ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลฎีกาฯยกฟ้อง ‘ทักษิณ’ ไม่ได้สั่งการแบงก์กรุงไทยปล่อยสินเชื่อเครือกฤษดามหานครหมื่นล้าน ชี้เป็นแค่ ‘การคาดเดาไปเอง’ ของ ‘ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์’ ระบุชัดถ้า กก.บริหารไม่อนุมัติครบ 5 คน ไม่มีทางปล่อยกู้ได้
จากกรณีเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีถูกกล่าวหาว่า เป็นจำเลยที่ 1 คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานครกว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริต โดยเห็นว่า คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ซึ่งเป็นผู้สั่งการ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคือนายทักษิณนั้น (อ่านประกอบ : ‘ทักษิณ’รอดอีกคดี! ศาลฎีกายกฟ้องคดีกรุงไทย-หลักฐานไม่ชัดเป็น'ซุปเปอร์บอส')
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เผยแพร่คำพิพากษาฉบับเต็มคดีนี้ สรุปได้ว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 (นายทักษิณ) ร่วมกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
องค์คณะเสียงข้างมาก เห็นว่า ฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) โจทก์ มีนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อดีตกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย เป็นพยาน มาไต่สวนได้ความว่า พยานรู้จัก ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย (จำเลยที่ 2) ที่เป็นน้องขายของ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีต รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร
นายชัยณรงค์ เข้าร่วมประชุมพิจารณาอนุมัติให้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร คณะกรรมการบริหารของธนาคารกรุงไทย มีจำนวน 5 คน ได้แก่ นายชัยณรงค์ นายอุตตม สาวนายน (ปัจจุบันเป็น รมว.คลัง) ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ (จำเลยที่ 2) นายวิโรจน์ นวลแข (จำเลยที่ 3) และนายมัชฌิมา กุญชร (จำเลยที่ 4) คณะกรรมการดังกล่าวมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยมอบอำนาจ เช่น พิจารณากลั่นกรองหรืออนุมัติสินเชื่อ ปรับปรุงหนี้ และตัดหนี้สูญตามอำนาจที่กำหนด พิจารณากลั่นกรองหรืออนุมัติการลงทุนหรือการขายหลักทรัพย์ที่ธนาคารกรุงไทยลงทุน
ขณะเกิดเหตุคณะกรรมการบริหารมีนายวิโรจน์ นวลแข เป็นกรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่พิจารณาสินเชื่อนอกเหนือจากอำนาจของคณะกรรมการสินเชื่อระดับต่าง ๆ ซึ่งมีวงเงินสูงเกินกว่า 2 พันล้านบาท แต่ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารกรุงไทยกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อไว้ โครงการที่เครือกฤษดามหานครขออนุมัติสินเชื่อเป็นโครงการเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงสนามบินสุวรรณภูมิ และต้องใช้วิธีการรวบรวมที่ดินแปลงใหญ่จำนวน 4,000 ไร่ ทั้งโครงการของเอกชนไม่สามารถออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินได้ จากการตรวจสอบสถานสภาพทางการเงินของเครือกฤษดามหานคร พบว่า ไม่สามารถชำระหนี้ได้เนื่องจากมีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด
ในวันประชุมนายชัยณรงค์ได้รับโทรศัพท์จาก ร.ท.สุชาย แจ้งในทำนองว่า เรื่องของเครือกฤษดามหานครนั้น ‘ซุปเปอร์บอส’ ตกลงแล้ว อย่าสอบถามข้อมูลมากนัก และขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว นายชัยณรงค์เข้าใจว่าการพูดในลักษณะนี้หมายถึงการสั่งเพราะ ทราบนิสัยของ ร.ท.สุชาย และเคยเข้าร่วมประชุมกับ ร.ท.สุชาย หลายครั้ง คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ เข้าใจว่าหมายถึงนายทักษิณ เคยได้ยิน ร.ท.สุชาย ใช้สรรพนามว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ เมื่อกล่าวอ้างถึงนายทักษิณ จึงเชื่อว่านายทักษิณ น่าจะมีส่วนในการสนับสนุนให้มีการอนุมัติสินเชื่อให้แก่เครือกฤษดามหานคร เพราะโดยปกติธนาคารกรุงไทย จะไม่ค่อยอนุมัติสินเชื่อรายใหญ่ และพนักงานของธนาคารมีศักยภาพในการวิเคราะห์สินเชื่อน้อย เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่น
