"...ข้อมูลที่เป็นไฮไลท์สำคัญอีกชุด คือ ในการกระทำความผิดในที่ดินป่าไม้บริเวณที่เกิดเหตุนี้ยังมีผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้นคือ บริษัท s. (ตัวย่อ) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์เชิงทุนและความสัมพันธ์ เชิงผู้บริหารกับผู้ต้องหาที่ 1 รวมไปถึงมีพยานหลักฐานชี้ชัดว่า นาย ป. (ตัวย่อ) นักธุรกิจชื่อดัง เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ด้วย..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
กรณี บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก บุกรุกยึดครองหรือทำประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนฯกว่า 6,200 ไร่ ใน อ.ภูเรือ จ.เลย ซึ่งเป็น 1 ใน 6 คดี ที่ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงาน อสส.ที่ 2840 /2566 แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด อันเป็นผลมาจากข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสูงสุด นั้น
นอกจากความเห็นของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก ที่มี นายศักดา ช่วงรังษี อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เสนอต่อ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ว่า การสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ ไม่ได้พิจารณาหลักฐานอย่างรอบคอบ ไม่เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงกับราชการและทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมเสนอให้ดำเนินการลงโทษทางวินัย อย่างร้ายแรงกับอัยการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว
- ผลสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีฉาวเป็นเหตุ! ‘อำนาจ' สั่งยกร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อัยการสูงสุด’
- เสนอลงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ คดีสั่งไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เค. รุกป่า 6,000 ไร่
- ย้อนคดี บ.เครือเปรมชัย รุกป่า 6พันไร่ ก่อนชงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ สั่งไม่ฟ้อง
- ชัดๆ เปิดไทม์ไลน์คดีรุกป่า 6 พันไร่ - อดีต อสส.สั่งไม่ฟ้องสวนความเห็น 'สำนักชี้ขาด-รองฯ'
- หลักฐานชัด! บ.เครือเปรมชัย ยังถือครองที่ดินคดีรุกป่า 6 พันไร่-รัฐไม่ฟ้องขับไล่?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลสำคัญกรณีนี้เพิ่มเติมว่า ในการเสนอความเห็นคดีนี้ของคณะทำงานฯ ชุดของนายศักดา ต่อ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ยังได้มีการเสนอแนวทางการพิจารณาสำนวนคดีใหม่ ผ่านพยานหลักฐานใหม่ เพื่อให้ที่ดินที่ผู้ต้องหาทั้งสี่ในคดีนี้ ร่วมกันบุกรุกและยึดถือครอบครองไว้เป็นจำนวน 6,229 ไร่เศษ ให้กลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติ และยังเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐตามภารกิจหลักของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในฐานะทนายแผ่นดินในการดำเนินการตามกฎหมายและทวงคืนสมบัติของชาติต่อไปด้วย
กล่าวคือ เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่ออัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้พิจารณาสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ตามข้อกล่าวหา ถือว่าคดีนี้อัยการสูงสุดได้ชี้ขาดเสร็จสิ้นแล้ว การจะพิจารณาชี้ขาดสำนวนคดีนี้ใหม่ย่อมไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากภายหลังคำสั่งไม่ฟ้องปรากฏว่า มีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้แล้ว อัยการสูงสุดมีอำนาจ ที่จะพิจารณาสำนวนคดีใหม่และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไปได้
เกี่ยวกับประเด็นนี้ แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการฯ ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ในการเสนอความเห็นของคณะทำงานฯ ชุดของนายศักดาดังกล่าว มีการระบุข้อมูลว่า จากการพิจารณาสำนวน ส.2 เลขรับที่ 2/2566 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวน (คดีพิเศษที่ 72/2563) มายังสำนักงานคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 เป็นคดีระหว่าง นาย ฉ. ผู้เสียหาย นาย ส. กับพวกรวม 2 คน ผู้ต้องหา ฐานร่วมกันบุกรุกยึดถือที่ดินของรัฐและหรือครอบครองพื้นที่ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า นั้น
พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการทำความเห็นพร้อมส่งเอกสารเข้ามาในสำนวนดังกล่าว มีการระบุในรายงานการสอบสวนว่า แนวทางการรื้อฟื้นคดีพิเศษที่ 56/2561 ภายหลังจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด สืบเนื่องจากคดีพิเศษที่ 56/2561 ที่อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวกรวม 4 ราย โดยให้เหตุผลในตอนท้าย นาย ส. เข้ามาเป็นคนงานในภายหลังจากการออกเอกสาร น.ส.3 ก. แต่คดีนี้ได้พบพยานหลักฐานใหม่หลายประการ ที่จะสามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่า บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก ในคดีพิเศษที่ 56/2561 ได้ร่วมกันทำการบุกรุกเข้ายึดถือ ก่นสร้าง แผ้วถาง ที่ดินรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีนี้ ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้
โดยหลักฐานใหม่ที่มีการตรวจสอบพบ อาทิ หลักฐานจากสำนักงานประกันสังคมว่า บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เคยว่าจ้างนาย ส. ให้เข้าทำงานในช่วงก่อนจะมีออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก. ของราษฎร แสดงว่าบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ย่อมต้องรู้จักกับนาย ส. เป็นอย่างดี
บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เองก็รับข้อเท็จจริงว่า ได้มีการซื้อที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 โดยมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับนาย อ. และระหว่างบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับนาย ธ.
