"..ผู้แทน คปภ. ได้ระบุว่าหากเทียบเคียงกับบริษัทประกันภัยที่เข้ารับประกันสุขภาพคนต่างด้าวเมื่อปี 2566 จะพบว่ามีจำนวนบริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์จำนวน 17 บริษัท ในปีนี้หากคณะทำงานกำหนดสินทรัพย์รวมจำนวน 3 หมื่นล้านบาทขึ้นไป จะปรากฏข้อมูลบริษัทประกันภัยเพียง 3 บริษัท และหากพิจารณารวมกันทั้งอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) และสินทรัพย์ จะมีบริษัทประกันภัยที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขเพียง 2 บริษัท..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
กรณี กรมการจัดหางาน (กกจ.) กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานใหม่ในการคัดเลือกบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ว่า บริษัทจะต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่กำหนด 13 ประการ แจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมการดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ภายในวันที่ 19 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาอนุญาตให้เชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานการซื้อประกันสุขภาพต่อไป
ขณะที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีข้าราชการกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์บริษัทประกันภัยบางบริษัท ให้มีสิทธิเข้ารับการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 24 ก.ย. 2567 และกีดกันบริษัทประกันภัยอื่น ๆ โดยกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งทำให้เหลือบริษัทประกันภัยที่สามารถเข้าร่วมประกันภัยเพียง 2 บริษัท จากเดิม 17 บริษัทประกันภัย ขณะที่ตัวเลขการทะเบียนแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ตัวเลขมูลค่าวงเงินประกันที่จะเกิดขึ้นประมาณ 5 พันล้านบาท
- 17 แห่งเข้าได้แค่ 2! ร้อง ป.ป.ช.สอบเงื่อนไขคัดเลือก บ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล.
- พร้อมให้ป.ป.ช.สอบ! อธิบดี กกจ.ยันคัดเลือกบ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล. โปร่งใส
- ไม่ยุติธรรม! เอกชนโต้ กกจ.กำหนดมาตรฐานเลือกบ.รับทำประกันต่างด้าว - คปภ.เคยค้านแล้ว
- ว่าด้วยมติ ครม. 24 ก.ย.67! ผ่าแผนคัดเลือก บ.รับทำประกันต่างด้าว 5 พันล.โปร่งใสจริงหรือ?
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลสำคัญที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ใช้ประกอบการตรวจสอบเรื่องนี้มาเสนอไปแล้ว คือ ข้อสังเกตการออกหลักเกณฑ์การประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว จากในปี 2566 ที่อ้างว่าเป็นการดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค.2566 และ ตามมติ ครม. วันที่ 3 ต.ค.2566 มีจำนวน 6 ข้อ ทำให้มีบริษัทประกันภัย ที่ผ่านเข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมด 17 บริษัท ซึ่งปี 2566 ก็เป็นช่วงที่ประเทศไทย เริ่มผ่านพ้นสถานการณ์โควิดแล้ว แต่ในการดำเนินการปี 2567 มีการออกหลักเกณฑ์การประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวใหม่ เพิ่มขึ้นมาแบบก้าวกระโดด เป็น 13 ข้อ
แหล่งข่าวจากตัวแทนบริษัทประกันภัย ยังย้ำด้วยว่า หลักเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา จำนวน 13 ข้อ มี 2 ข้อสำคัญ ที่เป็นปัญหา คือ การกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 เพราะทำให้เหลือบริษัทประกันภัยเพียง 2 บริษัท ที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมได้ และทำให้ถูกมองว่าเป็นการล็อกสเปก เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนบางกลุ่ม รวมไปถึงอาจจะมีใบสั่งจากฝ่ายการเมืองมา เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ในอนาคต
จากข้อมูลข้างต้น ดูเหมือนว่าคำถามสำคัญที่ต้องหาคำตอบให้ชัดเจน คือ หลักเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมา จำนวน 13 ข้อ โดยเฉพาะ 2 ข้อสำคัญ ที่เป็นปัญหา คือ การกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566
มีที่มาที่ไปอย่างไร? ใครเป็นผู้เสนอ? มีเหตุผลอะไร?
