“…ใน พ.ศ.2564 กลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายจ่ายสูงที่สุด (decile 10) มีค่าเฉลี่ยรายจ่ายเพื่อการบริโภคเท่ากับ 19,227 บาท/คน/เดือน ขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายจ่ายต่ำที่สุด (decile 1) มีค่าเฉลี่ยรายจ่ายเพื่อการบริโภคเท่ากับ 2,233 บาท/คน/เดือน โดยสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชากร (สัดส่วนกลุ่มที่ 10 /กลุ่มที่ 1) ใน พ.ศ. 2564 คิดเป็น 8.61 เท่า แตกต่างเล็กน้อยจาก พ.ศ.2563 ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 8.62 เท่า…”
..............................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์ชาติ ได้เสนอ 'รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565' ซึ่งเป็นรายงาน ‘ฉบับที่ 4’ ที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 24 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ให้ ครม. รับทราบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าว ในส่วน ‘การประเมินผลการพัฒนาตามเป้าหมายภาพรวมของยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 มิติ’ ให้สาธารณชนรับทราบ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@พิษโควิด-19 ทำ‘ความอยู่ดีมีสุข-ความอยู่เย็นเป็นสุขฯ’คนไทยลดลง
มิติที่ 1 ความอยู่ดีมีสุขของคนไทยและสังคมไทย
การดำเนินการในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2561-2565) พบว่า ความอยู่ดีมีสุขของประเทศไทย และความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยมีพัฒนาการที่ลดลง ทั้งในระดับนานาประเทศ และระดับภายในประเทศ โดยมีสาเหตุสำคัญจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนไทยมีความสุขลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับความอยู่ดีมีสุขของนานาประเทศที่ลดลงทั่วโลก
ทั้งนี้ หากพิจารณา ‘ความอยู่ดีมีสุข’ ของประเทศไทย ใน พ.ศ.2565 พบว่า คนไทยมีความอยู่ดีมีสุขปรับตัวลดลง โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 61 จาก 146 ประเทศ และมีค่าคะแนน 5.891 คะแนน ลดลง จาก พ.ศ.2564 ที่อยู่ในอันดับที่ 54 จาก 149 ประเทศ และมีค่าคะแนน 5.985 คะแนน
หากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน พบว่าใน พ.ศ.2565 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับที่ 27 (6.480 คะแนน) และฟิลิปปินส์ ที่อยู่ในอันดับที่ 60 (5.904 คะแนน) โดยอันดับลดลงจาก พ.ศ.2564 ที่อยู่ในอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์เพียงประเทศเดียว
“ถึงแม้ว่าค่าคะแนนภาพรวมใน พ.ศ.2565 จะลดลง แต่กลับพบว่าคะแนนของแต่ละปัจจัย ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการรายงานคะแนนภาพรวม มีค่าคะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าทุกปัจจัย สะท้อนให้เห็นถึงความอยู่ดีมีสุขของคนไทยที่เพิ่มขึ้น”
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของรายงานความสุขโลก ชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และสงคราม ก่อให้เกิดความเมตตากรุณาเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ได้แก่ การบริจาคเงินให้กับการกุศล การช่วยเหลือคนแปลกหน้า และการทำงานอาสาสมัครที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับก่อนมีการแพร่ระบาดของโรค
ในส่วน ‘ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย’ ซึ่งจัดทำโดย สศช. ซึ่งเป็นดัชนีรวมในระดับประเทศ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.การมีสุขภาวะ 2.เศรษฐกิจเข้มแข็งและเป็นธรรม 3. สิ่งแวดล้อมและและระบบนิเวศสมดุล 4.สังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล และ 5.การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย นั้น
พบว่า ระดับ ‘ความอยู่เย็นเป็นสุข’ อยู่ในระดับดี โดยในช่วง พ.ศ. 2561-2563 คนไทยและสังคมไทยมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันใน ‘ระดับปานกลาง’ แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีคะแนนอยู่ 75.00 ในปี พ.ศ.2561 และลดลงเป็น 74.92 ในปี พ.ศ.2562 ก่อนจะลดลงเหลือ 72.41 ในปี พ.ศ.2563
