“...การดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกรุงเทพมหานครโดยตรง อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างให้ประชาชนมีวินัยในการเสียภาษีอากรให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ตามที่ บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561…”
.........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2566 กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ร่วมกันลงนามใน ‘บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือเพื่อการดำเนินการเร่งรัดจัดเก็บภาษีประจำปี สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก’
โดยบันทึกข้อตกลงฯดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ ให้ กทม. สนับสนุนด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ และการดำเนินการในจัดพิมพ์และจัดส่ง ‘หนังสือเตือน’ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ ให้ ‘เจ้าของรถ’ ที่จดทะเบียนในเขต กทม. ที่ค้างชำระภาษีประจำปี ให้มาติดต่อชำระภาษีค้างในช่องทางที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้รถที่จดทะเบียนใน กทม. ยังค้างชำระภาษีรถประจำปี ตั้งแต่ 1-3 ปี รวมกว่า 2.77 ล้านคัน คิดเป็นเงินภาษีที่ค้างประมาณ 3,100 ล้านบาท และการเร่งรัดให้ผู้ที่ค้างชำระภาษีรถประจำปีมาชำระภาษีดังกล่าว จะทำให้ กทม. จัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ต่อมา กทม.เห็นว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 หรือกฎหมายใด ไม่ได้บัญญัติให้ กทม. มีหน้าที่และอำนาจในการจัดเก็บภาษี สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
ดังนั้น การจัดส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการค้างชำระภาษีประจำปีสำหรับรถ และจดหมายประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของรถไปชำระภาษีค้างฯ อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และที่ผ่านมา กทม.เองยังไม่เคยมีแนวปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวมาก่อน กทม. จึงได้ทำหนังสือถึง ‘สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา’ เพื่อขอหารือเรื่องนี้
(กรมการขนส่งทางบก และกรุงเทพมหานคร ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือเพื่อการดำเนินการเร่งรัดจัดเก็บภาษีประจำปี สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2566 ณ ห้องประชุมนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า))
ล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ เรื่องเสร็จที่ 658/2567 'บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง อำนาจของกรุงเทพมหานครในการสนับสนุนการเร่งรัดจัดเก็บภาษีประจำปี สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก' มีรายละเอียด ดังนี้
@หารือ‘กฤษฎีกา’ปมส่งหนังสือแจ้งเตือนจ่าย‘ภาษีรถ’
กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือ ที่ กท 1302/1234 ลงวันที่ 3 เม.ย.2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ดังนี้
1.กรมการขนส่งทางบกและกรุงเทพมหานครได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ เพื่อการดำเนินการเร่งรัดจัดเก็บภาษีประจำปีสำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
โดยมีข้อกำหนดให้กรุงเทพมหานครนำส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการค้างชำระภาษีประจำปีสำหรับรถ และประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เจ้าของรถมาชำระภาษีในช่องทางที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
กรุงเทพมหานครเห็นว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 หรือกฎหมายใด ไม่ได้บัญญัติให้กรุงเทพมหานครมีหน้าที่และอำนาจในการจัดเก็บภาษีสำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
การส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการค้างชำระภาษีประจำปีสำหรับรถและจดหมายประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของรถไปชำระภาษีค้างและเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการส่งจดหมายดังกล่าวอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้หารือหน่วยงานดังต่อไปนี้
(1) หารือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผ่านเว็บไซต์สายตรง สถ. เมื่อวันที่ 28 และ 29 ก.ย.2566 ซึ่งได้รับคำตอบโดยสรุปว่า รายได้ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บได้จะนำส่งเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ประกอบกับสาระสำคัญของการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้กรุงเทพมหานครส่งจดหมายประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของรถไปชำระภาษีตามกฎหมาย เพื่อเสริมให้การจัดเก็บภาษีของกรมการขนส่งทางบกครบถ้วน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานครโดยตรงและไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดเก็บภาษีรถยนต์แทนกรมการขนส่งทางบก
จึงมีความเห็นเบื้องต้นว่า เรื่องดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ โดยเทียบเคียงกรณีการดำเนินการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 โดยเป็นเพียงความเห็นและให้ข้อมูลเบื้องต้น
หากมีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นควรสอบถามหน่วยงานที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงก่อนหรือมีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
