“…จากผลการบรรจุ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีอัตราการบรรจุเข้ารับราชการของ Gen Z เริ่มจะลดลง อาจมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้กลุ่ม Gen Z เกิดการตัดสินใจในการเลือกอาชีพใหม่ที่มีค่าตอบแทนที่สูงกว่าหรือสวัสดิการที่ดีกว่ายืดหยุ่นกว่าระบบราชการ…”
.............................................
แม้ว่าในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
ทุกรัฐบาลต่างก็ตระหนักถึงภาระค่าใช้จ่าย ‘บุคลากรของรัฐ’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีความพยายามในการเข้าไปกำกับดูแลและควบคุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรของรัฐ เพื่อไม่ให้สร้างภาระแก่งบประมาณรายจ่ายประจำปีมากจนเกินไป แต่ทว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรของภาครัฐยังคงเพิ่มสูงขึ้น
สะท้อนได้จากการที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณปี 2568 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐทุกประเภท (รวมค่าใช้จ่ายบุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล) 1,371,927.4 ล้านบาท คิดเป็น 36.6% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี (อ่านประกอบ : ชำแหละ‘ร่าง พ.ร.บ.งบ 68’ เตือนรบ.ก่อหนี้เพิ่ม แต่กระตุ้นGDPน้อย-รายจ่ายบุคลากรรัฐ 36.6%)
นอกจากนี้ ในบางปีงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรของภาครัฐที่รัฐบาลจัดสรรไว้ในแต่ละปีงบประมาณนั้น ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ทำให้รัฐบาลต้องโอนงบประมาณจากส่วนอื่นๆ เพื่อนำมาสมทบเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นในระหว่างปีงบประมาณ
เช่น ในปีงบ 2565 รัฐบาลต้องโอนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 14,669.26 ล้านบาท เพื่อดำเนินการสมทบงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการอื่นๆ จำนวน 3 รายการ ในจำนวนนี้ 2 รายการ ได้แก่ 1.การโอนงบกลางฯ เพื่อนำไปสมทบงบกลาง รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ จำนวน 5,296.71 ล้านบาท
และ 2.การโอนงบกลางฯ เพื่อนำสมทบงบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 9,050 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ปิดบัญชีงบปี 65 รัฐโอนเงินฉุกเฉินฯ 1.4 หมื่นล. สมทบ‘จ่ายเบี้ยหวัด-ค่ารักษาพยาบาลขรก.’)
ขณะที่ล่าสุดในปีงบ 2567 กรมบัญชีกลาง ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณปีงบ 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จาก 'สำนักงบประมาณ' สำหรับรายการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมบัญชีกลาง ‘ที่มีการเบิกจ่ายเงินเกินวงเงินที่ได้รับจัดสรร’ จำนวน 4 รายการ
โดย 3 รายการ จากทั้งหมด 4 รายการ เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรของภาครัฐ ได้แก่ 1.รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ จำนวน 41,865.63 ล้านบาท 2.รายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 24,535 ล้านบาท และ 3.รายการเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ จำนวน 17,110.50 ล้านบาท
แต่เนื่องจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ ปีงบ 2567 ไม่เพียงพอ เพราะต้องนำไปใช้จ่ายในรายการอื่นๆ ‘รมว.คลัง’ จึงเห็นชอบให้กรมบัญชีกลางเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร จาก ‘เงินคงคลัง’ เป็นจำนวนเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรของภาครัฐที่ไม่เพียงพอ และให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2569 เพื่อชดใช้เงินคงคลังดังกล่าว ต่อไป (อ่านประกอบ : ดึง‘เงินคงคลัง’8 หมื่นล.โปะ 'บำนาญ-รักษาพยาบาล-ขึ้นเงินเดือน'ขรก.-ตั้งงบปี 69 ชดใช้)
เพื่อสะท้อนภาพทิศทางและแนวโน้มกำลังของภาครัฐในระยะต่อไป สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายงานภาพรวม ‘กำลังคนภาครัฐ’ ล่าสุด ผ่านรายงาน ‘กำลังคนภาครัฐ ปี 2566’ (ณ 30 ก.ย.2566) ซึ่งสำนักงานข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ได้เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ค.2567 ที่ผ่านมา มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ปีงบ 66 กำลังคนภาครัฐทุกประเภทมีกว่า 3 ล้านคน