ทั้งนี้ ใน พ.ศ.2563 พบว่า ภาพรวมของดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย มีคะแนนลดลง โดย 4 ใน 5 องค์ประกอบของดัชนีมีค่าคะแนนลดลงจากปี 2562 โดยเฉพาะองค์ประกอบด้าน ‘สังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล’ มีค่าคะแนนต่ำสุด และอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข ขณะที่องค์ประกอบเศรษฐกิจเข้มแข็งและเป็นธรรมมีค่าคะแนนสูงสุด
โดยมีสาเหตุสำคัญจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลาย พ.ศ.2562 ประกอบกับรัฐบาลต้องออกมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งการคัดกรองและเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ มาตรการปิดสถานที่สาธารณะที่มีความเสี่ยง มาตรการห้ามเที่ยวบินพาณิชย์จากต่างประเทศบินเข้าไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา
อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศสมดุลมีคะแนนเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากการลดลงของปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาขยะมูลฝอย รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธรณะลดลง
ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างการจัดทำดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย พ.ศ. 2564
@‘ขีดความสามารถแข่งขัน’ไทยลดลง-ช่องว่าง‘กระจายรายได้’เพิ่มขึ้น
มิติที่ 2 ขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้
การดำเนินการในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561–2565) พบว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน และการกระจายรายของประเทศไทยมีการพัฒนาที่ลดลง โดยมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้การพัฒนาและยกระดับประเทศด้านความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาการพัฒนาเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2565 พบว่า ไตรมาสที่สาม ขยายตัวร้อยละ 4.5 (%YoY) เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.3 และร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สอง ตามลำดับ ซึ่งใน พ.ศ. 2565 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.5 ใน พ.ศ.2564
สะท้อนการถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทย รวมถึงมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ใน พ.ศ.2565 อยู่ในอันดับที่ 33 จากทั้งหมด 63 ประเทศ โดยมีผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 72.52 มาอยู่ที่ 68.67 ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ 63 ประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 63.99 คะแนน ใน พ.ศ. 2564 มาอยู่ที่ 70.03 คะแนน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอันดับปัจจัยขีดความสามารถการแข่งขันของไทยทั้ง 4 ด้าน พบว่า ใน พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีอันดับลดลงจากปีก่อนหน้าในทุกๆด้าน ประกอบด้วย ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ลดลง 13 อันดับ จากอันดับที่ 21 มาอยู่อันดับที่ 34 ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ลดลง 11 อันดับ จากอันดับที่ 20 มาอยู่อันดับที่ 31
ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ลดลง 9 อันดับ จากอันดับที่ 21 มาอยู่อันดับที่ 30 และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลดลง 1 อันดับ จากอันดับที่ 43 มาอยู่ อันดับที่ 44
อย่างไรตาม ในช่วง พ.ศ. 2561-2565
"แม้ว่าอันดับขีดความสามารถของประเทศไทยจะแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ที่มีอันดับอยู่ที่ 30 โดยปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 25 ใน พ.ศ. 2562 จากนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นอันดับที่ 29 28 และ 33 ตามลำดับ"
ดังนั้น ใน พ.ศ.2565 ทุกภาคส่วนของไทย จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านการคลังภาครัฐ ซึ่งทั้ง 2 ด้านเป็นปัจจัยย่อยที่มีอันดับต่ำมากที่สุด ที่ส่งผลให้ผลการจัดอันดับของประเทศไทยลดลง
