“…การควบคุมปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ มีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งค่าคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น -0.45 ใน พ.ศ.2565 จาก -0.48 คะแนน ใน พ.ศ. 2564 คิดเป็นปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.03 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 รองจากประเทศสิงค์โปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ตามลำดับ…”
..................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ครม. รับทราบ 'สรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2566' ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เสนอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปผลการดำเนินการตาม ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ประจำปี 2566 ตามยุทธศาตร์ฯทั้ง 6 ด้าน ดังนี้
@อันดับ‘ดัชนีสันติภาพโลก'ดีขึ้น หลังเปลี่ยนสู่‘ประชาธิปไตย’
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
การดำเนินการใน พ.ศ.2566 ประเทศไทยมีการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสถานการณ์ความมั่งคงภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากระบบการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีผ่านการเลือกตั้งในช่วงต้น พ.ศ.2566 รวมถึงระดับความมั่นคง ปลอดภัยทางสังคม และระดับของกำลังทหารดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสถานการณ์สันติภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในภูมิภาคแปซิก มีรายละเอียดดังนี้
เป้าหมายการพัฒนาที่ 1 ประชาชนอยู่ดีกินดีและมีความสุข
จากดัชนีชี้วัดความสุขโลก ที่จัดทำโดยเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยภายใต้องค์การสหประชาชาติ พบว่า พ.ศ.2566 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 60 จาก 146 ประเทศ เทียบกับ พ.ศ.2565 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 61 จากทั้งหมด 146 ประเทศ ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับ
อย่างไรก็ตาม พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีค่าคะแนนลดลงอยู่ที่ 5.843 คะแนน จาก 5.891 คะแนน ใน พ.ศ.2565 หรือคิดเป็นลดลงร้อยละ 0.81
เป้าหมายการพัฒนาที่ 2 บ้านเมือง มีความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับ
จากดัชนีสันติภาพโลก พบว่า พ.ศ.2566 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 92 จาก 163 ประเทศ จากอันดับที่ 103 จากทั้งหมด 163 ประเทศ ใน พ.ศ.2565 โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 10.6 และได้คะแนนดัชนีสันติภาพโลก ในพ.ศ.2566 อยู่ที่ 2.061 คะแนน เทียบกับ พ.ศ.2565 ที่มีค่าคะแนน 2.098 คิดเป็นลดลงร้อยละ 1.76 ทำให้มีผลดีขึ้นมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ทั้งนี้ จากรายงานของดัชนีสันติภาพโลก พบว่า การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศของประเทศไทย ในช่วงเดือน พ.ค.2566 เป็นการเปลี่ยนผ่านของอำนาจทหารสู่ความเป็นประชาธิปไตย ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของคะแนนและอันดับดีขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 ปี
เป้าหมายการพัฒนาที่ 3 กองทัพ หน่วยงานด้านความมั่นคง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง
จากรายงานดัชนีสันติภาพโลก พบว่า การทหารของทั่วโลกมีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสูงถึงร้อยละ 6.2อาทิ มีการเพิ่มขนาดของกองทัพ และการเก็บอาวุธสงครามในหลายุประเทศในขณะเดียวกันมีการโจมตีด้วยโดรนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.8 ทำให้จำนวนกลุ่มคนที่ใช้โดรนในการโจมตีเพิ่มขึ้นร้อยละ 24
ขณะเดียวกัน พ.ศ.2566 ประเทศไทยได้มีการขยายอิทธิพลทางการทหาร อยู่ในอันดับที่ 19 เทียบกับอันดับที่ 20คิดเป็นการพัฒนาดีขึ้นร้อยละ 5 และมีค่าคะแนนใน พ.ศ.2566 อยู่ที่ 1.454 คะแนน เทียบกับ พ.ศ.2565 ที่มีคะแนน 1.480 คะแนน คิดเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากค่าคะแนนรอยละ 1.75