ประเภทกำลังคนภาครัฐ (ประเภทกำลังคนภาครัฐในภาพรวม ประกอบด้วย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ พนักงานจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และพนักงานองค์การมหาชน ที่สังกัดกระทรวง กรม ทั้งในสังกัดบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น)
-กำลังคนภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,037,803 คน โดยเป็นข้าราชการ 1,756,2594 คน (ร้อยละ 57.81) รองลงมาเป็นลูกจ้างชั่วคราว 321,657 คน (ร้อยละ 10.59) พนักงานรัฐวิสาหกิจ 214,860 คน (ร้อยละ 7.07) พนักงานจ้าง 193,948 คน (ร้อยละ 6.38) พนักงานราชการ 181,549 คน (ร้อยละ 5.98)
พนักงานมหาวิทยาลัย 134,751 คน (ร้อยละ 4.44) พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 124,807 คน (ร้อยละ 4.11) ลูกจ้างประจำ 96,670 คน (ร้อยละ 3.18) และ พนักงานองค์การมหาชน 13,302 คน (ร้อยละ 0.44) ตามลำดับ
-กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน (ไม่รวมกำลังคนทุกประเภทในสังกัดกระทรวงกลาโหม และไม่รวมกำลังคนประเภทอื่น 4 ประเภท ได้แก่ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุขและพนักงานองค์การมหาชน) มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,131,256 คน
ประกอบด้วย ข้าราชการ 1,374,907 คน (ร้อยละ 64.51) และกำลังคนประเภทอื่น (ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ และพนักงานจ้าง) 756,349 คน (ร้อยละ 35.49) โดยลูกจ้างชั่วคราวมีจำนวนมากที่สุด 311,811 คน (ร้อยละ14.63) รองลงมา คือ พนักงานจ้าง 193,948 คน (ร้อยละ 9.10) พนักงานราชการ จำนวน 162,262 คน (ร้อยละ 7.61) และ ลูกจ้างประจำ 88,328 คน (ร้อยละ 4.14) ตามลำดับ
-ประเภทกำลังคนในสังกัดบริหารราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ จำนวน 1,107,507 คน (ร้อยละ 68.75) รองลงมาเป็นลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 292,873 คน (ร้อยละ 18.18) พนักงานราชการ จำนวน 162,262 คน (ร้อยละ 10.07) และลูกจ้างประจำ จำนวน 48,362 คน (ร้อยละ 3.00)
-ประเภทกำลังคนในสังกัดบริหารราชการส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ จำนวน 267,400 คน (ร้อยละ 51.40) รองลงมาเป็นพนักงานจ้าง จำนวน 193,948 คน (ร้อยละ 37.28) ลูกจ้างประจำ จำนวน 39,966 คน (ร้อยละ 7.68) และลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 18,938 คน (ร้อยละ 3.64)
-ส่วนราชการระดับกระทรวงและหน่วยงานที่มีกำลังคนรวมทุกประเภทมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 561,536 คน (ร้อยละ 26.35 ของกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนทั้งหมด)
2.กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 272,746 คน (ร้อยละ 10.02 ในจำนวนนี้ยังไม่รวมพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้เงินนอกงบประมาณ ได้แก่ เงินบำรุงของหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 124,807 คน)
3.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 189,850 คน (ร้อยละ 8.91)
4.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 213,510 คน (ร้อยละ 10.02) และ
5.กระทรวงคมนาคม จำนวน 56,373 คน (ร้อยละ 2.65)
ประเภทข้าราชการในฝ่ายพลเรือน
-ตำแหน่งข้าราชการในฝ่ายพลเรือนประเภทต่างๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,601,101 ตำแหน่ง โดยมีผู้ครองตำแหน่ง จำนวน 1,374,907 คน (ร้อยละ 85.87) และเป็นตำแหน่งว่าง จำนวน 226,194 ตำแหน่ง (ร้อยละ 14.13)
-ข้าราชการในฝ่ายพลเรือน รวมทั้งสิ้น 1,374,907 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 431,117 คน (ร้อยละ 31.36) รองลงมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 414,708 คน (ร้อยละ 30.16) และข้าราชการตำรวจ 213,048 คน (ร้อยละ 15.50) ตามลำดับ โดยข้าราชการรัฐสภาสามัญมีจำนวนน้อยที่สุด จำนวน 3,159 คน (ร้อยละ 0.23) สำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีจำนวน 267,400 คน (ร้อยละ 19.45)
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2557-2566) กำลังคนภาครัฐเพิ่มจาก 2,980,041 คน ในปี 2557 มาอยู่ที่ 3,037,803 คน ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 57,762 คน หรือเพิ่มขึ้น 1.94% หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.28% ต่อปี แยกเป็นข้าราชการ เพิ่มขึ้น 100,905 คน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.67% ต่อปี ส่วนกำลังคนประเภทอื่นลดลง 43,143 คน หรือลดลงเฉลี่ย 0.03%
