ส่องงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 4 ปีรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ อัดฉีดงบกระตุ้น 2.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นด้านเกษตรฯกว่า 7.3 แสนล้าน ด้านขนส่ง 7.4 แสนล้าน ทุ่มไปกับยุทธศาสตร์สำคัญทั้งแก้ไขปัญหาความยากจน-เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ-สร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกเหนือจากปัญหาด้านการเมืองที่รุมเร้าแล้ว ยังมีอีกปัญหาใหญ่คือ การบริหารงานด้านเศรษฐกิจ ที่หลายฝ่ายยังมองว่า ‘ไม่เข้าตา’ แม้ ‘บิ๊กรัฐบาล’ จะออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ‘เศรษฐกิจดี’ ก็ตาม ?
นโยบายเด่น ๆ ในรัฐบาล คสช. ที่ผ่านมาหนีไม่พ้น ‘ประชารัฐ’ ทั้งการออกบัตรให้แก่ผู้มีรายได้น้อย การกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในภาพรวม รวมถึงการอุ้มผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะโครงการรับจำนำยุ้งฉาง และการเยียวยา 5 สินค้าเกษตรการเมือง ได้แก่ ข้าว ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง และยาง แต่ราคาสินค้าเหล่านี้บางอย่างยังคงตกต่ำจนถึงปัจจุบัน
บิดเข็มนาฬิกากลับมาปัจจุบัน มีคณะรัฐมนตรีใหม่เรียบร้อยแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่ไร้ตำแหน่ง คสช. เนื่องจากสิ้นสภาพตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีบรรดารองนายกรัฐมนตรีหลัก ๆ ยังเป็นหน้าเดิม โดยเฉพาะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กุนซือเศรษฐกิจยังนั่งบังเหียนอีกสมัย ส่วน ‘4 กุมารพลังประชารัฐ’ มี 2 คนหลักที่นั่งคุมสายเศรษฐกิจ ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน นั่ง รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็น รมว.พลังงาน ส่วนเก้าอี้กุมบังเหียนเศรษฐกิจที่เหลือกระจายอยู่ในโควตาพรรคร่วมรัฐบาล เช่น ประชาธิปัตย์ (กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ) ภูมิใจไทย (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) เป็นต้น
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า หากนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2562 หรือ 4 ปีหลังสุด รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ทุ่มงบประมาณอัดฉีดด้านเศรษฐกิจรวมกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
ปี 2559 รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 583,482 ล้านบาท แบ่งเป็น การเกษตร การป่าไม้ การประมง 185,326 ล้านบาท การขนส่ง 161,832 ล้านบาท ด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ 143,079 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเช่น ด้านพาณิชย์ และแรงงาน 38,239,393,900 บาท ด้านการสื่อสาร 18,230,803,400 บาท ด้านอุตสาหกรรม 19,057,321,700 บาท และด้านการวิจัยและการพัฒนาเศรษฐกิจ 1,000,0190,700 บาท เป็นต้น
ปี 2560 รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 642,860 ล้านบาท แบ่งเป็น การขนส่ง 185,849 ล้านบาท การเกษตร การป่าไม้ และการประมง 168,273 ล้านบาท ด้านเศรษฐกิจอื่น 140,712 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ เช่น ด้านพาณิชย์ และแรงงาน 47,615,819,500 บาท ด้านเหมืองแร่ 43,158,095,100 บาท ด้านอุตสาหกรรม 45,953,638,600 บาท และด้านการวิจัยและการพัฒนาเศรษฐกิจ 2,899,825,700 บาท เป็นเต้น
ปี 2561 รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 656,400 ล้านบาท แบ่งเป็น ด้านการขนส่ง 202,453 ล้านบาท ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง 191,948 ล้านบาท ด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ 152,202 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเช่น ด้านพาณิชย์ และแรงงาน 52,251,569,900 บาท ด้านอุตสาหกรรม 36,971,281,500 บาท เป็นต้น
