"....การเป็นกรรมการอิสระในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ มีความรับผิดชอบไม่แตกต่างจากกรรมการอื่น โดยต้องรับผิดชอบต่อมติการประชุมที่ตนเองได้เข้าร่วมประชุมและร่วมลงมติอนุมัติ กรณีที่อาจไม่ต้องรับผิดชอบต่อมติการประชุมในเรื่องนี้คือ จะต้องออกเสียงในที่ประชุมว่าไม่อนุมัติหรือไม่เห็นชอบ และอาจบันทึกความเห็นแย้งไว้ในมติการประชุมจากการที่เป็นเสียงข้างน้อย ..."
จากคำชี้แจงของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อรัฐสภาในวันที่สองของการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 กรณีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ตามที่สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้ที่ได้อ่านหรือได้ฟังคำชี้แจง ส่วนหนึ่งเห็นว่านายอุตตม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตและคดีสิ้นสุดไปแล้วโดยนายอุตตม เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็มีอีกบางส่วนเห็นว่ายังไม่อาจกล่าวได้ว่า นายอุตตม มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ
กรณีจะเป็นอย่างไร ลองถอดรหัสจากคำชี้แจงของนายอุตตม และดูมุมมองอีกด้านหนึ่งของฝั่งที่ไม่เห็นด้วย ดังนี้
คำชี้แจง 1 : นายอุตตม และนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ เป็นกรรมการอิสระ หมายความว่าไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารงานปกติของธนาคารแต่อย่างใด
มุมมองอีกด้าน : การเป็นกรรมการอิสระในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ มีความรับผิดชอบไม่แตกต่างจากกรรมการอื่น โดยต้องรับผิดชอบต่อมติการประชุมที่ตนเองได้เข้าร่วมประชุมและร่วมลงมติอนุมัติ กรณีที่อาจไม่ต้องรับผิดชอบต่อมติการประชุมในเรื่องนี้คือ จะต้องออกเสียงในที่ประชุมว่าไม่อนุมัติหรือไม่เห็นชอบ และอาจบันทึกความเห็นแย้งไว้ในมติการประชุมจากการที่เป็นเสียงข้างน้อย
คำชี้แจง 2 : นายอุตตม และนายชัยณรงค์ ได้มีการทักท้วง ซักถาม และไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติสินเชื่อ แต่มาทราบภายหลังว่ามีการปล่อยสินเชื่อรายนี้ออกไป
มุมมองอีกด้าน : แม้นายอุตตม จะมีการทักท้วง ซักถาม หรือแสดงความไม่เห็นด้วยในการอนุมัติสินเชื่อ แต่ในขั้นตอนการลงมติการประชุมว่าจะอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ หรือให้ทบทวน นายอุตตม กลับร่วมลงมติอนุมัติ แสดงว่าแม้จะไม่เห็นด้วยในช่วงแรก แต่เมื่อมีการทักท้วงและซักถามแล้ว ก็ได้รับคำตอบจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงได้ร่วมลงมติอนุมัติสินเชื่อรายนี้ และย่อมทราบในการขณะนั้นว่าสินเชื่อรายนี้ได้รับการอนุมัติเนื่องจากเป็นหนึ่งในกรรมการที่มีมติอนุมัติ จึงไม่อาจกล่าวได้ว่ามาทราบภายหลังว่ามีการปล่อยสินเชื่อรายนี้ออกไป
คำชี้แจง 3 : เมื่อมีการตรวจสอบ นายอุตตม เป็นผู้เดินเข้าไปหาผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยตัวเองโดยไม่ได้ถูกเรียก เพื่อให้ข้อมูลพร้อมรับการตรวจสอบอย่างเต็มที่
มุมมองอีกด้าน : แม้นายอุตตม ไม่ได้เดินเข้าไปหาผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ด้วยตัวเอง ก็จะต้องถูกเรียกไปให้ถ้อยคำ เพราะเป็นกรรมการที่ร่วมลงมติอนุมัติสินเชื่อรายนี้ การที่รีบเข้าพบผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ ก็เพื่อที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองไว้ก่อน โดยได้ให้ถ้อยคำกับผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ตนเองพ้นผิด ปรากฏอยู่ในหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อพนักงานสอบสวน ดังนี้