@‘ข้าราชการพลเรือน’ 5 แสนคนปฏิบัติงาน‘ด้านศึกษา’
ส่วนราชการ/ภารกิจ
-ข้าราชการในฝ่ายพลเรือนส่วนใหญ่ปฏิบัติภารกิจด้านการศึกษา จำนวนถึง 508,899 คน (ร้อยละ 37.01 ของจำนวนข้าราชการในฝ่ายพลเรือน) โดยส่วนใหญ่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 426,809 คน และข้าราชการพลเรือนสามัญ 2,920 คน
นอกจากนี้ เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 10,308 คน ซึ่งสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร จำนวน 13,622 คน และครูในสถานศึกษาส่วนท้องถิ่น (ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบล และพนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษาเทศบาล) จำนวน 55,240 คน
-ส่วนราชการระดับกระทรวงและหน่วยงานที่มีข้าราชการมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 429,729 คน (ร้อยละ 31.26 ของจำนวนข้าราชการในฝ่ายพลเรือน) รองลงมา คือ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 235,066 คน (ร้อยละ 17.01) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 213,048 คน (ร้อยละ 15.50)
-ส่วนราชการระดับกรมที่มีจำนวนข้าราชการมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 404,498 คน (ร้อยละ 29.42 ของจำนวนข้าราชการในฝ่ายพลเรือน) (ประกอบด้วยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 403,740 คน และข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 758 คน)
รองลงมา คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 211,586 คน (ร้อยละ 15.39) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 17,192 คน (ร้อยละ 1.25) )(ประกอบด้วยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 16,833 คน และข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 359 คน)
-ส่วนราชการระดับกรมที่มีจำนวนข้าราชการต่ำกว่า 100 คน ได้แก่ ส่วนราชการระดับกรมในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ (ยกเว้นสำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.)
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กรมการขนส่งทางราง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงาน กิจการยุติธรรม กรมการศาสนา สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
-ข้าราชการพลเรือนสามัญปฏิบัติงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด จำนวน 233,027 คน (ร้อยละ 56.19 ของข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งหมด)
รองลงมาปฏิบัติงานในกระทรวงมหาดไทย จำนวน 40,328 คน (ร้อยละ 9.72) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 33,016 คน (ร้อยละ 7.96) และกระทรวงการคลัง จำนวน 28,639 คน (ร้อยละ 6.91) ในขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีข้าราชการพลเรือนสามัญปฏิบัติงานน้อยที่สุด จำนวน 713 คน (ร้อยละ 0.17)
-ส่วนราชการระดับกรมที่มีจำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 211,586 คน (ร้อยละ 51.02 ของข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งหมด) รองลงมาคือ กรมสรรพากร จำนวน 17,146 คน (ร้อยละ 4.13) และกรมการปกครอง จำนวน 14,036 คน (ร้อยละ 3.38)
@‘ขรก.หญิง’มีสัดส่วน 58.05% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน
ชาย/หญิง
-ในภาพรวมของข้าราชการในฝ่ายพลเรือน มีสัดส่วนจำแนกตามเพศ คือ เพศหญิง จำนวน 798,143 คน (ร้อยละ 58.05 ของจำนวนข้าราชการในฝ่ายพลเรือน) และเพศชาย จำนวน 576,764 คน (ร้อยละ 41.95) โดยข้าราชการหญิงมีสัดส่วนที่ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย คือ พ.ศ.2565 มีข้าราชการหญิงจำนวน 802,216 คน (ร้อยละ 58.35)
-ข้าราชการชายส่วนใหญ่ ประมาณ 1 ใน 3 เป็นข้าราชการตำรวจ คิดเป็นร้อยละ 32.89 รองลงมา คือ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ร้อยละ 21.58 และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ร้อยละ 21.37 ตามลำดับ
-ข้าราชการหญิงส่วนใหญ่ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ร้อยละ 38.57 รองลงมา คือ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ร้อยละ 36.36 พนักงานส่วนตำบล ร้อยละ 5.42 และพนักงานเทศบาล ร้อยละ 4.73 ตามลำดับ
-ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการอัยการ และข้าราชการตุลาการ มีสัดส่วนของเพศชายมากกว่าเพศหญิงในสัดส่วนที่สูงมาก คือ ร้อยละ 89.03 ร้อยละ 69.13 และร้อยละ 65.35 ตามลำดับ
-ข้าราชการประเภทอื่นๆ มีสัดส่วนเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายทั้งสิ้น โดยเฉพาะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และข้าราชการกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนเป็นข้าราชการหญิงสูงเกินกว่าร้อยละ 70
-ข้าราชการพลเรือนสามัญเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในสัดส่วนเพศหญิง ร้อยละ 69.98 โดยกระทรวงสาธารณสุขมีสัดส่วนข้าราชการหญิงสูงสุด ร้อยละ 80.47 รองลงมาคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 78.85 และกระทรวงการคลัง ร้อยละ 74.87
-ส่วนราชการที่่มีข้าราชการชายมากกว่าหญิง คือ กระทรวงยุติธรรม มีข้าราชการชาย ร้อยละ 63.52 รองลงมาคือ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดเป็นร้อยละ 58.19 และร้อยละ 54.98 ตามลำดับ
-ข้าราชการพลเรือนสามัญในตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงานถึงชำนาญงาน และในตำแหน่งประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนถึงชำนาญการพิเศษ ข้าราชการหญิงมีจำนวนมากกว่าข้าราชการชาย
ในขณะที่ตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโสถึงทักษะพิเศษ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญถึงทรงคุณวุฒิ ตำแหน่งประเภทอำนวยการ และตำแหน่งประเภทบริหาร พบว่าข้าราชการชายมีจำนวนมากกว่าข้าราชการหญิง โดยเฉพาะในตำแหน่งประเภทอำนวยการและประเภทบริหาร ข้าราชการชายมีจำนวนมากกว่าข้าราชการหญิงในจำนวนที่แตกต่างกันอย่างมาก
@‘ขรก.พลเรือน’61% จบ‘ป.ตรี’-ตำแหน่ง‘วิชาการ’มากสุด
การศึกษา
-ข้าราชการในฝ่ายพลเรือนส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับปริญญา ร้อยละ 83.37 (ปริญญาตรี ร้อยละ 61.22 ปริญญาโท ร้อยละ 20.54 และปริญญาเอก ร้อยละ 1.61) ส่วนอีกร้อยละ 16.63 มีการศึกษา ต่ำกว่าระดับปริญญา
-ข้าราชการในฝ่ายพลเรือนที่มีการศึกษาในระดับปริญญามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 10 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2557 มีข้าราชการในฝ่ายพลเรือนที่มีการศึกษาในระดับปริญญา ร้อยละ 81.05 และในปี พ.ศ.2566 ผู้มีการศึกษาในระดับปริญญา ร้อยละ 83.37
-ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ และครูส่วนท้องถิ่น มีการศึกษาระดับปริญญาทั้งหมด
-ข้าราชการที่ปฏิบัติภารกิจด้านการศึกษา ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับปริญญา คือ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ร้อยละ 99.64 ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ร้อยละ 98.23 ข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 100 และครูส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 100 โดยกลุ่มประเภทข้าราชการดังกล่าว มีสายงานสนับสนุนซึ่งมิใช่ผู้สอนรวมอยู่ด้วย
-ข้าราชการส่วนใหญ่มีสัดส่วนผู้มีการศึกษาในระดับปริญญาเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงปี พ.ศ.2562-2566 ยกเว้น ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานส่วนตำบล และพนักงานเทศบาล มีสัดส่วนผู้มีการศึกษาในระดับปริญญาลดลง
-ข้าราชการตำรวจเป็นข้าราชการประเภทเดียวที่มีข้าราชการมากกว่าครึ่งหนึ่งที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญา คือ ร้อยละ 60.09
-ส่วนราชการระดับกระทรวงที่ข้าราชการร้อยละ 90 ขึ้นไป มีการศึกษาในระดับปริญญา ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ
ประเภทและระดับตำแหน่ง
-ข้าราชการพลเรือนสามัญส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ร้อยละ 42.16 รองลงมา คือ ระดับปฏิบัติการ ร้อยละ 25.24 และประเภททั่วไป ระดับชำนาญงาน ร้อยละ 14.04 โดยระดับที่มีผู้ดำรงตำแหน่งน้อยที่สุด คือ ประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ ร้อยละ 0.001 ในขณะที่ประเภทบริหารระดับต้นและระดับสูงมีสัดส่วนผู้ดำรงตำแหน่ง ร้อยละ 0.15 และ 0.12 ตามลำดับ
-กระทรวงคมนาคมมีผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปมากกว่าประเภทวิซาการเพียงกระทรวงเดียว โดยมีสัดส่วนตำแหน่งประเภททั่วไปถึงร้อยละ 62.07 ในขณะที่ทุกกระทรวงมีผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการมากกว่าประเภททั่วไปทั้งหมด
-ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งระดับที่ยังไม่มีวิทยฐานะ ร้อยละ 38.00 รองลงมา คือ ระดับชำนาญการพิเศษ ร้อยละ 28.42 และระดับชำนาญการ ร้อยละ 20.63 ตามลำดับ
-ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ (อาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์) ร้อยละ 75.63 รองลงมา คือ ระดับชำนาญการ ร้อยละ 10.31 และชำนาญการพิเศษ ร้อยละ 5.38 ตามลำดับ
-ข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ ชั้นประทวน ยศนายดาบตำรวจ ร้อยละ 23.54 ยศร้อยตำรวจเอก 12.54 และยศสิบตำรวจตรี ร้อยละ 12.16 ตามลำดับ
-ข้าราชการอัยการส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งในชั้น 4 ร้อยละ 23.70 และข้าราชการตุลาการ ส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งในชั้น 3 ร้อยละ 46.86
-ข้าราชการรัฐสภาสามัญส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งระดับอาวุโส ร้อยละ 24.50 รองลงมา คือ ระดับชำนาญการ ร้อยละ 16.43 และระดับชำนาญงาน ร้อย 15.42 ตามลำดับ
-ข้าราชการในสังกัดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งระดับปฏิบัติการ คิดเป็นร้อยละ 29.16
-ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 13.02 ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ร้อยละ 6.95 พนักงานส่วนตำบล ร้อยละ 31.67 พนักงานเทศบาล ร้อยละ 27.09 และครูส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 21.27
-ข้าราชการกรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งระดับปฏิบัติการร้อยละ 18.20 และข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ คิดเป็นร้อยละ 18.12
-สำหรับข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานส่วนตำบล พนักงานเทศบาลและครูส่วนท้องถิ่น ไม่มีรายงานข้อมูลจำแนกตามระดับ/วิทยฐานะ
@‘ข้าราชการพลเรือน’กว่า 3.9 แสนคนปฏิบัติงาน‘ภาคอีสาน’
การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
-ข้าราชการในฝ่ายพลเรือนส่วนใหญ่สังกัดบริหารราชการส่วนกลาง จำนวน 809,702 คน (ร้อยละ 58.89 ของจำนวนข้าราชการในฝ่ายพลเรือน) รองลงมา คือ บริหารราชการส่วนภูมิภาค จำนวน 297,805 คน (ร้อยละ 21.66) และบริหารราชการส่วนท้องถิ่น จำนวน 267,400 คน (ร้อยละ 19.45)
-ข้าราชการพลเรือนสามัญส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.24 ปฏิบัติงานในสังกัดบริหารราชการส่วนภูมิภาค ในขณะที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และข้าราชการตำรวจ ไม่มีข้าราชการในสังกัดบริหารราชการส่วนภูมิภาค แม้บางประเภทจะมีการปฏิบัติงานประจำในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ข้าราชการตำรวจ เป็นต้น
-ส่วนราชการระดับกระทรวงที่ไม่มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค มีจำนวน 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ
-กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย มีกำลังคนในสังกัดบริหารราชการส่วนภูมิภาคมากกว่าส่วนกลาง
-ข้าราชการในสังกัดบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี พ.ศ.2548 มีสัดส่วนร้อยละ 9.70 ของข้าราชการในฝ่ายพลเรือน และค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 19.45 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566
พื้นที่ปฏิบัติงาน
-ข้าราชการส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 390,560 คน (ร้อยละ 28.41 ของจำนวนข้าราชการในฝ่ายพลเรือน) รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 296,633 คน (ร้อยละ 21.57) และภาคเหนือ จำนวน 242,990 คน (ร้อยละ 17.67) ตามลำดับ
-ข้าราชการที่ปฏิบัติราชการในต่างประเทศมีจำนวน 917 คน (ร้อยละ 0.07 ของจำนวนข้าราชการในฝ่ายพลเรือน) ส่วนใหญ่สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 0.05 รองลงมา คือ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักนายกรัฐมนตรี คิดเป็นร้อยละ 0.010 และร้อยละ 0.002 ตามลำดับ
-กระทรวงการต่างประเทศ เป็นกระทรวงเดียวที่ไม่มีข้าราชการพลเรือนสามัญปฏิบัติงานประจำในทุกจังหวัด
