"...ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นดังกล่าว ระบุว่า อัยการสูงสุด พิจารณาเห็นว่า การกระทำของข้าราชการอัยการ จำนวน 3 ราย เป็นกรณีถูกกล่าวหาและเป็นที่สงสัยว่ากระทำความผิดวินัยไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวังมิให้เสียหายแก่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ..."
กรณี นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงาน อสส.ที่ 2840 /2566 แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด อันเป็นผลมาจากข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสูงสุด จำนวน 6 คดี ประกอบไปด้วย คดีเผาสวนงูภูเก็ต , คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก , คดีนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก , คดีมาวินเบต ดอทคอม และคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด และ คดีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก
ในส่วนคดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก นั้น คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก บุกรุกยึดครองหรือทำประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนฯกว่า 6,200 ไร่ ใน อ.ภูเรือ จ.เลย ซึ่งมี นายศักดา ช่วงรังษี อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ได้เสนอความเห็นต่อ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุดว่า การสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ ไม่ได้พิจารณาหลักฐานอย่างรอบคอบ ไม่เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงกับราชการและทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมเสนอให้ดำเนินการลงโทษทางวินัย อย่างร้ายแรงกับอัยการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2567 นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อสส. ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ จำนวน 3 ราย ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ โดยมีนายโชคชัย สินศุภรัตน์ ผู้ตรวจอัยการ เป็นประธาน กำหนดกรอบเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นดังกล่าว ระบุว่า อัยการสูงสุด พิจารณาเห็นว่า การกระทำของข้าราชการอัยการ จำนวน 3 ราย เป็นกรณีถูกกล่าวหาและเป็นที่สงสัยว่ากระทำความผิดวินัยไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวังมิให้เสียหายแก่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดฉบับเต็ม คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ จำนวน 3 ราย ดังกล่าว
***********
คำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด
ที่ 753/2567
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสานชั้นต้นข้าราชการอัยการ
ด้วยสำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่ง ที่ 420/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนัางานอัยการสูงสุด ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 โดยคณะทำงาน คณะที่ 2 ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดี บริษัท ซี.พี.เค อินเตอร์เนชันแนล จำกัด กับ พวก ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการอัยการประสานกับสำนักงานวิชาการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพร้อมคณะ ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานได้ร่ามกันนำหมายค้นของศาลจังหวัดเลย เข้าทำการตรวจค้นสวนเกษตรภูเรือในอุทยาน รวมทั้งบริเวณโดยรอบในท้องที่ อำเภอภูเรือ อำเภอภูด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นที่ดินที่บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต้องทาที่ 1 กับพวก ยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์
จากการตรวจสอบพบว่า ที่ดินที่ผู้ต้องหาที่ 1 ครองครอง มีเนื้อที่ประมาน 6,229-2-33 ไร่ คณะเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมตรวจค้น เห็นว่าพื้นที่ที่ผู้ต้องหา ที่ 1 ครอบครองดังกล่าว เป็นที่ป่า
ผู้กล่าวหาทั้งสี่ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรภูเรือและพนักงานสอบสานสถานีตำรวจภูธรโคกงาม ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสี่ตามกฎหมาย จำนวน 5 สำนวน ซึ่งพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ จึงส่งมอบสำนวนคดีอาญาทั้งห้าคดีให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำการสอบสวนและตรรจสอบการกระทำความผิดแล้วพบว่า ผู้ต้องหาที่ 1 เกี่ยวข้องกับที่ดินตามเอกสาร น.ส. 3 ก. จำนวน 143 ฉบับ นอกจากนี้ยังได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินป่าที่ยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิในบริเวณพื้นที่เดียวกันและบริเวณคาบเกี่ยวอีกด้วย
ต่อมา กรมที่ดินตรวจสอบแล้วมีคำสั่งกรมที่ดินสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 147 แปลง ดังกล่าว ซึ่งผู้ต้องหาที่ 1 ได้ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดินและปลัดกระทรวงมหาดไทยต่อศาลปกครองกลาง
ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีรับซื้อที่ดินตาม น.ส.3 ก. จำนวน 147 แปลง โดยมีเหตุอันควรรู้ว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตเขาหรือภูเขาอันเป็นที่สงวนหวงห้าม ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ตามกฎกระทรวง ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน (ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) และคดีถึงที่สุดแล้ว
ต่อมาพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็น ควรสั่งฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 4 คน ตามพระราชบัญญัติป่าไม้และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งนาย ก.(สงวนชื่อ-นามสกุล ) อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เป็นพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนคดี และรักษาราชการแทนอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 (อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ลาพักผ่อน) และนาย ข.(สงวนชื่อ-นามสกุล ) รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ พิจารณาสำนวนคดีแล้ว มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ตามข้อกล่าวหา
พร้อมทั้งเสนอสำนวนคดีให้นาย ค. (สงวนชื่อ-นามสกุล )รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ (อธิบดีอัยการ สำนักงนคดีพิเศษ ลาพักผ่อน)
พิจารณาเล้วมีความเห็นสรุปว่า การครอบครองของผู้ต้องหาที่ 1 เริ่มจากการครอบครองโดยขาดเจตนาบุกรุกป่า ดังนั้น ไม่ว่าที่เกิดเหตุในบริเวณใดจะมี สภาพเป็นป่าหรือไม่ก็ตาม
ถือไม่ได้ว่าผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาอื่นมีเจตนาบุกรุกป่า การครอบครองต่อมาจะถือว่ามีเจตนาบุกรุกป่าไม่ได้ พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ตามข้อกล่าวหา
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการที่สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่
โดยเห็นว่าการครอบครองทำประโยชน์ของผู้ต้องหาทั้งสี่ เป็นการครอบครองโดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่กรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อีกทั้งภายหลังมีคำพิพากษาศาลปกครองกลางถึงที่สุดแล้ว คณะกรรมการของผู้ต้องหาที่ 1 มีมติให้ยื่นเรื่องเพื่อขอสัมปทานที่ดินแปลงที่เกิดเหตุต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาด่านซ้าย
ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินแปลงที่เกิดเหตุเป็นที่ดินของรัฐซึ่งผู้ต้องหาไม่มีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ได้ พร้อมส่งสำนวนคดีมายังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดวินิจฉัย ชี้ขาดตามกฎหมายสำนัางานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด โดยพน้กงาน อัยการผู้รับผิดชอบสำนวนคดี อัยการพิเศษฝ่าย รองอธิบดีอัยการ และอธิบดีอัยการ พิจารณาสั่งคดีโดยรับฟังพยานหลักฐาน และมีความเห็นทางคดีในแนวทางเดียวกัน
สรุปความว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)จำนวน 147 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 6,229-2-37 ไร่ ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ครอบครองและทำประโยชน์เป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 พื้นที่เกิดเหตุแปลงที่ 1,2 มีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารจำแนกเป็นพื้นที่คุณภาพ ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ซึ่งต้องรักษาไว้เป็นต้นน้ำลำธาร ห้ามมีการใช้ประโยชน์อย่างอื่นตามมติคณะรัฐมนตรีและยังไม่ได้จำแนกเป็นพื้นที่เกษตรกรรมตามมติคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ที่ดินแปลงที่ 1 ยังเป็นที่ราบและลาดชัน ไปตามไหล่เขาตั้งอยู่บนภูเขาสูง พื้นที่ใกล้เคียงเป็นป่ามีสภาพสมบูรณ์ ที่ดินแปลงที่ 2,3 เป็นที่ราบและลาดชัน ไปตามไหล่เขาลักษณะ เป็นพื้นที่สูงชัน มีลักษณะเป็นภูเขา (ภูนาค -ภูหมี) เน้นเขาพื้นที่ลาดเอียงเชิงเขา พื้นที่ลูกคลื่นลอนชันพื้นที่ลูกคลื่นลอน ซึ่งสอดรับกับคำสั่งกรมที่ดินที่สั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำนวน 147 แปลง ดังกล่าว ที่ เป็นที่เขา ภูเขา อันเป็นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมาย
พยานหลักฐาน จึงรับฟังได้ว่า การเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุ จำนวน 147 แปลง เนี้อที่ประมาณ 6,229-2-37 ไร่ รวมถึงที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่เจ้าพนักงานตรวจยึดของผู้ต้องหาทั้งสี่ เป็นการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยังคงเป็นความผิดอยู่ตลอดเวลา ที่มีการครอบครองอยู่
จึงมีความเห็นควรชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ตามข้อกล่าวหา
พร้อมทั้งเสนอสำนวนคดี ให้รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายให้พิจารณาสั่งคดีนี้ ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นสอดคล้องกับสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด โดยเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่รายตามข้อกล่าวหา พร้อมทั้งเสนอสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด (ขณะนั้น) ซึ่งพิจารณาแล้วมีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ด้องหาทั้งสี่ตามข้อกล่าวหา โดยมีความเห็นเช่นเดียวกับสำนักงานคดีพิเศษคดีดังกล่าวสำนวนคดีจึงเสร็จสิ้นโดยคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้อง
อัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของ นาย ก. นาย ข.และนาย ค. เป็นกรณีถูกกล่าวหาและมีกรณีเป็นที่สงสัยจากการกระทำผิดวินัย กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวังมิให้เสียหายแก่ราชการ และด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 64,71, 85 (7)
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 และระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2567 ข้อ 8, 9 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการอัยการเป็นคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการดังการ ดังต่อไปนี้
1. นายโชคชัย สินศุภรัตน์ ผู้ตรวจการอัยการ เป็นประธานกรรมการ
2. นายพิจิตร จูฑะประชากุล อธิบดีอัยการภาค 1 เป็นกรรมการ
3. นายสุธน จารุพันธ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลแขวง เป็นกรรมการ
4. นางสุรีย์ บุญไพศาล อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีล้มละลาย เป็นกรรมการ
5. นางอัญชลี สอนสุภาพ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครอง กรรมการและเลขานุการ
6. นายสุวรรชัย สิริจรรยาพงศ์ อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ช่วยเลขานุการ
ให้คณะกรรมการสอบสวนชั้นต้น แจ้งข้อกล่าวหา และรายละเอียดเท่าที่มีอยู่ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามทราบและให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามชี้แจงและนำพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาด้วย โดยให้ดำเนินการสอบสวนพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ พ.ศ.2567 ทั้งนี้ให้ทำการสอบสวนกรณีดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้ง และหากคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการพบว่า มีการกระทำผิดวินัยในเรื่องอื่น หรือมีกรณีที่การสอบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการฝ่ายอัยการผู้อื่น หรือมีข้าราชการฝ่ายอัยการผู้อื่นร่วมกระทำผิดด้วย ให้มีอำนาจสอบสวนกระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว หรือสอบสวนเฉพาะในส่วนของข้าราชการอัยการได้กรณีดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้ง
สั่ง ณ วันที่ 17 เม.ย.2567
ลงนาม นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.)
***********
บทสรุปสุดท้าย ผลการสอบสวนคดีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร คอยติดตามดูกันต่อไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- จบไม่ลง! ก.อ.เลื่อนถกปมอดีตบิ๊กอัยการคดีรุกป่า- เส้นตายตั้งสอบสวน 180 วัน ปลายมี.ค.นี้
- ผลสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีฉาวเป็นเหตุ! ‘อำนาจ' สั่งยกร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อัยการสูงสุด’
- เสนอลงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ คดีสั่งไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เค. รุกป่า 6,000 ไร่
- ย้อนคดี บ.เครือเปรมชัย รุกป่า 6พันไร่ ก่อนชงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ สั่งไม่ฟ้อง
- ชัดๆ เปิดไทม์ไลน์คดีรุกป่า 6 พันไร่ - อดีต อสส.สั่งไม่ฟ้องสวนความเห็น 'สำนักชี้ขาด-รองฯ'
- หลักฐานชัด! บ.เครือเปรมชัย ยังถือครองที่ดินคดีรุกป่า 6 พันไร่-รัฐไม่ฟ้องขับไล่?
- พยานหลักฐานใหม่ รื้อฟื้นคดีบ.เครือเปรมชัยรุกป่า 6 พันไร่ กู้ศักดิ์ศรีอัยการ-ทวงคืนสมบัติชาติ
- ‘อสส.’สั่งฟ้องคดีบ่อนพนันออนไลน์‘มาวินเบตฯ’-ออกหมายเรียก 4 ผู้ต้องหา นำตัวส่งศาล
- ร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อสส.' เสร็จแล้ว! ถ้า ก.อ.เห็นชอบอาจประเดิมใช้คดีรุกป่า 6 พันไร่
- ชัดๆ เปิดข้อเสนอสอบวินัยลงโทษ '6 บิ๊กอัยการ-พวก’ สั่งไม่ฟัองคดีรุกป่า 6 พันไร่