-การอนุมัติสินเชื่อรายนี้ ประธานคณะกรรมการบริหารได้ขอให้พิจารณาไปด้วยความรวดเร็วก่อนมีการประชุม
-มีการรวบรัดให้การพิจารณาของที่ประชุมยุติลงโดยเร็ว
-มีการอ้างถึงบุคคลภายนอกขอมา
-มีสัญญาณว่าต้องอนุมัติสินเชื่อรายนี้แน่นอน
-นายอุตตม ไม่เห็นด้วยที่จะอนุมัติสินเชื่อรายนี้ โดยได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ของโครงการ การประเมินราคาที่ดินหลักประกัน การ Refinance ซึ่งยอดหนี้สุทธิหลังการ Hair Cut จากธนาคารกรุงเทพไม่ชัดเจน
ถ้าหากนายอุตตม ไม่เห็นด้วยที่จะอนุมัติสินเชื่อรายนี้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ตามที่ยกมาจริง ก็ควรลงมติไม่อนุมัติ และบันทึกความเห็นแย้งไว้ในมติการประชุม แต่ไม่ได้ทำเช่นนั้น
คำชี้แจง 4 : ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้กล่าวโทษนายอุตตม และนายชัยณรงค์ โดยมีมติว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่ได้ทุจริต
มุมมองอีกด้าน : หนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษของธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงพนักงานสอบสวน ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ลงนามโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ แม้ว่าไม่มีชื่อนายอุตตม เป็นผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่ในหนังสือดังกล่าวระบุว่า หากพนักงานสอบสวนพบว่า ผู้ใดมีส่วนร่วมกันกระทำความผิดหรือให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด ธนาคารแห่งประเทศไทยประสงค์ที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบุคคลนั้นด้วย ซึ่งนายอุตตม ชี้แจงเองว่า ในชั้นไต่สวนของ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ตนเองเป็นผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ 19 ซึ่งแสดงว่าเมื่อมีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งกับพนักงานสอบสวนแล้ว นายอุตตม ได้เข้ามาเป็นผู้ถูกกล่าว และเมื่อพนักงานสอบสวนส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.นายอุตตม ก็ยังคงเป็นผู้ถูกกล่าวหาอยู่ ต่อมาเมื่อมีการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และแต่งตั้ง คตส.ขึ้นมา คตส.ได้เรียกสำนวนนี้จาก ป.ป.ช.มาพิจารณา เพื่อไต่สวนแล้วจึงส่งเรื่องกลับคืนไปยัง ป.ป.ช.เพื่อส่งอัยการดำเนินคดี ซึ่งชื่อของนายอุตตม และนายชัยณรงค์ หลุดออกไปจากการเป็นผู้ถูกกล่าวหาภายหลังการไต่สวนของ คตส. จึงทำให้เห็นว่าน่าจะมีข้อตกลงบางอย่างเกิดขึ้นในช่วงการไต่สวนของ คตส. (ขั้นตอนการส่งเรื่องปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555 หมายเลขแดงที่ อม.55/2558 หน้าที่ 24-26)
คำชี้แจง 5 : ในคำพิพากษาศาลฎีกาฯ วินิจฉัยว่าคณะกรรมการบริหารกระทำความผิด หมายถึงกรรมการบริหาร 3 คนที่ถูกฟ้อง ไม่ได้หมายถึงกรรมการบริหารทุกคน
มุมมองอีกด้าน : คำพิพากษาศาลฎีกาฯ หน้าที่ 7 ระบุชื่อนายอุตตมฯ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของธนาคาร ร่วมกับ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 , และนายชัยณรงค์ รวมเป็น 5 ราย โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุมัติสินเชื่อทุกประเภทที่มีวงเงินเกินกว่า 2,000 ล้านบาท คำพิพากษาศาลฎีกาฯ หน้า 61-62 ระบุเป็นความผิดของคณะกรรมการบริหารทั้งคณะ โดยไม่ใช่เป็นความผิดเพียงเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่เป็นจำเลยในคดีเท่านั้น คำพิพากษาระบุผู้กระทำผิดโดยใช้คำว่า “คณะกรรมการบริหาร” ไม่ได้ใช้คำว่า “จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4” จึงหมายถึงบุคคลที่เป็นคณะกรรมการบริหารทั้ง 5 ราย รวมถึงนายอุตตมฯ ด้วย