-ข้าราชการรัฐสภาสามัญและข้าราชการกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ส่วนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาปฏิบัติงานตามที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาซึ่งกระจายอยู่ในทุกกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการอัยการ ข้าราชการตุลาการ และข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีการปฏิบัติงานอยู่ในทุกจังหวัด
-จังหวัดที่มีข้าราชการในฝ่ายพลเรือนปฏิบัติงานมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร โดยมีข้าราชการปฏิบัติงาน จำนวน 179,262 คน (ร้อยละ 13.04 ของจำนวนข้าราชการในฝ่ายพลเรือน) รองลงมา คือ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 41,254 คน (ร้อยละ 3.00) และจังหวัดขอนแก่น จำนวน 36,427 คน (ร้อยละ 2.65) ตามลำดับ
-จังหวัดที่มีข้าราชการในฝ่ายพลเรือนปฏิบัติงานน้อยที่สุด 3 ลำดับแรก คือ จังหวัดตราด โดยมีข้าราชการปฏิบัติงานเพียง 5,714 คน (ร้อยละ 0.42 ของจำนวนข้าราชการในฝ่ายพลเรือน) รองลงมา คือ จังหวัดชัยนาท จำนวน 7,103 คน (ร้อยละ 0.52) และจังหวัดนครนายก จำนวน 7,234 คน (ร้อยละ 0.53) ตามลำดับ
@ตำแหน่ง‘ระดับสูง’ส่วนใหญ่เป็น‘ชาย’-นักบริหาร‘หญิง’แนวโน้มเพิ่ม
ตำแหน่งระดับสูง
-ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงส่วนใหญ่เป็นเพศชาย โดยข้าราชการพลเรือนสามัญ มีสัดส่วนเป็นเพศชาย ร้อยละ 78.08 ข้าราชการตุลาการ ร้อยละ 83.33 ข้าราชการอัยการ ร้อยละ 82.08 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 65.52
ในส่วนของข้าราชการตำรวจ ตุลาการศาลปกครอง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีเฉพาะข้าราชการเพศชายดำรงตำแหน่งระดับสูง และข้าราชการรัฐสภาสามัญมีผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
-ข้าราชการพลเรือนสามัญ มีผู้บริหารซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าและรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม จำนวนทั้งสิ้น 547 คน (ร้อยละ 0.13 ของจำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญ) โดยจำแนกเป็นตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น จำนวน 296 คน และระดับสูง จำนวน 251 คน โดยมีสัดส่วนผู้บริหารที่เป็นเพศหญิงในตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ร้อยละ 29.05 และระดับสูง ร้อยละ 24.70
-ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าและรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงและกรมข้างต้น เป็นนักบริหารเพศหญิงในสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 27.06 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เล็กน้อย (ร้อยละ 26.48) และเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังไปในระยะ 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน พบว่า นักบริหารเพศหญิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 24-26
ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ และพนักงานจ้าง
-ลูกจ้างประจำ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 88,328 คน (ร้อยละ 4.14 ของกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน) โดยในราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 10,586 คน (ร้อยละ 11.98) รองลงมา คือ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 9,898 คน (ร้อยละ 11.21) และกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ จำนวน 8,234 คน (ร้อยละ 9.32) สำหรับส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในกรุงเทพมหานคร จำนวน 30,494 คน (ร้อยละ 34.52)
-ลูกจ้างชั่วคราว มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 311,811 คน (ร้อยละ 14.63 ของกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน) โดยส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 118,197 คน (ร้อยละ 37.91) รองลงมา คือ กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 77,225 คน (ร้อยละ 24.77) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 35,623 คน (ร้อยละ 11.42)
