“…การอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท โกลเด้นฯ ของคณะกรรมการบริหารนั้น ประธานกรรมการ (ร.ท.สุชาย) ได้ขอให้พิจารณาไปด้วยความรวดเร็วก่อนมีการประชุม และมีการรวบรัดให้การพิจารณาของที่ประชุมยุติลงโดยเร็ว โดยอ้างถึงบุคคลภายนอกขอมา และเป็นสัญญาณว่า ต้องอนุมัติสินเชื่อรายนี้แน่นอน ทั้งที่กรรมการบริหารดังกล่าว (นายชัยณรงค์ และนายอุตตม) ไม่เห็นด้วย โดยตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ของโครงการซึ่งเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น และไม่มีรายละเอียดชัดเจน…”
กลายเป็นประเด็นที่ถูกนำกลับมาวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง !
กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานครวงเงินนับหมื่นล้านบาทโดยทุจริต และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกอดีตกรรมการบริหาร กรรมการสินเชื่อ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคคลในกลุ่มบริษัทกฤษดามหานครไปแล้ว
ทว่ามีบางกลุ่มขุดข้อเท็จจริงว่า ในวันประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เพื่อปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานครดังกล่าว ปรากฎชื่อของนายอุตตม สาวนายน เมื่อครั้งเป็นกรรมการอิสระ ร่วมอยู่ด้วย โดยปัจจุบันนายอุตตม นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแคนดิเดต รมว.คลัง
ส่งผลให้กลายเป็นประเด็นลุกลาม มีการเรียกร้องให้นายอุตตมรับผิดชอบ และต้องถูกดำเนินคดีด้วย กระทั่งนายอุตตม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงกรณีนี้ว่า “ผมไม่ผิด” อย่าบิดเบือน! ยืนยันว่า ในข้อเท็จจริงไม่มีส่วนเป็นผู้กระทำผิด หรือมีส่วนร่วมในการกระทำผิด โดยผ่านการตรวจสอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จนถึงชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งหมด ไม่พบว่ามีความผิด
ข้อเท็จจริงในฝั่งนายอุตตม ยืนยันว่า ในการประชุมบอร์ดบริหารแบงก์กรุงไทยวันปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร เขาเป็นคนท้วงติงว่าสินเชื่อนี้ไม่สามารถอนุมัติได้ ทำให้ ธปท. ที่เข้ามาตรวจสอบภายหลังไม่พบว่าเขามีส่วนร่วม จึงไม่กล่าวโทษ และไม่ตกเป็นจำเลยคดีดังกล่าวมาถึงทุกวันนี้ (อ่านประกอบ : อุตตม สาวนายน: “ผมไม่ผิด” อย่าบิดเบือน! กรณีการปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทย)
จริงหรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลจากหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารธนาคารกรุงไทย กรณีปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงนามโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ขณะนั้น) เมื่อปี 2548 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์การทุจริตการปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร จนนำไปสู่คำพิพากษาของศาลฎีกาฯในที่สุด
สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ผลการตรวจสอบกิจการและสินทรัพย์ของธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2547 ของผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ สังกัด ธปท. พบว่า มีการอนุมัติสินเชื่อโดยมิได้วิเคราะห์ถึงฐานะการดำเนินงานและความน่าเชื่อถือของบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (เครือกฤษดามหานคร) รวมถึงความเป็นไปได้ของโครงการ และปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ธนาคารกรุงไทย ไม่ได้รับชำระหนี้คืน ตลอดจนมูลค่าที่เหมาะสมของหลักประกันและเงินที่ให้สินเชื่อดังกล่าวเป็นการให้สินเชื่อที่เล็งเห็นว่า จะเรียกคืนไม่ได้ หรืออาจชำระหนี้คืนได้ยาก และการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยมีข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ
ธปท. จึงให้ธนาคารกรุงไทย ดำเนินการจัดชั้นลูกหนี้บริษัท โกลเด้นฯ เป็นชั้นสงสัยจะสูญ และกันสำรองในงวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2547 ตามยอดหนี้คงค้างหักมูลค่าหลักประกันที่จัดให้มีการประเมินราคาใหม่ และจัดตั้งคณะกรรมการที่มีความอิสระจากการให้สินเชื่อดังกล่าว เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้สินเชื่อแก่บริษัท โกลเด้นฯ และดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการให้สินเชื่อ