ต่อมาภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 รัฐบาลมีนโยบายให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงไทยจึงปล่อยสินเชื่อร่วมกับธนาคารพาณิชย์อื่น แต่กรณีเครือกฤษดามหานคร ธนาคารกรุงไทยกลับปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เพียงลำพัง เป็นเรื่องผิดปกติ จึงต้องมีการสั่งการจากผู้มีอำนาจระดับสูงแน่นอน
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2546 มีกรรมการบริหารเข้าร่วมประชุม 5 คน การพิจารณาสินเชื่อเครือกฤษดามหานคร เป็นสินเชื่อรายใหญ่เป็นวาระอันดับต้น ปกติต้องให้หัวหน้าสายงานเป็นผู้นำเสนอ แต่ในวันดังกล่าว นายไพโรจน์ รัตนโสภา หัวหน้าสายงานสินเชื่อ ไม่อยู่ในที่ประชุม มีเพียงเจ้าหน้าที่สายงานเป็นผู้นำเสนอแทน
นายชัยณรงค์ ทักท้วงแล้วว่าพิจารณาไม่ได้ โครงการดังกล่าวไม่น่าเป็นไปได้ และไม่เห็นด้วยเนื่องจากที่ดินที่ตั้งโครงการ มีปัญหาเรื่องการรวมที่ดิน ความสามารถในการบริหารงานของผู้บริหารเครือกฤษดามหานครไม่เพียงพอ พราะมีภาระหนี้กับหลายสถาบันการเงิน การศึกษาโครงการเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดชัดเจน
นายชัยณรงค์ ยืนยันว่า ในการประชุมดังกล่าวไม่ได้ให้ความเห็นชอบอนุมัติสินเชื่อรายนี้ เคยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2550 ว่า ก่อนประชุมคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ครั้งที่ 48/2546 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2546 ร.ท.สุชาย โทรศัพท์แจ้งนายชัยณรงค์ว่า อย่าคัดค้านโครงการที่เครือกฤษดามหานครขอสินเชื่อ เนื่องจากบุญคลี ปลั่งศิริ ได้ประสานมาว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ ได้ดูโครงการแล้ว เป็นโครงการที่ดี
ขณะนั้นนายบุญคลี ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งนายทักษิณเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หมายถึงนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เนื่องจาก ร.ท.สุชาย ชอบพูดภาษาอังกฤษ และเมื่อจะกล่าวถึงนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ก็จะใช้คำแทนว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ เสมอ นายทักษิณเป็นผู้แต่งตั้งพี่ชายของ ร.ท.สุชาย คือ ร.อ.สุชาติ เป็น รมว.คลัง แทนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ต่อมาวันที่ 24 ต.ค. 2550 นายชัยณรงค์ให้การเพิ่มเติมว่า นายทักษิณ คุณหญิงพจมาน หรือบุคคลใกล้ชิดเข้าแทรกแซงการบริหารงานของธนาคารกรุงไทย โดยปรากฏชัดเจนภายหลังมีการเปลี่ยน รมว.คลัง จากนายสมคิดเป็น ร.อ.สุชาติ กรณีคุณหญิงพจมานมีวิธีการเข้าแทรกแซง โดยให้คนใกล้ชิดติดต่อซื้อทรัพย์สินอันเกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารกรุงไทย เป็นประจำและได้รับเงื่อนไขพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หมายถึงนายทักษิณ เพราะหากเป็นคุณหญิงพจมาน ต้องมีชื่อนางสว่าง มั่นคงเจริญ คนใกล้ชิดเข้ามาเกี่ยวข้อง
ตามทางไต่สวนแม้จะได้ความจากนายชัยณรงค์ว่า นายชัยณรงค์ได้รับโทรศัพท์จาก ร.ท.สุชาย แจ้งว่า เรื่องของเครือกฤษดามหานคร ‘ซุปเปอร์บอส’ ตกลงแล้ว อย่าสอบถามข้อมูลมากนัก และขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว มีลักษณะเป็นการสั่ง คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ น่าจะหมายถึงนายทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะเกิดเหตุ ร.ท.สุชาย ใช้สรรพนาม ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ เมื่อกล่าวอ้างถึงนายทักษิณ เชื่อว่านายทักษิณ น่าจะมีส่วนในการสนับสนุนให้มีการอนุมัติสินเชื่อให้แก่เครือกฤษดามหานคร
