"...หลังจากนั้น ผู้มีอำนาจกองสวัสดิการสังคม ได้รับมอบหมายจากนายเอกพจน์ ให้ดำเนินการจัดซื้อถุงยังชีพ โดยได้รับมอบเอกสารร้านค้ามาจากคนในกองคลัง 3 ร้านค้า ได้แก่ บริษัทแฮงบกฯ ราคา 550/ชุด , บริษัท แม็กเนท ดีลส์ จํากัด ราคา 560 บาท/ชุด , ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดียบุ๊คส์ ราคา 562 บาท/ชุด ซึ่งมีข้อมูลทางลับว่า คนในกองคลังได้รู้จักกับผู้ประกอบการที่นำเอกสาร 3 รายมา และมีการบอกผู้มีอำนาจกองสวัสดิการสังคมให้ใช้ 3 ร้านค้าที่เป็นคู่เทียบ และเลือก บริษัทแฮงบกฯ เพราะนายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวงสั่งการมา..."
กรณี นายเอกพจน์ ปานแย้ม นายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวง ถูกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกคำสั่งให้พันตำแหน่ง นายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวง ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายเอกพจน์ ปานแย้ม ถูกสั่งให้พ้นตำแหน่งดังกล่าว เป็นผลมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายเอกพจน์ ปานแย้ม กับพวก กรณีการจัดซื้อถุงยังชีพโดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อเอื้ออำนวยให้บริษัทแฮงบก เทรดดิ้ง จำกัด ได้มีสิทธิเข้าเป็นคู่สัญญากับเทศบาลเมืองคลองหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2564
อย่างไรก็ดี นายเอกพจน์ ยังมีสิทธิโต้แย้งคำสั่งต่อศาลปกครอง ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำสั่งดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดผลการไต่สวนคดีนี้ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ปรากฏอยู่ในคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 2946/2567 เรื่อง ให้นายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวง อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พ้นจากตําแหน่ง ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2567 มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบแล้ว ซึ่งมีการระบุพฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายเอกพจน์ ปานแย้ม ว่า ได้สั่งการให้ผู้อํานวยการกองสวัสดิการสังคม นําใบเสนอราคา บริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จํากัด เข้าเสนอต่อที่ประชุมสภาเทศบาลเมืองคลองหลวง ขออนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม เพื่อจัดซื้อถุงยังชีพโดยมีการตกลงซื้อขายถุงยังชีพกับบริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จํากัด ไว้ล่วงหน้าก่อนมีการดําเนินการ จัดซื้อตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยมีการกําหนดจํานวนถุงยังชีพและรายงานพัสดุที่จะซื้อในถุงยังชีพให้ตรงกับที่ บริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จํากัด ได้บรรจุชุดถุงยังชีพจัดเตรียมไว้ และมีการสั่งให้เปลี่ยนวิธีการจัดซื้อโดยให้ใช้ วิธีเฉพาะเจาะจง โดยเลือกทําหนังสือเชิญเฉพาะบริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จํากัด, บริษัท แม็กเนท ดีลส์ จํากัด และห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดียบุ๊คส์
เมื่อพิจารณาราคาของผู้เสนอราคาทั้ง 3 รายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า บริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จํากัด จะเป็นผู้ชนะการเสนอราคาเป็นแน่แท้สมดังเจตนาที่นายเอกพจน์ ปานแย้ม ได้สมคบคิดวางแผน ร่วมกับกรรมการผู้จัดการบริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จํากัด เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในบรรดา 3 ราย โดยมิได้คํานึงถึงขอบเขตงานและคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อ และภายหลังจากที่บริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จํากัด ได้ส่งมอบพัสดุถุงยังชีพต่อเทศบาลเมืองคลองหลวงแล้ว นายเอกพจน์ ปานแย้ม ก็ไม่สามารถแจกจ่ายถุงยังชีพให้แก่ ประชาชนตามวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อได้ เนื่องจากมีการซื้อเกินกว่าจํานวนผู้ที่ลงทะเบียนขอรับถุงยังชีพไว้
- 'อนุทิน' สั่ง 'เอกพจน์' พ้นตำแหน่งนายกเทศฯ คลองหลวง ป.ป.ช.ชี้มูลคดีซื้อถุงยังชีพมิชอบ
- เปิดพฤติการณ์ 'เอกพจน์' สมคบเอกชนซื้อถุงยังชีพ -'อนุทิน' สั่งพ้นเก้าอี้นายกเทศฯ คลองหลวง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันมติคณะกรรมการป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีนี้ พบข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
หนึ่ง.
ในชั้นไต่สวนคดีนี้ ของป.ป.ช. มีผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 8 ราย คือ 1. นายเอกพจน์ ปานแย้ม นายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวง 2. นายจิรศักดิ์ พยุงวงค์ เลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลเมืองคลองหลวง 3. นายชูชาติ คล้ายทิม หัวหน้าฝ่ายพัสดุและทรัพย์สิน 4. นายสิรภัทร กาฬสิงห์ นิติกรชำนาญการ 5. นายกมลพันธุ์ วัชโรทยาน นายช่างโยธาปฏิบัติงาน 6. นายนันทภพ ศิริภาพ เจ้าพนักงานป้องกันปฏิบัติงาน 7. นางสาวพิมณภัทร์ สรรประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จำกัด และ 8. บริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จำกัด
สอง.
ข้อกล่าวหาเป็นทางการคดีนี้ คือ จัดซื้อถุงยังชีพโดยทุจริตและมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่บริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จำกัด มีสิทธิเข้าเป็นคู่สัญญากับเทศบาลเมืองคลองหลวง
สาม.
พฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ นอกจากข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 2946/2567 เรื่อง ให้นายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวง อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พ้นจากตําแหน่ง ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2567 ที่เสนอไปแล้ว
มีข้อมูลใหม่ว่า จุดเริ่มต้นคดีนี้ มาจากข้อร้องเรียนของเจ้าหน้าที่ในเทศบาลเมือง ที่เห็นข้อพิรุธในการดำเนินงานโครงการจัดซื้อจัดจ้างถุงยังชีพดังกล่าว ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากนายเอกพจน์ ได้นำญัตติการจ่ายขาดสะสมเข้าสภาเทศบาลฯ และอนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมมาจำนวน 11 ล้านบาท จัดซื้อถุงยังชีพจำนวน 2 หมื่นชุด โดยที่ไม่ได้แจ้งกองสวัสดิการสังคมให้รับลงทะเบียน
หลังจากนั้น ผู้มีอำนาจกองสวัสดิการสังคม ได้รับมอบหมายจากนายเอกพจน์ ให้ดำเนินการจัดซื้อถุงยังชีพ โดยได้รับมอบเอกสารร้านค้ามาจากคนในกองคลัง 3 ร้านค้า ได้แก่ บริษัทแฮงบกฯ ราคา 550/ชุด , บริษัท แม็กเนท ดีลส์ จํากัด ราคา 560 บาท/ชุด , ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดียบุ๊คส์ ราคา 562 บาท/ชุด ซึ่งมีข้อมูลทางลับว่า คนในกองคลังได้รู้จักกับผู้ประกอบการที่นำเอกสาร 3 รายมา และมีการบอกผู้มีอำนาจกองสวัสดิการสังคมให้ใช้ 3 ร้านค้าที่เป็นคู่เทียบ และเลือก บริษัทแฮงบกฯ
เพราะนายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวงสั่งการมา ซึ่งในขณะนั้นกองสวัสดิการสังคม ยังไม่ได้ดำเนินโครงการแต่อย่างใด
ต่อมามีการมาแจ้งให้ใช้วิธีพิเศษจัดซื้อ แต่ผู้รับผิดชอบงานในกองสวัสดิการสังคม ปฏิเสธไม่ยอม เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินสูงถึง 11 ล้านบาท ขณะที่จากการแจกถุงยังชีพ ไม่ได้เป็นการเร่งด่วน ในสถานการณ์ขณะนั้น
ผู้มีอำนาจกองสวัสดิการสังคม จึงได้ให้ผู้รับผิดชอบงานที่คัดค้านทำบันทึกขออนุมัติจัดซื้อจ้างตามขั้นตอนปกติ และดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบราชการ มีการเชิญผู้ประกอบการที่ประกอบอาชีพจริง และมีศักยภาพในการหาสินค้า พร้อมเปิดรับลงทะเบียนผู้ต้องการได้รับความช่วยเหลือ แต่จำนวนยอดผู้มาลงทะเบียนมีแค่ประมาณ 8,000 ครัวเรือน ไม่ตรงตามยอดที่ นายเอกพจน์ ตั้งเป้าไว้
นายเอกพจน์ จึงออกคำสั่งประกาศครัวเรือนขยายเพิ่มให้ได้ยอด 20,000 ชุด แต่ยอดก็ไม่ถึง เกิดความล่าช้าได้มาแค่ 12,000 กว่าครัวเรือน จึงมีการสอบถามว่าสุดท้ายจะให้ประกอบจำนวนถุงยังชีพเท่าไหร่ ก่อนที่จะได้รับคำสั่งให้ประกาศตัวเลขอยู่ที่ 15,000 ชุด
มีรายงานข่าวว่า ต่อมาเมื่อเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ถูกกดดัน ให้เปลี่ยนแปลงเอกสาร เปลี่ยนวิธีการจัดซื้อ รวมถึงการโทรศัพท์มาขมขู่ กล่าวหาว่าไม่ช่วย นายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวง
เจ้าหน้าที่มีความกังวลว่าจะถูกสั่งการให้มีการทำผิดระเบียบ ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับความไม่โปร่งใสจึงตัดสินใจรวบรวมรายชื่อข้าราชการ ส่งเรื่องทางลับให้ ป.ป.ช.เข้าไปสอบสวนเรื่องนี้โดยด่วน
@ เอกพจน์ ปานแย้ม
สี่.
สำหรับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในคดีเกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหาแต่ละราย ที่ประชุมมีมติดังนี้
1. ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 5 เสียง ว่า การกระทําของนายเอกพจน์ ปานแย้ม มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ ในหน่วยงานของรัฐ กระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทําการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคา อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออํานวยแก่ผู้เข้าทําการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และมีมูลความผิดฐานปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73
2. นายจิรศักดิ์ พยุงวงค์ เลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลเมืองคลองหลวง จากการไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ตกไป
3. นายชูชาติ คล้ายทิม หัวหน้าฝ่ายพัสดุและทรัพย์สิน มีมูลความผิดวินัยร้ายแรง
4. นายสิรภัทร กาฬสิงห์ นิติกรชำนาญการ , นายกมลพันธุ์ วัชโรทยาน นายช่างโยธาปฏิบัติงาน และนายนันทภพ ศิริภาพ เจ้าพนักงานป้องกันปฏิบัติงาน มีมูลความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรง
5. นางสาวพิมณภัทร์ สรรประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท แฮงบก เทรดดิ้ง จำกัด มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิด
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการไต่สวนและมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิด นายเอกพจน์ ปานแย้ม และพวก ในคดีนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่สิ้นสุด นายเอกพจน์และผู้ถูกกล่าวหารายอื่น ยังมีสิทธิต่อสู้คดีในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้อีก
บทสรุปสุดท้ายคดีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ติดตามดูกันต่อไป