"...หากการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาของกลุ่มพนักงานอัยการดังกล่าวข้างต้นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องที่ถูกต้อง และได้รับการคุ้มครองการใช้ดุลพินิจ จะก่อให้เกิดผลในทางวิบัติทำให้การสั่งสำนวนคดีนี้ถูกใช้เป็นบรรทัดฐานของพนักงานอัยการทั่วประเทศใช้อ้างอิงในการสั่งสำนวนคดีบุกรุก ยึดถือครอบครองป่าไม้ทรัพยากรของชาติทุกคดีทั่วประเทศ..."
กรณี เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2566 นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงาน อสส.ที่ 2840 /2566 แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อดีตอัยการสูงสุด มีคำสั่งสำนักงาน อสส. ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข่าวสารและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสูงสุด จำนวน 6 คดี ประกอบไปด้วย คดีเผาสวนงูภูเก็ต , คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก , คดีนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก , คดีมาวินเบต ดอทคอม และคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด และ คดีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลเป็นทางการจากแหล่งข่าวในสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ว่า ขณะนี้ได้มีการร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงดทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด พ.ศ... เสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.) ในวันที่ 24 ม.ค.2567 นี้ ถ้า ก.อ. เห็นชอบให้ใช้ระเบียบดังกล่าว นายอำนาจ เจนต์เจริญรักษ์ อสส. อาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตาม ระเบียบดังกล่าวให้มีการสอบสวนอัยการระดับสูงถูกกล่าวหาในคดีสั่งไม่ฟ้องซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ 6,000 ไร่ พร้อมกันไปในคราวเดียวกันด้วย
- ผลสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีฉาวเป็นเหตุ! ‘อำนาจ' สั่งยกร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อัยการสูงสุด’
- เสนอลงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ คดีสั่งไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เค. รุกป่า 6,000 ไร่
- ย้อนคดี บ.เครือเปรมชัย รุกป่า 6พันไร่ ก่อนชงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ สั่งไม่ฟ้อง
- ชัดๆ เปิดไทม์ไลน์คดีรุกป่า 6 พันไร่ - อดีต อสส.สั่งไม่ฟ้องสวนความเห็น 'สำนักชี้ขาด-รองฯ'
- หลักฐานชัด! บ.เครือเปรมชัย ยังถือครองที่ดินคดีรุกป่า 6 พันไร่-รัฐไม่ฟ้องขับไล่?
- พยานหลักฐานใหม่ รื้อฟื้นคดีบ.เครือเปรมชัยรุกป่า 6 พันไร่ กู้ศักดิ์ศรีอัยการ-ทวงคืนสมบัติชาติ
- ‘อสส.’สั่งฟ้องคดีบ่อนพนันออนไลน์‘มาวินเบตฯ’-ออกหมายเรียก 4 ผู้ต้องหา นำตัวส่งศาล
- ร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อสส.' เสร็จแล้ว! ถ้า ก.อ.เห็นชอบอาจประเดิมใช้คดีรุกป่า 6 พันไร่
ทั้งนี้ ข้อมูลในส่วนคดีสั่งไม่พ้อง บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก บุกรุกยึดครองหรือทำประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนฯกว่า 6,200 ไร่ ใน อ.ภูเรือ จ.เลย นั้น
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลเชิงลึกมาเสนอไปแล้วว่า คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีนี้ ที่มี นายศักดา ช่วงรังษี รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เสนอต่อ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ว่า การสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ ไม่ได้พิจารณาหลักฐานอย่างรอบคอบ ไม่เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงกับราชการและทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมเสนอให้ดำเนินการลงโทษทางวินัย อย่างร้ายแรงกับอัยการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ อัยการที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้องโดยตรง มีจำนวน 4 คน ตั้งแต่ระดับอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ จนถึงระดับอธิบดีอัยการ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุด
กลุ่มที่สอง คือ อัยการที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและตรวจสอบการสั่งคดี แต่ไม่ดำเนินการอย่างรอบคอบ มีจำนวน 2 คน เป็นระดับรองอธิบดีอัยการและอธิบดีอัยการ ปัจจุบันเป็นอัยการอาวุโส
นอกจากนี้ ยังเสนอแนวทางการพิจารณาสำนวนคดีผ่านพยานหลักฐานใหม่ เพื่อให้ที่ดินที่ผู้ต้องหาทั้งสี่ในคดีนี้ ร่วมกันบุกรุกและยึดถือครอบครองไว้เป็นจำนวน 6,229 ไร่เศษ ให้กลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติ และยังเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐตามภารกิจหลักของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในฐานะทนายแผ่นดินในการดำเนินการตามกฎหมายและทวงคืนสมบัติของชาติต่อไปด้วย
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดข้อเสนอแนะ ของ คณะทำงานฯ ที่เสนอให้อัยการสูงสุด ดำเนินการสอบสวนวินัยและลงโทษ ต่อ อัยการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ 2 กลุ่ม ตามที่ระบุไปก่อนหน้านี้
