รัฐเเจกเงินเเรงงาน ลูกจ้าง อาชีพอิสระ นอกระบบประกันสังคม คนละ 5,000 บ. ประทังชีวิตช่วงวิกฤตโควิด-19 จัดอบรมเสริมความรู้ ให้อีก 2,000 บาทต่อราย หากไม่เพียงพอ มีสินเชื่อกู้ฉุกเฉิน-สินเชื่อพิเศษ ดอกเบี้ยต่ำ ป้องกันเป็นหนี้นอกระบบ
วันที่ 24 มี.ค. 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายลวรณ เเสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เเละโฆษกกระทรวงการคลัง เเละผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมเเถลงข่าวถึงมาตรการเเก้ไขปัญหาเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ณ ศูนย์เเถลงข่าวรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ หนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การเพิ่มสภาพคล่อง ให้เเก่กลุ่มเเรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันประเมินว่ามีประมาณ 3 ล้านคน (อ่านประกอบ:มาตรการรัฐช่วยเหลือ ปชช. จาก COVID-19 - ลูกจ้างเดือนละ 5 พัน-ขยายเวลาชำระภาษี)
นายลวรณ เเสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เเละโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มีทั้งหมด 3 มาตรการย่อย ได้เเก่ การสนับสนุนเงิน 5,000 บาท/ราย/เดือน ระยะเวลา 3 เดือน สำหรับเเรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนเเรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมนั้น จะมีการรองรับจากระบบดังกล่าวอยู่เเล้ว โดยได้รับเงินเดือนครึ่งหนึ่ง จาก 180 วัน หรือ 60 วัน เเล้วเเต่กรณี
กรณีที่เงินที่ได้รับ 5,000 บาท ไม่เพียงพอ สามารถกู้สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท/ราย ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน เเละหากเงินสองก้อนเเรกไม่เพียงพออีก รัฐยังมีสินเชื่อพิเศษ 50,000 บาท/ราย เเต่อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เเละต้องมีหลักประกัน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า มาตรการดังกล่าวต้องการให้ประชาชนมีรายได้ในการใช้จ่ายประทังชีวิตในช่วงที่มีปัญหาสถานการณ์โควิด-19 โดยการที่รัฐมอบเงินให้คนละ 5,000 ต่อเดือน ในกลุ่มเเรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่อยู่นอกระบบประกันสังคม เพราะคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับอยู่เเล้ว ฉะนั้นจึงเป็นเงินก้อนเเรก เพื่อให้มั่นใจว่า ภายใน 3 เดือน จะมีเงินใช้จ่ายอย่างเเน่นอน หากพ้นกำหนดหลังจากนี้ พบว่า สถานการณ์ยังมีความจำเป็น รัฐสามารถต่ออายุได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม อาจมีบางคนบางกลุ่มต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม เพราะมีค่าใช้จ่ายบางส่วนจำเป็นต้องใช้ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นลูกหนี้นอกระบบ จึงต้องดึงเข้ามาอยู่ในระบบ โดยธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรเเละสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เเละธนาคารกรุงไทย จะปล่อยเงินกู้สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย ซึ่งคิดว่าจะเพียงพอต่อการหล่อเลี้ยง
กรณีที่มีค่าใช้จ่ายมาก ต้องผ่อนชำระค่าบ้านเเละรถ รัฐจะมีสินเชื่อพิเศษ 50,000 บาทต่อราย เเต่สินเชื่อก้อนนี้จะมีดอกเบี้ยสูง
นอกจากนี้ยังมีการจัดโครงการอบรม กลุ่มที่ 1 จากธนาคารของรัฐ กลุ่มที่ 2 จากเครือข่ายเเละมูลนิธิ เช่น มูลนิธิพระดาบส มูลนิธิชัยพัฒนา เเละกลุ่มที่สาม จากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยเเละนวัตกรรม โดยผู้เข้ารับฟังการอบรม จะได้รับความรู้เพิ่มเติม เเละได้รับเงินค่าอบรม 2,000 ต่อราย ฉะนั้น จะได้รับเงิน 7,000 บาทต่อราย ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการประทังชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรายละเอียดมาตรการการเพิ่มสภาพคล่อง มีดังต่อไปนี้
1.1 มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบ ประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพื่อช่วยเหลือเยียวยา ให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อ เช่น สนามมวย สนาม กีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่น ๆ เป็นต้น หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ
ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจาก สำนักงานประกันสังคม ไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และไม่รวมเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกรได้รับความ ช่วยเหลืออื่น ๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว)
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) ผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติและการโอนเงินผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนวิธีการขอรับความช่วยเหลือจะเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
1.2 โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
1.3 โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชน ที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/