ในด้านการแบ่งปันส่วนผลผลิตรวมของประเทศในหมู่ประชากรของประเทศ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของประชากร ซึ่งเป็นการวัดการกระจายรายได้ (Income Distribution) ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค โดยพิจารณาจากรายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากร นั้น
ใน พ.ศ. 2563 รายได้ประชาชาติต่อคนของประเทศไทยอยู่ที่ 224,962 บาท/คน/ปี เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 243,705 บาท/คน/ปี ซึ่งลดลงร้อยละ 7.7 และหากสะท้อนจากผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัวของประชากร (Gross Regional Product – per Capita : GRP/Capita) ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคต่างๆของประเทศ พบว่า ใน พ.ศ. 2563 หดตัวลงในทุกภูมิภาค
โดยภาคใต้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงร้อยละ 12.3 ร้อยละ 6.7 ร้อยละ 6.1 ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 1.4 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ร้อยละ 3.6 ร้อยละ 1.7 ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.1 ใน พ.ศ.2562 ตามลำดับ
ส่วนภาคตะวันตกและภาคกลางยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยลดลงร้อยละ 4.7 และร้อยละ 3.1 จากที่ลดลงร้อยละ 1.1 และร้อยละ 1.5 ใน พ.ศ. 2562 ตามลำดับ
โดยภาคตะวันออก มีค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัวสูงสุด เท่ากับ 436,255 บาทต่อปี รองลงมา คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัวต่ำสุดเท่ากับ 86,233 บาทต่อปี
ทั้งนี้ จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ระยอง กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวต่ำสุด 5 ลำดับ ได้แก่ นราธิวาส หนองบัวลำภู มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน และ ยโสธร ตามลำดับ
โดยจะเห็นว่าจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัวสูงสุดกับต่ำสุด มีความแตกต่างกันถึง 15 เท่า ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ เพื่อให้มีความครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความสมดุลมากที่สุด
@‘ค่าดัชนีความก้าวหน้าของคน’ของประเทศไทยลดลงทั้ง 5 มิติ
มิติที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
การดำเนินการในห้วง 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี 256-2565) พบว่า ในภาพรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าสถานการณ์ พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในภาพรวมลดลงสะท้อนจาก ‘ดัชนีความก้าวหน้าของคน’ ที่ 0.6411 ใน พ.ศ.2564 ซึ่งมีการปรับตัวลดลงจาก 0.6466 ใน พ.ศ.2563
ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของค่าดัชนีความก้าวหน้าของคน ในปี 2565 นั้น เป็นผลมาจากการลดลงของการพัฒนาคนใน 5 ด้าน ได้แก่
1.ด้านการศึกษา มีค่าดัชนีลดลงจาก 0.5711 ในปี 2563 มาอยู่ที่ 0.5200 ในปี 2564 เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีการจำกัดการเรียนการสอนผ่านรูปแบบออนไลน์ อาจส่งผลให้เด็กบางส่วนอาจมีข้อจ ากัดเรื่องอุปกรณ์การศึกษา ความไม่พร้อมของรูปแบบการสอน
2.ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน มีค่าดัชนีลดลงจาก 0.6560 ในปี 2563 มาอยู่ที่ 0.6448 ในปี 2564 เป็นผลมาจากการเป็นครัวเรือนเดี่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์ และวัยแรงงานจำเป็นต้องย้ายถิ่นเข้าเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้บางครอบครัวต้องใช้ชีวิตอยู่ลำพังมากขึ้น
3.ด้านการมีส่วนร่วม มีค่าดัชนีลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา และมีค่าเท่ากับ 0.5642 ในปี 2564 เป็นผลมาจากข้อจำกัดในการจัดกิจกรรมและการประชุมต่างๆ ส่งผลกระทบให้ประชาชนมีการร่วมกิจกรรมต่างๆ ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง
4.ด้านเศรษฐกิจ มีค่าดัชนีลดลงจาก 0.6696 ในปี 2563 มาอยู่ที่ 0.6637 ในปี 2564 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำ และหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงขยายตัวโดยภาวะเศรษฐกิจ ของไทยในปี 2564 เริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง ภายหลังจากการเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิค-19
