“…หากพิจารณาจากข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณ และงบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ข้างต้น เห็นได้ว่า หน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) คือ ‘Top 3’ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ไม่นับหน่วยงานกองทัพที่มี กองทัพบก ยืนพื้นตลอด 4 ปี ส่วนกองทัพเรือ และกองทัพอากาศใช้งบจัดซื้อจัดจ้างก้อนใหญ่บางครั้งเวลาซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ…”
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยถูกผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “คงงั้นมั้ง”
นับเป็นการส่งสัญญาณว่า ถึงโค้งสุดท้ายปลายทางรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ 1 ใกล้เข้าสู่ช่วงรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ 2 เต็มที รอเพียงการโปรดเกล้าฯคณะรัฐมนตรี และถวายสัตย์ปฏิญาณเท่านั้น ?
หลายคนอาจทราบกันไปแล้วว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นำเสนอ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ไปทั้งสิ้น 8 ฉบับ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบทั้งหมด 3 วาระรวด แบ่งเป็น
1.พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 2.5 ล้านล้านบาท 2.พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 2.72 ล้านล้านบาท 3.พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 5.9 หมื่นล้านบาท 4.พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 2.73 ล้านล้านบาท
5.พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท 6.พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 2.9 ล้านล้านบาท 7.พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท และ 8.พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท
รวมเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้นประมาณ 14,249,000,000,000 บาท
(ที่มา : พ.ร.บ.งบประมาณฯประกาศในราชกิจจานุเบกษา, สำนักข่าวอิศรา รวบรวม)
วงเงินงบประมาณรายจ่ายมหาศาลเหล่านี้ ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐแห่งใดได้เยอะที่สุด ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าสูงที่สุด และมีจำนวนโครงการมากที่สุด ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
หน่วยงานของรัฐ ระดับกระทรวง 4 ลำดับแรก (เกรด A+) และงบกลาง ระหว่างปี 2559-2562 ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ งบกลาง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงกลาโหม
1.กระทรวงศึกษาธิการ คือ ‘เบอร์ 1’ ที่ได้รับงบประมาณเยอะที่สุดตลอดหลายปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2559-2562 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,026,780 ล้านบาท (ราว 2 ล้านล้านบาท) โดยระหว่างปี 2559-2561 ได้รับงบประมาณเกิน 5 แสนล้านบาทมาตลอด กระทั่งปี 2562 ถูกหั่นเหลือแค่ 4.87 แสนล้านบาท
2.กระทรวงมหาดไทย ‘เบอร์ 2’ ที่ได้รับงบประมาณเยอะรองลงมา และเป็นกระทรวงที่บรรดานักการเมืองต่างยื้อแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีกันมากที่สุดเก้าอี้หนึ่ง ระหว่างปี 2559-2562 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,435,025 ล้านบาท (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) เฉลี่ยตกปีละ 3.3-3.8 แสนล้านบาท
3.กระทรวงการคลัง หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเงินการคลังของชาติ ได้รับงบประมาณระหว่างปี 2559-2562 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 944,511 ล้านบาท (ราว 9.4 แสนล้านบาท) เฉลี่ยปีละ 1.9-2.8 แสนล้านบาท
4.กระทรวงกลาโหม อีกหนึ่งหน่วยงานที่ถูกมักจองไว้ให้บรรดา ‘นายทหารการเมือง’ และมีอำนาจในการดูแลความมั่นคงของชาติ ได้รับงบประมาณระหว่างปี 2559-2562 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 867,842 ล้านบาท (ราว 8.6 แสนล้านบาท) เฉลี่ยตกปีละ 2-2.2 แสนล้านบาท
5.งบที่สำคัญไม่แพ้กัน และมีหลายหน่วยงานโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย มักขอบ่อย ๆ ได้แก่ งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น รวมทั้งสิ้น 1,835,977 ล้านบาท (ราว 1.8 ล้านล้านบาท) เฉลี่ยตกปีละ 4.2-4.7 แสนล้านบาท
(ที่มา : ฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, สำนักข่าวอิศรา รวบรวม)
สำหรับข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น หากย้อนดูในช่วง 4 ปีหลังสุด (ระหว่างปี 2559-30 มิ.ย. 2562) ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น 3,441,078 ล้านบาท (ราว 3.4 ล้านล้านบาท) มีจำนวน 9,911,518 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 3,125,476 ล้านบาท (ราว 3.1 ล้านล้านบาท)
หน่วยงานรัฐที่ใช้งบประมาณด้านการจัดซื้อจัดจ้าง 10 ลำดับในแต่ละปี (ระหว่างปี 2559-30 มิ.ย. 2562) สรุปได้ ดังนี้
7 หน่วยงานที่ติด ‘Top 10’ ตลอดระหว่างปี 2559-2562 ได้แก่
1.กรมทางหลวง ปี 2562 วงเงิน 72,847 ล้านบาท ปี 2561 วงเงิน 88,146 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 113,539 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 106,230 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 380,762 ล้านบาท (ราว 3.8 แสนล้านบาท)
