“…การที่เจ้าพนักงานจะทำการเปรียบเทียบปรับ จะต้องฟังความเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร ถึงจะลงโทษได้อย่างเหมาะสมกับพฤติการณ์ที่เขากระทำ แต่การที่ประกาศฯได้กำหนดอัตราค่าปรับในลักษณะ ‘แน่นอนตายตัว’ ถือว่าเป็นการไม่ให้เจ้าหน้าที่ต้องรับคำชี้แจงในการต่อสู้คัดค้านของผู้ถูกกล่าวหา หรือให้ความเห็นอะไรใดๆได้เลย…”
...............................
หมายเหตุ : สุภา โชติงาม ผู้ซึ่งยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กับพวก ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศ ตร. เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 และประกาศ ตร. เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563
ก่อนที่ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2443/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563 ลงวันที่ 27 ก.ย.2566 ให้เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้ง 2 ฉบับ เพราะเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับที่มาของการยื่นฟ้องคดีนี้ มีรายละเอียด ดังนี้
ถาม : ที่มาของการฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง?
สุภา : ในฐานะที่ทำงานด้านกฎหมายมานาน ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีความเป็นธรรม ไม่ชอบธรรม และขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นการมัดมือชกประชาชนให้ชำระค่าปรับจราจร ในฐานะคนที่ทำงานอยู่ตรงนี้ ก็รับทราบข้อมูล อ่านกฎหมายของทั้งกรมการขนส่งทางบก และกฎหมายตำรวจอยู่ตลอดเวลา ก็เห็นว่ามันไม่ใช่แล้ว
และถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ คนจะรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐเอาเปรียบประชาชนมากเกินไป ซึ่งที่มาที่ไปก็มีเท่านี้ ทั้งนี้ การฟ้องคดีในครั้งนี้ ทำในฐานะส่วนตัว ทำในฐานะประชาชน
ถาม : ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับฯ มีความไม่เป็นธรรมอย่างไร?
สุภา : จริงๆแล้ว ในส่วนของอัตราค่าปรับจราจร เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานที่จับกุมผู้กระทำผิด จะต้องพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งการกระทำ ซึ่งบางครั้ง เขา (ผู้กระทำผิด) อาจจงใจก็ได้ หรือประมาทเลินเล่อก็ได้ หรืออาจจะขาดเจตนาอะไรก็ได้ หรือบางทีอาจเป็นเรื่องเส้นจราจร หรือเครื่องหมายที่ชัดเจนก็ได้
ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานจะทำการเปรียบเทียบปรับ จะต้องฟังความเสียก่อนว่า เป็นอย่างไร ถึงจะลงโทษได้อย่างเหมาะสมกับพฤติการณ์ที่เขากระทำ แต่การที่ประกาศฯได้กำหนดอัตราค่าปรับในลักษณะ ‘แน่นอนตายตัว’ ถือว่าเป็นการไม่ให้เจ้าหน้าที่ต้องรับคำชี้แจงในการต่อสู้คัดค้านของผู้ถูกกล่าวหา หรือให้ความเห็นอะไรใดๆได้เลย
ถาม : การให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าปรับ ทำให้สังคมเป็นห่วงในเรื่องการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่นั้น มองว่าอย่างไร?
สุภา : กฎหมายจราจร จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้ เพราะความร้ายแรงของกระทำความผิดแต่ละอย่าง มีความแตกต่างกัน จึงต้องให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้ดุลพินิจ การกำหนดอัตราค่าปรับจราจร จึงต้องกำหนดอัตราค่าปรับขึ้นสูงไว้ และเป็นแบบยืดหยุ่น ไม่ใช่กำหนดอัตราค่าปรับจราจรไว้ตายตัวเช่นนี้
ถาม : การกำหนด ‘แบบใบสั่งจราจร’ ตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรฯ พ.ศ.2563 มีปัญหาอย่างไร?
