"…ความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริต จากการที่ผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานฯ ซึ่งได้แก่ ‘บริษัทที่ปรึกษา’ ที่จัดทำรายงาน หรือเจ้าของโครงการ อาจมีการจ่ายสินบนหรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน…”
..................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ครม.มีมติรับทราบ 'ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)' ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก รับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก่อนสรุปผลการพิจารณาเสนอให้ ครม.ต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปสาระสำคัญของ 'ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)' ของ ป.ป.ช. ดังนี้
@‘เอกชน’ติดสินบน‘เจ้าหน้าที่’ เดินหน้าโครงการไม่ต้องทำ EIA
ข้อพิจารณา/ประเด็นปัญหาในกระบวนการจัดทำ EIA
1.ประเด็นปัญหาในขั้นตอนการตรวจสอบกลั่นกรองโครงการ ก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุมัติ อนุญาตหรือการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
1.1 การขาดระบบการประสานงานและการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
จากการศึกษาพบว่า หน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่ด้านการอนุมัติ/อนุญาต ด้านการกำกับดูแลพื้นที่หรือสถานที่ต่างๆ และหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ยังไม่ได้มีการวางระบบในการประสานงาน รวมถึงการบูรณาการตรวจสอบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน
ดังนั้น หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนผู้ดำเนินโครงการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติ/อนุญาต ยังคงต้องอาศัยการประสานสอบถามข้อมูล หรือต้องตรวจสอบยืนยันข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทำให้เกิดความล่าช้าหรือขาดความชัดเจน และอาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้
1.2 การบังคับใช้กฎหมาย
กฎหมายกำหนดให้ในการดำเนินโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการของรัฐที่ไม่ต้องเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือไม่ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และในโครงการของเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตจัดทำและเสนอรายงานฯ ต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมาย และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอำนาจอนุญาต รอการสั่งอนุญาตไว้จนกว่า รายงานฯจะได้รับความเห็นชอบหรือถือว่าได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณารายงานฯ จาก สผ. แล้ว นั้น จากการศึกษาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง พบปัญหาในการดำเนินการตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่
1) การหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเอกชน
เนื่องจากการจัดทำ EIA ส่งผลให้การดำเนินโครงการ/กิจการของเอกชน มีขั้นตอน ระยะเวลา และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงต่อการที่ EIA อาจไม่ผ่านความเห็นชอบ
จึงมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการทุจริต จากการที่เอกชนกระทำการติดสินบนเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต เช่น ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายกองช่าง วิศวกรโยธา เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลพื้นที่ เช่น กรมที่ดิน กรมเจ้าท่า ฯลฯ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการหรือกิจการได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการจัดทำ EIA หรืออย่างในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม อาจมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการไปจากเดิม จนเข้าข่ายต้องจัดทำ EIA แต่กลับไม่ดำเนินการตามกฎหมาย
2) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในการดำเนินโครงการของหน่วยงานของรัฐ
พบปัญหาหน่วยงานของรัฐ ดำเนินโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนหรือชุมชน โดยไม่ผ่านการจัดทำ EIA ซึ่งมีทั้งโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ หรือที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ
โดยสาเหตุของปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องขาดความรู้ความเข้าใจ หรืออาจละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโดยอ้างว่าเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน รวมทั้งปัญหาอันเกิดจากหน่วยงานของรัฐมิได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดทำ EIA ซึ่งปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
เนื่องจากมีกรณีที่ภาคประชาชนได้ทำการยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อมีคำสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการระงับการดำเนินการไว้ก่อน จนกว่าจะได้มีการจัดทำรายงาน EIA และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็อาจไม่สามารถแก้ไขหรือฟื้นฟูผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