(2) หารือสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับคำตอบโดยสรุปว่า
เมื่อเปรียบเทียบเนื้อหาสาระของบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือเพื่อการดำเนินการเร่งรัดจัดเก็บภาษีประจำปีสำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการขนส่งทางบก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสูงขลา ได้ลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 ตามนัยมติคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 กับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ระหว่างกรมการขนส่งทางบกกับกรุงเทพมหานครแล้ว
เห็นว่า มีการแสดงเจตจำนง วัตถุประสงค์ และระบุเนื้อหาสาระไม่แตกต่างกัน กรุงเทพมหานครย่อมมีอิสระในการบริหารราชการ การเงิน และการคลัง ดังนั้น การพิจารณาวิธีการและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อให้กรุงเทพมหานครมีรายได้เพิ่มขึ้นย่อมอยู่ในดุลยพินิจของกรุงเทพมหานครโดยตรง
2.กรุงเทพมหานครพิจารณาแล้ว เห็นว่า การดำเนินการใดๆ ของกรุงเทพมหานครจะต้องอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์และหน้าที่และอำนาจตามที่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ หรือตามที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นหน้าที่และอำนาจของกรุงเทพมหานคร
แม้ว่ามาตรา 110 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ จะได้บัญญัติให้ภาษีและค่าธรรมเนียมรถหรือรถยนต์ หรือล้อเลื่อนที่จัดเก็บได้ในเขตกรุงเทพมหานครให้เป็นรายได้ของกรุงเทพมหานครก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ คือ กฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
ดังนั้น การที่กรุงเทพมหานครจะดำเนินการใดๆ จึงต้องพิจารณาว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของกรุงเทพมหานครตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยเทียบเคียงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องเสร็จที่ 198-199/2552 และเรื่องเสร็จที่ 74/2553
เมื่อ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ไม่ได้บัญญัติให้กรุงเทพมหานครมีหน้าที่และอำนาจในการจัดเก็บภาษีรถ แต่เป็นหน้าที่ และอำนาจโดยตรงของกรมการขนส่งทางบก
การมอบหน้าที่และอำนาจของราชการส่วนกลางให้กรุงเทพมหานครปฏิบัติจะต้องทำเป็นพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงหรือทำเป็นข้อบังคับหรือประกาศโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา 89 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ
ประกอบกับหน่วยงานของรัฐจะจ่ายเงินได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
กรุงเทพมหานครจึงมีความเห็นเบื้องต้นว่า อาจส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการค้างชำระภาษีประจำปีสำหรับรถและจดหมายประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของรถไปชำระภาษีค้างและเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการส่งจดหมายดังกล่าวไม่ได้
3.เนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายซึ่งกรุงเทพมหานครยังไม่เคยมีแนวทางปฏิบัติมาก่อน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงขอหารือว่ากรุงเทพมหานครสามารถส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการค้างชำระภาษีประจำปีสำหรับรถและจดหมายประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของรถไปชำระภาษีค้าง และเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการส่งจดหมายตามบันทึกข้อตกลงข้างต้นได้หรือไม่ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด
@ชี้‘กทม.’มีอำนาจส่งหนังสือเตือน-สร้างวินัย‘ปชช.’จ่ายภาษี
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) พิจารณาข้อหารือของกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนกระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และผู้แทนกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จากการชี้แจงของผู้แทนกระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก) และผู้แทนกรุงเทพมหานคร ว่า ในการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือเพื่อการดำเนินการเร่งรัดจัดเก็บภาษีประจำปีสำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกนั้น
กรมการขนส่งทางบกจะจัดส่งข้อมูลให้แก่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย (1) แบบหนังสือสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 เพื่อแจ้งเตือนให้ชำระภาษีรถประจำปี และ (2) ข้อมูลหมายเลขทะเบียน ชื่อ-สกุล และที่อยู่ของ 'ผู้ถือกรรมสิทธิ์' รถในเขตกรุงเทพมหานครที่ค้างชำระภาษี
โดยในการเข้าถึงเอกสารจะมีการกำหนด QR Code ที่ต้องมีการกรอกรหัสผ่านโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเพื่อเปิดเอกสาร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกรุงเทพมหานครจะต้องนำข้อมูลดังกล่าวมากรอกรายละเอียดในหนังสือแจ้งเตือนและจัดส่งให้แก่ผู้ค้างชำระภาษีต่อไป
นอกจากนี้ ผู้แทนกรุงเทพมหานครได้ซี้แจงว่าค่าใช้จ่ายในการส่งจดหมายเป็นรายจ่ายอันเป็นค่าใช้สอยตามมาตรา 118 (5) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือประกอบกับข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว
เห็นว่า มาตรา 250 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ของตนเอง โดยจัดระบบภาษีหรือการจัดสรรภาษีที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ บัญญัติให้ภาษีและค่าธรรมเนียมรถหรือรถยนต์ หรือล้อเลื่อนที่จัดเก็บได้ในเขตกรุงเทพมหานครให้เป็นรายได้ของกรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และในขณะเดียวกัน พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ก็ได้กำหนดบทบัญญัติที่สอดรับกับมาตรา 110 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ
กล่าวคือ มาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.รถยนต์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2527 บัญญัติว่า เงินภาษีประจำปีรวมทั้งเงินเพิ่มและค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ค่าธรรมเนียมแผ่นป้ายทะเบียนรถ ที่จัดเก็บได้ในกรุงเทพมหานครให้ตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร
และมาตรา 85 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2542 บัญญัติว่า เงินภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้ ที่ จัดเก็บได้ในกรุงเทพมหานครให้ตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร
จึงเห็นได้ว่า แม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะมีหน้าที่และอำนาจในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวก็ตาม แต่เงินภาษีประจำปีที่จัดเก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกนั้น จะตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร หากมีภาษีค้างชำระมากเท่าไหร่ ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นแก่กรุงเทพมหานครมากเท่านั้น การร่วมมือกันให้มีการชำระภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน จึงย่อมเป็นประโยชน์โดยตรงแก่กรุงเทพมหานคร
สำหรับกรณีที่กรุงเทพมหานครและกรมการขนส่งทางบกได้ทำบันทึกข้อตกลงฯ โดยข้อ 1 ของบันทึกข้อตกลงดังกล่าว กำหนดให้กรุงเทพมหานครสามารถปฏิบัติงานสนับสนุนกรมการขนส่งทางบก ในการดำเนินการจัดเก็บภาษีประจำปีที่ค้างชำระสำหรับรถที่จดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร และการประชาสัมพันธ์ เชิญชวน อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าของรถสามารถชำระภาษีประจำปีสำหรับรถและค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นั้น
เห็นว่า มาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
การที่กรุงเทพมหานครจะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกรมการขนส่งทางบก ซึ่งก็เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงฯ โดยการส่งหนังสือแจ้งเตือนให้เจ้าของรถไปชำระภาษีรถประจำปี ก็เป็นไปเพื่อให้การจัดเก็บภาษีประจำปีสำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกสำหรับรถที่จดทะเบียนในกรุงเทพมหานครนั้น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างครบถ้วน ซึ่งจะส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
การดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกรุงเทพมหานครโดยตรง อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างให้ประชาชนมีวินัยในการเสียภาษีอากรให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ตามที่ บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
ด้วยเหตุนี้ กรุงเทพมหานครจึงสามารถส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการค้างชำระภาษีประจำปีสำหรับรถและจดหมายประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของรถไปชำระภาษีค้างได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นการร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นการมอบหมายหน้าที่ และอำนาจในการจัดเก็บภาษีหน้าที่และอำนาจในการจัดเก็บภาษียังคงเป็นของกรมการขนส่งทางบกตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่ากรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ตามบันทึกข้อตกลงฯ ที่ทำกันไว้ได้ กรุงเทพมหานครย่อมสามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณของกรุงเทพมหานครได้ ส่วนจะเป็นการจำเป็นที่ต้องขออนุมัติงบประมาณจากสภากรุงเทพมหานครหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
จากนี้ไป ‘เจ้าของรถ’ อย่างน้อย 2.77 ล้านคัน ในเขตพื้นที่ กทม. ที่ยังค้างชำระภาษีรถยนต์ประจำปีในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงเจ้าของรถยนต์ที่ค้างจ่ายภาษีประจำปีในปีต่อๆไป จะได้รับหนังสือเตือนถึง ‘หน้าบ้าน’ เพื่อให้มาชำระภาษีรถประจำปีที่ยังค้างอยู่!
อ่านประกอบ :
กรมการขนส่งฯ เชื่อม e-Service กับตำรวจแล้ว! ต้องจ่ายใบสั่งพร้อมต่อภาษีรถ
‘ไม่จ่ายค่าปรับ-ปฏิเสธข้อกล่าวหา’ให้ส่งฟ้องศาล! ‘ตร.’แพร่แนวทางออก‘ใบสั่งจราจร’ใหม่
‘บิ๊กโจ๊ก’รื้อเกณฑ์ออก‘ใบสั่งฯ’ใหม่ ให้สิทธิผู้ขับขี่โต้แย้ง-จ่ายค่าปรับเหมาะสมพฤติการณ์
เปิดตัว‘สุภา โชติงาม’ผู้ฟ้อง‘ตร.’ จน’ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯ‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’
ตร.จ่ออุทธรณ์คดีเพิกถอนประกาศฯ'ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง'-'บิ๊กโจ๊ก'สั่งจนท.ปฏิบัติตามเดิม
ผู้ขับขี่ไม่เสียสิทธิปฏิเสธ! ความเห็นแย้ง‘ตุลาการเสียงข้างน้อย’คดีถอนประกาศฯ‘แบบใบสั่งฯ’
ตัดอำนาจจนท.-ไม่แจ้งสิทธิโต้แย้ง! พลิกคดี‘ศาล ปค.’สั่งถอนประกาศฯ‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’
ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ ก.ค.63!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯกำหนด‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’