"...เหล่านี้ คือ ประวัติโดยสังเขปของครม.คนใหม่ในรัฐบาลเศรษฐา 1/1 ซึ่งจะเห็นว่า หลายคนล้วนแล้วแต่มีความใกล้ชิด ผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดง หลายคนมี "บาดแผล" ทั้งในเรื่องการบริหารงานในช่วงที่ผ่านมา หรือเรื่องคุณสมบัติ ที่อาจกลายเป็น 'สายล่อฟ้า' นำไปสู่การตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือพรรคการเมืองฝั่งตรงกันข้ามในอนาคตด้วย.."
ISRA-SPECIAL : สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ หรือคณะรัฐมนตรี "เศรษฐา 1/1"
โดยรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ประกอบไปด้วย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา
นางสาว สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง
นายจักรพงษ์ แสงมณี เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นางสาวจิราพร สินธุไพร เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (ในวันเดียวกัน 28 เม.ย.2567 นายปานปรีย์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้ท่านอื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน)
- โปรดเกล้าฯ ครม.เศรษฐา1/1 ไม่พลิก 'พิชัย'รองนายกฯควบคลัง-'ชลน่าน' หลุดสธ.'สมศักดิ์' เสียบ
- ‘ปานปรีย์’ยื่นลาออก‘รมว.ต่างประเทศ’-เชื่อถูกปรับพ้น‘รองนายกฯ’ไม่เกี่ยวกับผลงาน
ทั้งนี้ ในบรรดารัฐมนตรีที่ได้การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครั้งนี้ หากโฟกัสเฉพาะรัฐมนตรีป้ายแดง ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ จะมีอยู่ด้วยกัน 6 ราย คือ
- นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง
- นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง
- นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับรัฐมนตรีป้ายแดง ทั้ง 6 คน มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมข้อมูลแต่ละคนมานำเสนอ ณ ที่นี้
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง
นายพิชัย ชุณหวชิร เกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2492 สำเร็จการศึกษาบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท บริหารธุรกิจจาก Indiana University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญา ดุษฏีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ ทางบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการเงิน จาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยนายพิชัยก็เป็นหนึ่งคนที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
@ 'อิศรา' เคยสืบค้นข้อมูลการทำงาน
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2557 สำนักข่าวอิศรานำเสนอข้อมูลของนายพิชัย โดยข้อมูลจากเว็บไซต์เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2544 จนถึง 2556 นายพิชัย ชุณหวชิร เคยดำรงตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ มาแล้วจำนวน 54 ตำแหน่ง ซึ่งในจำนวนตำแหน่งที่ได้รับไปทั้งหมด อยู่ในยุคของ นางสาวยิ่งลักษณ์ โดยตรงจำนวน 5 ตำแหน่ง และคาบเกี่ยวกันช่วงรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่
ปี: พ.ศ.2556 กรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2556 ประธานกรรมการ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2555 กรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2555 คณะกรรมการบริหาร ประธาน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2555 ประธานกรรมการ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2554 กรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 59 , 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2554 ประธานกรรมการ กรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 59 , 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2554 กรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 59 , 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ปี: พ.ศ.2554 กรรมการ อดีตกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปี 59 , 60 (สมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,สมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
นอกจากนี้ พิชัย ชุณหวชิร ยังเป็นกรรมการบริษัทไทยออยล์ เพาเวอร์ ในปี 2543-2554 ขณะที่ปี 2541-2554 เป็นกรรมการ บริษัท บางจากปิโตรเลียม และในปี 2551-2552 ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. ส่วนปี 2550-2552 เป็นกรรมการ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (ประเทศไทย) โดยในปี 2548-2552 เป็นกรรมการ บริษัท ปตท. เคมิคอล ปี 2543-2552 เป็นประธานกรรมการ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย และในปี 2539-2552 เป็นกรรมการ บริษัท ทิพยประกันภัย อีกทั้งยังเป็นกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในปี 2546-2551 และปี 2544-2550 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร บริษัท ปตท.
นอกจากนี้ในปี 2556-ปัจุจุบัน เป็นประธานกรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และในปี 2564 - ปัจจุบัน เป็นกรรมการ บริษัท วีอาร์บี เอนเนอร์ยี่ จำกัด
@ การดำรงตำแหน่งกรรมการ/อื่นๆ ในปัจจุบัน
บริษัทจดทะเบียนอื่น
- ประธานกรรมการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
- ประธานกรรมการ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)
กิจการอื่นที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน
- นายกสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย
- รองประธานกรรมการ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
- ประธานสมาพันธ์มวยสากลแห่งทวีปเอเชีย (ASBC)
@ พยานปากเอกคดีจำนำข้าว
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2557 สำนักข่าวอิศรารายงานข้อมูลของนายพิชัย ชุณหวชิร หนึ่งในพยานจำนวน 7 ปาก ที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยื่นเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เรียกตัวมาให้ปากคำคดีปล่อยปละเลยละการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา
เนื่องจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุในหนังสือยื่นคำร้องถึงเหตุผลการเสนอชื่อ 'พิชัย ชุณหวชิร' เป็นมาพยานครั้งนี้ว่า นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นพยานผู้มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ คุณวุฒิ เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านบัญชีและเป็นพยานบุคคลภายนอก มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า แต่ได้เสียสละยอมมาให้ปากคำเพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมในการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช."