3) ช่องว่างของกฎหมาย
เนื่องด้วยตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ และประกาศฯ ฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ระบุเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ EHIA) จากองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ขนาดของโครงการ (พื้นที่ ความยาว จำนวนห้อง) หรือกำลังการผลิต (ตัน เมกกะวัตต์) เป็นต้น
เกณฑ์ดังกล่าวมีเส้นแบ่งที่ตายตัว ทำให้เกิดการอาศัยช่องว่างของกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องเข้าสู่กระบวนการจัดทำรายงานฯ เช่น กรณีโครงการก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีจำนวนห้องชุดหรือห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งต้องจัดทำ EIA เจ้าของโครงการอาจจัดให้มีห้องพัก 79 ห้อง หรือปรับลดขนาดลงเล็กน้อย หรือแบ่งซอยโครงการเป็นหลายเฟส
กรณีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่มีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวมตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำ EIA หรือหากมีความยาวหน้าท่า 100 เมตรขึ้นไป จะต้องมีการจัดทำ EHIA ก็พบว่ามีกรณีที่บริษัทเอกชนกระทำการเลี่ยงกฎหมาย โดยมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือในบริเวณเดียวกันแบ่งออกเป็นหลายท่า ซึ่งแต่ละท่ามีพื้นที่และความยาวหน้าท่าไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด
กรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจอนุมัติ/อนุญาต จะพิจารณาเป็นรายโครงการ โดยไม่ได้มองถึงประเด็นการเลี่ยงกฎหมาย หรือไม่สามารถผลักดันให้โครงการเข้าสู่กระบวนการจัดทำ EIA หรือ EHIA ได้ เนื่องจากกฎหมายมิได้บัญญัติให้อำนาจไว้ ซึ่งอาจทำให้มีกรณีการเลี่ยงกฎหมายเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ การกำหนดโครงการ/กิจการ ที่ต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ยังไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากการดำเนินโครงการ/กิจการ ที่ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำ EIA หลายๆโครงการฯ ในพื้นที่เดียวกันซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบสะสม
@เปิดช่อง‘เจ้าหน้าที่’เรียกรับผลประโยชน์ เร่งรัด EIA
2.ประเด็นปัญหาในขั้นตอนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2.1 ความเสี่ยงที่จะเกิดการกระทำในลักษณะการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (conflict of interest) การเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ในขั้นตอนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) มีช่องทางให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว กระทำการแสวงหาผลประโยชน์ได้ในหลายกรณี เช่น
1) กรณีที่มีผู้เข้ามาติดต่อขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ในสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หรือเจ้าหน้าที่ในสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน EIA เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
อาจมีการแนะนำ ‘บริษัทที่ปรึกษา’ ที่รับจ้างจัดทำรายงานฯ ซึ่งมีความสนิทสนมคุ้นเคยหรือมีความเกี่ยวข้องกันในด้านผลประโยชน์ หรืออาจมีการเรียก-รับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้ดำเนินโครงการ โดยรับปากว่าจะช่วยเร่งรัด ผลักดันให้รายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบได้โดยง่าย
2) ในขั้นตอนเสนอรายงานฯ ต่อ สผ. จะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนของรายงานฯ ซึ่งถึงแม้ตามระเบียบจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีระยะเวลาในการตรวจสอบ ภายใน 15 วัน แต่หากเห็นว่ารายงานฯ ยังมีข้อบกพร่อง ก็จะต้องให้ผู้ดำเนินการ/ผู้ขออนุญาต ไปดำเนินการแก้ไข จึงอาจเป็นช่องทางให้เกิดการประวิงเวลา ซึ่งจะต้องจ่ายเงินพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกและให้เกิดความรวดเร็ว
3) ความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริต จากการที่ผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานฯ ซึ่งได้แก่ ‘บริษัทที่ปรึกษา’ ที่จัดทำรายงาน หรือเจ้าของโครงการ อาจมีการจ่ายสินบนหรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน
เช่น เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน กรมเจ้าท่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล สำนักงานเขต ฝ่ายโยธา) ฯลฯ เพื่อให้ช่วยรับรองข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ หรือเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เช่น แนวเขตที่ดิน แบบแปลนการก่อสร้าง รวมไปถึงข้อมูลอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในรายงานฯ ซึ่งอาจจัดทำขึ้นมาอย่างไม่ถูกต้อง เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ตามที่ต้องการ ฯลฯ
@งานก่อสร้าง‘อาคารชุดขนาดใหญ่-ระบบน้ำ’เลี่ยงให้ข้อมูลปชช.