-พนักงานราชการ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 162,262 คน (ร้อยละ 7.61 ของกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน) โดยส่วนใหญ่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 43,996 คน (ร้อยละ 27.11) รองลงมา คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 30,403 คน (ร้อยละ 18.74) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 25,447 คน (ร้อยละ 15.68)
-พนักงานจ้าง ซึ่งเป็นกำลังคนประเภทหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 193,948 คน (ร้อยละ 9.10 ของกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน) โดยพนักงานจ้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 28,955 คน (ร้อยละ 17.55)
@กลุ่ม‘Gen Z’รับราชการลดลง หลังเศรษฐกิจฟื้นจากโควิด
การบริหารทรัพยากรบุคคล (ข้าราชการพลเรือนสามัญ)
-ตำแหน่งและสายงาน ข้าราชการพลเรือนสามัญส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในกลุ่มสายงานแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุข จำนวน 221,676 คน (ร้อยละ 53.45 ของจำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งหมด) โดยเป็นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพมากที่สุด จำนวน 114,294 คน (ร้อยละ 27.56 ของข้าราชการพลเรือน สามัญทั้งหมด)
รองลงมาเป็นกลุ่มสายงานบริหาร อำนวยการ ธุรการ งานสถิติ งานการทูตและต่างประเทศ จำนวน 79,581 คน (ร้อยละ 19.19) และกลุ่มสายงานการคลัง การเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม จำนวน 42,056 คน (ร้อยละ 10.14) ในขณะที่กลุ่มสายงานวิทยาศาสตร์มีจำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญน้อยที่สุด จำนวน 2,846 คน (ร้อยละ 0.69)
-ตำแหน่งว่าง ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญที่ว่าง ณ 30 กันยายน 2566 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 39,798 อัตรา (ร้อยละ 8.76 ของจำนวนตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งหมด) โดยเป็นตำแหน่งประเภทวิชาการมากที่สุด จำนวน 26,022 อัตรา (ร้อยละ 5.73) รองลงมาเป็นตำแหน่งประเภททั่วไปจำนวน 13,258 อัตรา (ร้อยละ 2.92)
ประเภทอำนวยการ จำนวน 419 อัตรา (ร้อยละ 0.09) และประเภทบริหาร จำนวน 99 อัตรา (ร้อยละ 0.02) ซึ่งตำแหน่งว่างส่วนใหญ่ในประเภทวิชาการและประเภททั่วไป จะเป็นตำแหน่งในระดับแรกบรรจุ
-การเกษียณอายุ ประมาณการแนวโน้มการเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือนสามัญ ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2567-2576) มีจำนวนประมาณ 97,806 คน เฉลี่ยปีละ 10,000 คน (ร้อยละ 2.00 ต่อปี) โดยตำแหน่งในสายงานที่จะมีจำนวนผู้เกษียณอายุมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานธุรการ นายแพทย์ และเจ้าพนักงานปกครอง
-การบรรจุ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ รวมทั้งสิ้น 20,356 คน คิดเป็นอัตราการบรรจุร้อยละ 4.48 ของจำนวนตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นการบรรจุในระดับปริญญาตรีมากที่่สุด จำนวน 16,597 คน (ร้อยละ 81.53)
รองลงมาเป็นระดับต่ำกว่าปริญญาตรี จำนวน 3,228 คน (ร้อยละ 15.86) ระดับปริญญาโท จำนวน 411 คน (ร้อยละ 2.02) และระดับปริญญาเอก จำนวน 120 คน (ร้อยละ 0.59) โดยมีการบรรจุในตำแหน่งประเภทวิชาการ จำนวน 16,316 คน และประเภททั่วไป จำนวน 4,040 คน
สายงานในตำแหน่งประเภทวิชาการที่มีการบรรจุมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ นายแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข นักวิเคราะห์นโยบายและแผน และนักวิชาการพัฒนาชุมชน ส่วนสายงานในตำแหน่งประเภททั่วไปที่มีการบรรจุมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เจ้าพนักงานธุรการ เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ เจ้าพนักงานสรรพากร และนายช่างรังวัด
โดยช่วงอายุที่บรรจุเข้ารับราชการมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 21-25 ปี รองลงมา คือ ช่วงอายุ 26-30 ปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีอายุเฉลี่ยในการบรรจุน้อยที่สุดอยู่ที่ 26 ปี
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการบรรจุเข้ารับราชการในภาพรวม จะเห็นได้ว่าช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2557-2561 สัดส่วนการบรรจุเข้ารับราชการของ Gen Z อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 45 ของจำนวนผู้ใต้รับการบรรจุทั้งหมดในแต่ละปี แต่ในช่วง 5 ปีหลัง (ปีงบประมาณ พ.ศ.2562-2566) กลุ่ม Gen Z มีแนวโน้มการบรรจุเข้ารับราชการที่เพิ่มสูงขึ้นจากที่ผ่านมา (บรรจุเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 45)
