โชว์หนังสือนักธุรกิจบริษัทเอกชนรายใหญ่ ร้อง ปธ.ศาลฎีกา สอบผู้พิพากษา 'ก๊วนรุกที่’ แทรกแซงคดีเรียกค่าชดเชย 400 ล. ระบุใช้อำนาจหน้าที่คบค้านักธุรกิจ บีบบังคับให้ยินยอมเรียกค่าใช้จ่าย เชื่อมีทรัพย์สินมากมายได้มาโดยมิชอบ - เผยหลังทราบเรื่องโดนคำสั่งย้ายตัว 24 ชม. เข้าส่วนกลาง ตั้งกก.สอบเป็นทางการต้นปี 63 ก่อนเรื่องเงียบหาย
............................
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับข้อร้องเรียนจากนักธุรกิจบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง ที่เข้าไปลงทุนทำโครงสร้างอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้จังหวัดหนึ่ง ว่า ถูกผู้พิพากษารายหนึ่ง เข้ามาแทรกแซงกระบวนการต่อสู้คดีข้อพิพากษาที่ดินจำนวน 46 แปลง ระหว่างบริษัทกับคู่กรณี ซึ่งมีคดีฟ้องร้องกันจำนวนหลายคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จนกระทั่งบริษัทต้องยอมจ่ายเงินชดเชยจำนวน 400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด 200 ล้านบาท และเป็นหุ้นจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีไม่ให้นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังจากบริษัทแพ้คดีความบางคดี เพราะกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทางธุรกิจ นักลงทุนชาวต่างชาติจะไม่เข้ามาร่วมลงทุนด้วย
นักธุรกิจบริษัทเอกชนรายนี้ ระบุว่า พฤติการณ์ของผู้พิพากษารายนี้ มีทั้งการร่วมคณะกับคู่กรณีบุกรุกเข้ามาเก็บข้อมูลหลักฐานในที่ดินที่มีข้อพิพากษา มีการข่มขู่เจ้าพนักงานสอบสวน มีการล็อบบี้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีที่รู้จักกันให้มีการประทับรับฟ้องคดีอาญาของคู่กรณี โดยอ้างว่าโจทก์เป็นญาติ และก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาได้มีการโทรศัพท์สอบถามผลคดีล่วงหน้า รวมไปถึงการมีส่วนร่วม รู้เห็น สั่งการ ให้คำแนะนำ ปรึกษา หรืออยู่เบื้องหลังการเจรจาทำบันทึกข้อตกลงเพื่อไกล่เกลี่ยคดีจนได้รับเงินชดเชยกว่า 400 ล้านบาท ด้วย
(อ่านประกอบ : นักธุรกิจใหญ่ร้องเรียน ก.ต. ผู้พิพากษาร่วม 'ก๊วนรุกที่’ แทรกแซงคดี เรียกค่าชดเชย 400 ล.)
สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในสำนักงานศาลยุติธรรม ว่า เกี่ยวกับกรณีนี้ บริษัทเอกชนรายใหญ่ ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อประธานศาลฎีกา ตั้งแต่ช่วงปี 2559 โดยระบุตำแหน่งผู้ถูกร้องว่าเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดแห่งหนึ่ง มีพฤติการณ์ใช้ตำแหน่งหน้าที่คบค้ากับนักค้าที่ดินที่มีพฤติกรรมนำที่ดินไปออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังใช้อำนาจหน้าที่บีบบังคับและจูงใจให้ข้าราชการในจังหวัดกระทำการและเป็นเครื่องมือในการก่อกวนความสงบสุขของนักธุรกิจ และยังเชื่อว่ามีทรัพย์สินมากมายที่ได้มาโดยไม่ชอบจากการกระทำโดยไม่สุจริตด้วย
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ภายหลังการร้องเรียนดังกล่าว เมื่อทราบเรื่องแล้วประธานศาลฎีกาในขณะนั้น ได้มีคำสั่งย้ายตัวด่วนผู้พิพากษารายนี้ เข้ามาช่วยราชการที่ศาลอาญา ภายใน 24 ชั่วโมง
ส่วนการสอบสวนมีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2563 กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยร้ายแรง ตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 โดยมีพฤติกรรมในการใช้อำนาจตุลาการที่ไม่เหมาะสมด้วยการเข้าไปในพื้นที่ของผู้อื่นและแสดงตัวว่าเป็นผู้พิพากษา มีการโทรศัพท์ขอให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีมีคำสั่งว่าคดีมีมูล และมีส่วนร่วม รู้เห็น สั่งการ ให้คำแนะนำ ปรึกษา หรือร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีและการเจรจาทำบันทึกข้อตกลงไกล่เกลี่ยคดีด้วย
ขณะที่ในขั้นตอนการสอบสวนมีการให้ติดตามตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้พิพากษารายนี้และบุคคลใกล้ชิดด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบว่าผลการสอบสวนดังกล่าวเป็นอย่างไร
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เพิ่มเติมว่า สำนักงานศาลยุติธรรมทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงอยู่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/