‘กทพ.’ ทำหนังสือถึง ‘เลขาธิการฯ ป.ป.ช.’ ขอขยายเวลาชี้แจง 10 ประเด็น ปมแก้สัญญาสัมปทานทางด่วน ‘ศรีรัช’ ออกไปอีก 30 วัน ระบุต้องใช้เวลารวบรวม ‘ข้อมูล-เอกสาร’ ที่มีเป็นจำนวนมาก
....................................
จากกรณีที่สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริงกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัชระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยขอให้ กทพ.ชี้แจงข้อเท็จจริงภายในวันที่ 7 ส.ค.2567 นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยแจ้งว่า เนื่องจากมีข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลาในการรวบรวม กทพ.จึงขอขยายเวลาการจัดส่งข้อมูลพร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องออกไปอีก 30 วันนับจากวันที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดไว้ตามหนังสือ
“ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) แจ้งว่า สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ได้ดำเนินการติดตามเฝ้าระวังการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐและเอกชน กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัชระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรงเทพ จำกัด (มหาชน)
โดยทราบว่าการทางพิเศษฯ ได้ดำเนินการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช และอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งสำนักเฝ้าระวังฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เงื่อนไขในสัญญาบางประการตามที่สื่อมวลชนรายงามมีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา
สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช โดยขอให้การทางพิเศษฯ จัดส่งข้อมูลพร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สำนักงาน ป.ป.ช. ภายในวันที่ 7 ส.ค.2567 ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
การทางพิเศษฯ ขอเรียนว่า เนื่องจากมีข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลาในการรวบรวม การทางพิเศษฯ จึงขอขยายเวลาการจัดส่งข้อมูลพร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องออกไปอีก 30 วันนับจากวันที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดไว้ตามหนังสือที่อ้างถึง” หนังสือ กทพ. ที่ 10/1026 เรื่อง การแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช ลงวันที่ 7 ส.ค.2567 ลงนามโดยนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ได้ทำหนังสือขอให้ กทพ.ชี้ข้อเท็จจริงกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัชระหว่าง กทพ. กับ BEM จำนวน 10 ประเด็น ได้แก่
1.เนื่องจากสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัชฉบับแก้ไขจะสิ้นสุดในปี พ.ศ.2578 และทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทำให้รัฐสามารถกำหนดอัตราค่าผ่าผ่านทางได้เอง โดยไม่กระทบกับเอกชนคู่สัญญา เป็นเพราะเหตุใด กทพ. จึงเร่งรัดดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช ภายในเดือน ส.ค.2567
2.ขอทราบเหตุผลในการปรับลดสัดส่วนรายได้จากเดิม ที่สัดส่วนรายได้ระหว่าง กทพ. และ BEM อยู่ที่ร้อยละ 60 : 40 ปรับสัดส่วนเป็นร้อยละ 50 : 50 และมีการขยายระยะเวลาของสัญญาออกไปสิ้นสุดปี พ.ศ.2601
3.ปัจจุบันร่างแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัชอยู่ในขั้นตอนใด และได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือไม่
4.ขอสำเนาร่างแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัชที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
5.ขอข้อมูลรายได้ของทางพิเศษศรีรัชในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
6.ขอรายงานการวิเคราะห์ต้นทนผลประโยชน์ของโครงการ (Feasibility Study) พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
7.ขอข้อมูลการคำนวณมูลค่าปัจจุบัน ต้นทุนทั้งหมดตลอดอายุโครงการ ผลประโยชน์ทั้งหมดตลอดอายุโครงการ เปรียบเทียบระหว่างสัญญาฉบับปัจจุบันกับสัญญาฉบับใหม่
8.ต้นทุนการลงทุนในการก่อสร้างและการให้บริการ เปรียบเทียบรายได้ของรัฐเป็นอย่างไร
9.การดำเนินการตามสัญญา เป็นการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลที่ใช้บังคับตามปี พ.ศ.2556
10.โครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 (Double Deck) มีการศึกษาผลกระทบ ความจำเป็นในการก่อสร้างหรือไม่ มติคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร และอัตราค่าผ่านทางที่จะเสนอปรับลดเหลือ 50 บาท ครอบคลุมถึงโครงการ Double Deck หรือไม่ อย่างไร
อ่านประกอบ :
ส่อเอื้อประโยชน์เอกชน! ป.ป.ช.สั่ง‘ทล.-กทพ.’แจงแก้สัญญา‘ดอนเมืองโทลล์เวย์-ทางด่วนศรีรัช’
‘พนักงาน กทพ.’1.8 พันคน ลงชื่อร้อง‘นายกฯ’ทบทวนต่อสัญญาทางด่วน ‘BEM-NECL’ 22 ปี 5 เดือน