ทั้งนี้ สำหรับคะแนนในปี พ.ศ.2566 เรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศและระหว่างประเทศ ประเทศไทยมีคะแนน 1.841 คะแนน เทียบกับ พ.ศ.2565 มีคะแนน 1.902 คะแนน หรือคิดเป็นปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 3.2 รวมถึงคะแนน ความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคม มีคะแนน 2.599 เทียบกับ พ.ศ.2565 มีคะแนน 2.628 คะแนน หรือ คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.10 สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการปรับตัวเรื่องกองทัพและความมั่นคงที่ดีขึ้น
เป้าหมายการพัฒนาที่ 4 ประเทศไทยมีบทบาทด้านความมั่นคงเป็นที่ชื่นชมและได้รับการยอมรับโดยประชาคมระหว่างประเทศ
ใน พ.ศ.2566 ประเทศไทยสามารถรักษาสมดุลในการรักษาความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งขั้วอำนาจอื่นๆ อย่างสมดุลและยืดหยุ่น รวมไปถึงการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอันนำมาซึ่งความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ
เป้าหมายการพัฒนาที่ 5 การบริหารจัดการความมั่นคงมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
ใน พ.ศ.2566 ผลการประเมินดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จากทั้งหมด 16 ประเทศ เทียบกับ พ.ศ.2565 ที่อยู่ในอันดับที่ 72 จาก 167 ประเทศ คิดเป็นการปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 23.61 และมีค่าคะแนน ใน พ.ศ.2566 ที่ 6.67 เทียบกับค่าคะแนน 6.04 ใน พ.ศ.2565 คิดเป็นการปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 10.43
ทั้งนี้ คะแนนในด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นคะแนนที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยมีคะแนน 8.33 ใน พ.ศ.2566 และ 6.67 ใน พ.ศ.2565 คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.89 มีผลมาจากการที่ประชาชนไทยมีความเต็มใจและมีแนวโน้มในการเข้าร่วมในการแสดงออกและเคลื่อนไหวทางสังคมที่มากขึ้น
รวมถึงการเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีการผ่อนคลายมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ใน พ.ศ.2565 และการสามารถควบคุมสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแด้นภาคใต้ได้ดีขึ้น
@อันดับ‘ขีดแข่งขัน’ไทยเพิ่ม มูลค่าเงินลงทุน-วิจัยลด 5.98%
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
เป้าหมายการพัฒนาที่ 1 ประเทศไทยเป็นประเทศที่่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน
ประเทศไทยมีการปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากรายได้ประชาชาติ ที่มีมูลค่า 16,878,222 ล้านบาท ขยายตัวจาก พ.ศ. 2565 ที่ีมีมูลค่า 15,626,316 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 8 และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) พ.ศ.2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ย.2566) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง รวมทั้งการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองให้สามารถเข้าประเทศได้ และภาวะการค้าระหว่างประเทศที่ฟื้นตัว ซึ่งส่งผลบวกต่อด้านการผลิตของไทยเช่นกัน
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) พ.ศ.2566 ข้อมูล วันที่ 20 พ.ย.2566 มีลค่ารวม 17,370.2 พันล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 16,166.6 พันล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.6 จากปีก่อน นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 1.0 ของ GDP
เป้าหมายการพัฒนาที่ 2 ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย พ.ศ.2566 อยู่ในอันดับที่ 30 จาก 64 ประเทศ เทียบกับอันดับที่ 33 ใน พ.ศ. 2565 หรือคิดเป็นการพัฒนาที่ดีขึ้นร้อยละ 9.09 และมีคะแนนสุทธิที่ 74.54 เทียบกับ 68.67 คะแนน ใน พ.ศ.2565 หรือคิดเป็นการพัฒนาที่ดีขึ้นร้อยละ 8.55
โดยประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกปัจจัยหลัก โดยเฉพาะด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นถึง 18 อันดับ ตามมาด้วยด้านประสิทธิภาพภาครัฐและด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้น 7 อันดับ รวมถึงด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ปรับดีขึ้น 1 อันดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการกลับมาเปิดประเทศหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของประเทศไทย ใน พ.ศ.2564 อยู่ที่ 195,570 ล้านบาท ลดลงจาก พ.ศ. 2563 ที่มีมูลค่า 208,010 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราที่หดตัวลดลงร้อยละ 5.98 โดยเป็นค่าใช้จ่ายจากภาคเอกชน 144,887 ล้านบาท และภาครัฐรวมถึงภาคอุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร 50,683 ล้านบาท
@ทักษะ‘นักเรียนไทย’ 3 ด้านลด 4.5%-ชี้‘ปัจจัยลบ’เอื้อพัฒนาคน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
ในภาพรวมค่อนข้างคงที่ เป็นผลมาจากการพัฒนาของปัจจัยในด้านต่างๆ ที่มีทั้งการปรับตัวดีขึ้นและปรับตัวลดลง มีรายละเอียด ดังนี้
เป้าหมายการพัฒนาที่ 1 คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21
(1) สถานการณ์คุณธรรมของคนในสังคมไทยในแต่ละช่วงวัย พ.ศ.2566 มีค่าคะแนน 4.73 คะแนน ปรับตัวดีขึ้นจาก 4.56 คะแนน ใน พ.ศ.2565 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.73
(2) การประเมินผลทางการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พ.ศ.2565 มีค่าคะแนนเฉลี่ย 35.68 คะแนน ปรับตัวดีขึ้นจาก 34.56 คะแนน หรือคิดเป็นการปรับตัวดีขึ้น ร้อยละ 3.25 คะแนน จาก พ.ศ.2564 แสดงให้เห็นถึงการศึกษาของไทยที่เริ่มมีการพัฒนาดีขึ้น จากในช่วง พ.ศ.2561-2564 ที่ทิศทางการพัฒนามีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด
(3) การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) พ.ศ.2565 นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยทุกวิชาลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์ลดลงอยู่ที่ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ลดลงอยู่ที่ 409 คะแนน และด้านการอ่านลดลงอยู่ที่ 379 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนไทยมีทักษะทั้ง 3 ด้าน ที่ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 4.50 โดยเฉพาะด้านการอ่านเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเรียนรู้ในด้านอื่นๆของนักเรียน
(4) อัตราตายด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (No communicable Diseases : NCDs) ของ 4 โรคหลักมีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย และ
(5) สภาวะโรคซึมเศร้า มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 358,267 คน จาก 355,537 คน ใน พ.ศ.2563 ในขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายคงที่
เป้าหมายการพัฒนาที่ 2 สังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต
จากดัชนีความก้าวหน้าของคนด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน สถานการณ์ พ.ศ.2566 พบว่า การพัฒนาสังคมและครอบครัวไทยมีทิศทางการพัฒนาไม่คงที่ โดยใน พ.ศ.2565 มีการปรับตัวลดลงอยู่ที่ 0.6437 คะแนน จาก 0.6487 คะแนนใน พ.ศ.2564 หรือคิดเป็นปรับตัวลดลงร้อยละ 0.77
โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเดี่ยว อัตราเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และการแจ้งความคดี ชีวิต ร่างกาย เพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ทั้งนี้ ผู้ส่งอายุุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวมีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการย้ายถิ่นของประชากร
ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของดัชนีดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคน
@ช่องว่างรายจ่ายบริโภคฯ‘คนรวย-คนจน’ ห่างกัน 8.25 เท่า
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมสถานการณ์
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยใน พ.ศ.2566 พบว่า การขับเคลื่อนประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาในระยะที่ผ่านมามีความก้าวหน้า มีรายละเอียด ดังนี้
เป้าหมายการพัฒนาที่ 1 สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายโดยรวมปรับตัวดีขึ้นใน พ.ศ.2566 โดยเมื่อพิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ตามรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย พ.ศ.2565 พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคมีค่าเท่ากับ 0.343 คิดเป็นการปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 2.04 จาก 0.350 ใน พ.ศ. 2564
