‘ศาลแขวงระยอง’ พิพากษายกฟ้อง คดี‘ธนาคารฯ’ ฟ้อง‘ผู้บริโภค’ เรียกให้จ่าย‘หนี้บัตรเครดิต’ หลังถูก ‘มิจฉาชีพ’ แฮกแอปฯบัตรเครดิต แล้วโอนเงินออกจากบัญชี
......................................
จากกรณีที่ผู้บริโภครายหนึ่งถูกมิจฉาชีพเข้าถึงแอปพลิเคชันบัตรเครดิต และมิจฉาชีพได้ทำการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีฯ เมื่อผู้บริโภครายนี้ทราบเรื่อง จึงโทรศัพท์ไปแจ้งธนาคารฯผู้ให้บริการบัตรเครดิต และแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ต่อมาผู้บริโภครายดังกล่าวได้ถูกธนาคารผู้ให้บริการบัตรเครดิตฟ้องดำเนินคดี เนื่องจากไม่ได้ชำระค่าบริการตามรายการที่ถูกมิจฉาชีพเบิกถอนไป จึงเข้าร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือด้านคดี นั้น
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลแขวงระยองได้พิพากษายกฟ้องในคดีนี้ เนื่องจาก 1.หลังจากเกิดเหตุผู้บริโภครีบแจ้งธนาคารบัตรเครดิตทันที ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าผู้บริโภครีบดำเนินการเมื่อทราบเหตุ แต่เมื่อธนาคารฯทราบเรื่องแล้ว กลับเพียงแจ้งให้ผู้บริโภคไปแจ้งความกับตำรวจและไม่ได้ดำเนินการอื่น เพื่อปกป้องไม่ให้เงินถูกถ่ายโอนไปยังบัญชีอื่นๆต่อ
2.เงินที่ถูกโจรกรรมเป็นเงินของธนาคารบัตรเครดิตฯไม่ใช่เงินของผู้บริโภคฯ 3.ธนาคารบัตรเครดิตฯ เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินและเป็นจ้าของเงินที่ถูกคนร้ายโจรกรรมไป สามารถสร้างเครือข่ายร่วมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นเพื่อระงับหรืออายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบได้ แต่กลับไม่รวมกลุ่มกันเพื่อยกระดับการป้องกันภัยทุจริตดังกล่าว
และ 4.แนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุถึงเรื่องการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านบัตร โดยข้อ 3.2 กำหนดชัดเจนว่า “กรณีเหตุการณ์ทุจริตที่มีผู้ถือบัตรได้รับความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมชำระเงินผ่านบัตร และมีเหตุอันเชื่อได้ว่าไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตรหรือผู้ถือบัตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ถือบัตรอย่างครบถ้วน” ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของธนาคารบัตรเครดิตฯ ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ควรมาฟ้องผู้บริโภคต่อศาล
นอกจากนี้ การที่ธนาคารบัตรเครดิตฯ ฟ้องร้องผู้บริโภคในคดีนี้ ยังถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามมาตร 12 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ด้วย ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง
“คำพิพากษาของศาลแขวงระยอง ถือเป็นมาตรฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะต้องมีความรับผิดชอบต่อเงินที่ถูกโอนออกไปจากภัยทุจริตทางการเงินเอง ไม่ใช่มาฟ้องคดีให้ผู้บริโภครับผิด และคำพิพากษาดังกล่าวยังย้ำถึงหน้าที่ของธนาคารที่ต้องสร้างเครือข่ายร่วมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อระงับ ยับยั้ง หรืออายัดเงิน ที่ลูกค้าผู้ถือบัตรได้แจ้งเหตุว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงไว้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบ” นายโสภณ กล่าว
สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2566 ผู้บริโภครายนี้ได้รับโทรศัพท์จากมิจฉาชีพที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน โดยโทรเข้ามาแจ้งเตือนว่า ผู้บริโภคต้องชำระภาษีที่อยู่อาศัยเป็นวันสุดท้าย โดยเสนอให้ชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ และเนื่องจากบุคคลอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินที่โทรศัพท์มามีข้อมูลเกี่ยวกับเลขที่โฉนดที่ดินของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง
จากนั้นผู้บริโภครายนี้ได้เพิ่มเพื่อนผ่านแอปฯไลน์ และทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแนะนำ โดยกดลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอปฯ และกรอกข้อมูลส่วนตัว ระหว่างกระบวนการยืนยันตัวตน ผู้บริโภคเกิดสงสัยและหยุดดำเนินการพร้อมปิดโทรศัพท์ แต่พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว บัตรเครดิตของตัวเองถูกใช้ในการขอเพิ่มวงเงินและเบิกถอนเงินสด 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 35,000 บาท ซึ่งถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยของผู้บริโภคเอง จากนั้นเงินถูกโอนออกไปยังบัญชีบุคคลอื่นที่ไม่รู้จัก
ทั้งนี้ หลังจากผู้บริโภครู้ตัว จึงขอความช่วยเหลือจากธนาคารผู้ให้บริการบัตรเครดิต แต่ได้รับคำแนะนำให้ไปแจ้งความเท่านั้น จึงได้ดำเนินการแจ้งความกับตำรวจ ต่อมาผู้บริโภคถูกธนาคารผู้ให้บริการบัตรเครดิตฟ้อง เนื่องจากไม่ชำระค่าบริการตามรายการที่ถูกมิจฉาชีพเบิกถอนไป ผู้บริโภครายนี้จึงเข้ามาขอความช่วยเหลือจากสภาผู้บริโภคในทางคดี โดยยืนยันว่าหนี้บัตรเครดิตดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากการกระทำของตัวเอง แต่เกิดจากการถูกมิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้
ต่อมาคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดี สภาผู้บริโภค ได้พิจารณาหลักฐานและข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว จึงมีมติให้ช่วยเหลือผู้บริโภครายดังกล่าวในด้านการดำเนินคดี โดยได้แต่งตั้งทนายความเข้าช่วยเหลือ จนกระทั่งศาลยกฟ้อง