“…ผลการศึกษาและการพิจารณาของคณะทำงานฯ เห็นว่า การปรับลดค่าผ่านทางและการขยายระยะเวลาสัมปทานเพื่อชดเชยผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท ยังไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการในขณะนี้ โดยกรมทางหลวงอยู่ระหว่างการเสนอผลการพิจารณาดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคม…”
.........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2567 สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสืออธิบดีกรมทางหลวง เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริง กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทล์ลเวย์) ระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) กับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ใน 5 ประเด็น ได้แก่
1.ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงเจรจากับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) คู่สัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมืองในการปรับลดค่าผ่านทาง ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการไปคืบหน้ามากน้อยเพียงใด
2.กรมทางหลวงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวหรือไม่อย่างไร และประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่
3.เนื่องจากสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2577 ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของกรมทางหลวง ทำให้รัฐสามารถกำหนดอัตราค่าผ่าผ่านทางได้เองโดยไม่กระทบกับประชาชน เหตุใดกรมทางหลวงจึงไม่รอให้สัญญาสิ้นสุดแล้วดำเนินการเอง
4.ขอข้อมูลรายได้ของทางยกระดับดอนเมืองในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
5.การดำเนินการตามสัญญา เป็นการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลที่ใช้บังคับตามปี พ.ศ.2556 นั้น (อ่านประกอบ : ส่อเอื้อประโยชน์เอกชน! ป.ป.ช.สั่ง‘ทล.-กทพ.’แจงแก้สัญญา‘ดอนเมืองโทลล์เวย์-ทางด่วนศรีรัช’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ทำหนังสือกรมทางหลวง ที่ คค 06005/7456 ลงวันที่ 7 ส.ค.2567 เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงภัยวกับการเจรจาแก้ไขสัญญาโครงการทางหลวงสัมปทานในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอน ดินแดง-ดอนเมือง และทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายทางด้านทิศเหนือของกรมทางหลวง ถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีเนื้อดังนี้
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) โดยสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ได้ดำเนินการติดตามเฝ้าระวังการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐและเอกชน กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมืองระหว่าง กรมทางหลวงและบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ)
โดยทราบว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงเร่งรัดหาแนวทางเจรจากับบริษัทฯ เพื่อขอปรับลดค่าผ่านทางลงแลกเปลี่ยนกับการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไป สำนักงาน ป.ป..ช. จึงขอทราบข้อเท็จริงเพื่อใช้ประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดตามหนังสือที่อ้างถึง นั้น
ในการนี้ กรมทางหลวงขอเรียนให้ข้อมูลตามประเด็นคำถามของสำนักงาน ป.ป.ช. ดังนี้
1.ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงเจรจากับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) คู่สัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง ในการปรับลดค่าผ่านทาง ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการไปคืบหน้ามากน้อยเพียงใด ?
กรมทางหลวงได้มีคำสั่งที่ บ.1/1000/2567 ลงวันที่ 3 ก.ค.2567 แต่งตั้ง คณะทำงานพิจารณาการปรับอัตราค่าผ่านทาง โครงการทางหลวงสัมปทานในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอนดินแดง-ดอนเมือง และทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายทางด้านทิศเหนือ (โครงการฯ) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ แนวทางและความเป็นไปได้ในการชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางของโครงการฯ ก่อนเสนออธิบดีกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป (คณะทำงานฯ)
โดยคณะทำงานฯ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) ศึกษา วิเคราะห์ แนวทางและความเป็นไปได้ในการชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทาง รวมถึงการปรับลดอัตราค่าผ่านทาง เพื่อเสนอต่อธิบดีกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา
(2) ศึกษาผลกระทบของสัญญาสัมปทานฯ จากการชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทาง รวมถึงการปรับลดอัตราค่าผ่านทาง เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขต่ออธิบดีกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา
(3) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่อธิบดีกรมทางหลวงได้รับมอบหมาย
สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมาคณะทำงานฯ ได้มีการศึกษาและพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราค่าผ่านทางของโครงการฯ รวมถึงได้เชิญบริษัทฯ เข้าให้ข้อมูลต่อคณะทำงานฯ และรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการดำเนินการปรับลดอัตราค่าผ่านทางของโครงการฯ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาและการพิจารณาของคณะทำงานฯ เห็นว่า การปรับลดค่าผ่านทางและการขยายระยะเวลาสัมปทานเพื่อชดเชยผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท ยังไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการในขณะนี้ โดยกรมทางหลวงอยู่ระหว่างการเสนอผลการพิจารณาดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคม
2.กรมทางหลวงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร และประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่ ?
จากผลการศึกษาและการพิจารณาของคณะทำงานฯ เห็นควรที่จะไม่แก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยการปรับลดค่าผ่านทางและการขยายระยะเวลาสัมปทาน
3.เนื่องจากสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2577 ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของกรมทางหลวง ทำให้รัฐสามารถกำหนดอัตราค่าผ่านทางได้เองโดยไม่กระทบกับประชาชน เหตุใดกรมทางหลวงจึงไม่รอให้สัญญาสิ้นสุดแล้วดำเนินการเอง ?
จากผลการศึกษาและการพิจารณาของคณะทำงานฯ เห็นควรที่จะไม่แก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยการปรับลดค่าผ่านทางและการขยายระยะเวลาส้มปทาน
4.ขอข้อมูลรายได้ของทางยกระดับตอนเมืองในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ?
กรมทางหลวงขอนำเรียนสถิติรายได้ของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2566ดังนี้
ปี พ.ศ.2562 รายได้ค่าผ่านทางของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,816 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2563 รายได้ค่าผ่านทางของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,047 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2564 รายได้ค่าผ่านทางของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,202 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2565 รายได้ค่าผ่านทางของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,832 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2566 รายได้ค่าผ่านทางของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,325 ล้านบาท
5.การดำเนินการตามสัญญา เป็นการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลที่ใช้บังคับตามปี พ.ศ.2556 ?
ปัจจุบันสัญญาสัมปทานนี้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งกรมทางหลวงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลของโครงการฯ ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้พยายามติดต่อไปยัง สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เพื่อสอบถามถึงกรณีที่กรมทางหลวงทำหนังสือชี้แจงต่อ สำนักงาน ป.ป.ช. ว่า กรมทางหลวงจะไม่มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ‘ดอนเมืองโทล์ลเวย์’ แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงจาก สราวุธ แต่อย่างใด
ทั้งหมดนี้เป็นคำชี้แจงของกรมทางหลวงต่อ สำนักงาน ป.ป.ช. กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมืองระหว่างกรมทางหลวง กับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ซึ่งกรมทางหลวงอ้างผลการศึกษาฯของคณะทำงานฯที่ระบุว่า การแก้สัญญาสัมปทาน ‘ดอนเมืองโทล์ลเวย์’ ยังไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการในขณะนี้
อ่านประกอบ :
‘กทพ.’แจ้ง‘ป.ป.ช.’ขอขยายเวลาชี้แจง 10 ประเด็น ปมแก้สัญญาทางด่วน‘ศรีรัช’ อีก 30 วัน
ส่อเอื้อประโยชน์เอกชน! ป.ป.ช.สั่ง‘ทล.-กทพ.’แจงแก้สัญญา‘ดอนเมืองโทลล์เวย์-ทางด่วนศรีรัช’
‘พนักงาน กทพ.’1.8 พันคน ลงชื่อร้อง‘นายกฯ’ทบทวนต่อสัญญาทางด่วน ‘BEM-NECL’ 22 ปี 5 เดือน