"...ในการสอบสวนเส้นทางการเงินคดีนี้ พบว่าภายหลังจากที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ได้จ่ายเงินชดเชยให้คู่กรณี จำนวน 400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด 200 ล้านบาท และเป็นหุ้นจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อไกล่เกลี่ยคดีแล้ว ในส่วนของเงินสดจำนวน 200 ล้านบาท ถูกโอนเข้าบัญชีของผู้เกี่ยวข้องหลายคน ในจำนวนนี้ มีเงินจำนวนหลายสิบล้านบาท ถูกโอนเข้าไปในบัญชีของผู้พิพากษาระดับสูงรายนี้ด้วย ส่วนแม่ของผู้พิพากษารายนี้ มีเงินโอนเข้าไปด้วย...”
คดีข้อพิพากเรื่องที่ดินจำนวน 46 แปลง ระหว่างบุคคลและเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดภูเก็ต ที่มีการฟ้องร้องคดีกัน ซึ่งปรากฏข้อมูลว่า บางคดีมีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหลายครั้ง บางคดีมีการเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาให้ลงโทษกรรมการบริษัท เป็นเหตุให้กรรมการบริษัทฯ ยอมตกลงมอบเงินจำนวนกว่า 400 ล้านบาท ให้กับคู่กรณีไป อันนำมาสู่การสอบสวนพฤติการณ์ของผู้พิพากษาระดับสูง 2 ราย ที่เข้าไปส่วนเกี่ยวข้อง และถูกที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติลงโทษไล่ออกราชการ ไปแล้ว
กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง!
เมื่อปรากฎข่าวว่า ในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอทราบผลการดำเนินคดีนี้ ที่คณะพนักงานสืบสวน ดีเอสไอ มีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สอบสวนไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งปัจจุบันระยะเวลาผ่านมานานแล้ว ทางดีเอสไอ จึงต้องการรับทราบความคืบหน้าว่า ปัจจุบันคดีดังกล่าว ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด ผลคดีเป็นอย่างใด
เกี่ยวกับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินคดีนี้ก่อนที่จะมีการส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. สอบสวนต่อ ของคณะพนักงานสืบสวน ดีเอสไอ
มีการสอบพบข้อมูลสำคัญว่า หลังการมอบเงินจำนวหลายร้อยล้านบาทดังกล่าว มีการตรวจสอบพบหลักฐานการโอนเงินเข้าไปบัญชีของอดีตผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินภูเก็ต ด้วย
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดการตรวจสอบเส้นทางการเงินคดีนี้จากแหล่งข่าวในดีเอสไอ ว่า คดีนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากบุคคลที่ไม่ประสงค์ออกนาม ใช้ชื่อว่า "ผู้ต้องการความยุติธรรมในสังคม" กล่าวโทษมายังดีเอสไอ ในช่วงปี 2561 และมีการตั้งคณะพนักงานสืบสวนในเวลาต่อ
ต่อมาประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงศาลฎีกา ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอความอนุเคราะห์ให้สืบสวนข้อมูลทางการเงินและตรวจสอบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย
สำหรับผลการสอบสวนเส้นทางการเงินดคีนี้ พบว่าภายหลังจากที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ได้จ่ายเงินชดเชยให้คู่กรณี จำนวน 400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด 200 ล้านบาท และเป็นหุ้นจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อไกล่เกลี่ยคดีแล้ว