สุภา : รูปแบบใบสั่งจราจรของเดิม จะมีข้อความที่ระบุว่าให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด มีสิทธิโต้แย้งได้ และสามารถเขียนบันทึกด้านหลังใบสั่งฯ ส่งไปยังที่อยู่ของเจ้าพนักงานได้ แต่รูปแบบใบสั่งจราจรที่เป็นของใหม่นั้น เขา (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ตัดข้อความตรงนั้นไปเลย
ถ้าประชาชนจะโต้แย้งจะต้องทำผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งก็ทราบกันดีว่าคนไทยยังไม่สามารถระบบเทคโนโลยีตรงนี้ได้ทุกคน แล้วในกรณีที่ไม่โต้แย้งผ่านแอปพลิเคชัน เขา (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) จะให้ไปโต้แย้งที่ สน. (สถานีตำรวจนครบาล) หรือ สภ. (สถานีตำรวจภูธร) ที่ออกใบสั่ง ตรงนี้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่ต้องการโต้แย้งการออกใบสั่ง
และเมื่อเกิดข้อขัดข้องอย่างนี้ เขาก็จำเป็นต้องมาชำระค่าปรับให้ตำรวจ ยิ่งในขณะนี้กรมการขนส่งฯเอง ต้องเป็นหน้างาน ต้องมารับหน้าที่ดำเนินการรับชำระค่าปรับแทนตำรวจ คือ เมื่อคนมาชำระภาษี แต่เมื่อยังมีใบสั่งที่ยังไม่ชำระ ก็ถูกบล็อก ต้องถูกบีบบังคับให้จ่ายค่าปรับโดยไม่เต็มใจ
ในขณะที่การโต้แย้งคัดค้านลำบากมาก สร้างเงื่อนไขกับประชาชนมาก และทำเสมือนกันว่า ไม่ต้องการให้คนอุทธรณ์ ไม่ต้องการให้มีการโต้แย้งใบสั่ง จึงเป็นการบีบบังคับประชาชน ซึ่งไม่ควรต้องแบบนั้น เพราะเป็นการทำให้ประชาชนชำระค่าปรับโดยไม่ยินยอม ไม่เต็มใจ
ถาม : แบบใบสั่งรูปแบบใหม่ สร้างความยุ่งยากให้ประชาชนอย่างไร ?
สุภา : ของเดิม (ใบสั่งจราจร) ถ้าเราคิดว่า เราไม่ใช่ผู้กระทำความผิด เราสามารถปฏิเสธได้ โดยเขียนโต้แย้งด้านหลังใบสั่ง และส่งกลับไปได้เลย แต่ปัจจุบันด้านหลังใบสั่ง ไม่มีข้อความเหล่านี้ เมื่อไม่มี และมีแค่ข้อความบันทึกไปว่าคุณจะต้องชำระค่าปรับตามที่กำหนด ภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น
ส่วนการโต้แย้ง เขา (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ก็โฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า ให้กลับไปยัง สน.ท้องที่ ที่ออกใบสั่ง หรือโต้แย้งผ่านแอปพลิเคชัน ถ้าอย่างนี้แล้ว คนเขาจะทำอย่างไร แล้วยังมีการนำเรื่องการชำระค่าปรับตามใบสั่งฯ มาผูกกับเรื่องการชำระภาษีรถยนต์อีก ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
คือ คนที่มาชำระภาษี แต่ยังไม่เสียค่าปรับตามใบสั่ง จะได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีชั่วคราว 30 วัน และเขา (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ก็ยังตีความว่า ถ้าติดเครื่องหมายภาษีชั่วคราวไปแล้ว ถ้าประชาชนเอารถไปใช้เกิน 30 วัน ไม่ไปชำระค่าปรับ เขาก็ตีความอีกว่า เป็นการไม่ติดเครื่องหมายการเสียภาษี
เป็นความผิดอีกข้อหาหนึ่ง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้ออก (เครื่องหมายการชำระภาษี) ให้เอง แม้ว่าคนจะชำระภาษีครบทั้งปีแล้วก็ตาม แต่กลับออกให้เป็นแบบ 30 วันเท่านั้น อีกทั้งการที่ประชาชนจะโต้แย้งใบสั่งฯ ก็ทำได้ลำบากมาก ทำอะไรไม่ได้เลย จึงเป็นการมัดมือมัดเท้าประชาชน ซึ่งไม่ถูกต้อง
ถาม : ขณะนี้ได้รับแจ้งจากศาลฯ ว่า ตร.ได้ยื่นอุทธรณ์คดีนี้แล้วหรือไม่ ?
สุภา : เขา (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ซึ่งเป็นผู้แพ้คดี ก็น่าจะต้องอุทธรณ์ตามระเบียบของเขา ซึ่งขณะนี้ยังอุทธรณ์จากเขา และรอแก้อุทธรณ์อย่างเดียว
@เปิดประวัติ‘สุภา โชติงาม’เคยเป็น‘ผอ.กองกฎหมาย’
lสำหรับ สุภา โชติงาม หรือจอมพันธ์ ปัจจุบันมีอาชีพ รับราชการ โดยได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเมื่อปี 2535 หรือเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ในตำแหน่ง นิติกร สังกัดกรมการขนส่งทางบก และเลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัย ก่อนที่ต่อมา สุภา จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมการขนส่งทางบก
ต่อมา สุภา ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรม ซึ่งในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกรม นั้น สุภา ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าอื่นๆ เช่น เป็นรักษาราชการแทน ขนส่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ปัจจุบัน สุภา ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 กรมการขนส่งทางบก
ทั้งนี้ ในระหว่างรับราชการ สุภา ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรบริหารระดับสูง : ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และคุณธรรม (นบส.1) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รุ่น 91 และเข้าอบรมหลักสูตรผู้ตรวจราชการระดับกรม ประจำปีงบประมาณ 2564 เป็นต้น
ชื่อ สุภา เคยปรากฏเป็นข่าวในช่วงเดือน มี.ค.2563 เมื่อ สุภา ซึ่งเป็นมารดา น.ส.มนัสนันท์ นักศึกษาไทยในประเทศแคนาดา ยื่นฟ้อง ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ต่อศาลปกครองกลาง
โดย สุภา ขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศ เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ที่ทำการบินมายังประเทศไทยฉบับ ลงวันที่ 19 มี.ค.2563 ที่กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยที่จะเดินทางกลับมาประเทศไทย จะต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันได้ว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ หากพบว่าผู้โดยสารไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานดังกล่าวได้ ให้ปฏิเสธการขึ้นเครื่องและงดการออกบัตรขึ้นเครื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
เนื่องจาก ขณะฟ้องคดี สถานการณ์ในประเทศแคนาดาไม่สามารถที่จะขอใบรับรองแพทย์ หรือเดินทางไปขอรับใบรับรองแพทย์ได้ง่าย และเมื่อบุตรสาวได้ติดต่อขอใบรับรองแพทย์จากคลินิกและสถานพยาบาลหลายแห่ง แต่ถูกปฏิเสธทุกแห่ง จึงเห็นว่า ประกาศดังกล่าว สร้างภาระให้กับประชาชนเกินสมควร และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากหลักเกณฑ์ประกาศ กพท. ดังกล่าว เป็นหลักเกณฑ์เดียวกับ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2563 ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง
และถึงแม้ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยฯ ดังกล่าว แต่ บุตรสาวของนางสุภา ก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ประกอบกับข้อกำหนดดังกล่าวยังมีช่องทางช่วยเหลือ โดยให้สถานทูตไทยหรือกงสุลไทยในต่างประเทศให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสัญชาติไทยในการเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรได้ ศาลจึงไม่ต้องออกคำบังคับเพิกถอนประกาศ ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยฯ ตามขอ และมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณา
อ่านประกอบ :
ตร.จ่ออุทธรณ์คดีเพิกถอนประกาศฯ'ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง'-'บิ๊กโจ๊ก'สั่งจนท.ปฏิบัติตามเดิม
ผู้ขับขี่ไม่เสียสิทธิปฏิเสธ! ความเห็นแย้ง‘ตุลาการเสียงข้างน้อย’คดีถอนประกาศฯ‘แบบใบสั่งฯ’
ตัดอำนาจจนท.-ไม่แจ้งสิทธิโต้แย้ง! พลิกคดี‘ศาล ปค.’สั่งถอนประกาศฯ‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’
ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ ก.ค.63!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯกำหนด‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’