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันไปยังแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงแรงงาน ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
หนึ่ง.
ภายหลังจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2567 กรมการจัดหางานได้มีคำสั่งที่ 0407/2567 ลงวันที่ 3 ต.ค.2567 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ขึ้นเป็นทางการ
คณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยฯ ตามคำสั่งที่ 0407/2567 ลงวันที่ 3 ต.ค.2567 ชุดนี้ มีจำนวน 11 คน มีรองอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นประธาน ตัวแทนหน่วยงานภายใน และตัวแทนจากหน่วยงานภายนอก คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้าร่วมด้วย
มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความมั่นคงของบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 รวมไปถึงพิจารณาหลักเกณฑ์การประกันภัยสุขภาพของบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567
สอง.
จากการตรวจสอบพบว่า การกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ถูกระบุไว้นการประชุมคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยฯ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2567
โดยที่ประชุมครั้งนั้น ได้มีการหยิบยกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัย ขึ้นมาพิจารณา 5 ประเด็น คือ
1. ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเต็มจำนวนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
2. ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งข้อเสนอเดิมกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท
3. ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำเนินเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566
4. ผู้ยื่นข้อเสนอห้ามดำเนินการลดเบี้ยประกัยภัย กรมธรรม์เกินจากที่ สำนักงาน คปภ.กำหนด
5. คนต่างด้าวจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ
ทั้งนี้ ในประเด็นหลักเกณฑ์ข้อ 2. ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งข้อเสนอเดิมกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท
มีการระบุเหตุผลว่า เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิต 19 ที่มีหลายบริษัทปิดกิจการไป และทิ้งภาระ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับสินไหมทดแทนจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น บริษัท อาคเนย์ประกันภัย ข้อมูล ณ กันยายน 2564 มีสินทรัพย์ 19,000 ล้านบาท แต่ไม่สามารถชดใช้สินไหมทดแทนได้จนปิดกิจการ หรือบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ที่มีสินทรัพย์รวมประมาณ 11,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งหากพิจารณาความเหมาะสมของสินทรัพย์รวมนั้น หากกำหนดสินทรัพย์สูงเกินไป จะไม่เป็นผลดีต่อการคัดเลือกบริษัทประกันภัย แต่หากกำหนดสินทรัพย์น้อยเกินไป หากเกิดโรคระบาดอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้
ส่วนหลักเกณฑ์ ข้อ 3. ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำเนินเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566
มีการระบุเหตผลว่า อัตราส่วมความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Raito) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเรื่องความมั่นคงทางการเงินในการประกอบธุรกิจ จากการที่ สำนักงาน คปภ. กำหนดเกณฑ์Car Raito ขั้นต่ำ ที่ 140% จึงเพิ่มเติมไว้เผื่อประมาณ 50% ที่ระดับ 200% เมื่อพิจารณาบริษัท อาคเนย์ประกันภัย ก่อนจะปิดกิจการ เคยมีอัตราส่วนความ
เพียงพอของเงินกองทุน (Car Raito) อยู่ระหว่าง 160% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 และ 220% ในโตรมาส 3 ปี 2564 เช่นกัน หรือกรณีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยในไตรมาส 2 ปี 2564 มี Car Raito 275e% ไตรมาส 3 ปี 2564 มี Car Raito ลดลงเหลือ 178% เป็นต้น
สาม.
@ หากกำหนดสินทรัพย์ 1 หมื่นล้านบาท จะเพียงพอหรือไม่?
