"... ผมมาทราบภายหลังว่าเอกสารรายงานผลการประชุมของคณะกรรมการสินเชื่อที่นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารระบุข้อความที่แตกต่างไปจากมติของที่ประชุม คือ ระบุข้อความว่า อนุมัติวงเงินกู้ 8,000 ล้านบาท โดยไม่มีข้อความที่เป็นเงื่่อนไข "ให้เบิกจ่ายเพื่อชำระเจ้าหนี้เดิมเท่านั้น" ได้ทราบมาว่าหลังจากประธานคณะกรรมการสินเชื่อลงนามใบปะหน้าเพื่อนำส่งมติที่ประชุมต่อคณะกรรมการบริหารแล้ว เจ้าหน้าที่ของธนาคารซึ่งดูแลเรื่องนี้ได้เปลี่ยนข้อความในรายงานที่แนบ โดยตัดข้อความส่วนที่เป็นเงื่อนไขออกไป เพื่อให้คณะกรรมการบริหารระบุได้สะดวกว่า "อนุมัติตามที่คณะกรรมการสินเชื่อเสนอ" ศาลจึงจำเป็นต้องตัดสินลงโทษคณะกรรมการสินเชื่อผู้กลั่นกองเรื่องไปพร้อมกับคณะกรรมการบริหารซึ่งเป็นผู้ที่อนุมัติด้วย..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นเนื้อหาบางส่วน หนังสือเรื่อง "ในหนึ่งแผ่นดิน" ที่เขียนโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 17 อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เกี่ยวกับเหตุการณ์เบื้องหลังกรณีการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย
-----------------------
กรณีที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อ ในลักษณะที่ชวนสงสัย ให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ สองราย คือ บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานครและบริษัทในกลุ่มธนบุรีประกอบรถยนต์ กลายเป็นเรื่องต่อสู้กันระหว่างธนาคารแห่งประทศไทย (ธปท) และธนาคารกรุงไทย
โดยมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวช่วยธนาคารกรุงไทยและโจมตีผู้การ ธปท. อย่างเต็มที่รวมทั้งวางแผนที่จะทำให้ผู้ว่าการฯ หลุดจากตำแหน่ง
แต่ผมสามารถแก้ไขได้ทันเหตุการณ์ แผนนั้นจึงไม่สำเร็จ
กรณีดังกล่าวเริ่มจากการที่เจ้าหน้าที่ ธปท. เข้าไปตรวจธนาคารกรุงไทยตามวาระ (ซึ่งตรวจทุกสองปี) ตอนปลายปี 2546 และได้พบว่ามีการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ที่ดูไม่ชอบมาพากลสองราย
รายหนึ่งคือ บริษัทโกลเด้นเทคโนโลยีอินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ในกลุ่มกฤษดามหานคร มีการอนุมัติวงเงินสินเชื่อหลายวงเงินรวม 9,900 ล้านบาท แต่วงเงินที่ดูไม่ชอบมาพากลคือวงเงินกู้ระยะยาว 8,000 ล้านบาท ซึ่งขอกู้เพื่อนำเงินไปไถ่ถอนหลักประกันจากธนาคารกรุงเทพปรากฏว่ามีการจ่ายเช็คให้แก่ธนาคารกรุงเทพ เพื่อไถ่ถอนหลักประกันเพียง 4,445 ล้านบาท ที่เหลืออีก 3,550 ล้านบาทเศษจ่ายเพื่อวัตถุประสงค์อื่น มีทั้งชื้อหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทในเครือ ซื้อที่ดินเพิ่มเติมจ่าย เงินเข้าบัญชีบุคคลและนิติบุคคลหลายราย เพื่อนำเงินไปเพิ่มทุนให้แก่บริษัทในเครือ และยังมีบางส่วนที่โอนเงินให้พวกพ้องและบุคคลอื่นนอกกลุ่มอีกด้วยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ผิดจากวัตถุประสงค์ที่ขอกู้อย่างโจ่งแจ้ง