2.2 ความโปร่งใสและความมีประสิทธิภาพในขั้นตอนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจนแล้ว
แต่จากข้อเท็จจริงพบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานฯ ในโครงการก่อสร้างอาคารชุดขนาดใหญ่ โครงการเหมืองแร่ของบริษัทเอกชน รวมทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานรัฐ ซึ่งอาจไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง อาทิ
-การไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและชุมชน ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลในช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
-การไม่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยเลือกเฉพาะกลุ่มที่เห็นคล้อยตามกับโครงการ หรือมุ่งเน้นไปที่ประเด็นความต้องการของประชาชนมากกว่าการรับฟังความคิดเห็นในประเด็นผลกระทบต่างๆ กำหนดรูปแบบ ระยะเวลา และสถานที่สำหรับจัดกระบวนมีส่วนร่วมที่ไม่เหมาะสม หรือไม่มีการแก้ไขปัญหาด้านข้อจำกัดในการสื่อสารกับประชาชนในบางพื้นที่ เป็นต้น
-มีการแอบอ้าง ปลอมแปลงรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภายหลัง EIA ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว
นอกจากนี้ ในการดำเนินโครงการหรือกิจการบางประเภท การจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในปัจจุบัน อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เช่น การประกอบกิจการเหมืองแร่ บางประเภท ซึ่งถึงแม้ว่าจะต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560
และจัดรับฟังความคิดเห็นตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการภายในรัศมี 3 กิโลเมตร และต้องจัดทำ “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA)
อย่างไรก็ตาม พบว่าในหลายๆ พื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่เป็นพื้นที่ป่าไม้ซึ่งไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ อีกทั้งมีกรณีที่เหมืองแร่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลเกินกว่ารัศมีที่กำหนด เช่น กรณีเหมืองแร่คริสตี้ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างจากการนำพามลภาวะโดยสายน้ำและลม เป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร เป็นต้น
@มีการใช้ข้อมูล‘อันเป็นเท็จ’ประกอบการจัดทำรายงาน EIA
2.3 การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีข้อบกพร่อง หรือมีข้อมูลอันเป็นเท็จ
ถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิจัดทำรายงานฯ ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แต่จากข้อเท็จจริงพบปัญหากรณีผู้จัดทำรายงานฯ ในบางโครงการ มิได้มีการดำเนินงานอย่างถูกต้อง
ดังกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับการจัดทำรายงาน EIA ของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งผู้จัดทำรายงานฯ มีการจัดทำข้อมูลในรายงานฯอันเป็นเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือปกปิดข้อมูลในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หรือไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการคัดค้านโครงการซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาล
ต่อมาปรากฏว่ารายงาน EIA ของโครงการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งๆที่ได้ดำเนินการก่อสร้างและเปิดให้ประชาชนเข้ามาซื้อขายจับจองแล้ว ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
จากการศึกษาพบว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ได้ให้อำนาจแก่เจ้าของโครงการในการเป็นผู้จัดหาและว่าจ้างผู้จัดทำรายงานฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้จัดทำรายงานฯ ไม่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และโน้มเอียงไปตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง
และถึงแม้ว่าจะมีกลไกการควบคุมกำกับการทำงานของผู้จัดทำรายงานฯ ตามกฎกระทรวงการอนุญาตเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2565 ซึ่งมีบทลงโทษประกอบไปด้วย การแจ้งเตือน การพักใช้ และการเพิกถอนใบอนุญาต รวมทั้งมีกลไกในเรื่องวิชาชีพของผู้จัดทำรายงานฯ ซึ่งเป็นมาตรการลงโทษทางปกครอง อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอ
@วิ่งเต้นติดสินบน‘เจ้าหน้าที่’ไฟเขียว EIA ‘โครงการลงทุนรัฐ’
2.4 ปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการดำเนินโครงการของหน่วยงานของรัฐ
ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 บัญญัติไว้ว่า
ในกรณีที่โครงการ หรือกิจการ หรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการฯ ของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการร่วมกับเอกชน ที่ต้องเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการ
ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตั้งแต่ในระยะทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ และเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยในการพิจารณาเสนอความเห็นของ กก.วล. ให้มีความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ประกอบการพิจารณาด้วย นั้น
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการของหน่วยงานของรัฐ มักมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ ให้มาจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ รวมถึงการจัดทำรายงาน EIA ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว อาจใช้งบประมาณหลักสิบถึงหลักร้อยล้านบาท