แต่นายชัยณรงค์เคยให้ถ้อยคำต่อ คตส. คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หมายถึงนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน เมื่อ ร.ท.สุชาย จะกล่าวถึงนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน จะใช้คำแทนว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ เสมอ อันเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกัน ทั้งการเบิกความเกี่ยวกับคำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ว่าหมายถึงนายทักษิณ เป็นเพียงการคาดเดาไปตามความเข้าใจของนายชัยณรงค์เอง นายชัยณรงค์ไม่เคยรู้จักนายทักษิณเป็นการส่วนตัว เพียงแต่อ้างว่า ร.ท.สุชาย โทรศัพท์มาบอกว่า ซุปเปอร์บอส ตกลงแล้ว อย่าถามข้อมูลมากนัก และขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว จึงเป็นกรณีที่นายชัยณรงค์รับฟังมาจาก ร.ท.สุชาย อีกชั้นหนึ่ง ซุปเปอร์บอส จะเป็นผู้ใด คงมีเพียง ร.ท.สุชาย เท่านั้นที่จะยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ หรืออาจเป็นข้อกล่าวอ้างของ ร.ท.สุชาย เองก็เป็นไปได้
แม้นายชัยณรงค์จะเบิกความในชั้นไต่สวนว่า นายชัยณรงค์ไม่ได้อนุมัติสินเชื่อและโต้แย้งไม่เห็นชอบกับการให้สินเชื่อรายนี้ แต่นายชัยณรงค์เบิกความรับว่า คณะกรรมการบริหารมี 5 คน มีนายชัยณรงค์ นายอุตตม ร.ท.สุชาย นายวิโรจน์ และนายมัชฌิมา การอนุมัติสินเชื่อต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารทั้ง 5 คน หากนายชัยณรงค์โต้แย้งไม่เห็นชอบก็น่าจะปรากฎในรายงานการประชุมบ้าง แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งหากนายชัยณรงค์ไม่อนุมัติเห็นชอบให้สินเชื่อแล้ว ธนาคารกรุงไทยจะจ่ายเงินสินเชื่อให้แก่เครือกฤษดามหานครได้อย่างไร นายชัยณรงค์ไม่เคยโต้แย้งว่ายังไม่มีการอนุมัติสินเชื่อรายนี้ เพิ่งมาโต้แย้งเมื่อมีการดำเนินคดีแล้ว พยานปากนายชัยณรงค์จึงเป็นพยานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว จึงควรรับฟังด้วยความระมัดระวัง
ส่วนพยานปากนายอุตตม ก็ได้ความเพียงก่อนการประชุมนายชัยณรงค์สอบถามที่หน้าห้องประชุมเพียงว่า ร.ท.สุชาย ได้โทรศัพท์มาถึงนายอุตตมหรือไม่ นายอุตตมตอบว่า ร.ท.สุชาย ไม่ได้โทรศัพท์มาหาตน การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้เครือกฤษดามหานคร ในส่วนของนายอุตตมจึงมิได้เกิดจาก ร.ท.สุชาย โน้มน้าวให้อนุมัติ เพราะได้รับคำสั่งจากนายทักษิณ พยานปากนายอุตตมจึงเป็นพยานบอกเล่าเช่นกัน พยานหลักฐานของอัยการที่ไต่สวนมายังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า นายทักษิณ สั่งการผ่าน ร.ท.สุชาย นายวิโรจน์ และนายมัชฌิมา ให้อนุมัติสินเชื่อดังกล่าว นายทักษิณจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายกฟ้อง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ถอดรหัส 5 คำชี้แจง 'อุตตม' คดีกรุงไทย กับคำถามรักษาผลปย.ชาติ หรือไม่?
‘อุตตม’เล่าฉากหลัง-โชว์หลักฐานครบ! เคลียร์คดีกรุงไทยยันบริสุทธิ์-ปัดถูกกันเป็นพยาน
จ่อฟ้องฝ่ายค้าน-คนนอก 4-5 คนใช้หลักฐานเท็จ! ‘อุตตม’ ยันไม่มีเอี่ยวคดีกรุงไทย
เบื้องหลัง ธปท.ไม่เอาผิด! เปิดคำให้การลับ‘อุตตม’คดีกรุงไทย ‘สุชาย-วิโรจน์’คีย์แมน
อุตตม สาวนายน: “ผมไม่ผิด” อย่าบิดเบือน! กรณีการปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทย
'ปรีดิยาธร เทวกุล' เล่าเบื้องหลังทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย จ้องโค่นตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