อีกรายหนึ่งคือ บริษัท MW ในกลุ่มของบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ซึ่งขอกู้จำนวน 2,600 ล้านบาท เพื่อนำไปรวมกับเงินกองทุนของ MW จำนวน 200 ล้านบาท เป็น 2,800 ล้านบท ซึ่งจะนำไปซื้อหนี้ของ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ที่ธนาคารกรุงเทพเป็นเจ้าหนี้ อยู่พร้อมกับไถ่ถอนหลักประกันมาด้วย ปรากฎว่า หลังจากธนาคารกรุงไทยให้กู้แก่ MW ไปแล้ว MW นำไปชำระให้แก่ธนาคารกรุงเทพเพียง 2,190 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 610 ล้านบาทนั้น จ่ายเข้าบัญชีส่วนตัวของเจ้าของบริษัทและผู้บริหารของ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด รวม 2 คน จึงเป็นการทำผิดวัตถุประสงค์ในการขอกู้โดยนำเงินส่วนหนึ่งจำนวนไม่น้อยเข้าบัญชีส่วนตัว
(หน้าปกหนังสือ)
เมื่อผมได้รับรายงานการปล่อยสินเชื่อสองกรณีที่เบิกจ่ายผิดวัตถุประสงค์ที่ขอกู้และนำเงินไปใช้เพื่อการอื่นด้วยเช่นนี้แล้ว ก็ได้ดำเนินการเชิญประธานกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยมาชี้แจงให้เห็นว่า คณะกรรมการบริหารของธนาคาร (คนละชุดกับคณะกรรมการธนาคาร) ได้อนุมัติสินเชื่อรายใหญ่สองรายนี้ และปล่อยให้เบิกจ่ายเงินกู้ผิดวัตถุประสงค์อย่างชัดแจ้ง ขอให้ประธานกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบนำไปพิจารณดำเนินการแก้ไขและลงโทษตามกฏเณฑ์ของธนาคาร โดย ธปท. ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว
ปรากฏว่าหลังจากนั้น 1 เดือน ผมได้รับหนังสือจากประธานกรรมการของธนาคารกรุงไทยนำส่งรายงานของประธานกรรมการตรวจสอบ ซึ่งสรุปว่าได้ทำการตรวจสอบรายละเอียดของการอนุมัติและเบิกจ่ายสินเชื่อรายดังกล่าวแล้ว เห็นว่าทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติ ซึ่งหมายความว่าประธานกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยในขณะนั้น ไม่ติดใจที่จะเอาผิดผู้ใดเลย ประธานฯ สองคนนั้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในบ้านเมือง ซึ่งผมเคยนับถือว่าเป็นคนมีความสามารถ
เมื่อผมได้รับคำตอบมาเช่นนี้ ก็ได้เข้าใจแล้วว่าความสามารถกับความดีมีคุณธรมนั้นเป็นคนละเรื่องกัน
เพื่อรักษาความถูกต้อง ผมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องฟ้องร้องเอาความกับผู้กระทำผิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดเช่นนี้อีก
กรณีบริษัท MW นั้น รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารที่อนุมัติสินเชื่อรายนี้ระบุชัดว่าให้กู้จำนวน 2,600 ล้านบาท เพื่อให้บริษัท MW นำเงินไปซื้อหนี้ของบริษัทธนบุรีประกอบรถยนตร์ จากธนาคารกรุงเทพฯ เท่านั้น เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการเบิกจ่ายบกพร่องที่ไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ธนาคารกรุงเทพ
ต้องการขายหนี้ในราคาเพียง 2,200 ล้านบาท มิใช่ 2,800 ล้านบาท จึงปล่อยสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 2,600 ล้านบาท อันเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำเงินส่วนหนึ่งไปเข้าบัญชีส่วนตัวของเจ้าของและผู้บริหารได้
ดังนั้น ธปท จึงเห็นว่าผู้ที่กระทำผิด คือ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลให้เบิกจ่ายเท่านั้น คณะกรรมการบริหารผู้อนุมัติสินเชื่อมิได้ทำผิด ธปท.จึงฟ้องเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่าย 2 คน และเจ้าของกับผู้บริหารของลูกหนี้อีก 3 คนเท่านั้น