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายระหว่างเขตการปกครอง พบว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายในพื้นที่เขตเทศบาลมีแนวโน้มลดลง แต่ระดับความรุนแรงยังคงสูงกว่าในพื้นที่นอกเขตเทศบาล
ทั้งนี้ จากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย พ.ศ.2565 พบว่า ถึงแม้รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มประชากร แต่ช่องว่างด้านรายจ่ายของกลุ่มประชากรที่มีฐานะดีที่สุดต่อกกลุ่มที่มีฐานะต่ำที่สุดยังคงอยู่ในระดับสูง
โดยภาพรวมด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ย/คน/เดือนอยู่ที่ 7,684 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.54 จาก พ.ศ.2564 กลุ่มประชากรที่รวยที่สุด (Decile 10) มีรายจ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20,288 บาท/คน/เดือน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.52 จาก พ.ศ. 2564 ขณะที่กลุ่มประชากรที่จนที่สุด (Decile 1) มีรายจ่ายโดยเฉลี่ยเท่ากับ 2,461 บาท/คน/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.20 จาก พ.ศ.2564
ในด้านส่วนแบ่งรายจ่าย เมื่อพิจารณาจากช่องว่างด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชากร จำแนกตามระดับรายจ่ายมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ช่องว่างด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคระหว่างกลุ่มประชากรที่จนที่สุด (Decile 1) และกลุ่มประชากรที่รวยที่สุด (Decile 10) ลดลงเป็น 8.25 เท่า ใน พ.ศ.2565 จาก 8.61 เท่า ใน พ.ศ.2564 โดยกลุ่มประชากรที่จนที่สุด (Decile 1) มีส่วนแบ่งรายจ่ายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มประชากรที่รวยที่สุด (Decile 10) มีสัดส่วนด้านรายจ่ายต่อรายจ่ายรวมทั้งประเทศลดลง
เป้าหมายการพัฒนาที่ 2 การกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศในทุกระดับ
โดยสถานการณ์ พ.ศ.2566 พิจารณาจากรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคนปี 2565 พบว่า มีการปรับตัวสูงขึ้นโดยมีค่าคะแนน พ.ศ. 2565 เท่ากับ 0.6445 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.08 จาก 0.6376 คะแนน ใน พ.ศ.2564 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นขึ้นจากการพัฒนาคนใน 5 ด้าน จาก 8 ด้าน ได้แก่ ด้านชีวิตการงาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านการคมนาคมและการสื่อสารและด้านการศึกษา
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีความก้าวหน้าของคนรายจังหวัด พบว่า จังหวัดมากกว่าครึ่ง หรือ 44 จังหวัด มีระดับความก้าวหน้าของคนต่ำกว่าค่าดัชนีความก้าวหน้าของคนในภาพรวมของประเทศ
เป้าหมายการพัฒนาที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการพึ่งตนเองและการจัดการตนเองเพื่อสร้างสังคมคุณภาพ
สถานการณ์ใน พ.ศ.2566 พิจารณาจากรายุงานดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2565 โดยดัชนีความก้าวหน้าของคนในด้านการมีส่วนร่วมรายจังหวัด พบว่า ทิศทางการพัฒนาคนด้านชีวิตครอบครัวและชุมชนในระดับจังหวัด มีค่าการพัฒนาและการกระจายตัวการพัฒนาปรับตัวเพิ่มขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ใน พ.ศ.2566 ประเทศไทยมีการดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในปี 2565 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าธรรมชาติ 102.14 ล้านไร่ ลดลงจาก พ.ศ. 2564 ที่ 102.21 ล้านไร่ คิดเป็นการลดลงร้อยละ 0.068 และมีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนอยู่ที่ 25.70 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2564 ที่มีปริมาณ 24.98ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.88 ขณะที่คุณภาพน้ำผิวดินมีแนวโน้มลดลงจากปี 2564
@ไทยรั้งอันดับ 6 อาเซียน คุมทุจริต แพ้‘มาเลย์-เวียดนาม-อินโดฯ’
ยุทธศาสตร์ที่ 6 ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
ประเทศไทยมีการปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจาก
