“…ก่อนประชุมคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ครั้งที่ 48/2546 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2546 ร.ท.สุชาย โทรศัพท์แจ้งนายชัยณรงค์ว่า อย่าคัดค้านโครงการที่เครือกฤษดามหานครขอสินเชื่อ เนื่องจากนายบุญคลี ปลั่งศิริ ได้ประสานมาว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ ได้ดูโครงการแล้ว เป็นโครงการที่ดี…”
ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนสงสัยอยู่ว่าตกลงแล้ว ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ที่สั่งการให้คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานครประมาณหมื่นล้านบาทโดยทุจริตเป็นใคร ?
เบื้องต้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา 2 รอบ รอบแรกเมื่อปลายปี 2558 พิพากษาจำคุก กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย กรรมการสินเชื่อ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในธนาคาร รวมถึงเอกชนเครือกฤษดามหานคร รอบสองเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 มีจำเลยรายเดียวคือนายทักษิณว่าเป็น ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ สั่งการให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อดังกล่าวหรือไม่
แบ่งข้อเท็จจริงเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
1.กระบวนการขั้นตอนปล่อยกู้สินเชื่อดังกล่าวกระทำโดยทุจริตหรือไม่ ?
ข้อเท็จจริงนี้ประจักษ์ชัดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อปลายปี 2558 ว่า กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย 3 จาก 5 ราย คณะกรรมการสินเชื่อ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในธนาคารกรุงไทย รวมถึงกลุ่มเอกชนเครือกฤษดามหานคร มีความผิดจริง จึงลงโทษจำคุกหนักหลายสิบปี อย่างไรก็ดีช่วงต้นปี 2562 กระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งพักโทษจำเลยบางราย เช่น นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย เป็นต้น
2.ใครคือ ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ผู้สั่งการให้กรรมการบริหารธนาคากรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อดังกล่าว ?
ประเด็นนี้จากการไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) รวมถึงในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อ้างอิงจากพยานปากเอกในคดี ได้แก่ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อดีตกรรมการอิสระ ธนาคารกรุงไทยในช่วงเวลาดังกล่าว อ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร คือผู้สั่งการ หรือ ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ โดยอ้างว่า ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย เป็นคนบอกว่าการปล่อยกู้สินเชื่อครั้งนี้ ‘ซุปเปอร์บอส’ สั่งว่าห้ามคัดค้าน โดยนายชัยณรงค์ เชื่อว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ น่าจะคือนายทักษิณ เพราะเคยได้ยิน ร.ท.สุชาย เวลาเรียกนายทักษิณ มักใช้คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’
อย่างไรก็ดีในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ระบุชัดว่า ตามทางไต่สวนยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดว่า นายทักษิณ คือ ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ เพราะนายชัยณรงค์ พยานปากเอก ให้การขัดกันเองในชั้น คตส. ที่อ้างว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ น่าจะเป็นนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (อดีตภรรยานายทักษิณ) แต่ในชั้นศาลกลับระบุว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ คือนายทักษิณ โดยศาลเห็นว่านายชัยณรงค์ ‘คาดเดาไปเอง’
3.กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยต้องลงมติครบทุกคนหรือไม่จึงจะปล่อยกู้ได้ ?
ในคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมายังขยายข้อเท็จจริงอีก 1 ประเด็นคือ ศาลฎีกาฯเห็นว่า ในการปล่อยกู้สินเชื่อรายใหญ่ วงเงินเกินกว่า 2 พันล้านบาท แต่ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทนั้น คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย (ขณะนั้นมี 5 คน ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน กรรมการอิสระ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กรรมการอิสระ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ กรรมการบริหาร นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายมัชฌิมา กุญชร กรรมการบริหาร) จะต้องอนุมัติด้วยกันทุกคน หากมีคนใดคนหนึ่งคัดค้านจะไม่สามารถอนุมัติปล่อยกู้สินเชื่อได้
ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากก่อนหน้านี้นายอุตตม สาวนายน และนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ เคยยืนยันหลายครั้งว่า ในการปล่อยกู้สินเชื่อดังกล่าว เป็นผู้คัดค้าน ก่อนที่จะไปให้การต่อผู้ตรวจราชการธนาคารพาณิชย์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนกลายเป็นคดีนี้ขึ้นมา
หลังจากนี้นายอุตตม และนายชัยณรงค์ จะอธิบายข้อเท็จจริงเหล่านี้อย่างไร คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากเจ้าตัวอีกครั้ง ? (อ่านประกอบ : ถอดรหัส 5 คำชี้แจง 'อุตตม' คดีกรุงไทย กับคำถามรักษาผลปย.ชาติ หรือไม่?)