โดยศาลฎีกาฯ วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาหน้า 62 ว่า “คณะกรรมการบริหาร” อนุมัติสินเชื่อให้กับลูกหนี้ (จำเลยที่ 19) จำนวน 9,900 ล้านบาท ทั้งที่
- เป็นลูกหนี้ต้องห้ามมิให้ขอสินเชื่อตามนโยบายสินเชื่อ
- อนุมัติสินเชื่อโดยมีการเปลี่ยนแปลงวงเงินรีไฟแนนซ์อย่างกะทันหัน ซึ่งมีส่วนต่างถึง 1,400 ล้านบาท โดยไม่สนใจว่าจำเลยที่ 19 จะหาเงินจากแหล่งเงินใด
- มีการวางเงื่อนไขเพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าโดยปราศจากเหตุผล
- เร่งรัดดำเนินการตามความประสงค์ของลูกหนี้ ละเลยไม่ใส่ใจตรวจสอบไต่ถามในรายละเอียด
- มีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และคำสั่งธนาคารกรุงไทย
- มีเจตนาช่วยเหลือให้จำเลยที่ 19 ได้รับอนุมัติสินเชื่อจำนวนถึง 9,900 ล้านบาท เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ต่อจำเลยที่ 20โดยมิได้รักษาประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหาย
โดยคำพิพากษาระบุว่า เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบกระทำผิดหน้าที่ของตน เบียดบังเอาทรัพย์ของธนาคารเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคาร เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และประมวลกฎหมายอาญา
จากการถอดรหัสคำชี้แจงของนายอุตตม และมุมมองอีกด้าน เห็นได้ว่านายอุตตม หลุดจากการเป็นผู้ถูกกล่าวหาภายหลังการไต่สวนของ คตส. ตามที่นายอุตตม ได้พยายามโชว์หนังสือของสำนักงาน ป.ป.ช.ที่แสดงให้เห็นว่า คตส.ไต่สวนแล้วไม่พบว่านายอุตตม มีส่วนร่วมกระทำผิด
ทำให้มีข้อสังเกตว่า นายอุตตม หลุดจากการเป็นจำเลยในคดีนี้ น่าจะมาจาก คตส.ซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องการให้ความผิดเชื่อมโยงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งถูกรัฐประหารออกไปด้วยปัญหาทุจริตคอรัปชั่น แต่จากพยานหลักฐานไม่สามารถเชื่อมโยงได้ เพราะไม่มีเอกสารชิ้นใดที่ระบุได้เช่นนั้น ซึ่งจะทำให้กลายเป็นคดีอาญาทั่วไปและไม่สามารถเอาผิดกับนายทักษิณได้ จึงต้องมีพยานบุคคลเพื่อที่จะยืนยันว่านายทักษิณ เป็นผู้สั่งการ ดังนั้น จึงต้องใช้บุคคลที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มากกว่า 1 คน นำมาเบิกความให้ศาลเห็นว่ามีบุคคลภายนอกหรือที่เรียกกันว่าบิ๊กบอสหรือซูเปอร์บอส เป็นผู้สั่งการอยู่เบื้องหลังการอนุมัติสินเชื่อรายนี้ ซึ่งนายอุตตม และนายชัยณรงค์ จะต้องทำหน้าที่นี้เพื่อแลกกับการหลุดจากการเป็นผู้ถูกกล่าวหาในชั้นของ คตส.โดยคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ระบุถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ในหน้า 72-73
การที่กรรมการบริหารทั้ง 5 คน มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏให้เห็นชัดเจนว่าร่วมกันมีมติอนุมัติสินเชื่อโดยทุจริต โดยขณะลงมติกรรมการแต่ละคนมี 1 คะแนนเสียงเท่ากัน ซึ่งต่อมากรรมการทั้ง 5 คนเป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยนายอุตตม เป็นผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ 19 ของ คตส.แต่หลังจากการไต่สวนของ คตส.แล้ว กรรมการบริหาร 2 ใน 5 คน กลับหลุดจากการเป็นผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีเหตุผลพิเศษตามที่กล่าวมา
โดยการหลุดจากการเป็นผู้ถูกกล่าวหาของกรรมการบริหารทั้งสอง ไม่เรียกว่ากันไว้เป็นพยาน เพราะการกันไว้เป็นพยานกฎหมายกำหนดให้มีเฉพาะในขั้นตอนของ ป.ป.ช.