5.ด้านสุขภาพ มีค่าดัชนีลดลงจาก 0.6411 ในปี 2563 มาอยู่ที่ 0.6386 ในปี 2564 เป็นผลมาจากแนวโน้มอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิค-19 ส่งผลกระทบด้านสุขภาพกายและจิตใจของประชากรไทยโดยเฉพาะวัยแรงงานเพิ่มขึ้น
@ปี 64 ความเหลื่อมล้ำรายจ่าย ‘คนรวย-คนจน’ ห่างกัน 8.61 เท่า
มิติที่ 4 ความเท่าเทียมและความเสมอภาคของสังคม
การดำเนินการในห้วง 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) พบว่า ประเทศไทยมีความเท่าเทียมและความเสมอภาคของสังคมในภาพรวมค่อนข้างคงที่ โดยความก้าวหน้าทางสังคมขยายตัวต่อเนื่อง ก่อนจะหดตัวลงเล็กน้อยในปีสุดท้ายของห้วงปี จากสถานการณ์ด้านสิทธิส่วนบุคคล และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการเข้าถึงการศึกษาขั้นสูงที่ถดถอย ขณะที่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ตลอดมา
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค พบว่า พ.ศ.2561-2564 ประเทศไทยมีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านรายจ่ายอยู่ที่ 0363 0.348 0.350 และ 0.350 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาความแตกต่างของรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยของกลุ่มประชากรที่รวยที่สุด (decile 10) ต่อกลุ่มประชากรที่จนที่สุด (decile 1) พบว่าในภาพรวมตั้งแต่ พ.ศ. 2561-2564 รายจ่ายของสองกลุ่มแตกต่างกัน 8.73 เท่า
โดยใน พ.ศ.2564 กลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายจ่ายสูงที่สุด (decile 10) มีค่าเฉลี่ยรายจ่ายเพื่อการบริโภคเท่ากับ 19,227 บาท/คน/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.30 จาก พ.ศ.2563 ที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยเท่ากับ 18,612 บาท/คน/เดือน
ขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายจ่ายต่ำที่สุด (decile 1) มีค่าเฉลี่ยรายจ่ายเพื่อการบริโภคเท่ากับ 2,233 บาท/คน/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.34 จาก 2,161 บาท/คน/เดือน ใน พ.ศ. 2563
โดยสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชากร (สัดส่วนกลุ่มที่ 10 /กลุ่มที่ 1) ใน พ.ศ. 2564 คิดเป็น 8.61 เท่า แตกต่างเล็กน้อยจาก พ.ศ.2563 ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 8.62 เท่า
@‘ความหลากหลายทางชีวภาพ-คุณภาพสิ่งแวดล้อม’ลดลง
มิติที่ 5 ความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ
การดำเนินการในห้วง 5 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561-2565) พบว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในภาพรวมลดลง โดยใน พ.ศ. 2565 สมรรถนะสิ่งแวดล้อมของประเทศ มีค่าดัชนีอยู่ที่ 38.1 และอยู่ในอันดับที่ 108 ขยับลงมาจาก พ.ศ. 2563 ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 45.4 และอยู่ในอันดับที่ 78 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยในภาพรวมมีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยใน พ.ศ.2565 มีค่าดัชนี อยู่ที่ 49.5 เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ.2563 ที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 49.38
เมื่อพิจารณาควบคู่กับการเติบโตสีเขียว (Green Growth Index) ซึ่งเป็นการวัดผ่าน 4 มิติ ประกอบไปด้วย (1) ประสิทธิภาพและความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากร (2) การปกป้องทุนทางธรรมชาติ (3) โอกาสทางเศรษฐกิจสีเขียวและ (4)ความครอบคลุมทางสังคม
พบว่า ใน พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีค่าดัชนีเท่ากับ 44.36 หรืออยู่อันดับที่ 12 ของเอเชียใน พ.ศ. 2563 มีค่าดัชนีเท่ากับ 49.38 หรืออยู่อันดับที่ 9 ของเอเชีย และใน พ.ศ. 2564 ไทยมีค่าดัชนีเท่ากับ 64.08 หรืออยู่อันดับที่ 2 ของเอเชีย แต่เมื่อเทียบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในระดับนานาชาติแล้ว ไทยยังอยู่ในอับดับที่ 108 จาก 180 ประเทศ
@‘ดัชนีชี้วัดธรรมาภิบาลโลก’ พบไทยติดลบ 0.23 คะแนน
มิติที่ 6 ประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐ
การดำเนินการในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) พบว่า ภาพรวมของประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐมีการพัฒนาที่ดีขึ้น เนื่องจากการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เอื้อต่อการต่อการดำเนินธุรกิจ การปรับปรุงระบบราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชน การมีเสถียรภาพและวินัยการคลังของประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในปี 2565 ประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐ ค่อนข้างจะคงที่ โดยเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาทิ การขาดดุลงบประมาณของภาครัฐและหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น จากการดำเนินมาตรการเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่ลดลงจากการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากดัชนีชี้วัดธรรมาภิบาลโลก โดยธนาคารโลกเป็นการประเมินธรรมาภิบาลในภาครัฐของประเทศต่างๆ ใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ด้านเสถียรภาพทางการเมืองและการปราศจากความรุนแรง ด้านประสิทธิผลของภาครัฐ ด้านคุณภาพของกฎระเบียบ
ด้านหลักนิติธรรม และด้านการควบคุมปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งมีการระบุคะแนนใน แต่ละด้านตั้งแต่ -2.5 (มีระดับธรรมาภิบาลต่ำ) ถึง 2.5 (มีระดับธรรมาภิบาลสูง) และจัดลำดับ เปอร์เซ็นไทล์ (Percentile Rank) ของทั้ง 209 ประเทศ ตั้งแต่ 0 (ลำดับต่ำสุด) ถึง 100 (ลำดับสูงสุด) ทั้งนี้ ระหว่างปี 2561-2565 (ข้อมูลปี 2560-2564) ภาพรวมระดับของธรรมาภิบาลของประเทศไทยมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีค่าคะแนนที่ค่อนข้างต่ำ
โดยคะแนนเฉลี่ยของทุกด้านขยับจาก -0.33 ในปี 2561 เป็น -0.23 ในปี 2564 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากคะแนนของด้านเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองฯ ด้านหลักนิติธรรม และด้านคุณภาพของกฎระเบียบ ตามลำดับ ขณะที่ด้านประสิทธิผลของภาครัฐ และด้านการควบคุมปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ มีคะแนนที่ลดลง
เมื่อพิจารณาในปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยของทุกด้านเท่ากับ -0.23 ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่ มีคะแนนเฉลี่ย -0.24 คะแนน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากคะแนนของด้านเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ด้านเสถียรภาพทางการเมืองฯ ด้านประสิทธิผลของภาครัฐ และด้านคุณภาพของกฎระเบียบ ขณะที่ด้านการควบคุมปัญหาทุจริตมีคะแนนคงที่ ส่วนด้านหลักนิติธรรมมีคะแนนลดลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการจัดลำดับเปอร์เซ็นไทล์พบว่าในปี 2564 ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นไทล์ที่ 43.77 ซึ่งลำดับตกลงมาเล็กน้อยจากปี 2563 ที่อยู่ในลำดับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 43.85 และหากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ประเทศไทยยังมีค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ (1.65 คะแนน) บรูไน (1.1 คะแนน) มาเลเซีย (0.41 คะแนน) และอินโดนีเซีย (-0.05 คะแนน) ตามลำดับ
เหล่านี้เป็นสรุปรายงาน ‘การประเมินผลการพัฒนาตามเป้าหมายภาพรวมของยุทธศาสตร์ชาติ’ ใน ‘6 มิติ’ ภายใต้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ( พ.ศ.2561-2580) ซึ่งพบว่าดัชนีชี้วัดหลายตัว ‘ลดลง’ โดยเฉพาะความอยู่ดีมีสุขของคนไทย และการกระจายรายได้ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำของคนรวยและคนจน ‘ค่อนข้างคงที่’
อ่านเพิ่มเติม : รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565
อ่านประกอบ :
‘ประยุทธ์’ ประกาศประพฤติตนซื่อสัตย์ ไม่ทุจริต ย้ำบรรจุแผนปราบโกงในยุทธศาสตร์ชาติแล้ว
ผล ITA ปี64-ค่าเฉลี่ยทั่ว ปท. 81.25 ดีขึ้นแต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ตามยุทธศาสตร์ชาติต้านโกง