“…ในด้านงบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อกางตัวเลขระหว่างปีงบประมาณ 2559-2562 พบว่า ปี 2559 ได้รับ 86,403 ล้านบาท ปี 2560 ได้รับ 94,417 ล้านบาท ปี 2561 ได้รับ 124,881 ล้านบาท และปี 2562 ได้รับ 108,996 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 414,697 ล้านบาท (ราว 4.1 แสนล้านบาท) นับเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมหาศาลในแต่ละปี…”
หลายคนคงเห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/1 กันไปแล้ว มีทั้งหมด 36 ราย 39 ตำแหน่ง จำแนกโควตาของแต่ละพรรค ได้แก่ จำแนกออกเป็นพรรคพลังประชารัฐ 18 ราย 18 ตำแหน่ง พรรคประชาธิปัตย์ 7 ราย 8 ตำแหน่ง พรรคภูมิใจไทย 7 ราย 8 ตำแหน่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 2 ราย 2 ตำแหน่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 ราย 1 ตำแหน่ง และพรรคชาติพัฒนา 1 ราย 1 ตำแหน่ง
มีรัฐมนตรีบางรายถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบ หรือมีคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมมานำเสนอไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : สำรวจ ‘รมต.สายล่อฟ้า’ โดนร้องเรียน-ป.ป.ช.สอบ ส่อถูกฝ่ายค้านเขย่าในสภา?)
กระทรวงที่ถูกจับตามากที่สุดขณะนี้ หนีไม่พ้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากมีรัฐมนตรีรวมกันถึง 4 ราย มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (โควตาพรรคประชาธิปัตย์) เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ มี รมช.เกษตรและสหกรณ์ 3 ราย ได้แก่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า (โควตาพรรคพลังประชารัฐ) น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ (น้องสาวนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ได้โควตาพรรคภูมิใจไทย) และนายประภัตร โพธสุธน (โควตาพรรคชาติไทยพัฒนา)
ทางการเมือง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นระดับ ‘เกรดเอบวก’ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่สามารถเข้าถึงประชาชน สร้างคะแนนความนิยม เพื่อมาเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งได้ และที่ผ่านมามักมีคนจากพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ‘จองกฐิน’ โควตาเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาโดยตลอด
อีกมุมหนึ่งในด้านงบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อกางตัวเลขระหว่างปีงบประมาณ 2559-2562 พบว่า ปี 2559 ได้รับ 86,403 ล้านบาท ปี 2560 ได้รับ 94,417 ล้านบาท ปี 2561 ได้รับ 124,881 ล้านบาท และปี 2562 ได้รับ 108,996 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 414,697 ล้านบาท (ราว 4.1 แสนล้านบาท) นับเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมหาศาลในแต่ละปี
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-30 มิ.ย. 2562 กรมชลประทาน หน่วยงานใต้สังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างถึง 165,001 ล้านบาท (ราว 1.6 แสนล้านบาท) โดยติดอันดับ ‘Top 3’ หน่วยงานที่หว่านงบจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุดตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (อีก 2 หน่วยงานคือ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท) (อ่านประกอบ : เจาะละเอียด! 4 ปี ‘รบ.บิ๊กตู่’ ใช้งบจัดจ้าง 3 ล.ล้าน หน่วยใดเยอะสุด? ก่อนมี ครม.ใหม่)
อาจเรียกกรมชลประทานเป็น ‘ขุมทรัพย์ใหญ่’ ภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ว่าได้ ?
ย้อนกลับไปช่วง 5 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหนึ่งในกระทรวงหลักที่ถูกรัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามแนวทาง ‘ประชารัฐ’ อุ้มสินค้าเกษตรหลายอย่าง โดยเฉพาะ 5 สินค้าเกษตรการเมือง ได้แก่ ข้าว ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา ที่มีการอัดฉีดงบไปหลายแสนล้านบาท พยายามแก้ปัญหาราคาตกต่ำ
โครงการที่ใครหลายคนคุ้นหูที่สุดในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หนีไม่พ้นโครงการ ‘จำนำยุ้งฉาง’ ที่มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้วนับแสนล้านบาท เพื่ออุ้มชาวนา ช่วยเหลือราคาข้าวตกต่ำ ในทางการเมืองถือเป็นการ ‘แก้เกม’ โครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูก ‘ล้มกระดาน’ ภายหลังถูกรัฐประหารโดย คสช.