ขณะที่ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษคดีนี้ ยังได้ทำการตรวจสอบหลักฐานการเปิดบัญชีเงินของชาวบ้านมีการเปิดบัญชีด้วยเงินสดจำนวนมาก เชื่อว่าเป็นเงินที่ได้มาจากขายที่ดินตามที่ชาวบ้านให้การจริง อีกทั้งเงินที่ได้มาและนำมาเปิดบัญชีเป็นการเปิดก่อนวันที่มีการออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. ในชื่อของชาวบ้าน และก่อนที่เปลี่ยนเป็นชื่อของบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งในคดีพิเศษที่ 56/2561 ยังไม่ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานในส่วนนี้ไว้ทำให้ผู้ต้องหาในคดีที่ 56/2561 ต่อสู้ได้ว่า ซื้อที่ดินภายหลังจากที่ชาวบ้านได้ น.ส.3 ก. มาจากทางราชการแล้ว
รวมไปถึงหลักฐานการนำชี้ตำแหน่งที่ดินของชาวบ้านที่ขายให้กับบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไม่ตรงกับตำแหน่งที่มีการออกเอกสาร น.ส.3 ก. และหลักฐานสมุดทะเบียนแจ้ง ส.ค.1 ต้นฉบับ ของสำนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาด่านซ้ายเปรียบเทียบกับสมุดทะเบียนแจ้ง ส.ค.1 ฉบับคัดลอก ของสำนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาภูเรือ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนถึงร่องรอยการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อที่ดินและแก้ไขลักษณะการทำประโยชน์ จากการสอบปากคำนาย ณ. นายช่างรังวัด ถึงตำแหน่งที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9516 ซึ่งเป็นที่ตั้งของรังเย็นรีสอร์ท นาย ณ. ให้การว่า นาย ม. กับพวก ออก น.ส.3 ก. เป็นคนละตำแหน่งกับที่ตั้งรังเย็นรีสอร์ท แต่บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อ้างว่านาย ม. กับพวก เป็นคนขายที่ดินให้กับบริษัทฯ เพื่อสร้างรังเย็นรีสอร์ท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่านาย ม.เพียงผู้เดียวที่ขายที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมรังเย็นรีสอร์ท แสดงว่าคดีนี้มีความผิดปกติในหลายๆ จุด
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการได้มาซึ่งที่ดินจำนวน 147 แปลงดังกล่าว ซึ่งผู้ต้องหาที่ 1 ในฐานะนิติบุคคลกล่าวอ้างได้ซื้อที่ดินทั้ง 147 แปลงมาโดยสุจริตจากผู้ครอบครองเดิมในราคา 35,376,600 บาท ที่ควรจะต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม ได้แก่ ข้อมูลค่าใช้จ่ายของบริษัทในช่วงปี 2534 ที่ได้มีการซื้อที่ดินที่เกิดเหตุ ว่ามีค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่, การตรวจสอบไปยังกรมสรรพากร ว่าในช่วงเกิดเหตุ ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ในการซื้อที่ดินดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าเป็นการดำเนินธุรกิจของผู้ต้องหาที่1 นั้นได้มีการแสดงรายการชำระราคาที่ดินและค่าภาษีต่อกรมสรรพากรโดยแสดงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ในแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ต้องหาที่ 1 หรือภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ และการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ในช่วงเวลาที่อ้างว่ามีการซื้อขายที่ดินดังกล่าวว่ามียอดเบิกถอนจริงตามข้อกล่าวดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร มีการชำระเงินก่อนที่จะมีการออกหลักฐานเกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือไม่ เป็นต้น
แต่ข้อมูลที่เป็นไฮไลท์สำคัญอีกชุด คือ ในการกระทำความผิดในที่ดินป่าไม้บริเวณที่เกิดเหตุนี้ยังมีผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้นคือ บริษัท s. (ตัวย่อ) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์เชิงทุนและความสัมพันธ์ เชิงผู้บริหารกับผู้ต้องหาที่ 1
รวมไปถึงมีพยานหลักฐานชี้ชัดว่า นาย ป. (ตัวย่อ) นักธุรกิจชื่อดัง เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ด้วย เพราะเป็นผู้เข้าร่วมประชุมและเห็นชอบในการที่ผู้ต้องหาที่ 1 ไปยื่นแบบขอสัมปทานในที่ดินของรัฐในเวลาหลังจากที่ทราบคำพิพากษาศาลปกครองกลางอันถึงที่สุดแล้วว่าเอกสารสิทธิในที่ดินถูกเพิกถอนไปโดยชอบแล้ว ผู้ต้องหาทั้งหมดจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินของรัฐบริเวณนี้อีกแล้ว การยื่นขอสัมปทานไม่ก่อให้เกิดสิทธิอยู่ในที่ดินดังกล่าวได้ การที่ผู้ต้องหาทั้งหมดยังดื้อแพ่งครอบครองยึดถืออยู่แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะบุกรุกครอบครองที่ดินของรัฐอันเป็นความผิดตามกฎหมาย