ในส่วนของเงินสดจำนวน 200 ล้านบาท ถูกโอนเข้าบัญชีของผู้เกี่ยวข้องหลายคน ในจำนวนนี้ มีเงินจำนวนหลายสิบล้านถูกโอนเข้าไปในบัญชีของผู้พิพากษาระดับสูงรายนี้ด้วย ส่วนแม่ของผู้พิพากษารายนี้ มีเงินล้านบาทโอนเข้าไปด้วย
ขณะที่เส้นทางเงินส่วนอื่นๆ จากการตรวจสอบพบว่า มีการนำไปซื้อ รถยนต์ Mercedes Benz จำนวน 5 คัน ด้วย
สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลเบื้องต้นผลการตรวจสอบเส้นทางการเงินจำนวน 200 ล้านบาท มานำเสนอ ณ ที่นี้
จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยเริ่มจากการที่บริษัทเอกชนคู่กรณี ได้ซื้อตั๋วแลกเงิน จำนวน 200 ล้านบาท สั่งจ่ายชื่อ นาย A. คู่กรณี โดยระบุ A/C PATEE ONLY ซึ่งต้องมีการนำเข้าบัญชี
พบว่า นาย A. คู่กรณี ได้ไปเปิดบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2561 เพื่อนำตั๋วแลกเงินฝากเข้าบัญชี และในวันเดียวกันได้ถอนเงินทั้งจำนวน 200 ล้านบาท ไปยังบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาถนนรัษฎา ต่อ
หลังการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาถนนรัษฎา แล้ว ในวันเดียวกัน นาย A. ได้กระจายเงินจำนวน 200 ล้านบาท ออกไปเกือบหมดทั้งจำนวน
โดยถอนเป็นเงินสด และถอนโอนจำนวน 199,780,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 220,000 บาท คงไว้ในบัญชี
สำหรับเงินจำนวน 199,780,000 บาท ที่มีการถอนเป็นเงินสด และถอนโอน มีรายละเอียดการกระจายเงินดังนี้
1. โอนเงินเข้าไปในบัญชี นาย B. ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนรัษฎา จำนวน 20,200,000 บาท
2. ถอนเงินสด 6 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 59,080,000 บาท แยกเป็นยอด 22,400,000 บาท , 2,000,000 บาท , 2,000,000 บาท , 5,400,000 บาท ,1,280,000 บาท และ 26,000,000 บาท
3. ถอนเงินโดยการโอน จำนวน 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 20,000,000 บาท ไปยังบัญชีรายชื่อบุคคลต่างๆ และตัวเอง
4. โอนไปยังบัญชีตัวเอง 50,000,000 บาท
5. ถอนเงินโดยการโอนยอดรวม 36,000,000 บาท ไปยังบุคคล 2 ราย
6. ถอนโดยการโอนจำนวน 14,500,000 บาท ไปยังบริษัทจำหน่ายรถยนต์ในภูเก็ต เพื่อซื้อรถยนต์ Mercedes Benz จำนวน 5 คัน
โดยข้อมูล รถยนต์ Mercedes Benz ทั้ง 5 คัน มีดังนี้
- รถยนต์ Mercedes Benz รุ่น GLC 250 d 4MATIC Coupe AMG Plus หมายเลขตัวถัง WDC253309-6L-010XXX หมายเลขเครื่อง 651921-34-419XXX
- รถยนต์ Mercedes Benz รุ่น GLA 250 AMG Dynamic หมายเลขตัวถัง WDC 156944-6L-008XXX หมายเลขเครื่อง 270920-31-483XXX
- รถยนต์ Mercedes Benz รุ่น GLC 250 d 4MATIC AMG Dynamic หมายเลขตัวถัง WDC253909-6L-010XXX หมายเลขเครื่อง 651921-34-419XXX
- รถยนต์ Mercedes Benz รุ่น C350 e Aventgarde หมายเลขตัวถัง WDD205047- 6 L-026XXX หมายเลขเครื่อง 274920-31-012XXX
- รถยนต์ Mercedes Benz รุ่น C350 e Aventzarde หมายเลขตัวถัง WDD205047-6L-034XXX หมายเลขเครื่อง 274920-31-295XXX
ถูกนำไปจดทะเบียนที่ภูเก็ต 4 คัน กรุงเทพฯ 1 คัน
