“…พิจารณาปรับลดรายจ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นลง ผ่านการพิจารณาปฏิรูปโครงสร้างบุคลากรภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปฏิรูประบบสวัสดิการสำหรับประชาชนโดยบูรณาการข้อมูลและการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้รัฐสามารถจัดทำระบบสวัสดิการแบบมีเงื่อนไข (Conditional Transfer) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ…"
.....................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ครม. มีมติรับทราบ ‘รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2566’ ซึ่งรายงานฯดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่กำหนดให้ ‘กระทรวงการคลัง’ ต้องจัดทำ ‘รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี’ ภายในเดือน มี.ค.ของทุกปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของ ‘รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2566’ สรุปได้ดังนี้
@ประสิทธิภาพเก็บภาษี‘ต่ำ’-‘คลัง’ดันปฏิรูปโครงสร้างรายได้
1.สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายได้
ความเสี่ยงด้านรายได้ในปีงบประมาณ 2566 อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากปีก่อน แต่มีปัจจัยกดดันเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 2,666,808 ล้านบาท กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นครั้งแรก โดยขยายตัวร้อยละ 5.34 จากปีก่อน สูงกว่าประมาณการร้อยละ 7.10 และมีสัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีก่อนหน้า อยู่ที่ร้อยละ 14.88
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากรายได้ของประชาชน ผลประกอบการของภาคเอกชน รวมถึงการบริโภคของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ทำให้กลุ่มรายได้รัฐบาลที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจสูง ขยายตัวจากปีก่อนที่ร้อยละ 5.79 ประกอบกับมีการนำส่งรายได้พิเศษรวมอีกประมาณ 73,000 ล้านบาทเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี สัดส่วนรายได้ต่อ GDP ของกลุ่มรายได้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน และกลุ่มภาษีสรรพสามิต (ด้านสุขภาพ) ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 1.87 และ 1.31 ตามลำดับ
สำหรับมุมมองความเสี่ยงในอนาคต พบว่า ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย อาจมีปัจจัยกดดันจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2567 ที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการดำเนินมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และมาตรการชั่วคราวในการยกเลิกค่าธรรมเนียม Visa on Arrival
นอกจากนี้ ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเมื่อเทียบกับ GDP ในระยะปานกลาง ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Economies)
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะวิเคราะห์และติดตามการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารผลการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมทั้งผลักดันมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และปฏิรูปโครงสร้างรายได้ของรัฐบาลต่อไป โดยจะพิจารณาถึงช่วงเวลาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เป็นภาระประชาชนและผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจจนเกินควร
@รายจ่าย‘ยากลดทอน’พุ่งแตะ 67.17% ของงบปี 66
2.สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายจ่าย
ความเสี่ยงด้านรายจ่ายปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565 จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่กลับมาขยายตัว
อย่างไรก็ดี มีปัจจัยเสี่ยงจากสัดส่วนรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 มีวงเงินอยู่ที่ 3,185,000 ล้านบาท ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 แต่กลับมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 จากปีก่อน ส่งผลให้รัฐบาลมีพื้นที่การคลัง (Fiscal Space) ในการจัดสรรรายจ่ายลงทุนได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยมีเม็ดเงินกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี สัดส่วนรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนต่องบประมาณรายจ่ายรวมในปีงบประมาณ 2566 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 67.17 จากร้อยละ 65.83 ในปีงบประมาณ 2565 จากรายจ่ายเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพัน รวมไปถึงรายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐและประชาชนที่เพิ่มขึ้น
ในระยะปานกลางคาดว่า สัดส่วนรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ และภาระผูกพันอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ รัฐบาลยังอาจมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่เพียงพอของรายได้ประชาชนในวัยหลังเกษียณรวมถึงปัญหาความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว ที่อาจกดดันให้ ร้ายจ่ายด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้