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทใบที่ 1 จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ บอสตัน, ปริญญาโทใบที่ 2 และปริญญาเอก ด้านจากคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอย ชิคาโก
@ การทำงาน
หลังจบการศึกษาจากต่างประเทศ เผ่าภูมิได้เข้ารับราชการที่สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เป็นระยะเวลา 1 ปีเศษ แต่พบปัญหาในการผลักดันนโยบายภายในองค์กรจึงลาออกในเวลาต่อมา ก่อนจะมีบุคคลชักชวนให้เข้ามาทำงานการเมืองในพรรคเพื่อไทย โดยเข้ามาเป็นทีมงานของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ตั้งแต่สมัยเป็นเลขาธิการพรรค และในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนเกิดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 จากนั้นในปี พ.ศ. 2561 ได้รับเลือกให้เป็นรองเลขาธิการพรรค และดำรงตำแหน่งนี้ติดต่อกัน 4 สมัย (พ.ศ. 2561, พ.ศ. 2562, พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564) ก่อนจะขยับขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ. 2566
ทั้งนี้นายเผ่าภูมิเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ผลักดัน สื่อสาร และประชาสัมพันธ์นโยบายต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกผลักดันเป็นนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน รวมถึงเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท
นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นางสาวจิราพร สินธุไพร เกิดเมื่อวันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2530 ที่ตำบลหนองทัพไทย อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรสาวคนโตของนายนิสิต สินธุไพร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน และอดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ กับนางเอมอร สินธุไพร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย มีน้องสาวหนึ่งคน คือ นางสาวชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 8 จังหวัดร้อยเอ็ด
@ การศึกษา
นางสาวจิราพร สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมต้นที่ โรงเรียนยโสธรพิทยาคม อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ก่อนจะเข้ามาศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมปลายที่ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์บัณฑิต ที่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทใบที่สอง Master of Science (International Business) University of Reading เกียรตินิยมอันดับ 2 ที่ ประเทศอังกฤษ
@ การทำงาน
นางสาวจิราพร ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ในเขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกตั้งครั้งแรกโดยมีคะแนนสูงเป็นอันดับที่ 1 ของจังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยคะแนน 58,842 คะแนน
ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เซ็นแต่งตั้ง นางสาวจิราพร สินธุไพร เป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมกับ นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร, รท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง, นายชุมสาย ศรียาภัย และ นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 นางสาวจิราพรลงสมัครและชนะการเลือกตั้ง
นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายพิชิต ชื่นบาน เป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองในฐานะอดีตมือกฎหมายครอบครัวชินวัตร และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ
@ การศึกษา
ทั้งนี้นายพิชิต จบปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สาขากฎหมายมหาชน เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 34 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
@ การทำงาน
นายพิชิต เป็นที่รู้จักเป็นที่รู้จักในฐานะอดีตมือกฎหมายครอบครัวชินวัตร ซึ่งรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมทนายความของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อสู้คดีที่ดินรัชดา และเคยตกเป็นข่าวดัง เมื่อศาลมีคำสั่งจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล จากกรณีมีข่าวหิ้วถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ขณะที่ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายพิชิต มีบทบาทในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอยู่เบื้องหลังในกลั่นกรองระเบียบกฎหมาย และมีบทบาทในการสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรม จนกระทั่งมีการรัฐประหาร 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อสู้คดีจำนำข้าว นายพิชิตก็ยังทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความสู้คดีให้โดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งปี 2562 นายพิชิต ได้รับตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษากฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ แต่ไม่ได้นั่งอยู่ในกรรมการบริหารพรรค กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคในเวลาต่อมา
ในช่วงการจัดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา 1 ชื่อของนายพิชิต ชื่นบาน เคยปรากฏชื่อว่าจะได้เข้ามา นั่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ ก่อนที่จะเจ้าตัวจะออกมาประกาศไม่รับตำแหน่งในภายหลัง
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2566 นายพิชิต เคยระบุว่าตนเองมีคุณสมบัติของตนครบถ้วนถูกต้องทุกประการ ไม่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพื่อให้ประเทศชาติ และรัฐบาลเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว เนื่องจากยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นเรื่องเร่งด่วน จึงขอไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีในครั้งนี้
- กาง รธน.ส่องคุณสมบัติ ‘พิชิต ชื่นบาน’ จากทนายถุงขนม สู่(ว่าที่) รมต.?