ในการประชุมดังกล่าว ประธาน ในที่ประชุมมีการระบุถึงการพิจารณา หลักเกณฑ์ ข้อ 2. และ 3. ดังกล่าว ว่า ริษัทประกันภัยที่ประสงค์จะเข้ามารับประกันสุขภาพคนต่างด้าว ควรจะมีสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น เพราะมีความเสี่ยง เนื่องจากแรงงานต่างด้าวครั้งนี้มีประมาณ 3 ล้านคน ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าไม่เพียงพอ จึงเห็นควรกำหนดสินทรัพย์รวมเป็น 1 หมื่นล้านบาท พร้อมสอบถาม คปภ. ว่าจำนวนคนต่างด้าวประมาณ 3 ล้านคน หากกำหนดสินทรัพย์ 1 หมื่นล้านบาท จะเพียงพอหรือไม่
ผู้แทน คปภ. ตอบคำถามว่า การเลือกบริษัทประกันภัยจะต้องเลือกบริษัทที่มีสถานะความมั่นคง ต้องกระจายความเสี่ยง หากกำหนดมูลค่าสินทรัพย์จำนวน 1 หมื่นล้านบาท บริษัทประกันภัยอาจไม่มีเงินทุนที่จะรองรับความเสี่ยงได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมา
ประธาน ระบุต่อว่า หลักในการพิจารณาในครั้งนี้ ต้องพิจารณาถึงความมั่นคงของบริษัทประกันภัยเนื่องจากคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 มีจำนวนมาก มติ ครม. ครั้งก่อนมีคนต่างด้าวจำนวนเท่าใด
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะต้านการจัดระบบแรงงานต่างด้าว ระบุว่า คนต่างด้าวที่หลุดออกจากระบบมีจำนวนประมาณ 6 แสนคน และอาจมีคนต่างด้าวที่หนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทยอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีคนต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 13 ก.พ.2568 อีกประมาณ 2.4 ล้านคน รวมจำนวนคนต่างด้าวทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านคน
ผู้แทน คปภ. กล่าวต่อว่า คปภ.ได้ดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลการทำประกันภันภัยของคนต่างด้าวในปี 2567 พบว่ามีการซื้อกรมธรรรรม ประมาณ 4.9 แสนกรมธรรม์ ซึ่งไม่ได้ระบุจำนวนคน ขอสอบถามกรมการจัดหางานว่ามีจำนวนคนต่างต้างด้าวที่ทำประกันภัยจำนวนเท่าไร
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดระบบแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้คนต่างค้าวทำประกับสุขภาพได้ทั้งภาครัฐและบริษัทประกันกันภัย หากเป็นข้อมูลในส่วนการประกันภัยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีข้อมูลหรือไม่
@ สินทรัพย์ 1 หมื่นล้าน อาจจะไม่พอ เสนอเป็น 3 หมื่นล้าน
ผู้อำนวยการกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กล่าวว่า ในปี 2564 - 2565 มีคนต่างด้าวที่ซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย ประสบข้อขัดข้องเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองของปัญหาดังกล่าว ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของคนไทยด้วย ดังนั้น การมุ่งเน้นว่าต้องเป็นบริษัทที่มั่นคง เป็นบริษัทที่สามารถรองรับ ดูแล ด้านการสาธารณสุขให้กับคนต่างด้าวได้เป็นจำนวนมาก การที่มีสินทรัพย์รวมเป็นจำนวนมาก จะเป็นหลักประกันอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งคาดว่าสินทรัพย์ 1 หมื่นล้าน
อาจจะไม่เพียงพอกับจำนวนคนต่างด้าวที่จะจดทะเบียนในครั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจปรับเพิ่มในส่วนของสินทรัพย์เป็น 3 หมื่นล้านบาท เพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุข และเพื่อความมั่นคงของประเทศเพราะหากเกิดเหตุใดขึ้นมา หลักประกันสาธารณสุขของคนไทยจะต้องไม่ถูกกระทบ เนื่องจากมีบริษัทประกันภัยมารองรับแล้ว
จึงขอเสนอให้ปรับสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาท ขึ้นไป โดยอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท
จากนั้น ประธาน ได้ขอสอบถามผู้แทน คปภ. ว่าสินทรัพย์ที่จะสร้างความมั่นคงกับแรงงานต่างด้าวที่จะซื้อกรมธรรม์ในครั้งนี้ ควรกำหนดให้มีสินทรัพย์จำนวนเท่าไร เนื่องจากคาดว่าการดำเนินการครั้งนี้จะมีคนต่างด้าวมาจดทะเบียนจำนวนมาก
ขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนต่างด้าวตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566 ที่ซื้อกรมธรรรม์จากบริษัทประกันวินาศภัยมีจำนวนประมาณ 478,000 คน และคนต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 13 ก.พ.2568 มีจำนวนประมาณ 270,000 รวมทั้งสองกลุ่มประมาณ 750,000 คน
ด้านผู้แทน คปภ. ชี้แจงว่า คปภ. ไม่สามารถระบุไว้ได้ว่าสินทรัพย์ควรกำหนดเป็นจำนวนเท่าใด หรือจะต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Raito) เท่าใด
"ในส่วนของ คปภ. จะมีการตรวจสอบบริษัทประกันภัยในหลายมิติ ซึ่งมีเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ อยู่แล้ว นอกเหนือจากการกำหนดสินทรัพย์ และ อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Raito) อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้หารือส่วนงานที่เกี่ยวข้องการจะพิจารณามูลค่าทรัพย์สินรวม หรืออัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) นอกเหนือจากจะใช้ข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 แล้ว ส่วนงานที่ดูแลด้านการเงินมีความเห็นว่าอาจจะต้องพิจารณาถึงไตรมาสล่าสุด ซึ่งมีข้อเสนอว่าให้ใช้เดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นข้อมูลปัจจุบัน โดยทางกรมการจัดหางานอาจเปรียบเทียบว่าข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 กับไตรมาส 2 มีแนวโน้มอย่างไร ในส่วนของ คปภ. จะพิจารณาแค่เพียงว่าจะบริษัทประกันภัยดำรงเงินต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่"
จากนั้น ประธานที่ประชุม ได้แจ้งว่า หลักเกณฑ์ข้อ 2.) และข้อ 3.) สามารถพิจารณาร่วมกันได้ ซึ่งสินทรัพย์และอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Rato) ในข้อแรกทางฝ่ายเลขานุการฯ เดิมเดิมเสนอว่าควรปรับเพิ่มจาก 1 พันล้านบาท เป็น 1 หมื่นล้านบาท ได้หรือไม่ ส่วนคณะทำงานบางท่านเสนอว่า 1 หมื่นล้านบาท อาจไม่เพียงพอต่อจำนวนคนต่างด้าวที่มีเป็นจำนวนมาก ส่วนอัตราส่วนความเพียงพอขอของเงินกองทุน (Car Ratio) สามารถพิจารณาพร้อมสินทรัพย์ว่าควรมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Raito) เท่าไร ซึ่งในส่วนของอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) เห็นว่าไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 200 เพราะหากเกิดความเสียหาย สินทรัพย์เหล่านี้สามารถนำมาชดเชยให้กับผู้เอาประกันกันภัยได้
@ คปภ.เตือนจาก 17 บริษัท เหลือแค่ 2 บริษัท
อย่างไรก็ดี ผู้แทน คปภ. ได้ระบุว่าหากเทียบเคียงกับบริษัทประกันภัยที่เข้ารับประกันสุขภาพคนต่างต้างด้าวเมื่อปี 2566 จะพบว่ามีจำนวนบริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์จำนวน 17 บริษัท ในปีนี้หากคณะทำงานกำหนดสินทรัพย์รวมจำนวน 3 หมื่นล้านบาทขึ้นไป จะปรากฏข้อมูลบริษัทประกันภัยเพียง 3 บริษัท และหากพิจารณารวมกันทั้งอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) และสินทรัพย์ จะมีบริษัทประกันภัยที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขเพียง 2 บริษัท
จากนั้นก็คณะทำงานหลายคนได้ร่วมแสดงความเห็น โดยผู้อำนวยการกองนิติการ ระบุว่า คณะรัฐมนตรี มีมติให้กรมการจัดหางานพิจารณาในเรื่องสถานะความมั่นคง ของบริษัทประกันภัย ซึ่งกรมการจัดหางานต้องรับฟัง คปภ. ด้วย ว่าสิ่งที่จะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์มีความเหมาะสมและสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องหารือ คปภ.ว่า อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) หรือจำนวนสินทรัพย์ที่มีความเหมาะสมต่อการบริหารจัดการคนต่างด้าวตามติดมะรัฐมนตรีนี้ควรกำหนหบดเป็นจำนวนเท่าไร