ส่วนกรณี บริษัทโกลเด้นฯ ในกลุ่มกฤษดามหานครนั้น คำอนุมัติของคณะกรรมการบริหารของธนาคารในส่วนของเงินกู้ระยะยาว 8,000 ล้านบาทนั้น ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าให้จ่ายแก่เจ้าหนี้เดิมที่รับจำนองหลักประกันไว้เท่านั้น เปิดโอกาสให้มีการเบิกจ่ายในลักษณะที่ไม่ชอบมาพากลดังที่บรรยายในตอนแรกแล้วได้ ธปท. จึงจำเป็นต้องกล่าวโทษกรรมการบริหารที่สนับสนุนให้อนุมัติสินเชื่อรายนี้ 3 คน และกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการเบิกจ่ายและตั้งเรื่องเสนอขอสินเชื่อครั้งนี้ ด้วยอีก 4 คน พร้อมกับกล่าวโทษผู้บริหารของลูกหนี้ด้วย
ในเบื้องต้นนั้น ธปท. มิได้กล่าวโทษคณะกรรมการสินเชื่อของธนาคาร (ซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองสินเชื่อรายนี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริหารของธนาคารเพื่อพิจารณาอนุมัติ) ทั้งนี้ เพราะตามหลักฐานที่ผมเห็นในขณะนั้น ระบุไว้ชัดเจน ว่า คณะกรรมการสินชื่อเสนอว่าเห็นควรอนุมัติเงินกู้ 8,000 ล้านบาท โดยระบุเงื่อนไขว่าให้จ่ายเงินจากวงเงินนี้แก่เจ้าหนี้เดิมที่รับจำนองหลักประกันอยู่เท่านั้น จังหวะนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สัญญาว่าจ้างผู้บริหารสูงสุดของธนาคารกรุงไทยหมดอายุลง จำเป็นต้องต่ออายุหรือสรรหาคนใหม่ทำหน้าที่แทน เนื่องจากผู้บริหารสูงสุดเป็น 1 ใน 3 ของกรรมการบริหารที่ ธปท. ต้องกล่าวโทษ ผมในฐานะผู้ว่าการ ธปท. จึงได้ให้ความเห็นไปยังคณะกรรมการธนาคารคัดค้านการต่ออายุผู้บริหารสูงสุดคนเดิม สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับที่เป็นพวกเดียวกับผู้บริหารสูงสุดคนนั้นมาก
นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเล่าให้ผมฟังว่า เจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นได้เข้าหานายกฯ ขอให้สั่งการให้ผมหยุดกล่าวโทษและยินยอมให้ต่ออายุผู้บริหารสูงสุดคนนั้น ซึ่งนายกฯ ได้ตอบว่าสายไปแล้วเพราะผมได้เข้าพบเสนอเรื่องราวให้ทราบทั้งหมด และได้ตอบไม่ขัดข้องที่ผมจะดำเนินการกล่าวโทษผู้ที่กระทำความผิดไปแล้ว
เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้นั้นไม่พอใจอย่างมากและหลังจากนั้นก็มีความเคลื่อนไหวที่จะทำให้เห็นว่าผมทำความเสียหายให้แก่ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในความดูแลกล่าว คือ ในวันพุธที่ 11 สิงหาคม 2547 ตอนบ่ายมีคนขายหุ้นธนาคารกรุงไทยเป็นจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างรวดเร็ว ผมตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฎว่ามีผู้ปล่อยข่าวว่าผู้ว่าการ ธปท. สั่งให้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของธนาคารกรุงไทยขายหุ้นเป็นจำนวนสูง ซึ่งไม่มีมูลความจริงเลย กองทุนฯ ยังถือหุ้นเท่าเดิมทุกประการ ผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยหลายรายกลัวว่าราคาหุ้นจะตก จึงเร่งขายกันและมีผลให้ราคาหุ้นลดลงจริงๆ ตลอดวันนั้น ในวันรุ่งขึ้นที่ 12 สิงหาคม 2547 เป็นวันหยุดราชการ หนังสือพิมพ์ลงข่าวตามข่าวลือ และหนังสือพิมพ์ฉบับที่เป็นพวกเดียวกับผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่ถูกกล่าวหาก็โจมตีผู้ว่าการ ธปท. อย่างเต็มที่ พยายามขยายความให้เห็นว่าทำให้เกิดความเสียหายมากมายแก่ธนาคารกรุงไทย ผมรู้สึกได้ด้วยสัญชาตญาณว่าในวันที่ 13 สิงหาคม เมื่อตลาดเปิดคงจะมีการขายโจมตีหุ้นของธนาคารกรุงไทยเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้นสมกับที่ได้โจมตีผมไว้ และก็คงจะตามมาด้วยการสร้างเรื่องเพื่อกล่าวหา และ discredit ผมจนผมอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกไม่ได้ ผมจะต้องหยุดความเคลื่อนไหวนี้ ให้ได้ด้วยการทำความจริงให้ปรากฏ
