ในปี 2565 มีการระบุว่าฐานล้อหัว (Nose Landing Gear) และฐานล้อหลักจำนวน 2 ฐานล้อ โดยฐานล้อแบบพับเก็บไม่ได้ (Fixes Landing Gear) มี strut สำหรับลดแรงกระแทกตามมาตรฐานผู้ผลิต อย่างไรก็ตามในปี 2567 กลับมีการระบุรายละเอียดแค่ว่า ฐานล้อหัว (Nose Landing Gear) และฐานล้อหลักจำนวน 3 ฐานล้อ มี strut สำหรับลดแรงกระแทกตามมาตรฐานผู้ผลิต
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวกรณีการประกวดราคาซื้อเครื่องบินขนาดกลาง 2 ลำ วงเงิน 1,188 ล้านบาท ของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการที่ปรากฏข่าวมีกลุ่มบุคคลพยายามติดต่อผู้บริหารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อเรียกรับเงินแลกเปลี่ยนกับการไม่ยื่นเรื่องร้องเรียน เหมือนกรณีโครงการต่างๆ ของกรมการข้าว แต่ยังไม่มีการจ่ายเงินกัน
โดยโครงการนี้มีข้อสังเกตว่าการประกวดราคาซื้อเครื่องบินขนาดกลาง 2 ลำใหม่ ในช่วงปี 2567 วงเงิน 1,188 ล้านบาท อาจไม่ได้มีการเข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ข้อตกลงคุณธรรมเห็นค้านการปรับลดสเปกเครื่องบินของกรมฝนหลวงฯ เพราะการปรับลดดังกล่าว อาจจะส่งผลทำให้เครื่องบินที่จะจัดซื้อ ไม่ตรงตามความต้องการใช้งานของกรมฝนหลวง อีกทั้งราคาการจัดซื้อเครื่องบินทั้ง 2 ลำ ที่จะจัดซื้อก็ยังกำหนดราคาวงเงินเดิม ไม่ได้มีการปรับลดราคาลงด้วยแต่อย่างใด
ด้านแหล่งข่าวจากกรมฝนหลวงฯ เปิดเผยผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า เครื่องบินฝนหลวง ขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ ที่อยู่ระหว่างการจัดซื้อใหม่ดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการปรับลดข้อกำหนดทางเทคนิคของรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะและเงื่อนไขทางเทคนิค จนใกล้เคียงกับสเปกของเครื่องบิน LET L410 NG จากสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งมีจำนวน 19 ที่นั่ง
ขณะที่นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรให้ข้อมูลยืนยันต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณว่ามีการปรับแก้ทีโออาร์จริงแต่ ไม่มีการลดสมรรถนะเครื่องบินแต่อย่างใด
- เปิดข้อมูลเครื่องบินเช็ก LET 410 NG จากเว็บ ตปท.-กรมฝนหลวงเตรียมจัดซื้อ? มูลค่า 1,188 ล.
- บ.ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด! อธิบดีฝนหลวง รับไปดูงานเช็ก ก่อนซื้อเครื่องบินพันล.-แต่ไม่มีลดสเปก
- ก่อนเป็นข่าวโดนตบทรัพย์! เจาะปมซื้อเครื่องบินฝนหลวง 1,188 ล. ไฉนยังไม่ประกาศชื่อผู้ชนะ?
- ข้อมูลลับ! จัดซื้อเครื่องบินฝนหลวง 1,188 ล. 2 ลำ ปี 67 ไม่เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม?
- เจาะสเปกซื้อเครื่องบินฝนหลวงพันล. ถูกปรับแก้ TOR เปิดทางให้รุ่น LET L410 NG จริงหรือ?
- ไขปมซื้อเครื่องบินฝนหลวงพันล. 'บิ๊ก' สั่งไม่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม หลังเปลี่ยน TOR จริงหรือ?
สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวเพิ่มเติมว่าไม่นานมานี้มีแหล่งข่าวได้ส่งเอกสารเปรียบเทียบรายละเอียดและเงื่อนไขทางเทคนิคซื้อเครื่องบินขนาดกลางจำนวน 2 ลำ ระหว่างปี 2565 และปี 2567
สำนักข่าวอิศราจึงขอนำเสนอรายละเอียดในส่วนที่มีความแตกต่างกันระหว่างเงื่อนไขทางเทคนิคการจัดซื้อเครื่องบินเล็กปี 2565 และปี 2567 มีรายละเอียดสำคัญดังนี้
1.ความแตกต่างด้านคุณลักษณะทั่วไปของเครื่องบินขนาดกลาง
1.1 ในปี 2565 มีการระบุลักษณะเครื่องบินปีกความสูงเหนือลำตัว (High Wing) มีฐานล้อรองรับหัว (Nose Landing Gear) คันบังคับคู่ (Dual Control) ระบุความสูงภายในห้องโดยสาร (ระยะแนวดิ่งจากพื้นทางเดินในห้องโดยสารถึงส่วนเพดานห้องโดยสาร) ไม่ต่ำกว่า 175 เซนติเมตร
อย่างไรก็ตามในปี 2567 กลับระบุความสูงส่วนนี้ว่าเป็นความสูงห้องโดยสารไม่น้อยกว่า 1.65 เมตร
1.2 ในปี 2565 มีการระบุว่าฐานล้อหัว (Nose Landing Gear) และฐานล้อหลักจำนวน 2 ฐานล้อ โดยฐานล้อแบบพับเก็บไม่ได้ (Fixes Landing Gear) มี strut สำหรับลดแรงกระแทกตามมาตรฐานผู้ผลิต อย่างไรก็ตามในปี 2567 กลับมีการระบุรายละเอียดแค่ว่า ฐานล้อหัว (Nose Landing Gear) และฐานล้อหลักจำนวน 3 ฐานล้อ มี strut สำหรับลดแรงกระแทกตามมาตรฐานผู้ผลิต
หรือสรุปก็คือในปี 2567 มีการเพิ่มจำนวนฐานล้อหลักและตัดคำว่าฐานล้อพับเก็บไม่ได้ออกไปนั่นเอง
1.3 ปี 2565 มีการระบุว่าขนาดประตูสำหรับขนถ่ายสัมภาระด้านข้าง ขนาดช่องขนถ่ายสัมภาระ ความสูงไม่น้อยกว่า 1.75 เมตร ความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร
อย่างไรก็ตามในปี 2567 กลับระบุว่าขนาดประตูสำหรับขนถ่ายสัมภาระด้านข้าง ขนาดช่องขนถ่ายสัมภาระ ความสูงไม่น้อยกว่า 1.45 เมตร ความกว้างไม่น้อยกว่า 1.25 เมตร
2.สำหรับการจัดซื้อในปี 2567 มีการระบุถึงรายละเอียดของเครื่องยนต์เครื่องบินที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ในการจัดซื้อในปี 2565 โดยรายละเอียดใหม่มีดังต่อไปนี้
2.1 กำลังของเครื่องยนต์ขณะทำการบินขึ้นที่ระดับน้ำทะเล ต้องมีค่าอัตราส่วนกำลังเครื่องยนต์สูงสุดต่อน้ำหนักรวมสูงสุดขณะสิ่งขึ้นไม่น้อยกว่า 0.235 SHP/kg
2.3 ชั่วโมงใช้งานเครื่องยนต์ก่อนซ่อมใหญ่ (Engine Fight Hours : EFH or Time Between Overhaul:TBO) ไม่น้อยกว่า 5,000 ชั่วโมง กรณีเป็นเครื่องยนต์ที่มีการตรวจซ่อม Hot Section Inspection (H.SI) หรือชั่วโมงใช้งานเครื่องยนต์ก่อนช่อมใหญ่ (Engine Fight Hours : EFH or Time Between Overhaul: TBO) ไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง กรณีเป็นเครื่องยนต์ที่ไม่ต้องตรวจซ่อม Hot Section Inspection (H.S.)
