"...มาตรการที่ออกมานี้ยังไม่จบ แต่จะออกมาเรื่อยๆ โดยกระทรวงการคลังจะติดตามความต้องการของพี่น้องประชาชนว่า ยังมีขาดตรงไหน อย่างไร และจะออกมาเพิ่มเติมในเร็ววัน โดยเฉพาะมาตรการดูแลเกษตรกร และกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือนเม.ย.-ก.ค. เพราะเงินหมุนเวียนในระบบค่อนข้างน้อย..."
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบ 2 แล้ว รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ได้ทยอยออกมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากไวรัสอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงาน ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันออกมาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดการเงินไทย หนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การจัดตั้ง ‘กลไกพิเศษ’ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์
โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (MMF) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily fixed income fund) สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท. ได้ คิดเป็นวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลบร้อยละ 0.5% ต่อปี
ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ชุดที่ 1 วงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท
เช่น การอัดฉีดสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 2% วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท มาตรการภาษีเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ และรักษาการจ้างงาน ซึ่งทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ 1.65 แสนล้านบาท เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ครม.ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม อาทิ สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์ สปา รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 2 ปีแรก 3% และมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น
สำหรับมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนรายย่อยและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ครม.และหน่วยงานต่างๆได้เห็นชอบมาตรการสำคัญๆเป็นวงเงินมากกว่า 1.38 แสนล้านบาท ได้แก่
1.มาตรการลดค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาให้กับผู้ใช้ทุกประเภท ในอัตรา 3% ตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย.2563 ซึ่งจะใช้งบประมาณ 5,590 ล้านบาท แบ่งเป็นการอุดหนุนค่าไฟฟ้า 5,160 ล้านบาท และอุดหนุนค่าน้ำประปา 330 ล้านบาท
2.คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า) และเงินประกันการใช้น้ำ ให้กับบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก 35,534 ล้านบาท แบ่งเป็นคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า 22.17 ล้านราย 32,700 ล้านบาท และคืนเงินค่าประกันการใช้น้ำ 5.7 ล้านราย 2,834 ล้านบาท
3.งบจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงิน 2,700 ล้านบาท โดยจ้างงานไม่เกิน 6 เดือน อัตราค่าจ้างไม่เกินรายละ 9,000 บาทต่อเดือน
4.มาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน โดยลดราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) 3 บาทต่อ กก. ส่งผลให้ก๊าซขนาดถัง 15 กก. เหลือ 318 บาท จาก 363 บาท เป็นเวลา 3 เดือน พร้อมทั้งใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมันลง 0.50 บาท/ลิตร นาน 2 เดือน ซึ่งจะใช้เงินกองทุนฯประมาณ 2,300 ล้านบาท
5.ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 4% จากเดิม 5% พร้อมทั้งเพิ่มเงินชดเชยกรณีว่างงานจากการลาออกเป็น 45% จากเดิม 30% (ฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) เป็นเวลา 90 วัน และเพิ่มเงินชดเชยกรณีว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างเป็น 75% จากเดิม 50% เป็นเวลา 200 วัน
6.มาตรการดูแลและเยียวยา ‘แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม’ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.2563) เป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการ 3 ล้านคน วงเงิน 45,000 ล้านบาท
7.สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธ.ค.2563
8.สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 โดยให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน
9.ให้ธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 2,000 ล้านบาท ให้สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) นำไปเป็นทุนปล่อยกู้ให้ประชาชน คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี
“มาตรการที่ออกมานี้ยังไม่จบ แต่จะออกมาเรื่อยๆ โดยกระทรวงการคลังจะติดตามความต้องการของพี่น้องประชาชนว่า ยังมีขาดตรงไหน อย่างไร และจะออกมาเพิ่มเติมในเร็ววัน โดยเฉพาะมาตรการดูแลเกษตรกร และกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือนเม.ย.-ก.ค. เพราะเงินหมุนเวียนในระบบค่อนข้างน้อย” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุ
สมคิด ยังกล่าวถึงความจำเป็นการในการออกพ.ร.ก.กู้เงินฯ ว่า “ไม่ต้องเป็นห่วง เวลาที่เราทำงาน เราคิดล่วงหน้าเสมอ ทั้งการใช้งบประมาณ และการกู้ เพราะภาวะการณ์แบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ถ้าไม่จำเป็นต้องกู้ เราก็ไม่กู้ แต่ถ้าต้องกู้ ก็ต้องกู้ โดยฐานะของเราเพียงพออย่างมากในการกู้ และการกู้ต้องระบุด้วยว่ากู้ไปเพื่ออะไร”
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมีข้อเสนอให้รัฐบาลปรับลดงบประมาณปี 2563 ของทุกส่วนราชการ 10% มาตั้งเป็น ‘งบฉุกเฉิน’ เพื่อใช้ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาไวรัส COVID-19 พร้อมทั้งเสนอให้ปรับเลื่อนเวลาจัดซื้ออาวุธ และนำงบดังกล่าวมาช่วยเหลือประชาชนและต่อสู่กับโรคระบาดไวรัสโควิด-19
“นอกจากนายกฯจะเรียกงบคืนจากทุกกระทรวงแห่งละ 10% ได้ทันที เพื่อสู้วิกฤตแล้ว ยังสามารถนำงบสัมมนา ฝึกอบรม จัดอีเว้นท์ ดูงานต่างประเทศ งบรับรอง จัดเลี้ยง ฯลฯ ที่ไม่ได้ใช้แน่ในปีนี้ มาช่วยให้ประชาชนมีชีวิตรอด…
ยิ่งนำงบกองทัพที่ไม่เร่งใช้มาช่วยให้ประชาชนรอดตายก่อนก็ยิ่งดี และผู้คนทุกสีเขาจะโมทนาสาธุ เพราะเรากำลังทำสงครามกับโรคระบาด ที่อาวุธสงครามปกติมันใช้ไม่ได้ เมื่อพ้นวิกฤตแล้วค่อยเดินต่อ” วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด เสนอ
ขณะที่ ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่นำมาตรการแจกเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างอิสระที่ไม่มีงานทำ
“ถ้าคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ว่า เอาปลาทูไปแจกไม่ดี แต่ตอนนี้ไม่ไหวแล้ว และไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะใช้วิธีรัฐสวัสดิการ คือ เอาเงินไปให้ถึงมือเขา เพื่อให้เขาอยู่ได้ อีกทั้งจะต้องขอความร่วมมือจากสถานประกอบการทั้งหลายให้เข้ามาช่วยเรื่อง ‘ครัวบริจาค’ คือ ทำอาหารเลี้ยงคนที่ไม่มีอะไรจะกิน เพราะคนเหล่านี้ไม่มีรายได้เลย” ยงยุทธกล่าว
ยงยุทธ ประเมินว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง ต่อเนื่องจากสงครามการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ และสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ คาดว่าจะมีแรงงานที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือลูกจ้างอิสระได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 7-8 ล้านคน และเป็นกลุ่มแรงงานที่แทบไม่มีเงินออมเลย ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเร่งด่วน ประกอบด้วย 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มแรงงานที่ยึดเมืองใหญ่เป็นแหล่งทำมาหากิน เช่น อาชีพขับรถรับจ้าง ขับแท็กซี่ และทำงานอิสระ มีประมาณ 4-5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานสูงอายุกว่า 1 แสนคน
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มแรงงานรับจ้างที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และต้องทำมาหากินด้วยการรับจ้างทั่วไปในบริเวณที่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก ซึ่งมีประมาณ 1-1.5 ล้านคน โดยคนกลุ่มนี้ไม่มีงานทำมานานพอสมควรแล้ว เพราะสถานการณ์ภัยแล้งทำให้แทบไม่มีเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตเลย
กลุ่มที่สาม เป็นแรงงานที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว 1-5 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1 ล้านคนเป็นลูกจ้างรายวัน ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากนักท่องเที่ยวที่หายไป
นอกจากนี้ ไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานในภาคเกษตร ที่ทยอยเข้ามาทำงานเมืองหลังสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว เพราะมีรายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งมีประมาณ 4-5 ล้านคน รวมถึงแรงงานจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการปิดการค้าขายตามแนวชายแดน
“แม้ว่าตอนนี้เรากำลังพูดถึงวิกฤตโควิด-19 แต่วิกฤตปากท้องของประชาชนยิ่งใหญ่กว่ามาก วิกฤตต้มยำกุ้งเราใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะฟื้นตัว วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เราใช้เวลา 2 ปีกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม แต่วิกฤตโควิดมันกระทบทั้งข้างนอกและข้างใน ประเทศปลายทางปิดหมด ข้างในโรคก็ยังไม่จบ ผลกระทบจึงรุนแรงกว่ามาก” ยงยุทธกล่าว
ยงยุทธ เสนอว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญหลังจากควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว คือ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาโดยเร็ว
“เรากำลังพูดถึงคนตกงานหลักล้านคนในปีนี้ แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับว่าการท่องเที่ยวของเราจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็วแค่ไหน ในเมื่อเขาไม่ไว้ใจเรา และเราก็ไม่ไว้ใจเขา การทำให้คน 2 ประเทศไว้ใจกันมันต้องใช้เวลา เริ่มจากนักท่องเที่ยวจีนก่อน เพราะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ของไทย เราต้องทำให้เขามั่นใจให้ได้” ยงยุทธกล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/