“…ประกาศพิพาทกำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร โดยไม่มีข้อความคำเตือนการปฏิเสธความผิดตามใบสั่ง รวมทั้งไม่มีข้อความในส่วนบันทึกของผู้ต้องหาและพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับแบบใบสั่งเดิมที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เคยกำหนดไว้ จึงมิได้ทำให้สิทธิในการปฏิเสธหรือโต้แย้งหรือแก้ข้อกล่าวหาของผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถที่ได้รับใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรนั้น ต้องเสียไปแต่อย่างใด…”
................................
จากกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2443/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563 ซึ่งเป็นคดีที่ สุภา โชติงาม (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยศาลฯพิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกประกาศ หรือนับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2563
เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศฯทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นั้น (อ่านประกอบ : ตัดอำนาจจนท.-ไม่แจ้งสิทธิโต้แย้ง! พลิกคดี‘ศาล ปค.’สั่งถอนประกาศฯ‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’)
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ ปรากฏว่ามี ตุลาการเสียงข้างน้อย รายนายสุรเขต อินจับ ตุลาการศาลปกครองกลาง ได้มีความเห็นแย้งในคดีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับความเห็นแย้งของตุลาการเสียงข้างน้อยท่านนี้ มาเสนอให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ความเห็นแย้ง คดีหมายเลขดำที่ 2447/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563
ข้าพเจ้านายสุรเขต อินจับ ตุลาการศาลปกครองกลาง ตุลาการเสียงข้างน้อย ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยขององค์คณะพิจารณาพิพากษาในประเด็นที่หนึ่ง ที่วินิจฉัยว่าประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 เป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอทำความเห็นแย้ง ดังนี้
ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 เป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 (ประกาศพิพาท) เป็นประกาศที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 140 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2522
และมีผลบังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ จึงมีสถานะเป็นกฎตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกกฎตามที่มีกฎหมายให้อำนาจแล้ว
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดี (สุภา) อ้างว่า ประกาศพิพาทได้กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรไว้ 2 แบบ คือ แบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรสำหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ และแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรสำหรับส่งทางไปรษณีย์ โดยมีรายละเอียดตามแบบแนบท้ายประกาศ
แต่ได้ตัดข้อความในส่วนของการปฏิเสธการกระทำความผิด บันทึกของผู้ต้องหา และบันทึกของพนักงานสอบสวนออกไป กำหนดไว้แต่เพียงวิธีการชำระค่าปรับด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ผู้รับใบสั่งเข้าใจว่าตนมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับเท่านั้น
โดยมุ่งประสงค์ให้เข้าบทสันนิษฐานของกฎหมายว่า เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 140/1 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เป็นการขัดต่อหลักในทางอาญาที่เป็นระบบกล่าวหา และไม่เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน นั้น
เห็นว่า พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างวินัยการใช้รถใช้ถนน กำหนดมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนในการจราจร รวมทั้งกำหนดหน้าที่และอำนาจของเจ้าพนักงานจราจรไว้เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
และโดยที่กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกได้บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานจราจร ในอันที่จะว่ากล่าวตักเตือนหรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบก็ได้ ในกรณีที่พบว่าผู้นั้นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถหรือการใช้ทางที่เป็นความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนและมีโทษปรับ ซึ่งการออกใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจรมีลักษณะเป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถ เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา พร้อมแจ้งจำนวนค่าปรับเพื่อให้ชำระภายในเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งเท่านั้น
หากผู้ที่ได้รับใบสั่งชำระค่าปรับครบถ้วนถูกต้องแล้วคดีย่อมเป็นอันเลิกกัน แต่หากไม่ชำระค่าปรับภายในเวลาที่กำหนด เจ้าพนักงานจราจร ย่อมมีหน้าที่และอำนาจแจ้งเตือนการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งไปยังผู้รับใบสั่งโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามมาตรา 141/1 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
แต่หากผู้ที่ได้รับใบสั่งนั้น เห็นว่าตนมิได้ฝ่าฝืนหรือมิได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ย่อมมีสิทธิทำหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหานั้นตามที่บัญญัติในมาตรา 141/1 วรรคหนึ่ง (2) (ง) วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และถือเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานจราจรที่ต้องส่งเรื่องดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ออกประกาศพิพาทกำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร โดยไม่มีข้อความคำเตือนการปฏิเสธความผิดตามใบสั่ง รวมทั้งไม่มีข้อความในส่วนบันทึกของผู้ต้องหาและพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับแบบใบสั่งเดิมที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เคยกำหนดไว้
จึงมิได้ทำให้สิทธิในการปฏิเสธหรือโต้แย้งหรือแก้ข้อกล่าวหาของผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถที่ได้รับใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรนั้น ต้องเสียไปแต่อย่างใด
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดี (สุภา) อ้างว่าแบบใบสั่งตามประกาศพิพาท ตัดข้อความการปฏิเสธการกระทำความผิดบันทึกของผู้ต้องหา และบันทึกของพนักงานสอบสวนออกไป มีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาให้แก่ฝ่ายจำเลย นั้น
เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคสอง ได้บัญญัติให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้ โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
อีกทั้งมาตรฐานในการพิสูจน์ในคดีอาญาที่ใช้การพิจารณาคดีระบบกล่าวหา ฝ่ายโจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ และศาลจะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง
โดยศาลจะไม่พิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเช่นว่านั้น หากมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ศาลจะยกประยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
ดังนั้น แม้ประกาศพิพาทจะมิได้มีข้อความดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง ก็มิได้มีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาตามกฎหมายให้แก่ฝ่ายจำเลยแต่อย่างใด
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่ามาตรา 160 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 26 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น เป็นการกล่าวอ้างว่า พ.ร.บ.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งมิใช่ประเด็นพิพาทแห่งคดี จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงเห็นว่า ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 มิใช่กฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของ ‘ความเห็นแย้ง’ ของ ‘ตุลาการเสียงข้างน้อย’ กรณีการเพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 และต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อคดีนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว ศาลฯจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร?
อ่านประกอบ :
ตัดอำนาจจนท.-ไม่แจ้งสิทธิโต้แย้ง! พลิกคดี‘ศาล ปค.’สั่งถอนประกาศฯ‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’
ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ ก.ค.63!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯกำหนด‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’