"...การดำเนินทางวินัยกับอดีตข้าราชการอัยการระดับสูง ซึ่งได้ลาออกจากราชการไปแล้ว จะต้องกระทำภายใต้เงื่อนไขและกรอบระยะเวลาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 81 กล่าวคือ จะต้องมี "การกล่าาหา" ว่า กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือต้องหาหรือถูกฟ้องคดีอาญาที่มิใช่ความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และจะต้องเริ่มดำเนินการภายในวันที่ 29 มี.ค.2567 และแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 ก.ย.2567 ..."
กรณีปรากฏข่าวว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2567 สำนักงานคณะกรรมการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้เผยแพร่เอกสารผลการประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) โดยในข้อที่ 2 ของเอกสารระบุว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรณีข้าราชการอัยการ ถูกกล่าวหา และมีกรณีที่ถูกสงสัยว่ากระทำผิดวินัยจำนวน 1 ราย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า ข้าราชการอัยการระดับสูงรายนี้ เป็นหนึ่งในข้าราชการอัยการระดับสูงที่ถูกคณะทำงานตรวจสอบคดีการบุกรุกป่าในอำเภอภูเรือ จังหวัดจังหวัดเลยจำนวน 6,200 ไร่ ซึ่งมีนายศักดา ช่วงรังษี รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีความเห็นว่า ข้าราชการอัยการระดับสูงรายนี้ น่าจะมีความผิดวินัยร้ายแรง คณะทำงานฯ จึงเสนอให้นายอำนาจ เจตเจริญรักษ์ อัยการสูงสุดตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย แต่เนื่องจากข้าราชการอัยการรายนี้ได้ลาออกจากราชการไปตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2566 ดังนั้น ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนภายใน 180 วัน มิฉะนั้นจะไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้ ซึ่งกำหนดการ 180 วัน จะถึงกำหนดในปลายเดือน มี.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการอัยการเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ข้อยุติเนื่องจากติดปัญหาเรื่องระเบียบที่เพิ่งออกมาอาจจะยังไม่ครอบคลุม จึงจะมีการพิจารณาต่อในวันที่ 20 มี.ค.2567 นี้
ต่อกรณีดังกล่าว ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการพิจารณาวาระกรณีข้าราชการอัยการ ถูกกล่าวหา และมีกรณีที่ถูกสงสัยว่ากระทำผิดวินัยจำนวน 1 ราย ที่เกี่ยวกับคดีการบุกรุกป่าในอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย จำนวน 6,200 ไร่ ดังกล่าว ที่ประชุม ก.อ.ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทางวินัย อดีตข้าราชการอัยการระดับสูงรายนี้ เนื่องจากข้าราชการอัยการรายนี้ได้ลาออกจากราชการไปตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2566 ดังนั้น ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนภายใน 180 วัน มิฉะนั้นจะไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้ ซึ่งกำหนดการ 180 วัน จะถึงกำหนดในปลายเดือน มี.ค.นี้
โดยในการพิจารณาเรื่องนี้ ก.อ.มี 3 ทางเลือกสำคัญ
ปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้
ในการพิจารณาวาระเรื่องนี้ ของ ก.อ. เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่มีการสรุปข้อมูลความคืบหน้าการสอบสวนคดีการบุกรุกป่าในอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย จำนวน 6,200 ไร่ ให้ที่ประชุมรับทราบ มีการแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า นายอำนาจ เจตเจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบให้ดำเนินการตามที่คณะทำงานพิจารณารายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการอัยการเสนอ และให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายวินัยเร่งดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตามอำนาจหน้าที่โดยด่วนแล้ว
โดยคณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นว่า อดีตข้าราชการอัยการระดับสูง และพวกอีก 3 ราย มีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำความผิดวินัย จึงเห็นควรดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 60, 64, 71 , 74 ,85 (7) แต่ในการดำเนินการทางวินัยกับ อดีตข้าราชการอัยการระดับสูง ต้องเริ่มดำเนินการภายใน 180 วัน และดำเนินการให้เสร็จสิ้นภาใน 360 วัน
เบื้องต้น มีการแจ้งข้อมูลต่อที่ประชุม ก.อ.ว่า อัยการพิเศษฝ่ายวินัยพิจารณาแล้วมีความเห็นดังนี้
1. เห็นควรดำเนินการทางวินัยแก่อัยการที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ราย โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นดำเนินการสอบสวนพิจารณาตามระเบียบกฎหมาย
2. ส่วนกรณี อดีตข้าราชการอัยการระดับสูง นั้น การดำเนินการทางวินัยเป็นอำนาจและหน้าที่ของ ก.อ. แต่เนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ลาออกจากราชการ เมื่อประมาณปลายเดือนตุลาคม 2566 โดยอ้างว่าไปเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องดำเนินการทางวินัยภายในกรอบระยะเวลาตามมาตรา 81 โดยเริ่มดำเนินการภายใน 180 วัน หรือภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567 และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 360 วันหรือภายในวันที่ 25 ก.ย.2567
ปัจจุบัน ระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด พ ศ. 2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 จึงเห็นควรแยกสำนวนเพื่อดำเนินการทางวินัยแก่อดีตข้าราชการอัยการระดับสูง กรณีถูกกล่าวหาและมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำความผิดวินัย กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง มิให้เสียหายแก่ราชการ และด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบเบบแผนของทางราชการ และประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 64, 73,85 (7) ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่ของ ก.อ. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.อ. กำหนด ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 82 และต้องดำเนินการภายในกรอบระยะเวลา ตามมาตรา 81 โดยริ่มดำเนินการภายใน 180 วัน หรือ ภายในวันที่ 29 มี.ค.2567 และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน หรือภายในวันที่ 25 ก.ย.2567
ขณะที่ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ พิจารณาแล้ว เห็นว่า สำนวนคดีนี้เกี่ยวพันกับสำนวนวินัย ของกลุ่มอัยการ 3 ราย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอัยการได้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขั้นต้น และเห็นควรเสนอ ก.อ. ให้ดำเนินการทางวินัยกับอดีตข้าราชการอัยการระดับสูง และเนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งอนุญาตให้ลาออกจากราชการ ไปแล้ว การจะดำเนินการและสั่งลงโทษทางวินัย ได้จึงต้องอยู่ในบังคับของกรอบระยะเวลา ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 81 ซึ่งบัญญัติว่า "ข้าราชการอัยการผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ที่มิใช่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ แม้ภายหลังผู้นั้นจะพ้นจากตำแหน่งข้าราชการอัยการไปแล้วโดยมิใช่เพราะเหตุตาย ให้ดำเนินการสอบสวนหรือพิจารณาเพื่อลงโทษหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้เป็นไปตามลักษณะนี้ต่อไปได้ แต่ต้องเริ่มดำเนินการภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามร้อยหกสิบวัน ทั้งนี้ นับแต่วันที่ผู้นั้นพันจากตำแหน่ง"
ดังนั้น การดำเนินทางวินัยกับอดีตข้าราชการอัยการระดับสูง ซึ่งได้ลาออกจากราชการไปแล้ว จะต้องกระทำภายใต้เงื่อนไขและกรอบระยะเวลาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 81 กล่าวคือ จะต้องมี "การกล่าาหา" ว่า กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือต้องหาหรือถูกฟ้องคดีอาญาที่มีใช่ความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษและจะต้องเริ่มดำเนินการภายในวันที่ 29 มี.ค.2567 และแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 ก.ย.2567