- ‘พิชิต ชื่นบาน’ ประกาศไม่รับตำแหน่ง ‘รัฐมนตรี’ หวัง รบ.ใหม่เดินหน้า
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร เกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ที่ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรของนายอิทธิ ศิริลัทธยากร กับนางสุพัฒตรา ศิริลัทธยากร
@ การศึกษา
นายอรรถกร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้าน Communication Arts จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และปริญญาโท Marketing Management จาก MIDDLESEX UNIVERSITY ประเทศอังกฤษ
@ การทำงาน
นายอรรถกร ประกอบธุรกิจส่วนตัว ต่อมาในปี 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 57 สังกัดพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยแรก ต่อมาย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 18 โดยการสนับสนุนของบิดาและได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง
นายอรรถกร มีบทบาทเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หลายปีงบประมาณด้วยกัน
นอกจากนั้นนายอรรถกรยังเป็นผู้อภิปรายประเด็นเกี่ยวกับการแต่งกายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 นายอรรถกรได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และเป็นโฆษกพรรคพลังประชารัฐ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายสุชาติ ชมกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 เป็นบุตรชายของวิเชียร ชมกลิ่น อาศัยอยู่ที่ ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี สมรสกับนางสาววิมลจิต อรินทมะพงษ์ มีบุตรชาย 2 คน นายสุชาติ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยเกริก
@ การทำงาน
นายสุชาติ เข้าสู่วงการการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เขตอำเภอเมืองชลบุรี ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคพลังชล และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับเลือกติดต่อกันรวม 2 สมัย
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2563 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายสุชาติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 นายสุชาติได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 นายสุชาติได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ และเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2566 นายสุชาติได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น สส. และวันที่ 9 มกราคม 2566 ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐและสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ
@ ‘อิศรา’ เคยนำเสนอข้อมูลเงินกู้ของ ‘สุชาติ’
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 สำนักข่าวอิศรานำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครั้งที่ 2 ของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีพ้นตำแหน่ง ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ที่ปรากฏข้อมูลว่า น.ส.วิมิลจิต อรินทมะพงษ์ คู่สมรส มีเงินให้กู้ยืมกับบริษัท อรินสิริ แลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือข่ายของภรรยานายสุชาติ ยืนยันยอดภาระหนี้ ณ 6 ม.ค. 2566 จำนวน 47,000,000 บาท
หลังจากก่อนหน้านี้ ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ยื่นต่อสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีพ้นตำแหน่ง ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา นายสุชาติ แจ้งข้อมูลกรณีการกู้ยืมเงินตั้งแต่ช่วง มิ.ย.-ธ.ค. 2565 รายละ 5 - 15 ล้านบาท จากบุคคลกลุ่มหนึ่ง รวมจำนวน 295,000,000 บาท
- กู้เงินปีเดียว 295 ล.! ทรัพย์สิน 'สุชาติ ชมกลิ่น' อดีต ส.ส.ชลบุรี พปชร. 740 ล.
- แกะรอย! 'สุชาติ ชมกลิ่น' ไฉนกู้เงินปีเดียว 295 ล้าน
- เปิดตัว! 5 นักธุรกิจ 'คนรู้จัก' ผู้ให้ 'สุชาติ ชมกลิ่น' กู้เงินรวม 295 ล้าน
- เปิดหนังสือสัญญา '5 นักธุรกิจ' ให้ 'สุชาติ ชมกลิ่น' กู้เงิน 295 ล.-ใช้พยานคนเดียวกัน
ขณะที่งานประกวดราคาโครงการจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ครั้งที่ 2 วงเงิน 7,800 ล้านบาท ในสมัยที่ นายสุชาติ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ปรากฏข่าวถูกร้องเรียนเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการยื่นเรื่องให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบด้วย
- ไม่ใช่ผู้มีอำนาจลงชื่อรับรอง! 'สุชาติ' ตอบปมร้องผลิตใบอนุญาตทำงาน7.9 พันล.ให้ถามอธิบดี
- บ.สกายอายฯ ชื่อแรก! เปิดตัวกิจการร่วมค้า'ฟิวเจอร์ฯ' คว้าจ้างผลิตใบอนุญาต กกจ.7.8 พันล.
นอกจากนี้นายสุชาติ ยังปรากฏข่าวไปยื่นฟ้องร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษในกรณีที่ไปกล่าวกานายสุชาติมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การค่าหักหัวคิว แรงงานที่ไปเก็บผลไม้ป่าที่ ประเทศฟินแลนด์ จำนวน 12,000 คน ระหว่าง ปี 2563-2566 คนละ 3,000 บาท รวมค่าเสียหาย 36 ล้านบาทด้วย
เหล่านี้ คือ ประวัติโดยสังเขปของครม.คนใหม่ในรัฐบาลเศรษฐา 1/1 ซึ่งจะเห็นว่า หลายคนล้วนแล้วแต่มีความใกล้ชิด ผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดง หลายคนมี "บาดแผล" ทั้งในเรื่องการบริหารงานในช่วงที่ผ่านมา หรือเรื่องคุณสมบัติ ที่อาจกลายเป็น 'สายล่อฟ้า' นำไปสู่การตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือพรรคการเมืองฝั่งตรงกันข้ามในอนาคตด้วย
ส่วนรัฐมนตรี ‘คนใหม่’ ทั้ง 6 คนนี้จะมีบทบาทและผลงานอย่างไรในรัฐบาลเศรษฐา 1/1 ต้องติดตามดูกันต่อไป