โชว์ข้อมูล ร้อง ป.ป.ช.สอบเงื่อนไขคัดเลือก บ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล. เอื้อประโยชน์นายทุน ชี้พิรุธปี 66 กำหนดหลักเกณฑ์แค่ 6 ข้อ ก่อนเพิ่มใหม่ 13 ข้อ ปี 67 อ้างมติ ครม. 24 ก.ย. ทำจำนวน 17 บริษัท เหลือเข้าได้แค่ 2 - วิจารณ์ขรมใบสั่งฝ่ายการเมือง ทดลองภารกิจก่อนทำเรื่องใหญ่ในอนาคต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org))รายงานความคืบหน้ากรณี กรมการจัดหางาน (กกจ.) กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานใหม่ในการคัดเลือกบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ว่า บริษัทจะต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่กำหนด 13 ประการ แจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมการดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ภายในวันที่ 19 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาอนุญาตให้เชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานการซื้อประกันสุขภาพต่อไป
ขณะที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีข้าราชการกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์บริษัทประกันภัยบางบริษัท ให้มีสิทธิเข้ารับการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 24 ก.ย. 2567 และกีดกันบริษัทประกันภัยอื่น ๆ โดยกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งทำให้เหลือบริษัทประกันภัยที่สามารถเข้าร่วมประกันภัยเพียง 2 บริษัท จากเดิม 17 บริษัทประกันภัย ขณะที่ตัวเลขการทะเบียนแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ตัวเลขมูลค่าวงเงินประกันที่จะเกิดขึ้นประมาณ 5 พันล้านบาท
- 17 แห่งเข้าได้แค่ 2! ร้อง ป.ป.ช.สอบเงื่อนไขคัดเลือก บ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล.
- พร้อมให้ป.ป.ช.สอบ! อธิบดี กกจ.ยันคัดเลือกบ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล. โปร่งใส
- ไม่ยุติธรรม! เอกชนโต้ กกจ.กำหนดมาตรฐานเลือกบ.รับทำประกันต่างด้าว - คปภ.เคยค้านแล้ว
- ว่าด้วยมติ ครม. 24 ก.ย.67! ผ่าแผนคัดเลือก บ.รับทำประกันต่างด้าว 5 พันล.โปร่งใสจริงหรือ?
ล่าสุด แหล่งข่าวจากตัวแทนบริษัทประกันภัยรายหนึ่ง เปิดเผยสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า กรณีตัวแทนบริษัทประกันภัย ยื่นเรื่องร้องเรียนให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบกรณีการออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์บริษัทประกันภัยบางบริษัท ให้มีสิทธิเข้ารับการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 24 ก.ย. 2567 และกีดกันบริษัทประกันภัยอื่น ๆ นั้น ข้อมูลสำคัญที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยนำไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ใช้ประกอบการตรวจสอบเรื่องนี้ คือ ข้อสังเกตการออกหลักเกณฑ์การประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว จากในปี 2566 ที่อ้างว่าเป็นการดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค.2566 และ ตามมติ ครม. วันที่ 3 ต.ค.2566 มีจำนวน 6 ข้อ ทำให้มีบริษัทประกันภัย ที่ผ่านเข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมด 17 บริษัท ซึ่งปี 66 ก็เป็นช่วงที่ประเทศไทย เริ่มผ่านพ้นสถานการณ์โควิดแล้ว แต่ในการดำเนินการปี 2567 มีการออกหลักเกณฑ์การประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวใหม่ เพิ่มขึ้นมาแบบก้าวกระโดด เป็น 13 ข้อ
"หลักเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา จำนวน 13 ข้อ มี 2 ข้อสำคัญ ที่เป็นปัญหา คือ การกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 เพราะทำให้เหลือบริษัทประกันภัยเพียง 2 บริษัท ที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมได้ และทำให้ถูกมองว่าเป็นการล็อกสเปก เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนบางกลุ่ม รวมไปถึงอาจจะมีใบสั่งจากฝ่ายการเมืองมา เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ในอนาคต" แหล่งข่าวระบุ (ดูเอกสารประกอบ / มีรายชื่อ 17 บริษัทประกันภัยรวมอยู่ด้วย )
แหล่งข่าวกล่าวย้ำว่า ข้อมูลนี้มีความสำคัญมาก และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อ ป.ป.ช. และสำนักข่าวอิศรา นำไปใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการติดตามตรวจสอบข่าวเจาะเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ว่า เงื่อนไขที่เป็นปัญหาทั้ง 2 ข้อดังกล่าว ใครเป็นผู้นำเสนอริเริ่มความคิดนี้ขึ้นมา
อนึ่งเกี่ยวกับประเด็นเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้วว่า กรมการจัดหางาน ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ที่ให้แรงงานต่างด้าวต้องทำประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลรัฐหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่มีความมั่นคงตามที่กรมการจัดหางานกำหนด ส่วนมาตรฐานความมั่นคงของบริษัทประกันนั้น ทางกรมการจัดหางานได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้ามาพิจารณาร่วมกัน จึงออกเป็นมาตรฐานดังกล่าวออกมา อีกทั้งกรมฯ ยังดำเนินการตามมติครม. ทุกประการ และเป็นการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เนื่องจากเหตุการณ์ที่หลายคนทราบว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมามีการขายประกันโควิด แล้วมีบริษัทประกันสุขภาพปิดตัว 2 บริษัท แล้วขณะนี้ยังมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายไม่เสร็จสิ้น
เมื่อถามว่าจากมาตรฐานที่กรมการจัดหางานกำหนดตามมติครม. ทำให้บริษัทประกันภัยมีคุณสมบัติตามมาตรฐานมีเพียง 2 บริษัท
นายสมชาย ตอบว่า "ไม่ทราบว่าจะผ่านกี่บริษัท เพราะทุกวันนี้มีคำขอยื่นเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการจัดหางานจำนวนมาก ขณะนี้กำลังตรวจสอบว่าบริษัทที่ยื่นคำขอมาเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ เราไม่สามารถทำตามความต้องการที่จะให้เข้าร่วมได้ ทั้ง 100 บริษัท เราต้องมีมาตรฐาน ถ้าไม่มีมาตรฐานใคร ๆ ก็เข้ามาได้ เมื่อเกิดปัญหาใครจะรับผิดชอบ"
"แรงงานต่างด้าว 3 ล้านคน เมื่อเกิดปัญหาล้มขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ กองทุนก็รับผิดชอบไม่ไหว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานก็รับผิดชอบไม่ไหว เมื่อเรารับผิดชอบไม่ไหวจึงต้องการบริษัทประกันที่มีความมั่นคงอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เราร้องดำเนินการ การดำเนินการของเราดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้" อธิบดีกรมการจัดหางานระบุ