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีโครงการของหน่วยงานของรัฐหลายๆ โครงการ ถูกคัดค้านจนต้องยุติการดำเนินการไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ได้มีการหยิบยกโครงการเหล่านั้น มาศึกษาใหม่ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการใหม่ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใหม่ ซึ่งในการดำเนินการแต่ละครั้งมีทั้งฝ่ายที่คัดค้านและฝ่ายที่เห็นด้วย โดยหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการเช่นนี้ไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
ประเด็นดังกล่าว มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตเกี่ยวกับกรณีการมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานของรัฐซึ่งรับผิดชอบโครงการและบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ รวมทั้งอาจเป็นการใช้งบประมาณไปอย่างไม่คุ้มค่า หากโครงการนั้นๆ ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา หรือไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หรือไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือส่วนรวมอย่างแท้จริง
ประกอบกับมาตรา 49 วรรคสี่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ ได้บัญญัติให้ในกรณีที่โครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำ EIA เป็นโครงการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัยที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ในระหว่างที่รอผลการพิจารณา EIA หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานนั้น ไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้นั้น ไม่ได้
ทั้งนี้ การเปิดโอกาสให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างไว้ก่อน นอกจากจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับกรณีการมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการ กับบริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับจ้างแล้ว ยังอาจทำให้เกิดกรณีการวิ่งเต้นติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในหลายระดับ เพื่อให้ช่วยเร่งรัดขั้นตอนกระบวนการต่างๆ รวมถึงการผลักดันให้รายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบได้โดยง่าย
@ข้อจำกัด‘คชก.’ในการพิจารณา EIA เปิดช่อง‘ฉกฉวยโอกาส’
3.ประเด็นปัญหาในขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
3.1 ด้านประสิทธิภาพในการพิจารณารายงานฯ โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)
1) การขาดเครื่องมือที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงานในขั้นตอนการพิจารณารายงานฯ
ในการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ EHIA) ถึงแม้ว่าจะดำเนินการโดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แต่อาจเกิดปัญหาข้อผิดพลาดเนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น การไม่ได้ลงไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่จริง หรือไม่ได้ตรวจสอบในประเด็นที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา หรือพิจารณาไปตามข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในรายงานฯ ซึ่งจัดทำขึ้นมาอย่างไม่ถูกต้อง
รวมทั้งปัญหาจากการที่ EIA ของแต่ละโครงการมีรายละเอียดเนื้อหาจำนวนมากและมีความซับซ้อนแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการใช้ดุลพินิจของ คชก. ตลอดจนปัญหาอันเกิดจากการบันทึกข้อมูลหรือความเห็นของ คชก. ซึ่งอาจขาดความถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน เป็นต้น
2) ข้อจำกัดเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาในการพิจารณารายงานฯ
เนื่องด้วยกฎหมายกำหนดให้ คชก. พิจารณารายงานฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานฯ หากมิได้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าให้ความเห็นชอบ ในกรณีที่ คชก. ไม่ให้ความเห็นชอบ และให้ผู้ดำเนินการ/ผู้ขออนุญาต ไปแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรายงานฯ ใหม่ ตามแนวทาง รายละเอียด ประเด็นหรือหัวข้อที่ คชก. กำหนด ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา
ทั้งนี้ เมื่อมีการเสนอรายงานฯ เข้ามาใหม่แล้ว ให้ คชก. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานฯ หากมิได้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าให้ความเห็นชอบ
จากข้อมูลสถิติที่ บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด ได้ทำการศึกษา พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2565 มีรายงาน EIA ที่เข้าสู่การพิจารณาของ คชก. เฉลี่ยปีละ 466 ฉบับ โดยรายงานฯ มีความหนาเฉลี่ย 1,048 หน้า และพบว่า คชก. ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและอนุมัติรายงานฯ มีเพียง 22 ชุด (เป็น คชก.ส่วนกลาง 10 ชุด และ คชก.จังหวัด 12 ชุด)
โดยการพิจารณารายงานฯ จะดูจากประเภทของโครงการและพื้นที่เป็นสำคัญ เช่น หากเป็นโครงการที่จัดอยู่ในประเภทอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะถูกส่งไปให้ คชก.กทม. ซึ่งพบว่าในปี พ.ศ. 2562 คชก.กทม. ต้องพิจารณาให้ความเห็นรายงานฯ ถึง 55 ฉบับ
การที่กฎหมายกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณารายงานฯ ที่ค่อนข้างจำกัด ประกอบกับการใช้ประเภทและสถานที่ตั้งของโครงการในการส่งรายงานไปยัง คชก. คณะต่างๆ ส่งผลทำให้ คชก. บางคณะ มีภาระการทำงานที่มากเกินไป จึงเป็นช่องทางให้มีการฉกฉวยโอกาส
