‘พนักงาน กทพ.’ กว่า 1.8 พันคน รวมตัวทำหนังสือร้อง ‘เศรษฐา-บอร์ด PPP’ พิจารณาต่อสัญญาทางด่วน ‘BEM-NECL’ 22 ปี 5 เดือน แลกสร้าง ‘Double Deck’ ชี้ทำ 'กทพ.-รัฐ' สูญเสียรายได้นับหมื่นล้าน
..................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2567 คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ด กทพ.) มีมติเห็นชอบผลการเจรจากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช)
พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบให้ กทพ. แก้ไขสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) ระหว่าง กทพ. กับ BEM โดยให้ BEM ดำเนินโครงการปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 และต่อขยายระยะเวลาสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) ออกไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2601 โดยให้ BEM ได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางของทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ส่วน AB ร้อยละ 50 ส่วนทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C และ D ให้ BEM ได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางฯ ร้อยละ 100
และมีมติเห็นชอบสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ระหว่าง กทพ. กับ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) โดยต่อขยายระยะเวลาสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ออกไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2601 โดยให้ NECL ได้รับส่วนแบ่งค่าผ่านทาง ร้อยละ 100 นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา พนักงานและลูกจ้างของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 1,836 ราย ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) และกรรมการ PPP โดยขอให้บอร์ด PPP พิจารณาทบทวนการขยายสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) จากวันที่ 31 ต.ค.2578 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน
นอกจากนี้ พนักงานและลูกจ้างของ กทพ.ยังทำหนังสือขอให้มีการทบทวนการขยายสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ดังกล่าว ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประธานและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน , สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ,คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นต้น
สำหรับหนังสือของพนักงานและลูกจ้างของ กทพ. เรื่อง ขอให้พิจารณาทบทวนการขยายสัมปทานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีเนื้อหาว่า
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ.2550 มีหน้าที่ก่อสร้างทางพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งปัจจุบัน กทพ. มีทางพิเศษทั้งหมด 7 สายทาง คือ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ,ทางพิเศษศรีรัช ,ทางพิเศษฉลองรัช ,ทางพิเศษอุดรรัถยา ,ทางพิเศษบูรพาวิถี ,ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษประจิมรัถยา
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2563 กทพ. ได้ลงนามกับ BEM เพื่อยกเลิกข้อพิพาทและคดีมูลค่า 78,461 ล้านบาท โดยต่อสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ออกไปถึงปี พ.ศ.2578 ซึ่งตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ได้กำหนดให้ กทพ. แบ่งรายได้ค่าผ่านทางพิเศษให้คู่สัญญา ดังนี้
1.รายได้ของทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ส่วนเอ และส่วนบี ร้อยละ 40
2.รายได้ของทางพิเศษศรีรัช ส่วนซี และส่วนดี ร้อยละ 100
3.รายได้ของทางพิเศษอุดรรัถยา ร้อยละ 100
ผลกระทบจากการต่อสัญญาสัมปทานทำให้ กทพ. รับรู้หนี้มูลค่า 78,461 ล้านบาท ทำให้กำไร (ขาดทุน) สุทธิในปีงบประมาณ 2563 เท่ากับ -65,568.92 ล้านบาท
หลังจากการต่อสัญญาสัมปทานประมาณ 2 เดือน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ปี พ.ศ.2563-2564) คู่สัญญาของ กทพ. ได้ทำหนังสือแจ้งผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ปริมาณจราจรบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัชลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เช่นเดียวกัน