ผู้ตรวจราชการกรมฯ ระบุว่า การจะพิจารณาว่าจะใช้ตัวเลข 1 หมื่นล้านบาท หรือ 3 หมื่นล้านบาท ต้องพิจารณาความเสี่ยงที่มีทั้งหมด สมมุติว่ามีความเสี่ยง 10 ล้านบาท หากมีคนต่างด้าวเพิ่มอีก 3 ล้านคน ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเท่าไร ซึ่งจำเป็นต้องทราบวิธีการคำนวณ หากนำจำนวนคนต่างด้าว 3 ล้านคน เป็นตัวตั้ง และนำเงินประกัน 150,000 บาท คูณ 200,000 คน จะมีสินทรัพย์ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ควรมีหลักวิธีการคิดเพื่อให้ได้ตัวเลขที่ชัดเจน และเห็นด้วยกับกองนิติการที่ขอให้ คปภ. ช่วยพิจารณาจำนวนสินทรัพย์และอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) ในส่วนของบริษัทประกันภัยจะสามารถเข้าร่วมได้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดไว้ว่าคนต่างด้าวต้องทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่มีความมั่นคงเท่านั้น
ด้านผู้แทน คปภ. ระบุว่า ควรประสานกับส่วนงานของ คปภ.ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ เนื่องจากส่วนงาน คปภ. ที่มาร่วมประชุมในวันนี้ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวโดยทำได้เพียงให้ข้อมูลสถานะทางการเงินหรือการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยเท่านั้น
ต่อมา ผู้ตรวจราชการกรม ได้ระบุว่า หลักเกณฑ์ข้อ 2) ให้ทางฝ่ายเลขานุการฯ หารือส่วนงานของ คปภ. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงว่าจะคำนวณความเสี่ยงอย่างไร และควรใช้ตัวเลขใด
ก่อนที่ประธาน จะระบุว่า ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอเพิ่มจาก 1 พันล้านบาพ เป็น 1 หมื่นล้านบาท แต่คณะกรรมการบางท่านเห็นว่าควรเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาทขึ้นไป เพื่อความมั่นคง
ผู้ตรวจราชการกรม ระบุว่า เห็นด้วยว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ของบริษัทประกันภัยที่จะเข้าร่วมการประสุขภาพคนต่างด้าว ต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) และจำนวนสินทรัพย์
@ ต้องหารือกับส่วนงานผิดชอบก่อน
ผู้แทน คปภ. ระบุเพิ่มว่า คปภ.อาจจะพิจารณาจากข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 และไตรมาลที่ 2 ของเดือนมิถุนายน ปี 2567 ด้วย
ก่อนที่ผู้ตรวจราชการกรม จะย้ำว่า เห็นด้วยในหลักการของ คปภ. ที่ให้พิจารณาข้อมูลไตรมาสที่ 2 ของเดือนมิถุนายน ปี 2567 ประกอบด้วย ส่วนการจะพิจารณาว่าสินทรัพย์รวมควรกำหนดเป็น 1 หมื่นล้านบาท หรือ 3 หมื่นล้านบาท และอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) ควรมีจำนวนเท่าไร ต้องหารือกับส่วนงานผิดชอบ ซึ่งอาจจะกำหนดสินทรัพรัพย์รวมเกิน 3 หมื่นล้านก็ได้ ต้องพิจารณาความเสี่ยงในอนาคต โดยใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัย
ขณะที่ ผู้อำนวยการกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ให้ข้อมูลว่า ในจังหวัดใหญ่ที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก พบข้อขัดข้องในการให้ความคุ้มครองดูแลแรงงานต่างด้าวซึ่งทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ซึ่งข้อขัดข้องดังกล่าวกระทบต่อระบบสาธารณสุข ดังนั้น บริษัทประกันภัยที่จะเข้าร่วมประกันสุขภาพคนต่างด้าว ต้องมีความมั่นคง ซึ่งหากกำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์สินทรัพย์ที่มีอยู่จะแสดงให้เห็นความมั่นคงของบริษัทประกันภัยชัดเจนมากขึ้น และอีกประเด็นหนึ่งคือ คุณภาพชีวิตของคนทำงาน ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขรวมทั้งต้องไม่มีปัญหาในเรื่องของการเลือกปฏิบัติระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าว ซึ่งการกำหนดให้บริษัทประกันภัยที่มีความมั่นคงสูงเข้ามาร่วมประกันสุขภาพคนต่างด้าว มักจะมีองค์กรเอกชน และมีองค์กรหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบว่า ทางการไทยมีมาตรฐานในการดูแลคนต่างด้าวใกล้เคียงกับหรือไม่อย่างไร จึงเกิดข้อโต้แย้งกันอยู่บ่อย ๆ ครั้ง ดังนั้น ควรจะมีบริษัทประกันภัยที่มีความมั่นคงและมีความเชี่ยวชาญด้านการประกันสุขภาพเข้าร่วมให้บริการ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
ด้านผู้แทน คปภ. ระบุว่า ขออนุญาตสอบถามว่ามีการกำหนดหรือไม่ว่าจะต้องเริ่มดำเนินการเมื่อใด
ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจร่างประกาศกระทรวงแรงงานและร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในช่วงนี้จะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง สำหรับการเริ่มจดทะเบียนคนต่างด้าวกลุ่มใหม่กับกลุ่มต่ออายุจะเริ่มไม่พร้อมกัน โดยจะให้คนต่างด้าวกลุ่มต่ออายุเริ่มดำเนินก่อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 15 พ.ย.2567 ส่วนคนต่างด้าวกลุ่มจดทะเบียนใหม่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ธ.ค. 2567 ซึ่งตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดระบบแรงงานต่างด้าว นำเรียนให้ที่ประชุมทราบในเบื้องต้นว่าคนต่างด้าวที่จดทะเบียนใหม่ เป็นคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี ที่หลุดออกจากระบบประมาณ 6 แสนคน และอาจมีบางกลุ่มที่หลบหนีเข้ามา เนื่องจากการสู้รบจากประเทศเมียนมา จึงคาดว่าการจตทะเบียนครั้งนี้ จะมีคนต่างด้าวมาจดทะเบียนประมาณ 8 แสนคน ถึง 1 ล้านคน
ประธาน จึงขอให้ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการว่าสินทรัพย์ 30,000 ล้านบาพ และอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) ร้อยละ 200
ขณะที่ ผู้แทน คปภ. ระบุว่า การกำหนดสินทรัพย์ และอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) เป็นจำนวนเท่าไร ขึ้นอยู่กับว่ากรมการจัดหางานมีวัตถุประสงค์อย่างไร หากวัตถุประสงค์ชัดเจนก็จะทำให้สามารถกำหนดได้ เพียงหาเหตุผลมาสนับสนุน ซึ่ง คปภ. ไม่มีข้อข้องในประเต็นดังกล่าว
จากนั้น ประธาน ได้แจ้งว่า เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 มีคนต่างต้าวที่ต้องมาดำเนินการมากกว่าครั้งก่อน ซึ่งได้แก่คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเนื่องจากมีสถานการณ์การสู้รบของประเทศเมียนมา ทำให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก และอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มคนต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 13 ก.พ.2568 รวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านคน จึงทำให้ต้องพิจารณาบริษัทที่มีความมั่นคงที่สุด ซึ่งในการพิจารณาเรื่องของความมั่นคง พิจารณาได้จาก 2 ประเด็น คือ สินทรัพย์ของบริษัทประกันภัย และอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) ดังนั้น สินทรัพย์ 1 พันล้านบาท อาจน้อยเกินไป หรือ 1 หมื่นล้านบาท กรรมการบางท่านก็อาจเห็นว่าน้อยเกินไป หากเปรียบเทียบกับแรงงานต่างด้าวกว่า 3 ล้านคน และตามที่ผู้แทนของ คปภ. สอบถามว่าวัตถุประสงค์ของกรมการจัดหางานคือ อะไร
กรมการจัดหางานต้องการบริษัทประกันภัยที่มีความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสินทรัพย์และอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio)
ผู้ตรวจราชการกรม ระบุว่า เห็นด้วยในหลักการ แต่เหตุผลและรายละเอียดต้องหารือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องว่าเหมาะสมหรือไม่