ในประเด็นเกี่ยวกับ "การกล่าวหา" นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นเพียง "สรุปความเห็น" ของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุดที่ 2 สำนักงานวิยาการ และคณะทำงานฯ ของสำนักงานคณะกรรมการอัยการที่นำเสนอต่ออัยการสูงสุด ซึ่งได้เห็นชอบกับข้อเสนอว่า "มีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย และเห็นควรดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 60, 64, 71 , 74 ,85 (7)”
จึงยังไม่ชัดเจนว่ากรณีเช่นนี้ ถือได้หรือไม่ว่าเป็น "การกล่าวหา" ว่า อดีตข้าราชการอัยการระดับสูงกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง อันเป็นเงื่อนไขในการที่จะดำเนินการทางวินัยได้ แม้จะมิได้เป็นข้าราชการอัยการแล้ว ตามพระราชบัญญัติข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 81
เมื่อยังไม่มีความชัดเจนและการดำเนินการและการสั่งลงโทษทางวินัยกับอดีตข้าราชการอัยการระดับสูง เป็นอำนาจและหน้าที่ของ ก.อ. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.อ. กำหนด ตามพระราชบัญญัติข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 82 จึงมีการนำเสนอเรื่องต่อ ก.อ. ในวาระการประชุมครั้งนี้ เพื่อพิจารณากรณีอดีตข้าราชการอัยการระดับสูงต้องสงสัยว่ากระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 60, 64 , 71, 74 และมาตรา 85 (7) ใน 3 ประเด็น คือ
1. การดำเนินการทางวินัยกับอดีตข้าราชการอัยการระดับสูงสามารถกระทำได้หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 82 ประกอบระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด พ.ศ.2567
2. หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อ 1 การดำเนินการทางวินัยกับอดีตข้าราชการอัยการระดับสูง จะสามารถกระทำได้หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 82 เพียงลำพังได้หรือไม่
3. หากการดำเนินการทางวินัยกับอดีตข้าราชการอัยการระดับสูง สามารถกระทำได้ ไม่ว่าตามข้อ 1. หรือข้อ 2. เนื่องจากอดีตข้าราชการอัยการระดับสูง ได้พ้นจากการเป็นข้าราชการอัยการแล้ว การดำเนินการทางวินัยดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและกรอบระยะเวลาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 81 หรือไม่
อย่างไรก็ดี ในที่ประชุม ก.อ.เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระเบียบที่เพิ่งออกมาอาจจะยังไม่ครอบคลุม จึงจะมีการพิจารณาต่อในวันที่ 20 มี.ค.2567 นี้ อีกครั้ง
บทสรุปสุดท้าย ในการประชุม ก.อ. วันที่ 20 มี.ค.2567 จะสามารถหาข้อสรุปในการดำเนินการทางวินัยกับ อดีตข้าราชการอัยการระดับสูง ได้หรือไม่
ก.อ.จะเลือกทางไหน? หรือจะต้องเลื่อนออกไปอีก?
ห้ามกะพริบตาโดยเด็ดขาด
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- ผลสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีฉาวเป็นเหตุ! ‘อำนาจ' สั่งยกร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อัยการสูงสุด’
- เสนอลงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ คดีสั่งไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เค. รุกป่า 6,000 ไร่
- ย้อนคดี บ.เครือเปรมชัย รุกป่า 6พันไร่ ก่อนชงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ สั่งไม่ฟ้อง
- ชัดๆ เปิดไทม์ไลน์คดีรุกป่า 6 พันไร่ - อดีต อสส.สั่งไม่ฟ้องสวนความเห็น 'สำนักชี้ขาด-รองฯ'
- หลักฐานชัด! บ.เครือเปรมชัย ยังถือครองที่ดินคดีรุกป่า 6 พันไร่-รัฐไม่ฟ้องขับไล่?
- พยานหลักฐานใหม่ รื้อฟื้นคดีบ.เครือเปรมชัยรุกป่า 6 พันไร่ กู้ศักดิ์ศรีอัยการ-ทวงคืนสมบัติชาติ
- ‘อสส.’สั่งฟ้องคดีบ่อนพนันออนไลน์‘มาวินเบตฯ’-ออกหมายเรียก 4 ผู้ต้องหา นำตัวส่งศาล
- ร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อสส.' เสร็จแล้ว! ถ้า ก.อ.เห็นชอบอาจประเดิมใช้คดีรุกป่า 6 พันไร่
- ชัดๆ เปิดข้อเสนอสอบวินัยลงโทษ '6 บิ๊กอัยการ-พวก’ สั่งไม่ฟัองคดีรุกป่า 6 พันไร่