ดังนั้น จึงไม่อาจถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะต้องชดเชยให้กับเอกชน เนื่องจากการดำเนินการของรัฐเป็นการใช้บังคับเป็นการทั่วไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่ได้มุ่งหมายให้มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของคู่สัญญา
ต่อมาพนักงานและลูกจ้าง กทพ. ได้ทราบว่า ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการต่อสัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) จากวันที่ 31 ต.ค.2578 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน (สิ้นสุดสัญญา พ.ศ. 2601) ทั้งนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง
โดยกำหนดให้ กทพ. จะแบ่งรายได้ค่าผ่านทางของทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ส่วนเอ และส่วนบี ให้ BEM เพิ่มอีก 10% จากเดิม 40% เป็น 50% ทางพิเศษศรีรัช ส่วนซี และส่วนดี รวมทั้งทางพิเศษอุดรรัถยาคู่สัญญาได้รับ 100% เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทางจากเดิม 90 บาท ให้คงเหลือ 50 บาท ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) มูลค่าประมาณ 34,800 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวอัตราผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) เท่ากับ -3.43% แต่ กทพ. ยอมให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนกับเอกชนถึง 9.75% ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ กทพ. ยอมจ่ายให้เอกชน 7.1% ต่อปี
อีกทั้งยังกล่าวอ้างว่าเอกชนยอมสละสิทธิ์การขอชดเชยกรณีผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ ไวรัสโคโรน่า 2019 มูลค่าประมาณ 5,756 ล้านบาท ทั้งที่มิใช่เหตุที่จะนำมากล่าวอ้างได้แต่อย่างใด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ กทพ. อย่างรุนแรง กทพ. จึงได้เสนอแนวทางการลดผลกระทบโดยขอลดเงินนำส่งรายได้แผ่นดินเท่ากับจำนวนรายได้ค่าผ่านทางที่ลดลงจากนโยบายลดค่าผ่านทาง และนำจำนวนรายได้ที่ลดลงมาบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อการจัดสรรโบนัส
แต่ที่สำคัญ คือ ผลกระทบต่อประชาชน เนื่องด้วย กทพ. ต้องขอลดเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน เท่ากับจำนวนรายได้ค่าผ่านทางที่ลดลงจากนโยบายการลดอัตราค่าผ่านทางพิเศษ
โดยในคราวประชุมคณะกรรมการ กทพ. ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2567 ที่ประชุมได้มีเห็นชอบผลการเจรจาและการแก้ไขสัญญาเพื่อต่อระยะเวลาของสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ต่อมาในคราวประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการทั้งสองโครงการ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2567
ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ได้มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขสัญญาฯ ตามที่คณะกรรมการ กทพ. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2567 กทพ.ได้ส่งร่างสัญญา พร้อมข้อสังเกตของ กทพ. ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเรียบร้อยแล้ว
ในการนี้ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในฐานะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ยังคงมีความเห็นสำคัญที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก กทพ. ยังเสนอข้อมูลและรายละเอียดกรณีแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนไม่เพียงพอต่อการพิจารณา และขอให้ กทพ. ดำเนินการแก้ไขสัญญาให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
อีกทั้งให้คำนึงถึงหลักการสำคัญของการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ สิทธิและประโยชน์ของผู้รับบริการจากโครงการร่วมลงทุนและ กทพ. ต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนหรือจะดำเนินการเสนอโครงการใหม่ โดยอาศัยข้อมูลและรายละเอียดที่เพียงพอ คำนึงถึงเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 อย่างเคร่งครัด
หากพิจารณาตามความในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการก่อสร้าง Double Deck ถือเป็นโครงการใหม่ กทพ. จำต้องศึกษาและจัดทำแนวทางตามขั้นตอนของกฎหมายในกรณีเสนอโครงการใหม่แยกต่างหากจากโครงการเดิม โดยกำหนดให้ กทพ. จะต้องจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ทางเลือกและรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ความพร้อมในการจัดทำและดำเนินโครงการที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ รวมถึงความพร้อมในด้านการได้
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการใช้ทรัพย์สิน ผลกระทบต่อประชาชนจากการดำเนินโครงการ ความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและดำเนินโครงการ รวมถึงความเห็นของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการก่อสร้าง Double Deck กทพ. มีความจำเป็นต้องขอให้รัฐมีมาตรการสนับสนุนในสิทธิการเช่า/ใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของหน่วยงานรัฐ อันได้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง กรุงเทพมหานคร
อีกทั้ง กทพ. ยังต้องขอความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง หรือหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย กทพ. จะต้องให้รัฐสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน เพื่อนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานต่างๆ มูลค่ามากกว่า 700 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 บัญญัติว่า ในกรณีที่มาตรการสนับสนุนใดต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณรายได้ของแผ่นดิน งบประมาณของหน่วยงานเจ้าของโครงการ หรือจะต้องมีการก่อหนี้โดยการกู้หรือการค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง เพื่อใช้จ่ายในการให้การสนับสนุนแก่โครงการร่วมลงทุนดังกล่าว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐโดยเคร่งครัด
รวมทั้งในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง กทพ. จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพิ่มเติมด้วย
จากการดำเนินงานเพื่อจะต่อระยะเวลาของสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) รอบที่ 2 พนักงานและลูกจ้าง กทพ. ได้พิจารณาแล้วพบว่า การดำเนินการดังกล่าวมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 การดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติ ประชาชน และ กทพ. ดังนี้
1.ประเทศชาติและประชาชนมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เนื่องจาก กทพ. ต้องขอใช้เงินแผ่นดิน เพื่อนำมาจ่ายค่าขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 700 ล้านบาท และต้องกู้เงินเพื่อมาลงทุนและบริหาร กทพ. ต้นเงินรวมดอกเบี้ยประมาณ 159,179.68 ล้านบาท จึงถือเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะให้ประชาชนที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งข้อมูล ณ เดือนเม.ย.2567 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เท่ากับ 63.78% เทียบกับเดือน เม.ย.2566 เท่ากับ 61.74% พบว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 3.30%
2.ประเทศชาติและประชาชนต้องสูญเสียรายได้เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ เนื่องจาก กทพ. นำส่งรายได้ให้กับแผ่นดินลดลงประมาณปีละ 2,000-4,000 ล้านบาท
3.กทพ. ต้องแบ่งสัดส่วนเพิ่มเติมหลังจากลงนามในสัญญาทันที (ปี 2568-2601 ประมาณ 34 ปี) เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปให้เอกชนเพียงรายเดียวประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท
4.กทพ. ต้องรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่มาใช้ในการลงทุนและบริหารงาน
5.กทพ. ต้องขาดรายได้ประมาณปีละ 1,300-2,600 ล้านบาท
6.กทพ. ขาดสภาพคล่องโดยประมาณการเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2567-2586 ได้ดังนี้
6.1 ปีงบประมาณ 2568 ประมาณ 20 ล้านบาท
6.2 ปีงบประมาณ 2569 ประมาณ 600 ล้านบาท
6.3 ปีงบประมาณ 2570 ประมาณ 6,500 ล้านบาท
6.4 ปีงบประมาณ 2571 ประมาณ 1,100 ล้านบาท
6.5 ปีงบประมาณ 2579 ประมาณ 400 ล้านบาท
6.6 ปีงบประมาณ 2580 ประมาณ 13,000 ล้านบาท
6.7 ปีงบประมาณ 2581 ประมาณ 18,000 ล้านบาท
6.8 ปีงบประมาณ 2582 ประมาณ 3,000 ล้านบาท
7.การดำเนินงานของ กทพ. ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตกลงกับ สคร.