อย่างไรก็ดี มีปัจจัยบวกจากรายจ่ายเงินเดือน เงินสมทบ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐที่ขยายตัวในระดับต่ำ (รวมผลของนโยบายการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว) และรายจ่ายเงินสำรองเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่คาดว่าจะปรับตัวลดลง
@แนะ‘รัฐบาล’ลด‘ขาดดุลงบประมาณ’กลับสู่ระดับปกติ
3.สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านหนี้
ความเสี่ยงด้านหนี้ในปีงบประมาณ 2566 ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน แต่ยังอยู่ในขอบเขตที่บริหารจัดการได้ โดยยังจำเป็นต้องวิเคราะห์และติดตามอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในระยะปานกลาง
โดยหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวนอยู่ที่ 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.44 ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยรัฐบาลมีการกู้เงินสุทธิ (หลังหักรายจ่ายชำระเงินต้น) อยู่ที่ 609,477 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.40 ต่อ GDP ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงของโครงสร้างหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ภายใต้การวิเคราะห์และติดตามอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะในส่วนที่รัฐบาลรับภาระโดยตรงมีจำนวนทั้งสิ้น 9,337,571.99 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.88 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 52.10 ต่อ GDP โดยมีสัดส่วนภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ในระยะปานกลางอยู่ที่ร้อยละ 8.31 อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
สำหรับต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.67 ตามอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 8.31 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในระยะปานกลางคาดว่า ความเสี่ยงด้านหนี้ยังอยู่ในขอบเขตที่บริหารจัดการได้ แต่มีความเปราะบางเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต โดย
(1) ดัชนีเตือนภัยทางการคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีค่าอยู่ที่ 2.36 (จากระดับขีดเตือนภัยที่ค่า 5) ปรับตัวลดลงจาก 3.58 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 สะท้อนถึงความยืดหยุ่นของพื้นที่ทางการคลังสำหรับรองรับการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลได้ภายใต้ความระมัดระวัง
โดยรัฐบาลยังมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพด้านหลังงานให้กับประชาชน/ผู้ประกอบการภายใต้ความเปราะบางของภาคการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เสถียรภาพในตลาดการเงินและความสมดุลทางการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและเงินทุนเคลื่อนย้ายลดลง ซึ่งเป็นผลบวกต่อการดำเนินการกู้ยืมเงินของรัฐบาล
(2) สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลาง แม้จะอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตแต่เริ่มแสดงทิศทางลดลง และเมื่อเทียบกับปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการควบคุมสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP
(3) อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลดระดับการขาดดุลลงให้กลับสู่ระดับปกติ (ต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อ GDP) รวมถึงมุ่งเน้นการก่อหนี้ที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนเป็นลำดับแรก เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทางการคลังสำหรับรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะวิกฤตขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
พร้อมทั้งระมัดระวังประเด็นด้านความสามารถในการชำระหนี้จากระดับหนี้คงค้าง และแผนการก่อหนี้ใหม่ที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับความสามารถในการจัดเก็บรายได้ (เมื่อเทียบกับ GDP) ที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ด้านการปรับโครงสร้างหนี้ และด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดประกอบการพิจารณากำหนดกลยุทธ์การกู้เงินเพื่อให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป
@ปีงบ 66 หนี้ ม.28 รอการชดเชยอยู่ที่ 1.004 ล้านล้าน
4.สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องการเบิกจ่ายยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 539,056 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 84,963 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเบิกใช้เงินคงคลังสำหรับรายจ่ายที่งบประมาณรายจ่ายฯ ตั้งไว้ไม่เพียงพอ รวมทั้งสิ้น 84,602 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังส่วนดังกล่าวไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 แล้ว
