"...คณะพนักงานสืบสวน ดีเอสไอ ชี้ประเด็นสำคัญจุดนี้ว่า การกระทำดังกล่าวผิดวิสัยวิญญูชนทั่วไปเนื่องจากการได้มาของบ้านและที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นการซื้อเงินสด และเมื่อซื้อแล้ว กลับนำไปจำนองกับทางธนาคารซ้ำอีก ...เข้าข่ายเป็นการฟอกเงินหรือไม่? ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า ป.ป.ช. ได้ติดตามข้อมูลเส้นทางการเงิน รวมถึงการสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องส่วนนี้ ไปแล้วหรือไม่ ..."
กรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอทราบผลการดำเนินคดีข้อพิพากเรื่องที่ดินจำนวน 46 แปลง ระหว่างบุคคลและเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดภูเก็ต ที่มีการฟ้องร้องคดีกัน ซึ่งปรากฏข้อมูลว่า บางคดีมีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหลายครั้ง บางคดีมีการเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาให้ลงโทษกรรมการบริษัท เป็นเหตุให้กรรมการบริษัทฯ ยอมตกลงมอบเงินจำนวนกว่า 400 ล้านบาท ที่คณะพนักงานสืบสวน ดีเอสไอ มีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สอบสวนไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งปัจจุบันระยะเวลาผ่านมานานแล้ว ทางดีเอสไอ จึงต้องการรับทราบความคืบหน้าว่า ปัจจุบันคดีดังกล่าว ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด ผลคดีเป็นอย่างใด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินคดีนี้ก่อนที่จะมีการส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบสวนต่อ ของคณะพนักงานสืบสวน ดีเอสไอ มีการสอบพบข้อมูลสำคัญพบว่าภายหลังจากที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ได้จ่ายเงินชดเชยให้คู่กรณี จำนวน 400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด 200 ล้านบาท และเป็นหุ้นจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อไกล่เกลี่ยคดีแล้ว
ในส่วนของเงินสดจำนวน 200 ล้านบาท ถูกโอนเข้าบัญชีของผู้เกี่ยวข้องหลายคน ในจำนวนนี้ มีเงินจำนวนหลายสิบล้านถูกโอนเข้าไปในบัญชีของผู้พิพากษาระดับสูงรายนี้ด้วย ส่วนแม่ของผู้พิพากษารายนี้ มีเงินล้านบาทโอนเข้าไปด้วย ขณะที่เส้นทางเงินส่วนอื่นๆ จากการตรวจสอบพบว่า มีการนำไปซื้อ รถยนต์ Mercedes Benz จำนวน 5 คัน
เส้นทางการเงินอีกส่วนหนึ่ง จำนวน 20,200,000 บาท ก็มีความน่าสนใจอย่างมากเช่นกัน
เพราะมีการตรวจสอบพบข้อมูลว่า มีการนำไปซื้อที่ดินจำนวน 3 แปลง และสร้างบ้าน 1 หลัง ในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 16,064,855 บาท จากนั้นเวลาผ่านไปประมาณ 9 เดือน ผู้เกี่ยวข้องได้มีการนำบ้านพร้อมโฉนดที่ดินทั้ง 3 แปลง ไปจำนองกับธนาคารต่อด้วย
กล่าวคือ ภายหลังจากที่บริษัทเอกชนคู่กรณี ได้ซื้อตั๋วแลกเงินจำนวน 200 ล้านบาท สั่งจ่ายชื่อ นาย A. คู่กรณี โดยระบุ A/C PATEE ONLY ซึ่งต้องมีการนำเข้าบัญชี และพบว่า นาย A. คู่กรณี ได้ไปเปิดบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2561 เพื่อนำตั๋วแลกเงินฝากเข้าบัญชี และในวันเดียวกันได้ถอนเงินทั้งจำนวน 200 ล้านบาท ไปยังบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาถนนรัษฎา ต่อ หลังการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาถนนรัษฎา แล้ว ในวันเดียวกัน นาย A. ได้กระจายเงินจำนวน 200 ล้านบาท ออกไปเกือบหมดทั้งจำนวน โดยถอนเป็นเงินสด และถอนโอนจำนวน 199,780,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 220,000 บาท คงไว้ในบัญชี สำหรับเงินจำนวน 199,780,000 บาท ที่มีการถอนเป็นเงินสด และถอนโอน
มีรายละเอียดการกระจายเงินดังนี้
1. โอนเงินเข้าไปในบัญชี นาย B. ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนรัษฎา จำนวน 20,200,000 บาท