8.กทพ. เสียโอกาสในการจัดหารายได้จากพื้นที่ใต้เขตทาง
9.กทพ. อาจจะต้องถูกคู่สัญญาเรียกร้องค่าชดเชยทั้งเป็นการขยายระยะเวลาหรือตัวเงินในกรณีต่างๆ เช่น กทพ. ส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา เนื่องจากพื้นที่มีภาระผูกพันจากการให้เช่าพื้นที่กับบุคคลภายนอก หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ยินยอมให้ใช้พื้นที่ เป็นต้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นปรากฏชัดว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้รัฐเสียหายไม่เป็นไป ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 28 ที่่กำหนดว่า การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการโดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐ นั้น เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม
และมาตรา 29 ให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรา 28 จัดทำบัญชีสำหรับการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ได้รับมอบหมายแยกต่างหากจากบัญชีการดำเนินงานทั่วไป พร้อมทั้งเสนอรายงานผลการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและผลสัมฤทธิ์ต่อรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย
ประกอบมาตรา 37 วรรคสอง กำหนดว่า การก่อหนี้ผูกพันและการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินงานต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด โดยพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่ได้รับผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพของหน่วยงานของรัฐ และต้องเป็นไปตามรายการและวงเงินงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานและรัฐนั้นด้วย
รวมทั้งมาตรา 43 กำหนดว่า การก่อหนี้ที่ผูกพันการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือเงินอื่นของหน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาภาระทางการเงินที่ เกิดขึ้นและข้อผูกพันในการชำระเงินตามสัญญา และประโยชน์ที่รัฐจะได้รับด้วย อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าว ยังขัดกับส่วนที่ 4 การก่อหนี้และการบริหารนี้ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกด้วย
“พนักงานและลูกจ้าง กทพ. มิได้คัดค้านการช่วยเหลือผู้ใช้บริการทางพิเศษ แต่เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ใช้บริการทางพิเศษรวมถึงประชาชนโดยส่วนรวมอย่างยั่งยืน พนักงานและลูกจ้าง กทพ. มีความเห็นว่าการลดค่าผ่านทางหรือการก่อสร้าง Double Deck หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 31 ต.ค.2578 นั้น จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นธรรมมากที่สุด อีกทั้งยังไม่ทำให้ประเทศชาติ ประชาชน และ กทพ. เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงอีกด้วย
จากเดิม กทพ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีความมั่นทางการเงินและการบริการ กลับต้องเป็นรัฐวิสาหกิจที่อ่อนแอ เป็นภาระต่อรัฐ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อพนักงานและลูกจ้าง กทพ. ซึ่งเป็นประชาชนคนไทยกว่า 5,000 คน นำมาซึ่งความเดือนร้อนต่อครอบครัวของพนักงานและลูกจ้าง กทพ. อีกนับหมื่นคน รวมทั้งการออกนโยบายการลดค่าผ่านทางครั้งนี้ประชาชน ผู้ใช้ทางมิได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง แต่เป็นการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนเพียงรายเดียวให้ได้รับการต่ออายุสัมปทาน
เพราะมิได้คำถึงประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษในสายทางอื่นๆ เช่น ทางพิเศษอุตราภิมุข มอเตอร์เวย์ สาย 7 และสาย 9 เป็นต้น ซึ่งมิได้มีการลดค่าผ่านทางเพื่อช่วยประชาชนตามนโยบาย หรือหลักการของรัฐ ในทางกลับกันทางพิเศษอุตราภิมุขก็ได้มีการปรับเพิ่มราคาค่าผ่านทาง 10 บาท ทุก 5 ปี ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ 80 บาท และในเดือนธ.ค.2567 จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 90 บาท
แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกลับมีนโยบายลดค่าผ่านทาง เฉพาะบางสายทางเพื่อให้รัฐนำเงินแผ่นดินไปชดเชยในส่วนรายได้ที่ขาดหายไปของเอกชนเพียงรายเดียว ทั้งที่ตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) กำหนดให้มีการปรับเพิ่มราคาค่าผ่านทาง 10 บาท ทุก 10 ปี เพื่อประโยชน์ของประชาชนแล้ว
ด้วยเหตุนี้พนักงานและลูกจ้าง กทพ. จึงขอความกรุณาจากท่านโปรดพิจารณาทบทวนการต่อสัมปทานออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทางและการเร่งก่อสร้าง Double Deck โดยรัฐต้องนำเงินไปช่วยเหลือเยียวยารายได้ของเอกชนที่หายไป ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ที่จะนำไปสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริง เหตุเพราะ กทพ. ยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินการดังกล่าว” หนังสือของพนักงานและลูกจ้าง กทพ. ลงวันที่ 21 มิ.ย.2567 ระบุ