โดยผู้จัดทำรายงานฯ อาจอาศัยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณารายงานฯ โดยกำหนดช่วงเวลาที่จะเสนอรายงานฯ ที่ปรับปรุงแก้ไขเข้าไปใหม่ หรืออาจเร่งรัดให้ คชก. พิจารณารายงานฯ หลาย ๆ โครงการในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้ คชก. ไม่สามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลหรือให้ความเห็นได้อย่างถี่ถ้วน รอบคอบ หรือหากไม่สามารถพิจารณาได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่ารายงานฯ ได้รับความชอบโดยปริยาย
3.2 ด้านความโปร่งใสและตรวจสอบได้
1) เนื่องด้วยปัจจุบัน การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ EHIA) จะมีการเผยแพร่เฉพาะรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) หรือที่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ในการพิจารณารายงาน EIA หรือ EHIA ของโครงการ/กิจการใดๆ ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง จึงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของร่างรายงานฯ ที่ผู้จัดทำรายงานฯ เสนอต่อ คชก. ตั้งแต่เริ่มต้น รวมทั้งไม่สามารถติดตามตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ในตลอดกระบวนการพิจารณา
โดยปรากฏกรณีที่รายงาน EIA ของบางโครงการมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่กลับได้รับความเห็นชอบจาก คชก. บางโครงการที่ คชก. มีมติให้ไปปรับปรุงแก้ไข มีการเสนอรายงานฯ เข้ามาใหม่และได้ความเห็นชอบจาก คชก. อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญซึ่งแตกต่างจากฉบับเดิม
2) นอกจากปัญหาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังพบปัญหาจากการที่รายงานฯ แต่ละฉบับมีรายละเอียดเนื้อหาจำนวนมาก ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ก็อาจยากต่อการศึกษาทำความเข้าใจ
@ขาดการ‘ตรวจสอบถ่วงดุล’-ก่อให้เกิดผลกระทบยากเยียวยา
3.3 ด้านการตรวจสอบถ่วงดุล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 58 บัญญัติไว้ว่า “การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบ การพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติบุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง
ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า
จากบทบัญญัติดังกล่าว การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน อาจยังไม่เพียงพอ เนื่องจากการพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือให้ความเห็นต่อรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ EHIA) ทั้งในโครงการ/กิจการของรัฐและของเอกชน เป็นอำนาจของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) หรือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่จะตัดสินชี้ขาด
แต่ยังไม่มีกระบวนการใดๆ ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น หรือโต้แย้งมติของ คชก. หรือ กก.วล.
การขาดกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลเช่นนี้ อาจทำให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อทุกฝ่ายซึ่งยากต่อการแก้ไขเยียวยาในภายหลัง
ยกตัวอย่างเช่น กรณีโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ของเอกชนซึ่งมีการนำรายงาน EIA ซึ่งมีข้อมูลไม่ถูกต้องไปใช้ประกอบการขอรับอนุญาตก่อสร้างอาคารและเปิดให้ประชาชนเข้ามาจับจอง
ต่อมาได้มีการนำเรื่องดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาล เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติ คชก. ที่ได้เห็นชอบรายงานฯ และเพิกถอนคำสั่งอนุญาตก่อสร้าง บริษัทเอกชนเจ้าของโครงการจึงยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอนุญาต ซึ่งทุกหน่วยงานต้องอุทธรณ์คำพิพากษา ในกระบวนการยุติธรรมที่มีความล่าช้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ประชาชน
@พบปัญหา‘หน่วยงานรัฐ-เอกชน’ไม่จัดส่งรายงาน Monitor
4.ประเด็นปัญหาในขั้นตอนการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม
4.1 การขาดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ในการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการฯ
เนื่องจากในขั้นตอนการอนุมัติ/อนุญาต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรายงานฯ ประกอบกับเมื่อดำเนินโครงการ/กิจการต่างๆ แล้ว หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่เพียงจัดทำและรวบรวมรายงาน Monitor นำส่ง สผ. ภายในระยะเวลาที่กำหนด เท่านั้น
ทำให้ไม่มีการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการฯ อย่างจริงจัง ในขณะที่กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษกรณีที่ไม่จัดส่งรายงาน Monitor ไว้ค่อนข้างสูง คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท (มาตรา 101/2) แต่กลับพบว่ามีโครงการที่ไม่จัดส่งรายงาน Monitor ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสที่จะเกิดการทุจริตเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
4.2 การขาดกลไกการติดตามประเมินผลมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นกระบวนการที่กำหนดให้มีขึ้นก่อนที่จะมีการดำเนินการหรืออนุมัติ/อนุญาตให้ดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่มีกระบวนการใดๆ ที่กำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA หรือ EHIA อย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถสะท้อนปัญหากรณีที่พบว่าโครงการ/กิจการใดๆ มีการกำหนดมาตรการฯ ที่ขาดประสิทธิภาพ หรือไม่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือมีการค้นพบประเด็นผลกระทบใหม่ๆ ที่เกิดจากการดำเนินโครงการ/กิจการนั้น ๆ
@แนะ‘ดีอี’จัดทำระบบศูนย์บริการข้อมูล‘อนุมัติ-อนุญาต’EIA
ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.