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2547 ธปท. เห็นว่า หากใช้สมมติฐานในการประเมินราคาโดยคำนึงถึงราคาซื้อขายจริงของที่ดินแปลงใกล้เคียง ราคาประเมินของทางราชการ และต้นทุนของเงินที่ใช้ซื้อที่ดินแล้ว ราคาประเมินที่ดินหลักประกันของบริษัท โกลเด้นฯ ควรอยู่ในระดับ 7,118 ล้านบาท จึงสั่งให้ธนาคารกรุงไทยใช้ราคาประเมินดังกล่าวเป็นมูลค่าที่ดินหลักประกันของบริษัท โกลเด้นฯ
นอกจากนี้ผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ ได้ตั้งข้อสังเกตในรายงานการตรวจสอบเกี่ยวกับธนาคารกรุงไทย มีเงินให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้ด้อยคุณภาพรายบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (เครือกฤษดามหานคร) และมีการผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายหุ้นบุริมสิทธิของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) จึงให้ธนาคารกรุงไทย ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง หากพบว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของธนาคารกรุงไทย อย่างมีนัยสำคัญ หรือมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ให้ธนาคารกรุงไทย ดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป
ประเด็นสำคัญของกรณีนี้คือ คณะกรรมการบริหารของธนาคารกรุงไทย และเข้าร่วมประชุมเพื่ออนุมัติสินเชื่อให้แก่เครือกฤษดามหานครในเวลานั้น ได้แก่ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ ประธานกรรมการ นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กรรมการ นายอุตตม สาวนายน กรรมการ นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการ
อย่างไรก็ดีตามหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษดังกล่าว ระบุข้อมูลในช่วงท้ายว่า นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน กรรมการบริหาร ซึ่งเป็นกรรมการอิสระที่กระทรวงการคลังแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารในคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ภายหลังจากทราบผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของธนาคารกรุงไทยว่า มีการให้สินเชื่อที่ผิดปกติ ได้มาพบเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกและให้ถ้อยคำกับผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ โดยมีสาระสำคัญคือ
1.การอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท โกลเด้นฯ ของคณะกรรมการบริหารนั้น ประธานกรรมการ (ร.ท.สุชาย) ได้ขอให้พิจารณาไปด้วยความรวดเร็วก่อนมีการประชุม และมีการรวบรัดให้การพิจารณาของที่ประชุมยุติลงโดยเร็ว โดยอ้างถึงบุคคลภายนอกขอมา และเป็นสัญญาณว่า ต้องอนุมัติสินเชื่อรายนี้แน่นอน ทั้งที่กรรมการบริหารดังกล่าว (นายชัยณรงค์ และนายอุตตม) ไม่เห็นด้วย โดยตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ของโครงการซึ่งเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น และไม่มีรายละเอียดชัดเจน ที่ดินที่ตั้งโครงการและหลักประกันมีการประเมินศักยภาพทางตลาดเท่านั้น โดยลูกหนี้เป็นผู้เลือกบริษัทประเมินราคาและวิธีประเมินราคา ในส่วนการ Refinance จากธนาคารกรุงเทพ มีส่วนที่ Hair Cut ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้กรรมการผู้จัดการที่เป็นกรรมการบริหารได้ทราบเรื่องนี้ดี และช่วยอธิบายแทนสายงานที่นำเสนอสินเชื่อด้วย การตรวจสอบยอดหนี้ Refinance สายงานสินเชื่อ กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงไทยสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย
2.ในการขายหุ้นบุริมสิทธิของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ของธนาคารกรุงไทยนั้น กรรมการบริหารทราบเรื่องน้อยมาก แต่ทราบจากนายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการในขณะนั้นว่า เป็นผู้เจรจากับบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ให้นำบริษัทตัวแทน (Nominee) คือบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด มาซื้อหุ้นคืนจากธนาคารกรุงไทย และคณะกรรมการบริหารเพียงแต่อนุมัติหลักการให้ไปเจรจาขายหุ้นในราคา 10 บาท/หุ้น แก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น แต่นายวิโรจน์ มิได้แจ้งรายละเอียดการเจรจาตกลงขายหุ้นกับบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารทราบแต่อย่างใด