ก่อนที่ ประธาน จะสรุปว่า ในชั้นนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ตาม ข้อ 1) ข้อ 2) และข้อ 3 ) โดยให้พิจารณาเหตุผลที่เหมาะสมอีกครั้ง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาหลักเกณฑ์การประกันสุขภาพคนต่างด้าว
ขณะที่ ผู้อำนวยการกองนิติการ แจ้งได้ขอให้ คปภ. รับความเห็นในส่วนของกรมการจัดหางานไปพิจารณาประกอบด้วย หากเห็นชอบในส่วนนี้ก็ให้เป็นไปตามนี้ แต่หากมีข้อขัดข้องหรือมีประเด็นที่ต้องการแจ้งความเห็นมาก็ให้ประสานมาที่ฝ่ายเลขานุการได้ เหตุผลความจำเป็นที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ของการประกันสุขภาพคนต่างด้าว สืบเนื่องจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 กำหนดเรื่องสถานะความมั่นคงของบริษัทประกันภัยไว้ ซึ่งกรมการจัดหางานไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ จึงขอให้ คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความความเชี่ยวชาญ สนับสนุนข้อมูลเพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
หลังจากนั้นที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้มีการพิจารณา หลักเกณฑ์ ข้อ 4. ผู้ยื่นข้อเสนอห้ามดำเนินการลดเบี้ยประกัยภัย กรมธรรม์เกินจากที่ สำนักงาน คปภ.กำหนด และ ข้อ 5. คนต่างด้าวจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ ตามลำดับ
ก่อนที่ที่ประชุม จะมีการสรุปมติ เห็นชอบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความมั่นคงและหลักเกมฑ์การประกันสุขภาพของบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพคนต่างด้าวซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ดังนี้
1. ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเต็มจำนวนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
2. ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2566 และไตรมาส 2 ของปี 2567 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท
3. ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำเนินเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 และไตรมาส 2 ของปี 2567
4. ผู้ยื่นข้อเสนอห้ามดำเนินการลดเบี้ยประกัยภัยต่ำกว่าที่ได้รับความเห็นชอบจาก สำนักงาน คปภ.
5. คนต่างด้าวจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ
****************
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับที่มาที่ไป หลักเกณฑ์ 2 ข้อสำคัญ คือ การกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นเงื่อนไขที่ถูกกำหนดมาจากคณะทำงานในส่วนของกระทรวงแรงงานเอง
ที่น่าสนใจ คือ
1. ในการประชุมดังกล่าว ผู้แทน คปภ. ได้ระบุชัดเจนว่า หากเทียบเคียงกับบริษัทประกันภัยที่เข้ารับประกันสุขภาพคนต่างต้างด้าวเมื่อปี 2566 จะพบว่ามีจำนวนบริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์จำนวน 17 บริษัท ในปีนี้หากคณะทำงานกำหนดสินทรัพย์รวมจำนวน 3 หมื่นล้านบาทขึ้นไป จะปรากฏข้อมูลบริษัทประกันภัยเพียง 3 บริษัท และหากพิจารณารวมกันทั้งอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) และสินทรัพย์ จะมีบริษัทประกันภัยที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขเพียง 2 บริษัท
2. ในการหารือเรื่องนี้ ผู้อำนวยการกองนิติการ ได้แจ้งขอให้ คปภ. รับความเห็นในส่วนของกรมการจัดหางานไปพิจารณาประกอบด้วย หากเห็นชอบในส่วนนี้ก็ให้เป็นไปตามนี้ แต่หากมีข้อขัดข้องหรือมีประเด็นที่ต้องการแจ้งความเห็นมาก็ให้ประสานมาที่ฝ่ายเลขานุการได้
คำถาม คือ บทสรุปสุดท้าย ความเห็นของ คปภ. ต่อเรื่องนี้ คืออะไรกันแน่?
การกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ดังกล่าว
ถูกต้องเหมาะสม แล้วจริงๆ หรือ?