ประกอบกับในปีงบประมาณ 2566 ได้มีการชะลอการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 70,356 ล้านบาท ออกไปในปีถัดไป โดยรัฐบาลจะพิจารณาถึงความจำเป็นเหมาะสมของการกู้เงินส่วนดังกล่าว ซึ่งหากสภาพคล่องยังอยู่ในระดับที่เพียงพอรัฐบาลอาจพิจารณายกเลิกวงเงินกู้บางส่วนเพื่อลดระดับการก่อหนี้ของรัฐบาลต่อไป
นอกจากนี้ ประมาณการการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2567-2571 ยังอยู่ต่ำกว่ากรอบการกู้ชดเชยการขาดดุลสูงสุดตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ทำให้รัฐบาลยังมีวงเงินกู้เพิ่มเติมรองรับกรณีที่ผลการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการได้ประมาณร้อยละ 3-7 ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
5.ภาระผูกพันที่สำคัญของรัฐบาล
ภาระผูกพันที่สำคัญของรัฐบาล ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีรายละเอียด ดังนี้
1.ภาระผูกพันโดยตรง (Direct Liabilities)
เป็นภาระผูกพันของรัฐบาลที่มีกฎหมาย สัญญา หรือข้อตกลงที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณให้อย่างชัดเจน ประกอบด้วย
1) หนี้สาธารณะที่รัฐบาลรับภาระโดยตรง จำนวน 9,337,571.99 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52.38 ของ GDP ประกอบด้วย (1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 8,761,289 ล้านบาท (2) หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกู้ให้กู้ต่อและรับภาระ จำนวน 345,049 ล้านบาท และ (3) หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกันและรับภาระ จำนวน 231,234 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีภาระงบประมาณ เพื่อชำระเงินต้นและดอกเบี้ย รวมอยู่ที่ 301,024 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.45 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แนวโน้มสัดส่วนต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มขึ้นในระยะปานกลาง
2) ลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จำนวน 601,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่มีแรงกดดันลดลงในระยะสั้นตามประมาณการยอดคงค้างของภาระทางการคลังสูงสุดที่รัฐบาลต้องรับชดเชยที่ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวของปีก่อน อยู่ที่ 1,004,392 ล้านบาท (ประกอบด้วย ภาระทางการคลังที่นับอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว 182,453 ล้านบาท ลูกหนี้รอการชดเชย จากรัฐบาล 601,962 ล้านบาท และประมาณการภาระผูกพันที่ยังไม่มีการรับรู้ 214,627 ล้านบาท)
3) รายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง ที่ได้เบิกใช้ไปในปีงบประมาณ 2565 และ 2566 จำนวน 33,759 และ 84,602 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังส่วนดังกล่าวในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 118,361 ล้านบาท แล้ว
4) ภาระผูกพันจากการด่าเนินการตาม พ.ร.ก.Soft Loan สูงสุดไม่เกิน 1,816 ล้านบาท
5) ภาระผูกพันจากการด่าเนินการตาม พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ สูงสุดไม่เกิน 84,145 ล้านบาท
6) รายจ่ายเงินเดือน เงินสมทบ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีภาระงบประมาณในส่วนดังกล่าว 818,111 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.69 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
7) รายจ่ายด้านสวัสดิการ ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีภาระงบประมาณในส่วนดังกล่าวรวม อยู่ที่ 926,128 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.07 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี (แบ่งเป็นสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ 514,497 ล้านบาท และสวัสดิการประชาชน 411,631 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.15 และ 12.92 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามลำดับ) แนวโน้มเพิ่มขึ้น
8) ภาระค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จำนวน 71,384 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
2.ภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้น (Contingent Liabilities)
เป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลอาจต้องจ่ายหรือชำระหนี้แทนตามกฎหมาย สัญญา หรือข้อตกลง รวมไปถึงความคาดหวังจากสังคม หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ประกอบด้วย
1) หนี้สาธารณะที่รัฐบาลไม่ได้รับภาระ จำนวน 1,794,062.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.06 ของ GDP ประกอบด้วย
(1.1) หนี้ที่รัฐบาลกู้เงินเพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 625,423 ล้านบาท แนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่า จะสามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้หมดภายในปี 2574