คราวนี้กลับมาโฟกัสว่าตกลงใคร ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ผู้สั่งการให้กรรมการธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อกว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริตกันแน่
ในคำพิพากษาของศาลฎีกาฯเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 ตอนหนึ่ง นายชัยณรงค์ เบิกความอ้างทั้งในชั้นศาล และในชั้น คตส. อ้างว่า ก่อนประชุมคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ครั้งที่ 48/2546 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2546 ร.ท.สุชาย โทรศัพท์แจ้งนายชัยณรงค์ว่า อย่าคัดค้านโครงการที่เครือกฤษดามหานครขอสินเชื่อ เนื่องจากนายบุญคลี ปลั่งศิริ ได้ประสานมาว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ ได้ดูโครงการแล้ว เป็นโครงการที่ดี
ขณะนั้นนายบุญคลี ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งนายทักษิณเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หมายถึงนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เนื่องจาก ร.ท.สุชาย ชอบพูดภาษาอังกฤษ และเมื่อจะกล่าวถึงนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ก็จะใช้คำแทนว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ เสมอ นายทักษิณเป็นผู้แต่งตั้งพี่ชายของ ร.ท.สุชาย คือ ร.อ.สุชาติ เป็น รมว.คลัง แทนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม!เหตุผลยกฟ้อง‘ทักษิณ’คดีกรุงไทย ‘ซุปเปอร์บอส’แค่เดา-กก.ไม่ครบปล่อยกู้มิได้?)
นายบุญคลี ปลั่งศิริ คือใคร ?
นายบุญคลี ปลั่งศิริ คืออดีตมือขวาคนสนิทของนายทักษิณ ชินวัตร โดยอยู่ก่อร่างสร้างบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่สมัยใช้ชื่อว่า บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มีสายสัมพันธ์อันดีกับนายทักษิณ และตระกูลชินวัตรมาอย่างยาวนาน ได้รับความไว้วางใจขึ้นแท่นเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมถึงกรรมการบริษัทในเครือชินคอร์ปฯอีกหลายแห่ง ปัจจุบันนายบุญคลี ลดบทบาทการเป็นผู้บริหารธุรกิจในครอบครัวชินวัตรแล้ว
ส่วนคำกล่าวอ้างของนายชัยณรงค์ที่ว่า นายบุญคลี โทรศัพท์หา ร.ท.สุชาย จะจริงเท็จประการใด แค่ไหน คงต้องรอเจ้าตัวชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง (เพราะศาลฎีกาฯพิจารณาแค่กรณีคำกล่าวอ้างของนายชัยณรงค์ว่า ขัดกันเอง จึงระบุว่า เป็นการคาดเดา)
แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นายบุญคลี กลายมาเป็นอีกหนึ่ง ‘คีย์แมนสำคัญ’ ที่อาจไขคำตอบได้ว่า ตกลง ‘ซุปเปอร์บอส’ คือใครกันแน่ ?
อ่านประกอบ :
‘ทักษิณ’รอดอีกคดี! ศาลฎีกายกฟ้องคดีกรุงไทย-หลักฐานไม่ชัดเป็น'ซุปเปอร์บอส'
ถอดรหัส 5 คำชี้แจง 'อุตตม' คดีกรุงไทย กับคำถามรักษาผลปย.ชาติ หรือไม่?
‘อุตตม’เล่าฉากหลัง-โชว์หลักฐานครบ! เคลียร์คดีกรุงไทยยันบริสุทธิ์-ปัดถูกกันเป็นพยาน
จ่อฟ้องฝ่ายค้าน-คนนอก 4-5 คนใช้หลักฐานเท็จ! ‘อุตตม’ ยันไม่มีเอี่ยวคดีกรุงไทย
เบื้องหลัง ธปท.ไม่เอาผิด! เปิดคำให้การลับ‘อุตตม’คดีกรุงไทย ‘สุชาย-วิโรจน์’คีย์แมน
อุตตม สาวนายน: “ผมไม่ผิด” อย่าบิดเบือน! กรณีการปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทย
'ปรีดิยาธร เทวกุล' เล่าเบื้องหลังทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย จ้องโค่นตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/