1.ด้านการตรวจสอบกลั่นกรองโครงการ ก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุมัติอนุญาตหรือการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
1.1 เห็นควรให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประสานการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีภารกิจหน้าที่ด้านการอนุมัติ/อนุญาต ด้านการกำกับดูแลพื้นที่/สถานที่ต่างๆ และหน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่ด้านการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ในการพัฒนาจัดทำ “ระบบศูนย์บริการข้อมูลด้านการอนุมัติ/อนุญาต และการตรวจสอบกลั่นกรองโครงการ” โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางระบบในการประสานงาน และการตรวจสอบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน อาทิ การตรวจสอบข้อมูลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
การตรวจสอบข้อกำหนดตามกฎหมายสำหรับการดำเนินโครงการหรือกิจการต่างๆ รวมถึงการกลั่นกรองโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ EHIA) เพื่อให้การดำเนินโครงการหรือกิจการของหน่วยงานของรัฐและของเอกชน มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างถูกต้อง รัดกุม ก่อนที่จะพิจารณาดำเนินการ หรือมีการอนุมัติ/อนุญาตตามกฎหมาย ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาด และเกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
1.2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ควรประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่และอำนาจอนุมัติ/อนุญาต ในการดำเนินโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ EHIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ได้แก่
1) การปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยีและฐานข้อมูลด้านการอนุมัติ/อนุญาต ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับ “ศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Smart EIA Plus)” ของ สผ.
รวมทั้งพัฒนาระบบการให้บริการผู้ที่มาติดต่อขอรับอนุญาต ในการดำเนินโครงการหรือกิจการต่างๆตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ดังกล่าว ในรูปแบบ One Stop Service เพื่อให้การดำเนินงานในขั้นตอนต่าง ๆ มีความสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งมีการตรวจสอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการอนุมัติ/อนุญาต และ สผ.
2) การพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานให้มีความรู้ความเข้าใจในระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน ตลอดจนการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการเรียก-รับสินบนในขั้นตอนการอนุมัติ/อนุญาต เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
3) กำหนดให้ในการจัดทำแผนงานโครงการของหน่วยงานของรัฐต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ หากพบว่าเป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อผู้มีอำนาจอนุมัติ/อนุญาต และในขั้นตอนการจัดทำคำของบประมาณ
4) ร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหากรณีการอาศัยช่องว่างของกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA เช่น กรณีที่โครงการมีการกำหนดขนาดหรือกำลังการผลิตให้ต่ำกว่าเกณฑ์เพียงเล็กน้อย หรือแบ่งซอยโครงการขนาดใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กหลายโครงการ
โดยควรเพิ่มอำนาจให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ในการเสนอความเห็นหรือข้อสังเกตต่อ สผ. ในกรณีที่เห็นว่าโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีพฤติการณ์เลี่ยงกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ต้องกำหนดแนวทางในการวินิจฉัยที่ชัดเจน ซึ่งรวบรวมจากแนวคำพิพากษาของศาลและกรณีศึกษาต่างๆ เพื่อผลักดันให้โครงการเข้าสู่กระบวนการจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ต่อไป รวมทั้งกำหนดมาตรการในแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีโครงการที่ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA หลาย ๆ โครงการในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบสะสม
โดยอาจเห็นควรให้นำแนวทางของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่มีขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ต้องทำ EIA แต่ก็ต้องดำเนินการจัดทำประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติและรายงานผลการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติสำหรับการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2565 มาผลักดันใช้ในโครงการหรือกิจการประเภทอื่น ๆ ด้วย
@เสนอจัดทำแผนประเมินความเสี่ยง‘เจ้าหน้าที่ของรัฐ’ทุจริต
2.ด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพและการป้องกันการทุจริตในขั้นตอนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรกำหนดนโยบายมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ได้แก่ การประสานความร่วมมือกับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น ในการจัดทำแผนการประเมินความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอาจเกิดการกระทำในลักษณะการขัดกันแห่งผลประโยชน์ การเรียก-รับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว
โดยเฉพาะในส่วนของผู้ดำเนินโครงการและผู้จัดทำรายงานฯ การประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างความรู้ และรณรงค์เรื่องการต่อต้านการทุจริตแก่ภาคเอกชนและภาคประชาชน รวมทั้งจัดให้มีระบบการรับเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ให้ สผ. และ ทสจ. รายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว ต่อกระทรวงฯ ทุกปี
2.2 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ควรปรับปรุงแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