2. ถอนเงินสด 6 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 59,080,000 บาท แยกเป็นยอด 22,400,000 บาท , 2,000,000 บาท , 2,000,000 บาท , 5,400,000 บาท ,1,280,000 บาท และ 26,000,000 บาท
3. ถอนเงินโดยการโอน จำนวน 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 20,000,000 บาท ไปยังบัญชีรายชื่อบุคคลต่างๆ และตัวเอง
4. โอนไปยังบัญชีตัวเอง 50,000,000 บาท
5. ถอนเงินโดยการโอนยอดรวม 36,000,000 บาท ไปยังบุคคล 2 ราย
6. ถอนโดยการโอนจำนวน 14,500,000 บาท ไปยังบริษัทจำหน่ายรถยนต์ในภูเก็ต เพื่อซื้อรถยนต์ Mercedes Benz จำนวน 5 คัน
ข้อมูลในส่วนเงินจำนวน 20,200,000 บาท ที่มีการโอนเข้าไปในบัญชี นาย B. ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนรัษฎา นั้น
จากการตรวจสอบของดีเอสไอ พบว่า ภายหลังจากที่ นาย B. ได้รับเงินมานวน 20,200,000 บาท ในวันเดียวกัน คือ วันที่ 23 มี.ค.2561 นาย B. ได้กระจายเงินจำนวนดังกล่าว ออกไปเกือบทั้งหมดจำนวน ถอนเป็นเงินสด ซื้อแคชเชียร์เช็ค และถอนโอนจำนวน 20,114,855 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 85,145 บาท คงเหลือไว้ในบัญชี
ทั้งนี้ เงินจำนวน 20,114,855 บาท ที่ถูกกระจายออกไป จากการตรวจสอบพบว่า มีการนำไปซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด ลงวันที่ 23 มี.ค. 2561 จำนวนเงิน 16,064,855 บาท สั่งจ่ายบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต
จากการสอบสวนถ้อยคำของผู้จัดการทั่วไปของบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งนี้ ได้ให้ถ้อยคำว่า เงินที่ได้รับโอนเข้าบัญชีของบริษัทนั้นเป็นการนำมาจ่ายค่าซื้อบ้านพร้อมที่ดินของหมู่บ้านที่บริษัทได้นำมาขายให้กับ นาย B. และผู้หญิงอีกหนึ่งราย โดยเป็นการซื้อที่ดินจำนวน 3 แปลง และให้สร้างบ้าน 1 หลัง ในอ.เมือง จ.ภูเก็ต
ราคาที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวบริษัทได้ตั้งราคาขายเป็นเงิน 17.2 ล้านบาท แต่บริษัทได้ลดให้ผู้ซื้อเหลือราคาทั้งสิ้น 16.4 ล้านบาท และบริษัทได้โอนบ้านพร้อมที่ดิน 3 แปลง ให้กับนาย B. และผู้หญิงรายนี้ ในวันที่ 23 มี.ค. 2561
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 3 ธ.ค. 2561 นาย B. และผู้หญิงรายนี้ ได้นำบ้านพร้อมโฉนดที่ดินทั้ง 3 แปลง ไปจำนองกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นเงินทั้งสิ้น 10,410,230 บาท
คณะพนักงานสืบสวน ดีเอสไอ ชี้ประเด็นสำคัญจุดนี้ว่า "การกระทำดังกล่าวผิดวิสัยวิญญูชนทั่วไปเนื่องจากการได้มาของบ้านและที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นการซื้อเงินสด และเมื่อซื้อแล้ว กลับนำไปจำนองกับทางธนาคารซ้ำอีก"
เข้าข่ายเป็นการฟอกเงินหรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า ป.ป.ช. ได้ติดตามข้อมูลเส้นทางการเงิน รวมถึงการสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องส่วนนี้ ไปแล้วหรือไม่
ประเด็นนี้ หากมีข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ เพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อ่านข่าวเรื่องเดียวกันประกอบ :
- นักธุรกิจใหญ่ร้องเรียน ก.ต. ผู้พิพากษาร่วม 'ก๊วนรุกที่’ แทรกแซงคดี เรียกค่าชดเชย 400 ล. (1)
- ใช้อำนาจหน้าที่คบค้านักธุรกิจ! เปิดนส.ร้องปธ.ศาลฎีกา สอบผู้พิพากษาคดีเรียกค่าชดเชย 400 ล. (2)
- ปธ.อ.ก.ต.ลาออกกลางวงประชุม! ปมชงตั้ง‘หน.ฎีกา’ถูกกล่าวหาพันคดีรุกที่เรียกชดเชย 400 ล. (3)
- มีเงินโอนเข้าบัญชี 11 ล.-แม่ได้ด้วย! DSI ชง ป.ป.ช.สอบ ผู้พิพากษาคดีเรียกค่าชดเชย 400 ล. (4)
- น้อมนำพระบรมราโชวาท ร.9! เจาะลับคำพูดสุดท้าย 'ปธ.อ.ก.ต.' ก่อนลาออกกลางวงประชุม (5)
- ก.ต.ข้างมาก 9:6 ไม่เห็นชอบตั้ง‘ผู้พิพากษา’พันคดีรุกที่เรียกชดเชย 400 ล.เป็น‘หน.ฎีกา’ (6)
- แขวน‘ผู้พิพากษา’พันคดีเรียกชดเชย 400 ล.ไม่เลื่อนชั้น พ.อุทธรณ์-ชงผลสอบวินัย ก.ต.ชุดใหญ่ (7)