ในตอนเย็นวันที่ 12 สิงหาคุม 2547 ผมนั่งร่างแถลงการณ์เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจและตอบโต้เรื่องนี้ครั้นถึงเช้าวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2547 ผมไปถึง ธปท. ตั้งแต่เช้าสั่งให้เจ้าหน้าที่เตรียมการให้ผมแถลงข่าวในเวลา 10.00 น. โดยขอให้เชิญหนังสือพิมพ์ทุกฉบับและโทรทัศน์ทุกช่องมาให้พร้อม ครั้นถึงเวลา 10.00 น ผมก็เริ่มอ่านแถลงการณ์ที่ร่างไว้อย่างชัดเจน มีข้อใหญ่ใจความว่ากองทุนพื้นฟู มิได้ขายหุ้นของธนาคารกรุงไทยออกไป ตามที่มีผู้ปล่อยข่าวลือในตลาดแต่อย่างใดเลย หุ้นที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ยังมีอยู่ในจำนวนเท่าเดิม และได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าฐานะของธนาคารกรุงไทยยังมั่นคงแข็งแรง แม้ว่าจะต้องตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมขึ้นตามมาตรฐานใหม่ที่ ธปท. ประกาศออกไปซึ่งสอดคล้องตามมาตรฐานสากล ธนาคารกรุงไทยฯ ก็สามาถปฏิบัติตามได้และยังมีเงินกองทุนเหลือเพียงพอ และยังได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่ตรงข้ามกับข่าวลือเล็กๆน้อยๆอีกมากที่หนังสือพิมพ์บางฉบับจงใจเสกสรรปั้นแต่งเพื่อให้นักลงทุนคิดว่าธนาคารกรุงไทยกำลังมีฐานะอ่อนแอลง
คำแถลงของผมผ่านโทรทัศน์ถึงผู้ค้าหุ้นในตลาดทุกคนโดยพร้อมเพรียงกัน ตลาดเชื่อในข้อเท็จจริงที่ผู้ว่าการ ธปท.ชี้แจง และหยุดการขายหุ้นธนาคารกรุงไทย หันกลับมาซื้อแทนราคาหุ้นจึงสูงกลับขึ้นมาได้ ผมสามารถหยุดความพยายามที่จะ discredit ผู้ว่าการ ธปท. ในเรื่องนี้ไว้ได้
ในใจผมขณะนั้นนึกถึงอาจารย์ป๋วย ผู้ที่เป็นตัวอย่างของบุคคลที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องที่ผมยึดเป็นแม่แบบในการทำงานมาโดยตลอด
การต่อสู้ในรื่องนี้มีผลพลอยได้ที่สำคัญคือ วงการธุรกิจและประชาชนทั่วไปมีความเชื่อมั่นใน ธปท. เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากข้อวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และเมื่อถึงสิ้นปี 2547 ผลสำรวจ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ศรัทธาใน ธปท. เพิ่มสูงขึ้นเป็น 9% และผู้ที่ยังไม่ศรัทธาลดลงเหลือเพียง 10%
ในเรื่องความคืบหน้าจากการกล่าวโทษผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของบริษัท โกลเด้นฯ และบริษัท MW นั้น เนื่องจากคดีของธนาคารกรุงไทยเป็นการกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ ธปท. จึงส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. บังเอิญเกิดการปฏิวัติขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ก่อนที่ ป.ป.ช. จะฟ้อง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแกรัฐ (คตส.) ซึ่งคณะปฏิวัติตั้งขึ้นใหม่ สนใจในคดีทั้งสองด้วยมีความเชื่อว่าเป็นการปล่อยสินเชื่อตามคำสั่งของนักการเมือง จึงได้ขอคดีทั้งสองไปจาก ปปช. แล้ว คตส. ก็ตัดสินใจส่งให้อัยการฟ้องคดีบริษัทโกลเด้นฯ แต่ไม่สั่งฟ้องคดีบริษัท MW โดยส่งคืน ป.ป.ช.ไป
ในการส่งฟ้องคดี บริษัท โกลเด้นฯนั้น คตส. ได้ดำเนินการให้ ธปท. ขยายการฟ้องให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่เกี่ยวข้องมากขึ้น คือ ให้ครอบคลุมถึงคณะกรรมการสินเชื่อจำนวน 10 คน ที่ทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการบริหารด้วย กับให้ครอบคลุมถึงนักการเมืองและญาติของนักการเมืองที่ คตส. เชื่อว่าเกี่ยวข้องอีกด้วย