2.4 กรณีที่ไอเสียส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ขนถ่ายสารฝนหลวง ซึ่งมีการดับเครื่องยนต์ระหว่างขนถ่ายสารฝนหลวง เครื่องยนต์จะต้องสามารถติดได้อีกครั้งได้ภายในเวลาไม่เกิน 20 นาที นับแต่การดับเครื่องยนต์นั้น
สเปกห้องโดยสารและน้ำหนักบรรทุกเครื่องบิน L410 NG
2.5 ในการจัดซื้อปี 2565 มีการระบุว่าน้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 8,100 กิโลกรัม แต่ว่าในการจัดซื้อปี 2567 ไม่ได้มีการระบุรายละเอียดส่วนนี้เอาไว้
3.หลักเกณ์การพิจารณาการให้คะแนนตามเกณฑ์คุณภาพโครงการซื้อเครื่องบินขนาดกลาง พบว่ามีความแตกต่างระหว่างปี 2565 กับปี 2567 ดังนี้
3.1 ในปี 2565 มีการกำหนดว่า ราคาที่ยื่นข้อเสนอ (Price) กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 44ข้อเสนอด้านเทคนิค กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 35
อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 มีการกำหนดว่า ราคาที่ยื่นข้อเสนอ (Price) กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 40 ข้อเสนอด้านเทคนิค กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 39
3.2 ในส่วนของรายละเอียดการรับประกันความชำชุด ในปี 2565 มีการกำหนดว่าถ้าหากรับประกันความชำรุดเป็นเวลาน้อยกว่า 3 ปี จะได้ 0 คะแนน ถ้าหากรับประกันความชำรุดเป็นเวลา 3-4 ปี จะได้ 25 คะแนน รับประกันความชำรุดเป็นเวลา 4-5 ปี ได้ 50 คะแนน รับประกันความชำรุด 5-6 ปี ได้ 75 คะแนน และรับประกันความชำรุดเป็นเวลานานกว่า 6 ปีขึ้นไป ได้ 100 คะแนนเต็ม
อย่างไรก็ตามในปี 2567 มีการกำหนดว่าถ้าหากรับประกันความชำรุดเป็นเวลา 2 ปี หรือ 1,500 ชั่วโมงจะได้ 0 คะแนน ถ้าหากรับประกันความชำรุดเป็นเวลา 3 ปี หรือ 1,500 ชั่วโมง จะได้ 25 คะแนน รับประกันความชำรุดเป็นเวลา 4 ปี หรือ 2,000 ชั่วโมง ได้ 50 คะแนน รับประกันความชำรุด 5 ปี หรือ 2,500 ชั่วโมง ได้ 75 คะแนน และรับประกันความชำรุดเป็นเวลานานกว่า 6 ปี หรือ 3,000 ชั่วโมง ได้ 100 คะแนนเต็ม
3.3 ในปี 2565 ในส่วนที่มีการระบุระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่อง นับจากวันผ่านการตรวจรับจากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุแล้ว พิจารณาจากให้เอกสารรับรองการรับประกันความชำรุดบกหร่องจากผู้ผลิตซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้แทนจากผู้ผลิต หรือตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย หรือผู้แทนจำหน่ายที่ได้รับแต่งตั้งโดยตรงจากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามในปี 2567 พบว่ามีการเพิ่มรายละเอียดต่อท้ายไปว่า “เฉพาะชิ้นส่วนหลัก”
3.4 ในปี 2567 มีการระบุรายละเอียดเพิ่มเติมไว้ว่าการรับประกันความชำรุดบกพร่อง ระยะเวลาหรือชั่วโมงใช้งาน กำหนดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดถึงก่อนให้ใช้ค่านั้น
4.เกณฑ์การพิจารณาย่อยข้อเสนอด้านเทคนิค
4.1พบว่าในปี 2565 มีการกำหนดว่าถ้าอัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่ามากกว่า 700 ลิตรต่อชั่วโมงจะได้ 0 คะแนน อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่ามากกว่า 650-700 ลิตรต่อชั่วโมงจะได้ 25 คะแนน อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่ามากกว่า 600-650 ลิตรต่อชั่วโมงจะได้ 40 คะแนน อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่ามากกว่า 550-600 ลิตรต่อชั่วโมงจะได้ 60 คะแนน อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่ามากกว่า 500-550 ลิตรต่อชั่วโมงจะได้ 80 คะแนน และอัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 500 ลิตรต่อชั่วโมงจะได้ 100 คะแนน
ส่วนในปี 2567 มีการกำหนดว่าอัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่ามากกว่า 700 ลิตรต่อชั่วโมงได้ 0 คะแนน อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 700 ลิตรต่อชั่วโมงได้ 25 คะแนน อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 600 ลิตรต่อชั่วโมงได้ 40 คะแนน อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 500 ลิตรต่อชั่วโมงได้ 60 คะแนน อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 400 ลิตรต่อชั่วโมงได้ 80 คะแนน และอัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 300 ลิตรต่อชั่วโมงได้ 100 คะแนน