"...ในการเข้าไปพบอัยการรายนี้ ครั้งสี่ .. เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเอกสารที่ส่งเพิ่มไปไม่มีข้อความตามที่อัยการรายนี้แนะนำจึงทำให้เรื่องล่าช้า และจะต้องเคลียร์กับพนักงานอัยการอีก 5 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 คน และมีการเรียกเงิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้เสียหาย แจ้งว่า ขอไปปรึกษาบิดาก่อน..."
กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สนธิกำลังเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมหมายจับเข้าบุกจับกุมตัวนายชาตินรินทร์ เกตุกำพล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังมีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากผู้ต้องหาวิ่งเต้นเคลียร์คดีให้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข้อเท็จจริงไปแล้วว่า
1. ในรายงานการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ระบุว่า นายชาตินรินทร์ เรียกรับเงินผู้ต้องหาในคดีลักทรัพย์โฉนดที่ดิน โดยอ้างว่า สามารถวิ่งเต้นเคลียร์คดีให้กับผู้ต้องหาได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องยอมจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการจำนวน 200,000 บาท ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ผู้ต้องหาในคดีได้ นำเงิน 50,000 บาท ให้กับอัยการรายนี้ก่อนแล้ว
2. คดีนี้สืบเนื่องจากผู้ต้องหาได้มาร้องเรียนกับสำนักสืบสวนฯ สำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ถูกอัยการในสำนักงาน อัยการจังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกกลับเงิน 200,000 บาท แลกกับการฟ้องคดี ทางสำนักงานสืบสวนฯจึงขออนุมัติจากเลขาธิการ ป.ป.ช. ขยายผลลงพื้นที่สืบสวนจนได้พยานหลักฐาน จึงมีการนำผู้ต้องหาไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ป.) และนำพยานหลักฐานยื่นขอหมายจับจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งศาลฯ ออกหมายจับเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
จากนั้นได้มีการวางแผนร่วมกันให้ผู้ต้องหานำเงินไปมอบ 150,000 บาท กับนายชาตินรินทร์ เกดกำพล อัยการจังหวัดประจำสำนักอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในฐานะผู้กลั่นกรองคดี สำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช และนำกำลังเข้าจับกุมได้ที่ห้องทำงานในที่สุด
3. ทันทีที่นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ทราบเรื่อง ได้สั่งย้ายนายชาตินรินทร์มาส่วนกลางทันที เพื่อสะดวกในการสอบสวน โดยได้ย้ายประจำสำนักงานคดีแรงงาน สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีผลวันนี้ (1 ส.ค.2567) ขณะเดียวกันทางสำนักงานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)ได้ดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นด้านวินัยด้วยเเล้ว ซึ่งตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการปี 53 มาตรา 80 กำหนดให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งพักราชการได้เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายเเรง หรือมีการฟ้องคดีอาญาพนักงานอัยการคนนั้นเเล้วดังนั้น กรณีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนสอบข้อเท็จจริงขั้นต้นซึ่งตามมาตรา 74 ต้องดำเนินการให้เเล้วเสร็จใน 30 วัน จึงต้องรอขั้นตอนดังกล่าว
- 3 ป. สนธิกำลัง บุกจับ 'อัยการเมืองคอน' เรียกรับเงินผู้ต้องหา
- เฉียบขาด! อสส.สั่งย้ายด่วน 'อัยการเมืองคอน' เรียกรับเงิน 2 แสน แลกล้มคดี
- ชัดๆ ภาพชุดวินาที 'อัยการเมืองคอน' รับเงินผู้ต้องหาแลกล้มคดี ก่อนโดนรวบคาห้องทำงาน
- บิ๊กเต่าแจง จับอัยการเมืองคอน เป็นไปตามพยานหลักฐาน-ขณะ ก.อ.เดินหน้าสอบวินัยแล้ว
- อธิบดีฯภาค 8 ลั่นเนื้อร้ายต้องถูกกำจัด! โชว์คำสั่งย้ายด่วน 'อัยการเมืองคอน' เรียกรับเงิน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับรายละเอียดการสอบสวนคดีนี้เพิ่มเติม ในส่วนการเจรจาต่อรองเรียกรับเงินระหว่างอัยการ และผู้ต้องหา ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกว่าผู้เสียหาย มีรายละเอียดดังนี้
หนึ่ง : ติดต่อเรียกเข้าไปพบที่สนง.อัยการ
ผู้เสียหาย ได้รับการติดต่อจากอัยการรายนี้ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามข้อมูลคดี รวมถึงเรียกให้เข้าไปพบที่สำนักงานอัยการ ตั้งแต่ช่วงปี 2566 จนถึงเดือนก.ค.2567 จำนวน 10 ครั้ง ก่อนที่จะถุกวางแผนจับกุมตัวในที่สุด