อย่างไรก็ดีโครงการจำนำยุ้งฉางถูกตั้งคำถามว่าอาจมีความเป็น ‘ประชานิยม’ ไม่ต่างจากโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ?
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบฐานข้อมูลงบประมาณเพิ่มเติม พบว่า งบประมาณปี 2559-2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) ใช้ในด้านการจัดการเกษตรรวมทั้งสิ้นประมาณ 649,745 ล้านบาท (ราว 6.4 แสนล้านบาท) แบ่งเป็น ปี 2559 จำนวน 165,889 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 147,682 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 170,196 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 165,978 ล้านบาท
กลับสู่ปัจจุบัน ภายหลังมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกจับจองโดยโควตา 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ดังที่อธิบายไว้ตอนต้น
นโยบายหลักเกี่ยวกับการเกษตรของ 4 พรรคการเมืองดังกล่าวโดยย่อ สรุปได้ดังนี้
พรรคประชาธิปัตย์ (โควตารัฐมนตรีว่าการ) - ประกันรายได้เกษตรกร ให้ครอบคลุมพืชทุกชนิด สร้างความมั่นคงรายได้ให้เกษตรกรไทยทุกคนได้มีหลักประกันรายได้ขั้นต่ำการทำอาชีพเกษตรกรรม ข้าวไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 10,000 บาท, ยางพารา ไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม, ปาล์ม 10 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงทำประกันภัยพืชผลคุ้มครองต้นทุนการผลิต
พรรคพลังประชารัฐ (โควตารัฐมนตรีช่วย) - กำหนดราคาข้าวโดย ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทต่อตัน ข้าวเจ้า 12,000 บาท ต่อตันตัน อ้อย 1,000 บาทต่อตัน ยางพารา 65 บาทต่อกิโลกรัม ปาล์ม 5 บาทต่อ กิโลกรัม และมันสำปะหลัง 3 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังพร้อมจะสานต่อนโยบายเกษตรตามแนวทาง ‘ประชารัฐ’ ที่เคยทำมาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม)
พรรคภูมิใจไทย (โควตารัฐมนตรีช่วย) – ชูนโยบาย ‘กำไรแบ่งปัน สินค้าเกษตร’ โดยยืนยันว่าทำมาแล้วกว่า 35 ปี กับอ้อยและน้ำตาล โดยชาวไร่อ้อยได้ 70% โรงงานและผู้ส่งออกน้ำตาลได้ 30% จากการศึกษาวิจัยของพรรคภูมิใจไทย และจะมาปรับใช้กับชาวนา ยกตัวอย่างราคาข้าวปี 2561 ถ้านำระบบกำไรแบ่งปันมาใช้ จะทำให้ชาวนามีรายได้จากการขายข้าวขาว ตันละ 7,900 บาท ได้กำไรแบ่งปันเพิ่มขึ้นอีก 800 บาท รวมเป็น 8,700 บาท และข้าวหอมมะลิ มีรายได้จากการขาย ตันละ 18,000 บาท ได้กำไรแบ่งปันเพิ่มขึ้นอีก 1,500 บาท รวมเป็น 19,500 บาท
พรรคชาติไทยพัฒนา (โควตารัฐมนตรีช่วย) – แก้ปัญหาผลผลิตการเกษตร ราคาผลผลิตตกต่ำ นำเสนอความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เพิ่มช่องทางการตลาดหรือที่เรียกว่า โซเชียลคอมเมิร์ซ (Social Commerce)
นี่คือข้อมูลเบื้องต้นโดยสังเขปเกี่ยวกับงบประมาณในการบริหารจัดการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นักการเมืองหลายพรรคยื้อแย่งโควตากัน กระทั่งหวยออกมาออกที่ 4 พรรคข้างต้น โดยส่วนใหญ่มีนโยบายด้านเกษตรคล้ายคลึงกัน คือเน้นไปที่ 5 สินค้าเกษตรการเมือง ได้แก่ ข้าว ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา เป็นหลัก
ส่วนฝีไม้ลายมือการบริหารจะเป็นเช่นไร คงต้องจับตาดูกันต่อไป!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : โปรดเกล้าฯ ครม.บิ๊กตู่ ‘ธรรมนัส-น้องชาดา’รมช.เกษตรฯ-‘สนธิรัตน์’พลังงาน -‘สุริยะ’อุตฯ