สำหรับผลการตรวจสอบเส้นทางเงินที่มีการโอนไปยังบัญชีตัวเอง 50,000,000 บาท นั้น พบว่ามีการถอนเงินโดยการโอนไปยังบัญชีบุคคลหลายคน ซึ่งในจำนวนนี้ มีรายชื่อผู้พิพากษา และแม่ของผู้พิพากษาด้วย ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ มีรายละเอียดตรงกับข้อมูลเส้นทางเงินในคดีนี้เบื้องต้น ที่สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไปแล้ว
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวในสำนักงาน ป.ป.ช.ว่า เกี่ยวกับคดีนี้ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเป็นทางการในช่วงปี 2563 ปัจจุบันอยู่ในชั้นตรวจสอบ โดยการรับเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ป.ป.ช. มาจากดีเอสไอ ซึ่งเดิมที่มีการไปแจ้งความเรื่องกรรโชกทรัพย์ แต่เมื่อสอบสวนแล้วไม่เข้าข่าย แต่เจอเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีการไม่ให้ออกหมายจับ กับมีการสั่งให้กลับคำพิพากษา และเจอเส้นทางเงินสำคัญบางส่วนด้วย ดีเอสไอ เลยส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบสวนต่อ
"ในการสอบสวนเส้นทางการเงินดคีนี้ พบว่าภายหลังจากที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ได้จ่ายเงินชดเชยให้คู่กรณี จำนวน 400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด 200 ล้านบาท และเป็นหุ้นจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อไกล่เกลี่ยคดีแล้ว ในส่วนของเงินสดจำนวน 200 ล้านบาท ถูกโอนเข้าบัญชีของผู้เกี่ยวข้องหลายคน ในจำนวนนี้ มีเงินจำนวนหลายสิบล้านบาท ถูกโอนเข้าไปในบัญชีของผู้พิพากษาระดับสูงรายนี้ด้วย ส่วนแม่ของผู้พิพากษารายนี้ มีเงินโอนเข้าไปด้วย” แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากทางฝ่ายดีเอสไอ ว่า มีความเป็นห่วงในเรื่องการสอบสวนคดีนี้ของ ป.ป.ช. เพราะมีความล่าช้ามาก ที่สำคัญปัจจุบัน ป.ป.ช. ยังไม่ได้มีการใช้อำนาจทางกฎหมายในการสั่งอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องในคดีไว้ด้วย
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เป็นอย่างไร? คงต้องรอฟังคำชี้แจงเป็นทางการ จาก ป.ป.ช.อีกครั้ง
สำหรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเส้นทางการเงินส่วนต่างๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
เพราะนอกจากข้อมูลเส้นทางการเงินที่ ดีเอสไอ ส่งไปให้กับ ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้ว ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงิน ในการเป็นกรรมการถือหุ้นทำธุรกิจร่วมกันด้วย
อ่านประกอบ :
- นักธุรกิจใหญ่ร้องเรียน ก.ต. ผู้พิพากษาร่วม 'ก๊วนรุกที่’ แทรกแซงคดี เรียกค่าชดเชย 400 ล. (1)
- ใช้อำนาจหน้าที่คบค้านักธุรกิจ! เปิดนส.ร้องปธ.ศาลฎีกา สอบผู้พิพากษาคดีเรียกค่าชดเชย 400 ล. (2)
- ปธ.อ.ก.ต.ลาออกกลางวงประชุม! ปมชงตั้ง‘หน.ฎีกา’ถูกกล่าวหาพันคดีรุกที่เรียกชดเชย 400 ล. (3)
- มีเงินโอนเข้าบัญชี 11 ล.-แม่ได้ด้วย! DSI ชง ป.ป.ช.สอบ ผู้พิพากษาคดีเรียกค่าชดเชย 400 ล. (4)
- น้อมนำพระบรมราโชวาท ร.9! เจาะลับคำพูดสุดท้าย 'ปธ.อ.ก.ต.' ก่อนลาออกกลางวงประชุม (5)
- ก.ต.ข้างมาก 9:6 ไม่เห็นชอบตั้ง‘ผู้พิพากษา’พันคดีรุกที่เรียกชดเชย 400 ล.เป็น‘หน.ฎีกา’ (6)
- แขวน‘ผู้พิพากษา’พันคดีเรียกชดเชย 400 ล.ไม่เลื่อนชั้น พ.อุทธรณ์-ชงผลสอบวินัย ก.ต.ชุดใหญ่ (7)