ทั้งนี้จากการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ธปท. พิจารณาเห็นว่า พนักงานธนาคารกรุงไทยที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสินเชื่อ และกรรมการบริหารบางคนอาจไม่มีส่วนร่วมกันกระทำผิด หรือให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น ในชั้นนี้ ธปท. จึงขอเรียนมาเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีดังนี้
1.กรณีการให้สินเชื่อแก่บริษัท โกลเด้นฯ นั้น ธปท. ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับ ร.ท.สุชาย ประธานกรรมการ นายวิโรจน์ อดีตกรรมการผู้จัดการและกรรมการ นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการ นายไพโรจน์ รัตนะโสภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานสินเชื่อภาคเหนือและนครหลวงตะวันตก นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสและผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์สินเชื่อก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นายประวิทย์ อดีตโต ผู้อำนวยการฝ่ายและผู้บริหารฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล หัวหน้าส่วนปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารงานธุรกิจสัมพันธ์สินเชื่อก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท โกลเด้นฯ นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา และนายบัญชา ยินดี กรรมการบริษัท โกลเด้นฯ
สำหรับพนักงานธนาคารกรุงไทย คณะกรรมการสินเชื่อ และคณะกรรมการบริหารที่เกี่ยวข้องอื่นนอกจากที่กล่าวมา และการอนุมัติสินเชื่อประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 500 ล้านบาท และจ่ายเงินให้กับบริษัท อาร์ เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด (เครือกฤษดามหานคร) เพื่อใช้ในการซื้อที่ดินให้กับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หากพนักงานสอบสวนสืบสวนพบว่า ผู้ใดมีส่วนร่วมกันกระทำผิดหรือให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดหรือปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายในความผิดใดแล้วแต่กรณี ธปท. ประสงค์ที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบุคคลนั้นหรือความผิดนั้นด้วย
2.กรณีการขายหุ้นบุริมสิทธิให้กับบริษัท แกรนด์ ธปท. ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายวิโรจน์ อดีตกรรมการผู้จัดการ น.ส.วราลี บุนนาค และนายไมนตรี เหลืองนิมิตรมาศ กรรมการบริษัท แกรนด์ และบริษัท แกรนด์ฯ
สำหรับพนักงานธนาคารกรุงไทย และกรรมการบริหารที่เกี่ยวข้องอื่นนอกจากที่กล่าวมา หากพนักงานสอบสวนสืบสวนพบว่า ผู้ใดมีส่วนร่วมกันกระทำผิดหรือให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดหรือปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายในความผิดใดแล้วแต่กรณี ธปท. ประสงค์ที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบุคคลนั้นหรือความผิดนั้นด้วย
นี่คือถ้อยความสาระสำคัญในหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษฉบับ ธปท. ยุค ‘หม่อมอุ๋ย’ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ จุดเริ่มต้นแห่งมหากาพย์การตรวจสอบทุจริตคดีแบงก์กรุงไทยทุจริตการปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร จนนำไปสู่คำพิพากษาจำคุกอดีตกรรมการบริหาร พนักงานแบงก์กรุงไทยที่เกี่ยวข้อง ยังเหลือนักการเมืองดังที่อยู่ระหว่างการไต่สวนลับหลัง รวมถึงสืบสาวเส้นทางการเงินไปถึงเครือญาตินักการเมืองดังอยู่ในขณะนี้!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : 'ปรีดิยาธร เทวกุล' เล่าเบื้องหลังทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย จ้องโค่นตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