(1.2) หนี้เงินกู้ของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลให้กู้ต่อ/ค้ำประกัน แต่รัฐบาลไม่รับภาระ จำนวน 526,510 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2564 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายด้านพลังงานที่ส่งผลกระทบด้านสภาพคล่องต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และ กฟผ. ส่งผลให้รัฐบาลจ าเป็นต้องค้ำประกันหนี้ของหน่วยงานทั้งสองดังกล่าว โดยมียอดคงค้างอยู่ที่ 55,000 และ 65,000 ล้านบาท ตามลำดับ
(1.3) หนี้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน จำนวน 642,129 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะการเงินที่มั่นคง เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น
2) การพิจารณาชดเชยการสูญเสียรายได้จากการด่าเนินมาตรการลดภาษีที่ดินฯ ให้กับ อปท. ตามความจำเป็นและสมควร โดยมีประมาณการการสูญเสียรายได้ที่ยังไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณในปี 2563 2564 และ 2566 อยู่ที่ 20,011 30,891 และ 6,288 ล้านบาท ตามลำดับ
@ค้างหนี้‘ประกันสังคมฯ’ 7.1 หมื่นล.-ภาระอุ้ม‘ค่าไฟ-น้ำมัน’สูง
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเสี่ยงทางการคลังจากการดำเนินงานของภาคอื่นๆที่ควรติดตาม เช่น
กองทุนประกันสังคม : เงินกองทุนประกันสังคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน แต่ยังคงมีความเสี่ยงในระยะยาว โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนชราภาพ เงินกองทุนประกันสังคม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีจำนวนอยู่ที่ 2,335,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.34 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้คลี่คลายลง โดยอัตราการจ่ายเงินสมทบได้กลับสู่ระดับปกติและการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยลดลง
อย่างไรก็ดี ระดับความเพียงพอของเงินกองทุนชราภาพในระยะยาวยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและแก้ไขในระยะปานกลางต่อไป โดยอัตราส่วนเงินทุน (Funding Ratio) ในปี 2566 เมื่อเทียบกับมูลค่าปัจจุบันของประมาณการรายรับ-รายจ่ายสุทธิในอีก 75 ปีข้างหน้า อยู่ที่เพียง 0.07 เท่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับสากล
ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวกองทุนประกันสังคมอาจจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนอัตราเงินสมทบให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมไปถึงการพิจารณามาตรการอื่นๆ ควบคู่ด้วย อาทิ การขยายอายุเกษียณ การขยายเพดานฐานค่าจ้างสูงสุด นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนที่รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคม จำนวน 71,384 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566) ในโอกาสแรกที่กระทำได้ด้วย
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) : กอช.ได้มีการปรับเพิ่มเพดานเงินสะสมของสมาชิกและอัตราเงินสมทบของรัฐบาลในปี 2566 รวมถึงได้เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่สมาชิกที่เข้าเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญภายใต้การรับประกันอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงทางการคลังจาก 2 ประเด็นดังกล่าว ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้โดยในปีงบประมาณ 2565 2566 และ 2567 กอช. ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 300 417 และ 634 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ช่วงปี 2561-2565 กอช. สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้เฉลี่ยร้อยละ 1.85 ต่อปี สูงกว่าอัตราผลแทนขั้นต่ำที่รับประกันไว้
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) : ฐานะการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและ กฟผ. ได้รับแรงกดดันจากการดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล
โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน แต่ยังคงติดลบอยู่ที่ 65,732 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับสูงแต่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยมีเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน (แต่ไม่รับภาระ) อยู่ที่ 55,000 ล้านบาท
ในขณะที่ กฟผ. มีรายได้ค่าไฟฟ้าค้างรับ (Ft) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่จำนวน 104,085 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) อย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อส่วนของทุนของ กฟผ. เพิ่มสูงขึ้น อยู่ที่ 1.35 เท่า ณ สิ้นเดือน กันยายน 2566
โดยมีเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน (แต่ไม่รับภาระ) อยู่ที่ 65,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการวิเคราะห์และติดตามความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณต่อไป