โดยกลุ่ม Gen Z มีการเข้าสู่ระบบราชการเพิ่มสูงขึ้น อาจเนื่องมาจากสภาวะวิกฤติทางการเมือง ประกอบกับช่วงเวลาของการระบาดของเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นวิกฤติที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ การจ้างงานในภาคเอกชนได้รับผลกระทบมากกว่าภาครัฐ มีการเลิกจ้างค่อนข้างสูงในหลายกลุ่มธุรกิจ ทำให้หันมามองอาชีพรับราชการว่าเป็นอาชีพที่มีความน่าสนใจและเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
อีกทั้งยังมีกลุ่มคน Gen อื่นๆ ที่โดนเลิกจ้างจากภาคเอกชนเข้ามาสู่ภาครัฐในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มากขึ้นด้วย จึงทำให้สัดส่วน Gen Z ลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็ดี จากผลการบรรจุ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีอัตราการบรรจุเข้ารับราชการของ Gen Z เริ่มจะลดลง อาจมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้กลุ่ม Gen Z เกิดการตัดสินใจในการเลือกอาชีพใหม่ที่มีค่าตอบแทนที่สูงกว่าหรือสวัสดิการที่ดีกว่ายืดหยุ่นกว่าระบบราชการ
ดังนั้น หน่วยงานราชการจึงควรให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบการทำงานใหม่ อาจจะต้องมีการทบทวน หรือปรับเปลี่ยนระบบราชการให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสังคมในยุคปัจจุบัน เพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจในอาชีพรับราชการมากขึ้น
-การสูญเสีย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ส่วนราชการมีการสูญเสียอัตรากำลังข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 19,193 คน (ร้อยละ 4.22 ของตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งหมด) โดยเป็นการสูญเสียจากการลาออก จำนวน 9,460 คน (ร้อยละ 49.29) เกษียณอายุ จำนวน 9,103 คน (ร้อยละ 47.43) เสียชีวิต จำนวน 454 คน (ร้อยละ 2.37) และการออกด้วยเหตุผิดวินัย จำนวน 176 คน (ร้อยละ 0.92)
โดยส่วนราชการระดับกระทรวงที่มีอัตราการสูญเสียจากกรอบอัตรากำลังมากที่สุด คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 6.39 รองลงมา คือ กระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 5.91 กระทรวงแรงงาน ร้อยละ 5.68 กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 5.45 และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 5.44
เมื่อพิจารณาสัดส่วนการสูญเสียจากการลาออกในรายกระทรวง ปรากฏว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีสัดส่วนการลาออกมากที่สุด (ร้อยละ 62.50 ของจำนวนการสูญเสียทั้งหมดในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) รองลงมาคือ กระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 60.54 และกระทรวงอุตสาหกรรม ร้อยละ 59.46
-อายุ อายุเฉลี่ยของข้าราชการพลเรือนสามัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คือ 42.12 ปี ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่อายุเฉลี่ยคือ 42.24 ปี ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 31 - 50 ปี โดยส่วนราชการระดับกระทรวงที่ข้าราชการในสังกัดมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าอายุเฉลี่ยของข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งหมด คือ กระทรวงสาธารณสุข 40.56 ปี
ในขณะที่ส่วนราชการระดับกระทรวงที่มีอายุเฉลี่ยของข้าราชการ 45 ปี ขึ้นไป มีจำนวน 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม 45.62 ปี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 45.23 ปี และกระทรวงแรงงาน 45.41 ปี
เหล่านี้เป็นภาพรวมของ ‘กำลังคนภาครัฐ’ ล่าสุด ในสถานการณ์ที่ ‘ค่าใช้จ่ายบุคลากรของภาครัฐ’ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง!
อ่านประกอบ :
ดึง‘เงินคงคลัง’8 หมื่นล.โปะ 'บำนาญ-รักษาพยาบาล-ขึ้นเงินเดือน'ขรก.-ตั้งงบปี 69 ชดใช้
ชำแหละ‘ร่าง พ.ร.บ.งบ 68’ เตือนรบ.ก่อหนี้เพิ่ม แต่กระตุ้นGDPน้อย-รายจ่ายบุคลากรรัฐ 36.6%
เปิดรายงาน‘ความเสี่ยงการคลัง’ปี 66 แนะ'รัฐบาล'ลด'ขาดดุลงบฯ'-ปฏิรูปโครงสร้าง'บุคลากรรัฐ'