สอง : บทสนทนาในห้องทำงาน
@ ในการเข้าไปพบอัยการรายนี้ ครั้งแรก
- อัยการรายนี้ แจ้งให้ทราบว่า คดีนี้จบยาก ให้กลับไปทำเอกสารมาให้
@ ในการเข้าไปพบอัยการรายนี้ ครั้งสอง
- มีการพูดคุยเรื่องคดี และนำเอกสารเกี่ยวกับคดี ไปมอบให้อัยการและนัดหมายอีกครั้ง วันที่ 19 มี.ค.2567
@ ในการเข้าไปพบอัยการรายนี้ ครั้งสาม
- มีการนำเอกสารสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความ และสำเนาคำฟ้องเกี่ยวกับสัญญากู้ยืมไปมอบให้ ขณะที่อัยการแจ้งว่า ที่ร้องขอความเป็นธรรม เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2566 นั้น ทำให้เรื่องยุ่งยาก ทำงานยาก เรื่องจึงไม่สามารถจบได้ และได้แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือขอความเป็นธรรมขึ้นอีกฉบับ โดยเขียนตามคำแนะนำของอัยการ (การเข้าพบครั้งนี้ ผู้เสียหายเริ่มมีการบันทึกเสียงไว้)
@ ในการเข้าไปพบอัยการรายนี้ ครั้งสี่
- เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเอกสารที่ส่งเพิ่มไปไม่มีข้อความตามที่อัยการรายนี้แนะนำจึงทำให้เรื่องล่าช้า และจะต้องเคลียร์กับพนักงานอัยการอีก 5 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 คน และมีการเรียกเงิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้เสียหาย แจ้งว่า ขอไปปรึกษาบิดาก่อน
@ ในการเข้าไปพบอัยการรายนี้ ครั้งห้า
- มีการพูดคุยกัยเกี่ยวกับเรื่องเอกสารขอใช้ชุดเดิม ขณะที่อัยการแจ้งว่า "ได้"
- จากนั้น ได้มีการต่อรองขอลดจำนวนเงิน ขณะที่อัยการแจ้งว่า "ไม่ได้"
- ต่อมามีการเจรจาขอจ่ายเป็นงวดๆ ขณะที่อัยการแจ้งว่า "ไม่มีที่ไหนทำกัน"
- มีการสอบถามว่าจะให้โอนหรือจ่ายเป็นเงินสด ขณะที่อัยการแจ้งว่า "ขอเป็นเงินสด ให้เอามาให้ที่สำนักงานอัยการ"
@ ในการเข้าไปพบอัยการรายนี้ ครั้งหก
- มีการพบกันที่ ถนนหลังโรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช อัยการได้แจ้งผู้เสียหายให้เข้าไปพบที่ สำนักงานอัยการ
- มีการระบุว่า สามารถเข้าไปพบได้ตลอดเวลา ไม่ต้องโทรมาก่อน เพราะว่าอยู่ที่สำนักงานอัยการ ตลอดเวลา
@ ในการเข้าไปพบอัยการรายนี้ ครั้งเจ็ด
- ผู้เสียหาย ได้เข้าไปพบตามนัดหมาย โดยได้ติดเครื่องมือพิเศษ เพื่อบันทึกภาพและเสียงต่อเนื่องไปด้วย
- จากนั้นได้มีการสอบถามกันเกี่ยวกับเรื่องเงิน โดยอัยการแจ้งว่า มีให้ก่อนบางส่วนไหม ผู้เสียหาย จึงมีการส่งให้ จำนวน 50,000 บาท ก่อนที่อัยการจะแจ้งผู้เสียหายว่า ขอเพิ่มอีกเป็นยอดรวม 250,000 บาท ปกติเขาจ่ายกัน 3-5 แสน ช่วยเร่งให้เร็วหน่อยได้ไหม
- ก่อนจะนัดให้เอาเงินไปให้ในวันที่ 30 หรือ 31 ก.ค.2567 ที่สนง.อัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช
สาม : นัดวันส่งมอบ-บุกรวบตัว
- ผู้เสียหายนัดส่งมอบเงิน จำนวน 150,000 บาท วันที่ 31 ก.ค.2567 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปปป. สนธิกำลัง เจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. พร้อมหมายจับเข้าบุกจับกุมตัวตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
ขณะที่แหล่งข่าวจากทีมสืบสวนคดีนี้ให้ข้อมูลสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า คดีนี้มีการขอออกหมายจับล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2567 เพื่อให้กระบวนการเข้าจับกุมเป็นไปด้วยความรัดกุมมากที่สุด เพราะผู้ถูกกล่าวหามีตำแหน่งเป็นถึงอัยการ ต้องมีการปิดช่องโหว่ไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีการเข้าจับกุม นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่พนักงานสอบสวนถูกฟ้องกลับ โดยอ้างว่าเป็นการเข้าจับกุมโดยมิชอบ ไม่มีการออกหมายจับ
"ที่สำคัญการออกหมายจับครั้งนี้ มีการประสานงานเพื่อขอออกที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ไม่ใช่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ เนื่องจากพนักงานสอบสวนเกรงว่าข่าวจะมีปัญหาข่าวรั่วออกไปก่อน ผู้ต้องหาอาจไหวตัวทันได้" แหล่งข่าวระบุ
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรายละเอียดการสอบสวนคดีนี้เพิ่มเติม ในส่วนการเจรจาต่อรองเรียกรับเงินระหว่างผู้เสียหาย และอัยการ ในคดีนี้ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี คดีนี้ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาชี้ขาด นายชาตินรินทร์ เกตุกำพล ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่