ผู้ประกันตน มาตรา 39 เเละ 40 รับสิทธิเยียวยาโควิด-19 ลงทะเบียนรับเงิน 5 พัน ระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นอาชีพอิสระ -ลดหย่อนเงินสมทบ มาตรา 33 พร้อมเพิ่มช่องทางประโยชน์ทดเเทนกรณีชราภาพ-ว่างงานผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม
หลายคนสงสัยว่า ผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคมจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากมาตรการของรัฐอย่างไร กรณีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ภายหลังจากเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 รัฐประกาศมาตรการระยะที่ 2 ออกมา โดยเน้นไปยังกลุ่มเเรงงาน ลูกจ้าง อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
ด้วยเหตุนี้กระทรวงเเรงงาน จึงเเท็กทีมกันเเถลงข่าวชี้เเจงทุกข้อสงสัยที่ทำเนียบรัฐบาล นำโดยหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน เเละนายทศพล กฤตวงศ์พิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
หลักใหญ่ใจความ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 24 มี.ค. นั้น มีมติให้เเก้กฎกระทรวงการได้รับผลประโยชน์ทดเเทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย โดยให้ครอบคลุมถึงกรณีโรคระบาดเเละให้ใช้บังคับตั้งเเต่วันที่ 1 มี.ค. -31 ส.ค. 2563
"รายละเอียดสำคัญ ต้องเเก้คำนิยามของ 'เหตุสุดวิสัย' ให้รวมถึง 'โรคเเพร่ระบาด' ในมนุษย์ ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ"
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรองหรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย หรือรัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเเพร่ระบาดของโรคโดยทั่วไป
ผู้ที่ไม่ได้ทำงานสามารถได้รับการชดเชย โดยประกาศกระทรวงเเรงงาน ได้ขยายกำหนดเวลายื่นเเบบเเสดงรายงานการส่งเงินสมทบของนายจ้างเเละผู้ประกันตน
รมว.เเรงงาน กล่าวว่า กรณีนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนนายจ้าง เเละผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป) เเละผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (เคยเป็นพนักงาน เเต่ลาออก) ให้ได้รับขยายการส่งเงินสมทบ งวดเดือนมี.ค. นำส่งภายใน15 ก.ค. 2563, งวดเดือน เม.ย. นำส่งภายใน 15 ส.ค. 2563 เเละงวดเดือน พ.ค. นำส่งภายใน 15 ก.ย. 2563
สำหรับลดหย่อนเงินสมทบผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 งวดเดือน มี.ค.-พ.ค. นายจ้างให้นำส่งเงินสมทบจากร้อยละ 5 ลดลงเหลือร้อยละ 4 ส่วนผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบในอัตรา ร้อยละ 1
นายทศพล อธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีที่เป็นเหตุสุดวิสัย ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างไม่ให้ทำงานจากเหตุสุดวิสัย ให้ได้รับเงินทดเเทนจากการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนทำงาน เเต่ไม่เกิน 180 วัน
กรณีภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนได้รับค่าจ้าง ให้ได้รับเงินทดเเทนจากการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เเต่ไม่เกิน 60 วัน
ส่วนสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน กรณีลูกจ้างลาออก จากเดิมกำหนดไว้ร้อยละ 30 ไม่เกิน 90 วัน ขยายมาเป็น ร้อยละ 45 ไม่เกิน 90 วัน
ขณะที่กรณีเลิกจ้าง ให้สิทธิร้อยละ 70 เเต่ไม่เกิน 200 วัน
สำหรับการขอยื่นรับสิทธิประโยชน์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม บอกว่า มีการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนไม่จำเป็นต้องมาติดต่อที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อลดความเเออัด เเต่จะสร้างช่องทางยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ โดยสามารถส่งทางไปรษณีย์ โทรสาร อีเมล ไลน์ เเละเพิ่มช่องทางประโยชน์ทดเเทนกรณีชราภาพเเละว่างงานผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม WWW.SSO.GO.TH
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เเละมาตรา 40 (อาชีพอิสระ/เเรงงานนอกระบบ) ถือว่าเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ สามารถยื่่นคำขอรับเงินทดเเทนได้จากกระทรวงการคลัง 5,000 บาท/ราย/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยลงทะเบียนได้ที่ WWW.เราไม่ทิ้งกัน.COM (อ่านประกอบ:INFO:ขั้นตอนลงทะเบียนรับเงิน 5 พัน -กู้ดอกเบี้ยต่ำ เยียวยาโควิด-19)
"ผู้ที่ลาออกจากมาตรา 33 เเละมาใช้มาตรา 39 แม้จ่ายเงินด้วยตนเองไม่ถึง 1 ปี เเละมีอาชีพอิสระ ยืนยันว่าได้รับสิทธินี้ด้วย"
อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า ผู้จะได้รับการเยียวยา ต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานประกอบการที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสฯ หรือกรณีที่ทำงานเป็นที่รวมถูกสั่งปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า ถือเป็นผู้เข้าข่ายได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19
อ่านประกอบ::มาตรการรัฐช่วยเหลือ ปชช. จาก COVID-19 - ลูกจ้างเดือนละ 5 พัน-ขยายเวลาชำระภาษี
รัฐเเจกเงินเเรงงาน-ลูกจ้าง นอกระบบประกันสังคม 5 พัน -กู้ดอกเบี้ยต่ำ ประทังชีวิตช่วงโควิด-19
ส่อง 9 มาตรการรัฐอัดฉีด 1.3 แสนล. ส่งถึงมือ ‘ปชช.-ลูกจ้าง’ ฝ่าวิกฤตไวรัส
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/