ทั้งหมดนี้ นับเป็นพยานหลักฐานใหม่ ที่มีผลสำคัญต่อคดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้แล้ว อัยการสูงสุดมีอำนาจ ที่จะพิจารณาสำนวนคดีใหม่และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไปได้
ส่วนกรณีที่ สำนักข่าวอิศรา ขยายผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ปัจจุบัน บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก ยังคงครอบครองพื้นที่ดินดังกล่าว โดยที่หน่วยงานรัฐยังไม่ได้มีการฟ้องขับไล่แต่อย่างใด จนทำให้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 อุดรธานี ส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป้า โดยหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลย.4 (ภูเรือ) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนป้องกันรักษาป้าและควบคุมไฟป่า เข้าไปปิดประกาศให้ประชาชนได้ทราบว่าพื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นป่าตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ห้ามมิให้ผู้ใดบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง หรือทำประโยชน์ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 และมาตรา 72 ตรี ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดี ในชั้นศาลนั้น
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า การที่ บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก ยังคงครอบครองพื้นที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ถือเป็นการหาประโยชน์จากพื้นที่ที่มีการตรวจสอบพบว่ามีการบุกรุก ขณะที่การครอบครองที่ดิน ตั้งแต่เกิดเหตุต่อเนื่องถึงปัจจุบันได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับระบบนิเวศของทรัพยากรป่าไม้เป็นจำนวนมาก และค่อนข้างร้ายแรง
"ทราบว่า ปัจจุบันกองนิติการกรมป่าไม้กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อฟ้องขับไล่เป็นคดีแพ่ง กับบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายทางทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไปอย่างร้ายแรงด้วย" แหล่งข่าวระบุ
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลเชิงลึกล่าสุด เกี่ยวกับคดี บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก บุกรุกยึดครองหรือทำประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนฯกว่า 6,200 ไร่ ใน อ.ภูเรือ จ.เลย ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า กลุ่มอัยการที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เพียงถูกเสนอให้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยต่ออัยการสูงสุด ยังมีอีกหลายขั้นตอนในการดำเนินการ จึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ปัจจุบัน อัยการสูงสุด ยังไม่ได้การสั่งฟ้องคดี ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาชี้ขาด บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และผู้เกี่ยวข้อง ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่เช่นกัน
ขณะที่ในช่วงบ่ายวันที่ 8 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อไปยัง รังเย็นรีสอร์ท ซึ่งเป็นจุดที่ถูกระบุว่ามีการบุกรุกที่ป่า เพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารหรือผู้ดูแล ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้าน แต่ไม่สามารถติดต่อได้
หากผู้บริหารหรือผู้ดูแล รังเย็นรีสอร์ท และบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีความประสงค์ที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง สามารถติดต่อกลับมาที่สำนักข่าวอิศรา ได้ตลอดเวลา
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- ทวงคืนที่ดิน บ.เครือเปรมชัย!ดีเอสไอ-กรมป่าไม้ ลุยยึด น.ส.3 ก.จ.เลย 147แปลง 6,229 ไร่
- ทำความรู้จัก บ.ซี.พี.เค.ฯ ไร่องุ่น โรงบ่มไวน์ 6 พันไร่กลุ่มเปรมชัย จ.เลย 700 ล.
- DSI ส่งสำนวนคดี บ.ซี.พี.เค.ฯเครือเปรมชัย-พวก รุกป่า 6,948 ไร่ จ.เลย ให้อัยการ
- ผลสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีฉาวเป็นเหตุ! ‘อำนาจ' สั่งยกร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อัยการสูงสุด’
- ขยะ (ยังคงซุกอยู่) ใต้พรมในสำนักงานอัยการสูงสุด?