‘อดีตที่ปรึกษาสำนักงบฯ’ ชี้ยกเลิก ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ 20 ปี เป็นเรื่องยาก แนะใช้วิธี ‘ทบทวนเพื่อปรับปรุง’ น่าจะยุ่งยากน้อยกว่า 'ยกเลิก' ห่วงจัดทำงบประมาณรายจ่ายฯล่าช้าลามถึงปีงบ 68
...........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณเผยแพร่ ‘หนังสือครบรอบ 64 ปี ของสำนักงบประมาณ’ โดยหนังสือดังกล่าว ได้เผยแพร่บทความของนายอนุชา ภาระนันท์ อดีตที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ เรื่อง ‘การพัฒนาการจัดสรรงบประมาณในมิติพื้นที่สู่อนาคต’ ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า การจะยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น เป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น การทบทวนเพื่อปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ จึงน่าจะยุ่งยากน้อยกว่าที่จะยกเลิก
“…การจะยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้น เป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 142 บัญญัติให้การเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ
รวมทั้งพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 10 วรรคสาม กำหนดให้แผนแม่บทที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นรวมทั้งการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทด้วย การทบทวนเพื่อปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ จึงน่าจะยุ่งยากน้อยกว่าที่จะยกเลิก” บทความฯระบุ
บทความนี้ ระบุต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม คำถามที่ต่อเนื่องก็คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีความจำเป็นอย่างไรในการพัฒนาประเทศ ซึ่งอาจพิจารณาได้จากเหตุผลหลายประการดังนี้
(1) ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมาย โดยมีวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคงมั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” ซึ่งเป็นการพัฒนาดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
(2) สถานการณ์ของประเทศในหลายๆ เรื่องต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวเพื่อให้เกิดการพัฒนาแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์ใหม่ๆในยุคโลกาภิวัตน์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ที่สำคัญ คือ
-การพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDGs) ที่กำหนดเป้าหมายที่จะให้บรรลุไว้ 17 เป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573)
-การคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ในปี 2574 ซึ่งสัดส่วนผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
-การลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน รวมทั้งการพัฒนาให้หลุดพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ป่านกลางเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้สูง
-การจัดการเพื่อลดระดับความรุนแรงและผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
-การสร้างความสมดุล และความมั่นคงทางด้านพลังงานและอาหาร
-การดำเนินการตามกฎระเบียบและข้อตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามกระบวนการพัฒนาตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น บันทึกความตกลงปารีส
-ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG
-นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green Economy-BCG Economy)
-การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสร้างนวัดกรรม
-การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (พื้นที่ชายแตน) การปรับเปลี่ยนเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ
ขณะเดียวกัน บทความดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า การจัดทำงบประมาณในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งจะล่าช้าออกไปไม่ทันการพิจารณาอนุมัติงบประมาณของรัฐสภา เพื่อใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 และมีการคาดการณ์เบื้องต้นว่า น่าจะมีการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนหลายเดือน (ประมาณ 6 เดือน) ก็จะนำไปสู่การกระทบต่อการเริ่มการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ล่าช้าออกไปด้วย
จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลและหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์รัฐบาลให้มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งหน่วยงานกลางที่สำคัญ คือ สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแปลงนโยบาย
หรือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเป็นยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ 2568 เพื่อกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดให้ชัดเจน เพื่อให้ส่วนราชการหรือ หน่วยงานของรัฐไปจัดทำแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้มีความเหมาะสมและชัดเจน เพื่อจัดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ 2568 ต่อไป
“หากจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณทั้งสองปีดังกล่าวได้เร็ว ก็จะช่วยให้การจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานของรัฐมีคุณภาพ สามารถนำไปใช้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์รัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีสามารถบังคับใช้ได้โดยไม่ล่าช้าเกินความจำเป็น” เนื้อหาตอนหนึ่งของบทความฯระบุ
อ่านเพิ่มเติม : หนังสือครบรอบ 64 ปี ของสำนักงบประมาณ
อ่านประกอบ :
'เศรษฐา' เล็งรื้อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม
ประเมิน 5 ปี ยุทธศาสตร์ชาติ ‘คนรวย-จน’ใช้จ่ายห่างกัน 8.61 เท่า-คะแนน'ธรรมภิบาลปท.'ยังต่ำ