คดีบริษัท โกลเด้นฯ ศาลได้พิพากษาตัดสินไปแล้ว และจำเลยที่ถูกพิพากษาจำคุกมีทั้งกรรมการบริหาร 3 คนที่เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อ เจ้าของและผู้บริหารกิจการของจำเลย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่เสนอเรื่องและดูแลการเบิกจ่าย และยังรวมถึงคณะกรรมการสินเชื่อที่กลั่นกรองเรื่องเสนอให้คณะกรรมการบริหารพิจารณา
ในความเห็นของผม คณะกรรมการสินเชื่อทั้ง 10 คน มิได้ทำความผิดหนักหนาถึงขนาดที่จะถูกลงโทษจำคุกเลย เพราะคณะกรรมการสินเชื่อเสนอให้อนุมัติวงเงินกู้ดังกล่าวโดยระบุเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่า ให้เบิกจ่ายเงินกู้เพื่อชำระเจ้าหนี้เดิมที่รับจำนองหลักประกันไว้เท่านั้น ซึ่งถ้าหากคณะกรรมการบริหารอนุมัติตามเงื่อนไขเดียวกัน ผู้เบิกจ่ายก็จะไม่สามารถเบิกจ่ายเงินกู้นอกเหนือไปจากจำนวนที่ต้องจ่ายให้แก่ธนาคารกรุงเทพในการไถ่ถอนหลักประกันจำนวนประมาณ 4,500 ล้านบาทได้
ผมมาทราบภายหลังว่าเอกสารรายงานผลการประชุมของคณะกรรมการสินเชื่อที่นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารระบุข้อความที่แตกต่างไปจากมติของที่ประชุม คือ ระบุข้อความว่า อนุมัติวงเงินกู้ 8,000 ล้านบาท โดยไม่มีข้อความที่เป็นเงื่อนไข "ให้เบิกจ่ายเพื่อชำระเจ้าหนี้เดิมเท่านั้น" ได้ทราบมาว่าหลังจากประธานคณะกรรมการสินเชื่อลงนามใบปะหน้าเพื่อนำส่งมติที่ประชุมต่อคณะกรรมการบริหารแล้ว เจ้าหน้าที่ของธนาคารซึ่งดูแลเรื่องนี้ได้เปลี่ยนข้อความในรายงานที่แนบ โดยตัดข้อความส่วนที่เป็นเงื่อนไขออกไป เพื่อให้คณะกรรมการบริหารระบุได้สะดวกว่า "อนุมัติตามที่คณะกรรมการสินเชื่อเสนอ" ศาลจึงจำเป็นต้องตัดสินลงโทษคณะกรรมการสินเชื่อผู้กลั่นกองเรื่องไปพร้อมกับคณะกรรมการบริหารซึ่งเป็นผู้ที่อนุมัติด้วย
สำหรับกรณีการปล่อยสินชื่อแก่ บริษัท MW ที่ คตส. ตัดสินใจไม่ฟ้องและส่งเรื่องกลับไปให้ ป.ป.ช.นั้น ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าควรฟ้องจึงส่งเรื่องต่อให้อัยการ แต่อัยการยังไม่เห็นด้วยว่าควรฟ้อง จึงมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างผู้แทน ป.ป.ช. กับอัยการเพื่อพิจารณาร่วมกันว่าควรฟ้องร้องหรือไม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เรื่องเงียบหายไปนานจนถึงปี พ.ศ. 2556 อัยการจึงให้ความเห็นอย่างชัดแจ้งว่า จะไม่ดำเนินการฟ้องคดีนี้ ป.ป.ช. จึงตัดสินใจยื่นฟ้องเองปลายปี 2557 ซึ่งปรากฏว่าสามารถกล่าวโทษได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ของธนาคารสองคนที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่คณะกรรมการบริหารอนุมัติ(อายุความสำหรับเจ้าหน้าที่ของรับเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็น15ปี) ไม่สามารถกล่าวโทษผู้บริหารของบริษัท MW ได้เพราะขาดอายุความแล้ว (อายุความ 10 ปี) ผมอดคิดไม่ได้ทำไมอัยการจึงให้ความเห็นว่าจะไม่ฟ้องเรื่องนี้ช้านัก ถ้าให้ความเห็นเร็วกว่านี้สัก 1 หรือ 2 ปี อายุความของเจ้าของและผู้บริหารของบริษัทที่ขอกู้ก็จะยังไม่เกิน 10 ปี ป.ป.ช. ก็จะสามารถฟ้องร้องเอาความผิดได้
คิดแล้วก็ได้แต่ปลง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/