(1) ภาครัฐมีวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รัวดเร็ว โปร่งใส ภายใต้ดัชนีชี้วัดธรรมาภิบาลโลก (WGI) พ.ศ. 2565 มีค่าคะแนนอยู่ที่ 0.13 คะแนน ลดลงจาก 0.22 คะแนน จาก พ.ศ. 2564 คิดเป็นปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.09
(2) ภาครัฐมีขนาดที่เล็กลง พรัอมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2565 พิจารณาจากดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 55 จาก 193 ประเทศ ปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับ คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.50 จาก พ.ศ.2563 และการสำรวจระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล พ.ศ.2566 ที่มีคะแนนความพร้อมอยู่ในระดับที่ 3 (ระดับขั้นกลาง)
(3) สถานการณ์ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2566 พิจารณาจากผลการประเมินด้านการควบคุมปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ ภายใต้ดัชนีชี้วัดธรรมาภิบาลโลก (WGI) ที่พิจารณาความสามารถของภาครัฐในการควบคุมไม่ให้มีการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างผลประโยุชน์ส่วนตัวผ่านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
พบว่า การควบคุมปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ มีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งค่าคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น -0.45 ใน พ.ศ.2565 จาก -0.48 คะแนน ใน พ.ศ. 2564 คิดเป็นปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.03 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 รองจากประเทศสิงค์โปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ตามลำดับ
(4) กระบวนการยุติธรรมเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ ภาพรวมของหลักนิติธรรม พ.ศ.2565 โดยพิจารณาจากการประเมินด้านหลักนติธรรมิ ภายใต้ดัชนีชีวัดธรรมาภิบาลโลก (WGI) ที่พิจารณาถึงคุณภาพของการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุุติธรรม และการควบคุมิอาชญากรรมและความรุนแรง
พบว่า ภาพรวมของหลักนิติธรรมในประเทศไทย มีการปรับตัวลดลง ซึ่งค่าคะแนนลดลงเป็น 0.07 คะแนน ใน พ.ศ. 2565 จาก 0.09 คะแนน ใน พ.ศ. 2564 คิดเป็นการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.02 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียุบกับประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยอยุ่อันดับที่ 4 รองจากประเทศ สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย ตามลำดับ
เหล่านี้เป็นสรุปสาระสำคัญของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งพบว่าแม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะมีการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 แต่ยังมีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขอีกหลายจุด เช่น ความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างในด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคฯระหว่าง ‘คนรวย-คนจน’ ที่ห่างกัน 8.25 เท่า
อีกทั้งยังพบว่าคะแนนทักษะ ‘นักเรียนไทย’ ในด้าน ‘คณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์-การอ่าน’ ซึ่งได้จากการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ลดลงเฉลี่ย 4.5% ในขณะที่การควบคุมปัญหา ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ พบว่าประเทศไทยรั้งอันดับที่ 6 ของอาเซียน เป็นรองทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
อ่านเพิ่มเติม : รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2566
อ่านประกอบ :
รัฐบาลเคาะ 7 แนวทางจัดทำงบปี 68 ยึด‘ยุทธศาสตร์ชาติ-หนุนเศรษฐกิจโต-เลิกโครงการไม่จำเป็น’
‘อดีตที่ปรึกษาสำนักงบฯ’ชี้ยกเลิก‘ยุทธศาสตร์ชาติ’เป็นเรื่องยาก แนะ‘ทบทวน’น่าจะยุ่งน้อยกว่า
'เศรษฐา' เล็งรื้อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม
ประเมิน 5 ปี ยุทธศาสตร์ชาติ ‘คนรวย-จน’ใช้จ่ายห่างกัน 8.61 เท่า-คะแนน'ธรรมภิบาลปท.'ยังต่ำ
‘ประยุทธ์’ ประกาศประพฤติตนซื่อสัตย์ ไม่ทุจริต ย้ำบรรจุแผนปราบโกงในยุทธศาสตร์ชาติแล้ว
ผล ITA ปี64-ค่าเฉลี่ยทั่ว ปท. 81.25 ดีขึ้นแต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ตามยุทธศาสตร์ชาติต้านโกง