.ติดลบ 2.2% ต่างจากกระทรวงพาณิชย์ที่บวก 4.17% หรือห่างกัน 6%" ดอนกล่าว
เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกที่หักทองคำแล้ว ตัวเลขของธปท.ระบุว่า ตัวเลขติดลบที่ 6.5% เทียบกับกระทรวงพาณิชย์ที่บวกได้ 0.17% หรือตัวเลขห่างกันกว่า 6%
ดอน ยังประเมินว่า ตัวเลขการส่งออกในเม.ย.63 น่าจะมีลักษณะเดียวกันเดือนมี.ค.63 เพราะสายการบินจะมีการส่งคืนเครื่องบินที่เช่าซื้อมา เนื่องจากมีการหยุดบินไปจนถึงเดือนพ.ค.
เมื่อมองไปข้างหน้า ดอน ระบุว่า ทิศทางการส่งออกยังไม่ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกรวม (ไม่รวมทองคำ) เดือนมี.ค.ติดลบ 6.5% จากเดือนก.พ.ที่ติดลบ 1.3% ซึ่งเป็นการหดตัวที่สูงขึ้น สะท้อนถึงอุปสงค์ในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิด-19 และยังสอดคล้องจากยอดค้าปลีกในเอเชีย จีน และสหรัฐที่ลดลง
“สหรัฐเพิ่งลงแรงๆเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อมองไปข้างหน้าน่าจะมีผลกระทบค่อนข้างเยอะ และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะต่อไป” ดอนกล่าว
พร้อมทั้งระบุว่า “หากไปดูการคาดการณ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) เขาบอกว่าที่ดีที่สุดเศรษฐกิจโลกจะติดลบ 2.5% กรณีเลวร้ายติดลบ 8.8% ทำให้เขามองว่าปริมาณการค้าโลกที่หักผลกระทบของราคาไปแล้ว ปริมาณการค้าจะติดลบ 12.9-31.9% ซึ่งเป็นการติดลบที่สูงมาก ทำให้การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะไปในทิศทางเดียวกัน”
ที่สำคัญการส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนมี.ค. ติดลบ 11.2% และการลงทุนภาคเอกชนติดลบ 7.8% โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ติดลบ 11.6% นั้น เป็นตัวเลขติดลบระดับเดียวกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แต่ต่างกันกันตรงที่ว่าตอนนั้น ‘เราผลิตไม่ได้’ แต่ตอนนี้เป็นเรื่อง “อุปสงค์ที่หายไป”
กัณญภัค ตันติพิพัฒพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า สรท.ยึดตัวเลขส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามมูลค่าใบขนสินค้าออกเป็นหลัก แต่การส่งออกที่ไม่ได้สร้างมูลค่าโดยตรง เช่น น้ำมันหรือทองคำ เราจะหักออก เพื่อดูว่าการเติบโตของการส่งออกของเราเป็นอย่างไร
“ในเดือนมี.ค.63 เรามีการคืนอาวุธ คืนเครื่องบินเหมือนกัน แต่เมื่อหักตรงนั้นออกไปแล้ว การส่งออกของเราก็ยังเป็นบวกได้ ซึ่งเราเองพยายามดูตัวเลขการส่งออกที่เป็นการส่งออกจริงๆของเรา เพราะบางครั้งถ้าเราไปมองตัวเลขตามใบขนทั้งหมด จะพบว่าบางตัวไม่ได้สร้างมูลค่าโดยตรงเลยอย่างน้ำมัน เรานำเข้ามาแล้วส่งออกไปเลย ดังนั้น เราคงไม่หลอกตัวเอง” กัณญภัคกล่าว
กัณญภัค ย้ำว่า แม้ว่าตัวเลขการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์และธปท.จะแตกต่างกัน แต่ไม่ได้สร้างความสับสนและไม่มีนัยยะกับภาคเอกชนแต่อย่างใด เพราะเอกชนเองจะมองตัวเลขมูลค่าการส่งออกที่เป็น F.O.B (มูลค่าส่งออกสินค้า ณ ท่าเรือ) ส่วนตัวเลขส่งออกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องที่ว่าเป็นการส่งออกไปตลาดไหน และเป็นสินค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมใดมากกว่า