จึงเป็นที่มาของการที่นายอุตตม ไม่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ ขณะที่คำให้การของนายอุตตม และนายชัยณรงค์ ทำให้อัยการสามารถสั่งฟ้องนายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1 ได้ อีกทั้งสามารถฟ้องจำเลยทั้งหมดต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และทำให้คดีถึงที่สุดในศาลเดียว แทนที่จะฟ้องต่อศาลอาญาและคดีถึงที่สุดใน 3 ชั้นศาล
เมื่อถอดรหัสจากคำชี้แจงของนายอุตตม และมุมมองอีกด้าน ได้ข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้ว จึงต้องมาดูว่าจะถึงขั้นทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายอุตตม สิ้นสุดลงหรือไม่ โดยดูได้จากมาตรา 170 ประกอบมาตรา 160 (5) ของรัฐธรรมนูญ ว่ามีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ หากมีก็จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง โดยมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2561 ในหมวดมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ในข้อ 6 กำหนดไว้ว่า “ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง...ผลประโยชน์ของชาติ...” การที่นายอุตตม ร่วมประชุมและร่วมมีมติการประชุมคณะกรรมการบริหารอนุมัติสินเชื่อโดยทุจริตจำนวนเกือบ 1 หมื่นล้านบาท โดยยอมรับว่าตนเองรู้ถึงประเด็นปัญหาสำคัญที่ไม่ควรอนุมัติสินเชื่อรายนี้ตั้งแต่ก่อนการประชุม คือ ประเด็นความเป็นไปได้ของโครงการ การประเมินราคาที่ดินหลักประกัน การ Refinance ซึ่งยอดหนี้สุทธิหลังการ Hair Cut จากธนาคารกรุงเทพไม่ชัดเจน แต่นายอุตตม ไม่ได้คัดค้านไว้ในที่ประชุม โดยได้ร่วมมีมติการประชุมอนุมัติสินเชื่อรายนี้
จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาดูกันว่า การกระทำดังกล่าวในฐานะกรรมการบริหารสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังส่งเข้าไปเพื่อดูแลผลประโยชน์ในองค์กรที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ เป็นการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งเงินภาษีของประชาชนที่อยู่ในส่วนทุนของธนาคารแห่งนี้ หรือไม่ แม้ว่าจะไม่ถูกฟ้องคดีต่อศาล
สังคมย่อมต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งนายอุตตม และผลประโยชน์ของชาติ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
‘อุตตม’เล่าฉากหลัง-โชว์หลักฐานครบ! เคลียร์คดีกรุงไทยยันบริสุทธิ์-ปัดถูกกันเป็นพยาน
จ่อฟ้องฝ่ายค้าน-คนนอก 4-5 คนใช้หลักฐานเท็จ! ‘อุตตม’ ยันไม่มีเอี่ยวคดีกรุงไทย
เบื้องหลัง ธปท.ไม่เอาผิด! เปิดคำให้การลับ‘อุตตม’คดีกรุงไทย ‘สุชาย-วิโรจน์’คีย์แมน
อุตตม สาวนายน: “ผมไม่ผิด” อย่าบิดเบือน! กรณีการปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทย
'ปรีดิยาธร เทวกุล' เล่าเบื้องหลังทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย จ้องโค่นตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