“…เมื่อจำเลยแจ้งโจทก์ทราบในวันเกิดเหตุทันทีที่จำเลยทราบถึงการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง จนสามารถเข้าควบคุมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยจากระยะไกล แล้วสั่งโอนเงินจากบัญชีบัตรเครดิตของจำเลยเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยซึ่งผูกอยู่กับบัตรเครดิตนั้น แล้วโอนเงินออกไปจากบัญชีธนาคารของจำเลยไปยังบัญชีของบุคคลอื่น ย่อมแสดงชัดว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวด้วยตนเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในภาระหนี้ที่เกิดขึ้น…”
.......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้บริโภครายหนึ่งถูกมิจฉาชีพที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน เข้าถึงแอปพลิเคชันบัตรเครดิต และมิจฉาชีพได้ทำการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีฯ 2 ครั้ง เป็นเงินรวม 35,000 บาท เมื่อผู้บริโภครายนี้ทราบเรื่องว่าถูกมิจฉาชีพโอนเงินออกไป จึงโทรศัพท์ไปแจ้งบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิต และแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
ต่อมาผู้บริโภครายดังกล่าวถูกบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตฟ้องดำเนินคดี เนื่องจากไม่ได้ชำระค่าบริการในรายการที่ถูกมิจฉาชีพเบิกถอนไป กระทั่งในวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลแขวงระยองได้พิพากษายกฟ้องในคดีนี้ (อ่านประกอบ : ‘ศาลระยอง’ยกฟ้อง คดี‘ผู้บริโภค’ไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิต หลังถูกมิจฉาชีพแฮกแอปฯแล้ว‘ดูดเงิน’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดของคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบE 9862/2567 คดีหมายเลขแดงที่ ผบE 6791/2567 ลงวันที่ 28 ส.ค.2567 ของศาลแขวงระยอง ดังนี้
@‘มิจฉาชีพ’อ้างตัวเป็น‘เจ้าหน้าที่รัฐ’หลอกดาวน์โหลดแอพฯ
โจทก์ (บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)) ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2564 โจทก์อนุมัติบัตรเครดิตหมายเลข XXX เพื่อนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนด และจำเลย (ผู้บริโภค) สามารถทำรายการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบริการแอพพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่
โดยใช้รหัสผ่าน (PIN) รหัสแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) และรหัสประจำตัวเพื่อเข้าใช้บริการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งเบิกถอนเงินสดออนไลน์เงินโอนเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งจำเลยสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกสถานที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจำเลยตกลงยินยอมทำธุรกรรมและให้ถือว่าการทำรายการธุรกรรมถูกต้องสมบูรณ์ และมีผลผูกพันจำเลย
เมื่อร้านค้าหรือสถานประกอบการที่รับบัตรเครดิตส่งยอดรายการซื้อสินค้าหรือบริการมาเรียกเก็บเงินโจทก์ โจทก์จึงได้ชำระแทนไปก่อน โจทก์จะจัดส่งใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยทุกรอบบัญชีหรือทุกเดือน
ภายหลังจำเลยได้รับอนุมัติบัตรเครดิตจากโจทก์ จำเลยนำบัตรเครดิตดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและบริการตลอดมา แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามจำนวนและตามระยะเวลาที่โจทก์กำหนดในใบแจ้งยอดรายการใช้จ่ายบัตรเครดิต
โจทก์หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2566 จำเลยคงค้างชำระหนี้คิดเป็นต้นเงิน 35,000 บาท ดอกเบี้ย 1,983.37 บาท ค่าธรรมเนียมอื่นๆ 1,391 บาท รวมเป็นเงิน 38,374.37 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 38,942.04 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 35,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า หนังสือมอบอำนาจโจทก์และหนังสือมอบอำนาจช่วงโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้ที่ลงชื่อมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและกระทำการแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ จำเลยไม่เคยตกลงยินยอมว่าการเบิกถอนเงินสดออนไลน์หรือโอนเข้าบัญชีธนาคาร จำเลยสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกสถานที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจำเลยตกลงยินยอมทำธุรกรรมและให้ถือว่าการทำรายการธุรกรรมถูกต้องสมบูรณ์ ตามสำเนาใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิตและเงื่อนไขการใช้บริการ ดังที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้