ส่วนแนวโน้มตัวเลขการส่งออกปีนี้นั้น กัณญภัค ระบุว่า สรท.ยังยึดตัวเลขของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมองว่าปีนี้อาจติดลบได้ถึง 8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด แต่จากตัวเลข 3 เดือนของแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.63) ของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกมาล่าสุด ทำให้สรท.สบายใจได้ว่า ตัวเลขการส่งออกทั้งปี 63 อาจดูไม่น่ากลัวขนาดนั้น แต่จะเติบโตหรือไม่ยังต้องติดตามกันต่อไป
“IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะติดลบเยอะ เศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/63 ติดลบ 6.8% ส่วนสหรัฐติดลบ 4.8% และอียู (สหภาพยุโรป) ติดลบ 3.8% โดยเฉพาะสหรัฐ เรายังเห็นว่ามีปัญหามากในช่วงนี้ เพราะเรื่องโควิดเขายังแก้ไม่ได้ ยังคุมไม่ได้ เราจึงไม่อาจมั่นใจได้ว่าการส่งออกของเราจะโต” กัณญภัคกล่าว
กัณญภัค ตันติพิพัฒพงศ์ ขอบคุณภาพ : voicetv.co.th
กัณญภัค ยังกล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้าว่า สรท.ประเมินว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอาหารจะเติบโตต่อเนื่อง และทั้งปีจะเป็นบวก เพราะตลาดยังมีความต้องการอยู่ ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงมีความคาดหวังว่าจะเติบโตได้บ้าง เพราะในช่วงไตรมาส 1/63 การส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไปได้ดีมาก เพราะคนwork from home ทำให้มีการใช้อุปกรณ์ไอทีเพิ่มขึ้น
ส่วนกลุ่มที่น่าเป็นห่วงและมูลค่าส่งออกหายไปมาก คือ รถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าดาวเด่น แต่ที่ผ่านพบว่าการส่งออกรถยนต์ติดลบ 50% อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ยังประเมินได้ยากว่าการส่งออกรถยนต์จะติดลบเท่าไหร่ เพราะหลังเกิดโควิด-19 เริ่มมีสัญญาณว่าคนจีนซื้อรถยนต์มากขึ้น เพราะไม่อยากนั่งรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งตรงนี้เป็นภาพที่เราไม่ได้คาดคิด
“ผลกระทบโควิดต่อการส่งออกในเดือนมี.ค. อาจยังเห็นไม่ชัดเจน แต่ในเดือนเม.ย. ความรุนแรงจะมากขึ้น เพราะแม้แต่ไทยเองก็มีการล็อคดาวน์ในเดือนเม.ย. ส่วนยุโรปมีการล็อคดาวน์ช่วงกลางเดือนมี.ค.แล้ว สหรัฐล็อคบ้างไม่ล็อคบ้างตามแต่ผู้ว่าการรัฐจะตัดสินใจ” กัณญภัคกล่าวทิ้งท้าย
แม้ว่าตัวเลขส่งออกที่แต่ละหน่วยงานแถลงออกมานั้นจะตัวเลขในอดีต แต่ถึงกระนั้นตัวเลขการส่งเดือนมี.ค.ของ ‘กระทรวงพาณิชย์’ และ ‘แบงก์ชาติ’ ที่เขย่งกันมากถึง 6% นั้น ย่อมมีผลต่อการมองภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตัวเลขการส่งออกเป็นตัวเลข ‘ลวงตัว’ แล้ว จะส่งผลกระทบต่อตัดสินใจดำเนินมาตรการของรัฐบาล 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' รวมถึงการตัดสินใจลงทุนของเอกชน ไม่น้อยเลยทีเดียว
อ่านประกอบ :
ธปท.คาดศก.ไตรมาส 2 หดตัวสูงขึ้น หนุนรัฐจ่ายเงินกระตุ้น 1 ล้านล. ‘ให้เร็ว-ตรงจุด’
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage