"...คณะทำงานยังเสนอให้นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รื้อฟื้นคดีขึ้นมาสั่งฟ้องผู้ต้องหา เนื่องจากในการตรวจสอบของคณะทำงานได้ตรวจพบพยานหลักฐานใหม่ เกี่ยวกับการกว้านซื้อที่ดินจากราษฎร ซึ่งพบว่าผู้ที่กว้านซื้อนั้นเคยเป็นลูกจ้างของบริษัท ซี.พี.เคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขณะเดียวกันหลังจากที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาทำให้กลุ่มผู้ต้องหายังไม่ได้ออกจากพื้นที่ที่ครอบครองอยู่ในปัจจุบัน ..."
กรณี นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงาน อสส.ที่ 2840 /2566 แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด อันเป็นผลมาจากข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสูงสุด จำนวน 6 คดี ประกอบไปด้วย คดีเผาสวนงูภูเก็ต , คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก , คดีนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก , คดีมาวินเบต ดอทคอม และคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด และ คดีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก
ในส่วนคดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก บุกรุกยึดครองหรือทำประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนฯกว่า 6,200 ไร่ ใน อ.ภูเรือ จ.เลย ซึ่งมี นายศักดา ช่วงรังษี อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ได้เสนอความเห็นต่อ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุดว่า การสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ ไม่ได้พิจารณาหลักฐานอย่างรอบคอบ ไม่เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงกับราชการและทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมเสนอให้ดำเนินการลงโทษทางวินัย อย่างร้ายแรงกับอัยการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้อง
- ผลสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีฉาวเป็นเหตุ! ‘อำนาจ' สั่งยกร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อัยการสูงสุด’
- เสนอลงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ คดีสั่งไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เค. รุกป่า 6,000 ไร่
เกี่ยวกับคดีนี้ หากย้อนข้อมูลกลับไปดูข้อมูล จะพบว่า เมื่อเดือน ส.ค.2565 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 , นางพิไลจิตร เริงพิทยา ผู้ต้องหาที่ 2 , นางนิจพร จรณะจิตต์ ผู้ต้องหาที่ 3 และนางอรเอม เทิดประวัติ ผู้ต้องหาที่ 4
ในความผิดฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งได้กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ และร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้างหรือเผาป่าในที่ดินของรัฐมีเนื้อที่เกิน 50 ไร่ หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นการทำอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินโดยไม่มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 , 72 ตรี วรรคสอง พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2518 มาตรา 22 พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2522 มาตรา 7 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 , 108 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
หลังจากก่อนหน้านั้น ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในช่วงปี 2561 ว่า เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานได้เข้าตรวจสอบและตรวจยึดบริเวณสวนเกษตรภูเรือวโนทยาน ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งเป็นป่าท้องที่บ้านร่องจิก หมู่ที่ 6 บ้านนาขาป้อม หมูที่ 9 ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และบ้านหนองสนุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลโคกงาม บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 2 ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เกี่ยวกันพันจำนวน 6,229 ไร่ โดยมีบริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ครอบครอง พื้นที่ดังกล่าวเคยมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มาก่อน จำนวน 147 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 6,229 ไร่ จึงได้ทำการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน
โดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและควบคุมไฟป่า ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.ด่านซ้าย เพื่อดำเนินคดีกับ นางพิไลจิตร เริงพิทยา, นางนิจพร จรณะจิตต์ และ นางอรเอม เทิดประวัติ กรรมการบริษัท ซีพีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เนื่องจากมีหลักฐานว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อยื่นขอออกโฉนดที่ดิน เข้าข่ายมีเจตนาครอบครองที่ดินโดยมิชอบ ทั้ง 6 พันกว่าไร่
ต่อมา วันที่ 7 พ.ค. 2561 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นางพิไลจิตร เริงพิทยา นางนิจพร จรณะจิตต์ และนางอรเอม เทิดประวัติ กรรมการบริษัทซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก หลังเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และกรมที่ดินแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท ซี.พี.เค.ฯ จำนวน 6 คดี มูลค่าความเสียกว่า 680 ล้านบาท
วันที่ 4 ก.ย.2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดี พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์ศรีนิล รองอธิบดี และคณะ ร่วมกับกรมป่าไม้ โดยนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดี ,กรมที่ดิน,กรมพัฒนาที่ดิน และเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ ร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่การออกเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก.ของบริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ในพื้นที่ อ.ภูเรือ จ.เลย ตามที่กรมป่าไม้ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษก่อนหน้านี้
หลังกรมสอบสวนคดิเศษ รับเป็นคดีพิเศษที่ 56/2561 และขอรับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 15/2561 จากสถานีตำรวจภูธรโคกงามมาเป็นพยานหลักฐานในคดีพิเศษ จากการสอบสวนพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก.จำนวน 147 แปลง เนื้อที่ 6,229 ไร่ พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินคดีสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายรายหลบหนี ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ถือครอบครองที่ดิน ในความผิดฐานบุกรุกป่า ต่อมากรมที่ดินสั่งเพิกถอน น.ส.3 ก.ดังกล่าวทั้งหมด โดยใช้ ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐานในการออก น.ส.3 ก.
นอกจากนี้ยังมีการออกเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินเลขที่ 9516 ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของรังเย็นรีสอร์ท หมู่ 7 ต.โคกงาม อ.ด่านซ้าย จ.เลย ปัจจุบันกรมที่ดินได้สั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน ตามคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินที่ 2462/2561 จึงทำให้ที่ดินบริเวณรีสอร์ท์รังเย็นเป็นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังร่วมกับกรมป่าไม้บินถ่ายภาพทางอากาศบริเวณพื้นที่เกิดเหตุพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์ มีสิ่งปลูกสร้าง มีพืชผลทางการเกษตร ได้แก่ ต้นแมคคาดาเมียร์ ต้นยูคาลิปตัส ผลไม้อื่น และ มีการการสร้างอ่างเก็บน้ำ ถนน ตลอดจนมีระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา เข้าไปถึงในพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่ที่อยู่นอก น.ส.3 ก. มีร่องรอยการบุกรุกเพิ่มเติมด้วย ดังนั้นนำไปสู่การร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุและสอบสวนพยานบุคคล
ต่อมาในปี 2563 ดีเอสไอ มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหากับพวก ตามฐานความผิด และได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย กระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในที่สุด
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูล บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในขณะนั้น พบว่า จดทะเบียนวันที่ 26 มี.ค. 2525 ในชื่อ บริษัท เพชรบุรีรีอัลเอสเตทส์ จำกัดทุน 200 ล้านบาทประกอบธุรกิจ สนามกอล์ฟ และโรงแรม/บ้านพักตากอากาศโรงผลิตไวน์
10 มิ.ย. 2528 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เพชรบุรีเรียลเอสเตทส์ จำกัด ต่อมา วันที่ 3 ส.ค. 2535 เปลี่ยนเป็น บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ,วันที่ 27 ต.ค.2541 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 500 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 8 หมู่ที่ 5 ต.บางน้ำจืด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร นายชัยยุทธ กรรณสูต (เสียชีวิตแล้ว) บิดานายเปรมชัย นางพิไลจิตร เริงพิทยา นางนิจพร จรณะจิตต์ นายเปรมชัย กรรณสูต และ นางอรเอม เทอดประวัติ เป็นกรรมการ ณ วันที่ 27 เม.ย. 2560 นายธรณิศ กรรณสูต น.ส.ปราชญา กรรณสูต และ นายปีติ กรรณสูต ถือหุ้นคนละ 15%
จาการตรวจสอบงบดุลพบว่า รอบสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2539 แจ้งว่ามีสินทรัพย์สินประเภท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 438,271,739.22 บาท, 31 ธ.ค. 2550 มีสินทรัพย์สินประเภท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 348,432,040 บาท จากสินทรัพย์ รวม779,234,688 บาท, 31 ธ.ค. 2555 มีสินทรัพย์สินประเภท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 223,038,929 บาท จากสินทรัพย์รวม 725,903,992 บาท, 31 ธ.ค. 2558 มีสินทรัพย์สินประเภท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 188,245,366 บาท จากสินทรัพย์รวม 723,568,101 บาท , 31 ธ.ค. 2559 มีสินทรัพย์สินประเภท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 181,138,517 บาท จากสินทรัพย์รวม 714,470,858 บาท หนี้สิน 93,162,790 บาท ขาดทุนสะสม 226,043,982 บาท
แจ้งงบการเงินรอบปีสิ้นสุด 2559 รายได้ 84,395,560 บาท ขาดทุนสุทธิ 23,295,125 บาท
น่าสังเกตว่า สินทรัพย์ที่ดิน อาคารอุปกรณ์ มีมูลค่าสูงสุดในช่วงปี 2539 กว่า 438.2 ล้านบาท จากนั้นลดลง เหลือเพียง 181.1 ล้านบาท
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูล บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พบว่ายังประกอบกิจการอยู่ นาย ชัยยุทธ กรรณสูต นาง พิไลจิตร เริงพิทยา นาง นิจพร จรณะจิตต์ นาย เปรมชัย กรรณสูต นาง อรเอม กรรณสูต เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2566 นายธรณิศ กรรณสูต น.ส.ปราชญา กรรณสูต และ นายปีติ กรรณสูต ถือหุ้นใหญ่สุดคนละ 15%
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธ.ค.2565 แจ้งว่ามีรายได้รวม 31,244,874.00 บาท มีต้นทุนขาย และ/หรือบริการ 14,479,350.00 บาท รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 15,835,328.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 8,126,444 บาท
สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก นั้น มีข้อมูลปรากฏว่าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีนี้ ที่มี นายศักดา ช่วงรังษี อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ได้เสนอให้ดำเนินการลงโทษทางวินัย อย่างร้ายแรงกับอัยการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้อง
โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ อัยการที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้องโดยตรง มีจำนวน 4 คน ตั้งแต่ระดับอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ จนถึงระดับอธิบดีอัยการ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุด
กลุ่มที่สอง คือ อัยการที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและตรวจสอบการสั่งคดี แต่ไม่ดำเนินการอย่างรอบคอบ มีจำนวน 2 คน เป็นระดับรองอธิบดีอัยการและอธิบดีอัยการ ปัจจุบันเป็นอัยการอาวุโส
นอกจากนั้นคณะทำงานยังเสนอให้นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รื้อฟื้นคดีขึ้นมาสั่งฟ้องผู้ต้องหา เนื่องจากในการตรวจสอบของคณะทำงานได้ตรวจพบพยานหลักฐานใหม่ เกี่ยวกับการกว้านซื้อที่ดินจากราษฎร ซึ่งพบว่าผู้ที่กว้านซื้อนั้นเคยเป็นลูกจ้างของบริษัท ซี.พี.เคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ขณะเดียวกันหลังจากที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาทำให้กลุ่มผู้ต้องหายังไม่ได้ออกจากพื้นที่ที่ครอบครองอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่กรมที่ดินและศาลปกครองเคยมีคำพิพากษาให้เพิกถอน นส.3 ดังกล่าวแล้ว ได้สร้างความเสียหายให้กับต้นน้ำและระบบนิเวศน์รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ คณะทำงานยังได้เสนอให้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการอัยการเร่งสอบสวนทางวินัยอัยการที่เกี่ยวข้องในการสั่งไม่ฟ้องอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีอัยการระดับสูงบางรายลาออกจากราชการไปแล้ว ถ้าหากสอบสวนชักช้าไม่ทันตามที่กฎหมายกำหนด โดยตั้งกรรมการสอบสวนไม่ทันภายใน 180 วัน หรือสอบสวนไม่เสร็จภายใน 360 วัน ก็จะทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยกับอัยการเหล่านั้นได้
อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานเห็นว่า การกระทำของอัยการเหล่านั้นอาจจะเข้าข่ายการกระทำผิดทางอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย
เบื้องต้น หลังจากนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ ได้รับรายงานการตรวจสอบของคณะทำงานชุดนี้แล้ว ได้ส่งรายงานการตรวจสอบให้สำนักงานวิชาการ สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาและได้มีการทำความเห็นเสนอต่อนายอำนาจเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่กลุ่มอัยการเหล่านี้ ยังมีสิทธิชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองได้ ในชั้นการสอบสวนทางวินัยได้อีก
บทสรุปสุดท้ายการสอบสวนนับจากนี้เป็นอย่างไร ต้องติดตามดูแบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- ทวงคืนที่ดิน บ.เครือเปรมชัย!ดีเอสไอ-กรมป่าไม้ ลุยยึด น.ส.3 ก.จ.เลย 147แปลง 6,229 ไร่
- ทำความรู้จัก บ.ซี.พี.เค.ฯ ไร่องุ่น โรงบ่มไวน์ 6 พันไร่กลุ่มเปรมชัย จ.เลย 700 ล.
- DSI ส่งสำนวนคดี บ.ซี.พี.เค.ฯเครือเปรมชัย-พวก รุกป่า 6,948 ไร่ จ.เลย ให้อัยการ
- คำสั่งเด็ดขาด! อสส.ไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เคฯในเครือ'เปรมชัย'คดีรุกป่า 6,229 ไร่ จ.เลย