อย่างไรก็ดี รัฐบาลควรพิจารณาการดำเนินมาตรการด้านพลังงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ราคาพลังงานเพื่อลดภาระในการแบกรับต้นทุนเงินกู้ของหน่วยงานทั้งสอง ซึ่งมีประมาณการภาระดอกเบี้ยในปี 2567 อยู่ที่แห่งละประมาณ 2,000 ล้านบาท
การชำระหนี้และ/หรืออุดหนุนค่าใช้จ่าย : รัฐบาลยังคงมีภาระในการชำระหนี้และ/หรืออุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) อย่างต่อเนื่อง
โดย รฟท. และ ขสมก. มียอดคงค้างของหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มสูงขึ้น จากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนต่อเนื่อง ในขณะที่แม้ว่า รฟม. มียอดคงค้างของหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันลดลงและมีผลประกอบการที่มีกำไรต่อเนื่อง แต่รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่ออุดหนุนการชำระค่าโครงสร้างพื้นฐานและการชำระค่าให้บริการเดินรถไฟฟ้าบางส่วน
สำหรับ กคช. แม้ว่าผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิ แต่รายได้ส่วนหนึ่งมาจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ ผลประกอบการได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 จากยอดขายบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-1
ภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาล : ภาระผูกพันสูงสุดจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้อนุมัติโครงการใหม่ตามมาตรา 28 จำนวนทั้งสิ้น 99,297 ล้านบาท ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี
โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มราคาพืชผลการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมีการเปลี่ยนรัฐบาลในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาระผูกพันดังกล่าว ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 1,004,392 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.99 ของงบประมาณรายจ่ายฯ 2566 อยู่ภายใต้กรอบเพดานที่กำหนด
@แนะทบทวนมาตรการลดหย่อนฯ-ลดรายจ่าย‘บุคลากรรัฐ’
ข้อเสนอแนะ
เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวในอนาคต รัฐบาลจึงควรมีการพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.ให้ความสำคัญกับการเร่งรัดลดระดับการขาดดุลกลับสู่ระดับปกติ ที่ไม่เกินประมาณร้อยละ 3.0 ของ GDP เพื่อฟื้นฟูพื้นที่การคลังรองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และในการก่อหนี้ควรมุ่งเน้นไปที่โครงการที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนเป็นลำดับแรก
2.ผลักดันแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและรายได้รัฐบาลอื่นๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้และรองรับรายได้รัฐบาลที่ลดลงจากโครงสร้างเศษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งทบทวนมาตรการยกเว้น/ลดหย่อนต่างๆ รวมถึงมาตรการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงาน ให้มีเท่าที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
3.พิจารณาปรับลดรายจ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นลง ผ่านการพิจารณาปฏิรูปโครงสร้างบุคลากรภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปฏิรูประบบสวัสดิการสำหรับประชาชนโดยบูรณาการข้อมูลและการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้รัฐสามารถจัดทำระบบสวัสดิการแบบมีเงื่อนไข (Conditional Transfer) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดำเนินโครงการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เท่าที่จำเป็น โดยควรมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการและผลักดันโครงการที่มีการดำเนินการเป็นประจำทุกปีและสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณจากกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นลำดับแรก เป็นต้น
4.จัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่มีภาระผูกพันชัดเจนให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการ รวมถึงพิจารณาจัดสรรรายจ่ายชำระเงินต้นให้สอดคล้องกับระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
5.จัดสรรงบประมาณในส่วนที่รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคม ควบคู่ไปกับพิจารณามาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว อาทิ การขยายอายุเกษียณและเพดานฐานค่าจ้าง การทบทวนอัตราเงินสมทบ
6.สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และขยายฐานรายได้ภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมทั้งผลักดันให้ อปท. สามารถนำเงินสะสมส่วนเกินมาเป็นเงินทุนในการพัฒนาท้องถิ่นควบคู่ไปกับแหล่งรายได้อื่นๆ ในปัจจุบัน เพื่อให้ อปท. สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
เหล่านี้เป็นสรุปสาระสำคัญของ ‘รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี’ ฉบับล่าสุด ที่ ‘กระทรวงการคลัง’ รายงานให้ ครม.รับทราบ ซึ่งจะพบว่ามีความเสี่ยงในหลายประเด็นที่รัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จำเป็นต้องบริหารจัดการ!