2.กรมทางหลวงชนบท ปี 2562 วงเงิน 34,609 ล้านบาท ปี 2561 วงเงิน 50,499 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 46,249 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 42,806 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 174,163 ล้านบาท (ราว 1.7 แสนล้านบาท)
3.กรมชลประทาน ปี 2562 วงเงิน 37,671 ล้านบาท ปี 2561 วงเงิน 45,525 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 43,358 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 38,447 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 165,001 ล้านบาท (ราว 1.6 แสนล้านบาท)
4.กองทัพบก ปี 2562 วงเงิน 13,247 ล้านบาท ปี 2561 วงเงิน 34,740 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 19,613 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 33,984 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 101,584 ล้านบาท (ราว 1 แสนบาท) (เมื่อปี 2558 กองทัพบกมีโครงการจัดซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีน มูลค่า 4,985 ล้านบาท ปี 2559 จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Mi7VS จากรัสเซีย 2 ลำ มูลค่า 1,698 ล้านบาท และจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซีย 4 ลำ 3,385 ล้านบาท และปี 2560 จัดซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีนเพิ่มเติม 2,017 ล้านบาท
5.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ปี 2562 วงเงิน 22,434 ล้านบาท ปี 2561 วงเงิน 25,409 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 18,799 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 13,521 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 80,163 ล้านบาท (ราว 8 หมื่นล้านบาท)
6.กรมการปกครอง ปี 2562 วงเงิน 13,869 ล้านบาท ปี 2561 วงเงิน 15,849 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 16,052 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 32,898 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 78,668 ล้านบาท (ราว 7.8 หมื่นล้านบาท)
7.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปี 2562 วงเงิน 15,201 ล้านบาท ปี 2561 วงเงิน 23,425 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 24,539 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 10,524 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 63,689 ล้านบาท (ราว 6.3 หมื่นล้านบาท)
2 หน่วยงานติด ‘Top 10’ 4 ปีติดต่อกัน (ระหว่างปี 2559-2561) แต่มาพลาดในปี 2562 ได้แก่
1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปี 2561 วงเงิน 65,431 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 29,586 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 19,540 ล้านบาท
2.กรมโยธาธิการและผังเมือง ปี 2561 วงเงิน 26,718 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 27,548 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 27,451 ล้านบาท
ที่เหลืออีก 5 หน่วยงาน ผลัดกันติด ‘Top 10’ เป็นบางปี ได้แก่
1.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ปี 2562 วงเงิน 98,320 ล้านบาท (โครงการเช่าเครื่องและอุปกรณ์เพื่อให้บริการโทรคมนาคม นำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2100 MHz โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 97,572 ล้านบาท)
2.การไฟฟ้านครหลวง ปี 2562 วงเงิน 16,553 ล้านบาท
3.กทม. ปี 2562 วงเงิน 14,236 ล้านบาท ปี 2561 วงเงิน 18,017 ล้านบาท
4.กองทัพเรือ ปี 2560 วงเงิน 22,643 ล้านบาท (เป็นปีที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T 3 ลำ แบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จากประเทศจีน วงเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่งอีกหลายลำมูลค่ารวม 3 พันล้านบาทเศษ)
5.กองทัพอากาศ ปี 2559 วงเงิน 15,741 ล้านบาท (ระหว่างปี 2559-2560 กองทัพอากาศ มีโครงการจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่จากเกาหลี เบื้องต้น 8 ลำ 8,997 ล้านบาท)
(ที่มา : ฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, สำนักข่าวอิศรา รวบรวม)
หากพิจารณาจากข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณ และงบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ข้างต้น เห็นได้ว่า หน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) คือ ‘Top 3’ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ไม่นับหน่วยงานกองทัพที่มี กองทัพบก ยืนพื้นตลอด 4 ปี ส่วนกองทัพเรือ และกองทัพอากาศใช้งบจัดซื้อจัดจ้างก้อนใหญ่บางครั้งเวลาซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ
ข้อมูลเหล่านี้อาจไขคำตอบได้บางส่วนว่า เหตุใดเก้าอี้ รมว.คมนาคม และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ถึงถูกยื้อแย่งกันมาตลอดหลายเดือน กระทั่งสงบลงเมื่อต้นเดือน มิ.ย.นี้ !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก bbc thai