ปี 2562 รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 642,031 ล้านบาท แบ่งเป็น ด้านการขนส่ง 192,839 ล้านบาท ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง 187,969 ล้านบาท ด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ 158,506 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเช่น ด้านพาณิชย์ และแรงงาน 53,733,814,800 บาท ด้านอุตสาหกรรม 30,024,292,100 บาท เป็นต้น
เบ็ดเสร็จอัดฉีดงบทางเศรษฐกิจไปทั้งสิ้น 2,524,773 ล้านล้านบาท
(ที่มา พ.ร.บ.งบประมาณฯ-ฐานข้อมูลงบประมาณ, สำนักข่าวอิศรา รวบรวม)
ขณะที่ยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างปี 2559-2562 ตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ และงบเพิ่มเติม โฟกัสไปที่ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พบรายละเอียด ดังนี้
ปี 2559 ยุทธศาสตร์เร่งรัดวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ 289,139 ล้านบาท (10.42% จาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ และงบเพิ่มเติมรวม 2.7 ล้านล้านบาท) และยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม 218,572 ล้านบาท (7.87% จาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ และงบเพิ่มเติมรวม 2.7 ล้านล้านบาท)
ปี 2560 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วงเงิน 441,741 ล้านบาท (15.11% จาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ และงบเพิ่มเติมรวม 2.9 ล้านล้านบาท) และยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างการเติบโตจากภายใน 254,783 ล้านบาท (8.72% จาก พ.ร.บ.งบประมาณ และงบเพิ่มเติมรวม 2.9 ล้านล้านบาท)
ปี 2561 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วงเงิน 492,020 ล้านบาท (16.13% จาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ และงบเพิ่มเติมรวม 3 ล้านล้านบาท) และยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ 407,977 ล้านบาท (13.38% จาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ และงบเพิ่มเติมรวม 3 ล้านล้านบาท)
ปี 2562 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วงเงิน 408,039 ล้านบาท (13.60% จาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ 3 ล้านล้านบาท) และยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ 396,716 ล้านบาท (13.22% จาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ 3 ล้านล้านบาท)
(ที่มา พ.ร.บ.งบประมาณฯ-ฐานข้อมูลงบประมาณ, สำนักข่าวอิศรา รวบรวม)
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า ระหว่างปี 2559-2562 (ข้อมูลถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2562) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) ใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้นกว่า 3.1 ล้านล้านบาท โดยมีอย่างน้อย 14 หน่วยงานติด ‘Top 10’ การใช้งบจัดซื้อจัดจ้างเยอะที่สุด และกองทัพบกคือหนึ่งในหน่วยงานที่ติด ‘Top 10’ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น 101,584 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ใช้ไปกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ (อ่านประกอบ : เจาะละเอียด! 4 ปี ‘รบ.บิ๊กตู่’ ใช้งบจัดจ้าง 3 ล.ล้าน หน่วยใดเยอะสุด? ก่อนมี ครม.ใหม่)
นี่เป็นฐานข้อมูลงบประมาณพอสังเขป เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจในช่วง 4 ปีหลังสุด (2559-2562) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) ก่อนที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (แต่ส่วนใหญ่หน้าเดิม ?) เตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค. 2562 รอดูว่าจะมีแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรบ้าง ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
คสช.สิ้นสภาพ 16 ก.ค.! ‘บิ๊กตู่’ไร้อำนาจพิเศษ ขอเคารพเสียงข้างมาก-อดกลั้นความเห็นต่าง
ชำแหละงบความมั่นคง รบ.บิ๊กตู่ 4 ปี 9.8 แสนล.ก่อนสิ้น คสช.-โอน กอ.รมน. สานต่อ?
เจาะละเอียด! 4 ปี ‘รบ.บิ๊กตู่’ ใช้งบจัดจ้าง 3 ล.ล้าน หน่วยใดเยอะสุด? ก่อนมี ครม.ใหม่
โชว์งบแสนล.กระทรวงเกษตรฯ-4 พรรคนั่ง รมต.วัดฝีมือแก้ปัญหาราคาตกต่ำ?