และที่โจทก์อ้างว่าจำเลยค้างชำระหนี้บัตรเครติตเป็นต้นเงิน 35,000 บาท นั้น ไม่ถูกต้องและไม่เป็นความจริง แต่เกิดจากการกระทำของมิจฉาชีพที่หลอกลวงจำเลยจนถูกมิจฉาชีพกดเงินสดออกไปจากบัตรเครดิต ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำรายการเบิกถอนเงินสดดังกล่าว
เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2566 เวลา 13.33 น. มีโทรศัพท์หมายเลข XXX โทรเข้ามาหาจำเลย ปลายสายแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน (มิจฉาชีพ) ติดต่อว่าการจ่ายภาษีที่อยู่อาศัยวันนี้เป็นวันสุดท้าย หากไม่ชำระจะมีค่าปรับ แล้วสอบถามจำเลยว่าสะดวกไปชำระที่กรมที่ดินหรือไม่ หากไม่สะดวกสามารถชำระผ่านช่องทางออนไลน์ได้
ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกับวันที่เกิดเหตุ จำเลยเคยไปติดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดระยอง สาขาบ้านฉาง เพื่อทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน จึงเชื่อว่าการติดต่อดังกล่าวเป็นการติดต่อจากเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจริง และจำเลยสามารถชำระโดยวิธีออนไลน์ได้ เพราะบุคคลดังกล่าวบอกเลขที่โฉนดที่ดินของจำเลยได้อย่างถูกต้อง
จำเลยจึงหลงเชื่อและยอมเพิ่มเพื่อนทางแอพพลิเคชันไลน์ (LINE) ชื่อบัญชีผู้ติดต่อ “สำนักงานที่ดิน” ตามคำบอกของมิจฉาชีพ จากนั้นจึงมีการสอบถามข้อมูลหมายเลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิดและหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลย จำเลยได้ขอดูบัตรเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ซึ่งมิจฉาชีพก็ส่งมาให้ดูทางช่องแชทไลน์
จากนั้นมิจฉาชีพส่งลิงก์เว็บไซต์ให้จำเลยกดเพื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน และให้กรอกข้อมูลส่วนตัวตามขั้นตอน จนกระทั่งเมื่อถึงขั้นตอนให้จำเลยสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน โทรศัพท์ของจำเลยขึ้นหน้าจอสีขาว จำเลยจึงฉุกคิดว่าอาจเป็นมิจฉาชีพและอาจถูกหลอกแล้ว จึงรีบปิดโทรศัพท์ และติดต่อธนาคารและศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ต่อมาจำเลยตรวจพบว่าในช่วงเวลา 14.08 น. บัตรเครดิตของจำเลยมีการทำรายการขอเพิ่มวงเงินและมีการเบิกถอนเงินสด ครั้งแรกเป็นเงิน 15,000 บาท ครั้งที่สองเป็นเงิน 20,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำรายการดังกล่าว และเงินจำนวนนี้ถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยของจำเลย ซึ่งเป็นบัญชีที่ผูกไว้กับบัตรเครดิตดังกล่าว
จนต่อมาเวลา 14.10 น. เงินจำนวน 35,000 บาท ถูกโอนออกจากบัญชีไปยังบัญชีธนาคารยูโอบี ชื่อบัญชี XXX ซึ่งจำเลยไม่รู้จัก และไม่เคยทำธุรกรรมกับบุคคลดังกล่าวมาก่อน และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำรายการโอนเงินนั้น นอกจากนี้ยังมีเงินอีก 5,700 บาท ในบัญชีกรุงไทยของจำเลย ก็ถูกโอนเข้าไปบัญชีของนาย...ด้วย
ภายหลังเกิดเหตุจำเลยโทรศัพท์ติดต่อไปยังผู้ให้บริการบัตรเครดิตเพื่อขอให้ช่วยเหลือกรณีถูกดูดเงินและขอให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ซึ่งเจ้าหน้าที่แนะนำให้จำเลยไปแจ้งความเพียงอย่างเดียว
ต่อมาวันที่ 15 และวันที่ 16 ก.ค.2566 จำเลยไปแจ้งความกรณีดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด ทั้งจำเลยยังยื่นร้องเรียนต่อหน่วยงานสภาองค์กรผู้บริโภค
มูลหนี้บัตรเครดิตตามฟ้อง จึงไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลย แต่เกิดจากมีบุคคคลอื่นนำบัตรเครดิตที่พิพาทของโจทก์ไปใช้ แสดงว่าระบบความปลอดภัยของแอพพลิเคชันของโจทก์ที่จัดให้มีบริการนั้นมีความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ เมื่อจำเลยติดต่อไปยังโจทก์ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจน คงแนะนำให้แจ้งความเท่านั้น
โดยไม่ได้ดำเนินการตามแนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 24 มี.ค.2566 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยแถลงขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การทั้งหมด เว้นแต่ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจนมิจฉาชีพทำธุรกรรมโอนเงินออกไปจากบัญชีบัตรเครดิตของจำเลยเป็นเงินรวม 35,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำรายการดังกล่าวด้วยตนเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
@ศาลฯให้เหตุผล‘ยกฟ้อง’-ผู้บริโภค’ไม่ต้องจ่ายหนี้บัตรเครดิต
ศาลแจ้งประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด
พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยเจือสมกันว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2566 มีการสั่งเงินออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชันของโจทก์ ซึ่งจำเลยลงทะเบียนเป็นผู้ใช้งาน โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยของจำเลย 2 ครั้ง จำนวน 15,000 บาท และจำนวน 20,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 35,000 บาท
หลังจากมีการโอนเงินทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว จำเลยได้แจ้งโจทก์ว่าถูกมิจฉาชีพ ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดินหลอกให้กดลิงก์เว็บไซต์และดาวโหลดแอพพลิเคชันและให้ทำตามขั้นตอนในแอพพลิเคชัน ซึ่งเป็นการกรอกข้อมูลส่วนตัว เพื่อจะชำระค่าภาษีที่อยู่อาศัยผ่านช่องทางออนไลน์
ระหว่างที่นั้นมิจฉาชีพได้สั่งให้มีการโอนเงินจากบัญชีบัตรเครดิตของจำเลยไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยของจำเลย ซึ่งเป็นบัญชีที่จำเลยผูกไว้กับบับบัตรเครดิตดังกล่าว จากนั้นมิจฉาชีพโอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยของจำเลยไปยังบัญชีของ... โดยจำเลยมิได้เป็นผู้สั่งให้โจทก์โอนเงินจากบัญชีบัตรเครดิตของจำเลย
เห็นว่า เมื่อจำเลยแจ้งโจทก์ทราบในวันเกิดเหตุทันทีที่จำเลยทราบถึงการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง จนสามารถเข้าควบคุมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยจากระยะไกล แล้วสั่งโอนเงินจากบัญชีบัตรเครดิตของจำเลยเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยซึ่งผูกอยู่กับบัตรเครดิตนั้น แล้วโอนเงินออกไปจากบัญชีธนาคารของจำเลยไปยังบัญชีของบุคคลอื่น ย่อมแสดงชัดว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวด้วยตนเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในภาระหนี้ที่เกิดขึ้น
ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏชัดว่า เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งเหตุ ก็ไม่ได้ดำเนินการอื่นใด นอกจากแจ้งให้จำเลยไปดำเนินการแจ้งความติดตามเรื่องด้วยตนเอง ทั้งที่โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการเงินและเป็นเจ้าของเงินที่ถูกคนร้ายลักไป
โจทก์สามารถสร้างเครือข่ายร่วมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น เพื่อดำเนินการระงับยับยั้งหรืออายัดเงินที่ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตแจ้งเหตุว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงไว้ชั่วคราว เพื่อทำการตรวจสอบได้โดยง่าย แต่กลับไม่รวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินการยกระดับการป้องกันภัยทุจริตดังกล่าว โดยปล่อยให้เป็นภาระของจำเลย ซึ่งเป็นผู้บริโภคขวนขวายติดตาม
ทั้งที่ในแนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย ล.2 ระบุในเอกสารแนบ 1 การบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านบัตร ข้อ 3.2 กำหนดชัดเจนว่า
“กรณีเหตุการณ์ทุจริตที่มีผู้ถือบัตรได้รับความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมชำระเงินผ่านบัตร และมีเหตุอันเชื่อได้ว่า ไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตรหรือผู้ถือบัตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ถือบัตรอย่างครบถ้วน”
เมื่อในขณะที่มิจฉาชีพสั่งโอนเงินออกจากบัญชีบัตรเครดิตของจำเลย จำเลยไม่ทราบถึงการทำธุรกรรมดังกล่าว ทั้งมิใช่เป็นผู้ทำธุรกรรมการเงินดังกล่าวด้วยตนเอง ประกอบกับเงินที่โอนออกไปนั้น ไม่ใช่เงินของจำเลย การที่โจทก์จะเอาสัญญาสำเร็จรูปมาอ้างว่าธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นการกระทำของจำเลย และจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้บัตรเครดิตเครดิตดังกล่าวให้แก่โจทก์
ย่อมเป็นการใช้สิทธิที่ขัดต่อ มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติว่า “การใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริต โดยคำนึงถึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม” อีกด้วย
พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
เหล่านี้เป็นคดีตัวอย่างในคดี ‘หนี้บัตรเครดิต’ จากภัยทุจริตทางการเงิน ซึ่งผู้บริโภคไม่ต้องรับผิดชอบต่อ ‘หนี้บัตรเครดิต’ และถือเป็นภาระหน้าที่ของ ‘บริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิต’ ในการรวมกลุ่มกับเพื่อยกระดับการป้องกันภัยทุจริต โดยเฉพาะการระงับยับยั้งหรืออายัดเงินที่ ‘ผู้ถือบัตรเครดิต’ แจ้งเหตุว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ‘ไว้ชั่วคราว’!
อ่านประกอบ :
‘ศาลระยอง’ยกฟ้อง คดี‘ผู้บริโภค’ไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิต หลังถูกมิจฉาชีพแฮกแอปฯแล้ว‘ดูดเงิน’