โดยส่งเสริมบทบาทของตัวแทนองค์กรภาคเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ และสื่อมวลชน ในการเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์ในขั้นตอนการศึกษาและในการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบและรับรองการทำงานของผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานฯ เพื่อป้องปรามมิให้มีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องหรือขาดความโปร่งใส
โดยในส่วนของโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำ “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง” หรือรายงาน EHIA เช่น การทำเหมืองแร่ อุตสาหกรรมถลุงแร่โลหะ โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีการเผาหรือฝังกลบของเสียอันตราย ฯลฯ
ไม่ควรจำกัดขอบเขตการศึกษาเฉพาะบริเวณพื้นที่ในรัศมีรอบโครงการ โดยควรกำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบในเชิงคุณภาพ ซึ่งมีการรวบรวมความเห็นหรือข้อสังเกตของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ
2.3 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรกำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยควรพิจารณาเพิ่มเติมบทลงโทษทางอาญาสำหรับกรณีผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ทั้งในส่วนของผู้จัดทำรายงานฯ และผู้ดำเนินโครงการหรือกิจการต่างๆ ในฐานะผู้ว่าจ้าง)
มีการจัดทำข้อมูลในรายงานฯ หรือรับรองรายงานฯ ที่มีข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือมีการปกปิดหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องมีบทกำหนดโทษที่รุนแรง ทั้งโทษปรับและจำคุก รวมทั้งการขึ้นบัญชีรายชื่อเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการยอมรับในการประกอบวิชาชีพ (Black List)
ตลอดจนมีการกำหนดมาตรการหรือกลไกในการส่งเสริม จูงใจ หรือบังคับให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าว มีความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น
2.4 รัฐบาล และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ควรพิจารณาให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาการมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานของรัฐ และบริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ ที่หน่วยงานของรัฐว่าจ้าง ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะกรณีที่เป็นโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการร่วมกับเอกชน ซึ่งดำเนินการตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
ประเด็นดังกล่าว อาจทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากการทุจริตเชิงนโยบาย และการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ หากโครงการนั้นๆ มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือส่วนรวมอย่างแท้จริง
โดยควรกำหนดให้ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ หรือการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ซึ่งดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548
โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆสามารถแสดงความคิดเห็น ให้ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ หรือคัดค้านโครงการได้ โดยจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นให้สาธารณชนได้รับทราบ
@ต้องกำหนด‘แนวทาง-หลักเกณฑ์’การพิจารณา EIA ให้ชัดเจน
3.ด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใสในขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ควรพิจารณาดำเนินการ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใสในขั้นตอนการพิจารณารายงานฯ ซึ่งได้แก่
3.1 จัดทำแนวทางและหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ EHIA) ในทุกประเภทโครงการ/กิจการ ให้มีความชัดเจนและมีมาตรฐาน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือหรือระบบเทคโนโลยี ซึ่งดำเนินการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ในลักษณะ Check list ตามกรอบประเด็นหัวข้อต่างๆ เพื่อลดการใช้ดุลพินิจ
และช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ คชก. ในการพิจารณารายงานฯ โดยเครื่องมือดังกล่าว ควรสามารถจัดเก็บข้อมูลรายละเอียดของแต่ละโครงการ/กิจการ รวมทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้น ตลอดจนปัญหาข้อห่วงกังวลของประชาชนและชุมชน หรือประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาให้ความเห็นของ คชก. มีความถูกต้อง ครบถ้วน
3.2 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับข้อกำหนดเรื่องกรอบระยะเวลาในการพิจารณารายงานฯ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
โดยกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ไม่ให้ความเห็นชอบรายงานฯ ในการพิจารณาครั้งแรก และให้ผู้ดำเนินโครงการไปแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรายงานฯ ใหม่ เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาในรอบที่สอง ตามกฎหมายกำหนดให้ คชก. ต้องพิจารณารายงานฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับรายงาน นั้น ในกรณีที่มีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือส่งผลให้การพิจารณาขาดประสิทธิภาพ อาจสามารถขอขยายระยะเวลาในการพิจารณาออกไปได้ ตามแต่กรณี
3.3 ปรับปรุงแนวทางการเปิดเผยข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกเหนือ จากการเผยแพร่เฉพาะรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจาก คชก. หรือ กก.วล แล้ว ควรจะต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลให้สาธารณชนทราบตลอดกระบวนการพิจารณา เช่น
(1) ข้อมูลเกี่ยวกับรายงานฯ ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คชก. ในครั้งแรก
(2) ข้อมูลเกี่ยวกับความเห็น ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ คชก. กรณีที่ไม่ให้ความเห็นชอบ และให้ผู้จัดทำรายงานฯ ไปดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดทำรายงานฯ ใหม่
(3) ข้อมูลเกี่ยวกับรายงานฯ ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คชก. ในรอบที่สอง
(4) ผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงานฯ ของ คชก. และ กกวล.
ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีช่องทางที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและสะดวก
3.4 กำหนดให้ผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ในทุกประเภทโครงการ ทั้งกรณีโครงการของหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการร่วมกับเอกชน และโครงการของเอกชน ต้องมีการจัดทำรายงานฯ ฉบับย่อ ซึ่งเป็นการสรุปข้อมูลในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่โครงการฯ ได้มีการศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ รวมทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่โครงการกำหนดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาทำความเข้าใจ และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการฯ ได้ง่ายขึ้น
3.5 เพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล โดยก่อนที่จะแจ้งผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานฯ แก่ผู้ดำเนินโครงการ/กิจการ เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการ หรือขอรับการอนุญาตตามกฎหมาย หรือขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
ควรกำหนดให้มีขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถแสดงความคิดเห็น หรือโต้แย้งในประเด็นที่เห็นว่ามีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่มีมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบที่เหมาะสม หรือยังมีกรณีข้อพิพาทต่าง ๆ โดยสามารถอุทธรณ์มติของ คชก. หรือ กก.วล. ซึ่งให้ความเห็นชอบต่อรายงาน EIA หรือ EHIA ของโครงการ/กิจการใด ๆ ได้
โดย คชก. หรือ กก.วล. หน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติ/อนุญาต รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ของโครงการ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งเหตุผลหรือคำชี้แจงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นการให้อำนาจแก่ประชาชนตามกฎหมาย และป้องกันมิให้เกิดปัญหาที่ยากต่อการแก้ไขเยียวยาในภายหลัง รวมทั้งสามารถใช้เป็นข้อมูลในกรณีที่มีการต่อสู้ในชั้นศาล
@ชงตั้ง‘องค์กรเอกชน’ช่วยติดตามมาตรการป้องกันผลกระทบฯ
4.ด้านการเสริมสร้างกลไกในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ
4.1 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ควรพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรเอกชนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการ/กิจการต่าง ๆ ทั้งในระหว่างการก่อสร้างและตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการ
4.2 เห็นควรให้ กก.วล. พิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมาย โดยควรเพิ่มอำนาจให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการสามารถแจ้งข้อมูล ความเห็น หรือข้อสังเกตต่อ สผ.
ในกรณีที่เห็นว่ามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ/กิจการใดๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแล้ว ไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดย สผ. หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจด้านการอนุมัติ/อนุญาต ด้านการกำกับดูแลพื้นที่ต่างๆ และหน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่ด้านการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ โดยอาจพิจารณาให้มีการระงับการดำเนินโครงการ/กิจการ ไว้จนกว่าจะได้มีการปรับปรุงมาตรการฯ ให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ
เหล่านี้เป็นสรุปสาระสำคัญของ ‘ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)’ ของ ป.ป.ช. ในขณะที่รายงานฯฉบับนี้ได้มีข้อค้นพ้นที่น่าสนใจว่า ในกระบวนการจัดทำรายงาน EIA นั้น มีความเสี่ยงหรือช่องโหว่ที่ทำให้เกิดปัญหาทุจริต เรียกรับ-จ่าย ‘สินบน’ ได้ในทุกขั้นตอน!