1. อัยการระดับสูง จำนวน 3 ราย คณะทำงานฯ เสนอแนะให้อัยการสูงสุด แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้น เพื่อดำเนินการทางวินัยกับ กรณีถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง
2. อัยการระดับสูง อีก 2 ราย คณะทำงานฯ ขอให้อัยการสูงสุด แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้น เพื่อดำเนินการทางวินัยเช่นเดียวกันกับอัยการระดับสูง 3 รายแรก ระบุความเห็นว่า แม้ว่าอัยการระดับสูง ทั้ง 2 รายนี้ จะไม่ใช่พนักงานอัยการผู้สั่งสำนวนคดีนี้ แต่ขณะเกิดเหตุเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของสำนักงานอัยการที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ตามระเบียบกำหนดให้จะต้องรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่ตนเองบังคับบัญชาอยู่ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย ระเบียบ และคำสั่งของสำนักงานอัยการสูงสุดและหนังสือเวียน และมีอำนาจในการเรียกสำนวนมาพิจารณาทบทวนได้
แม้ว่า อัยการระดับสูง 2 ราย นี้ จะไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลานั้น แต่เมื่อกลับมาปฏิบัติราชการตามปกติแล้ว สามารถที่จะเรียกสำนวนที่ผู้ใต้บังคับบัญชาสั่งสำนวนไปแล้วมาพิจารณาทบทวนตรวจสอบได้ว่าดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย นโยบาย ระเบียบและคำสั่งของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือไม่
ประกอบกับสำนวนคดีนี้เป็นสำนวนคดีสำคัญตามหนังสือเวียนของสำนักงานอัยการสูงสุด มีพื้นที่ป่าไม้ที่ดินของรัฐที่ถูกบุกรุกเป็น จำนวน 6,000 ไร่เศษ เป็นคดีที่รัฐมีนโยบายปราบปรามเป็นพิเศษแต่กลับปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมให้มีการรายงานคดีสำคัญตามระเบียบ อีกทั้งเพิกเฉยไม่แก้ไขทบทวนคำสั่งไม่ฟ้องของผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งๆ ที่อยู่ในวิสัยและเวลาที่ยังแก้ไขได้ เท่ากับว่างดเว้นไม่ป้องกันผลร้ายแห่งการกระทำของผู้รักษาราชการแทน เท่ากับเห็นชอบกับความเห็นและคำสั่งเกี่ยวกับสำนวนคดีนี้ของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้ลงมือกระทำไปแล้วด้วยโดยปริยาย
3. อัยการระดับสูง 1 ราย ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้องโดยตรง มีลักษณะเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ และไม่ได้รับการคุ้มครองดุลพินิจ อันเป็นผลให้บรรดาผู้ต้องหายังคงบุกรุกยึดถือทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ของชาติ จำนวน 6,000 ไร่เศษอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และยังสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย และไม่มีเหตุผลประกอบอันสมควร ก่อให้เกิดผลร้ายแรงแก่ประโยชน์สาธารณะในที่ดินของรัฐ เป็นการทำลายจารีตปฏิบัติขององค์กรอัยการที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนาน และทำลายความน่าเชื่อถือศรัทธาและด้อยค่าคำชี้ขาดความเห็นแย้งของอัยการสูงสุดอันกระทบต่อภาพพจน์ขององค์กรอัยการในสายตาขององค์กรหน่วยราชการอื่นๆ สถาบันการศึกษาทางกฎหมายและทางวิชาการ ตลอดจนสื่อมวลชนและประชาชนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ มีข้อสังเกตประกอบการพิจารณาด้วยว่าการกระทำของอัยการระดับสูงเหล่านี้ อาจมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , 200
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังมีขอเสนอให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการอัยการ ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกเกี่ยวกับกรณีนาย K. ผู้ช่วยเลขานุการอัยการระดับสูงรายหนึ่ง ว่ามีการทำความเห็นถูกต้องหรือไม่อย่างไร และกระบวนการในการจ่ายสำนวนนี้เป็นไปตามกระบวนการตามปกติของการจ่ายสำนวนของคณะเลขานุการของอัยการระดับสูงรายนี้ ขณะนั้นหรือไม่ อย่างไร
พร้อมขอให้พิจารณาแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นคณะทำงานพิจารณามีคำสั่งคดีอาญาสำนวน ส.1 เลขรับที่ 36/2563 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 โดยให้คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้มีอำนาจเรียกสำนวนคดีพิเศษที่ 72/2563 (ส.2 เลขรับที่ 2/2566 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1) มาเพื่อพิจารณาเป็นพยานหลักฐานใหม่รวมทั้งสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานหลักฐานหรือพยานบุคคลใดมาให้ซักถามเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 รวมทั้งให้มีอำนาจแนะนำให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับบริษัท ซี.พี.เค. แพลนเตชั่น จำกัด กับผู้บริหารระดับสูง ตลอดจนบุคคลอื่น หากปรากฏว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิดในคดีนี้
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการ ให้ยังข้อมูลกับสำนักข่าวอิศราว่า ในการสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะ ดำเนินการลงโทษทางวินัย อัยการระดับสูง ทั้ง 6 รายดังกล่าว คณะทำงานฯ มีการระบุว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า อัยการระดับสูง ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในคดีนี้ ต่างรับราชการมาแล้วคนละไม่ต่ำกว่า 20 ปี ทุกคนล้วนเป็นพนักงานอัยการในระดับสูงององค์กร ต่างก็เคยมีประสบการณ์การสั่งสำนวนทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครองมาแล้วอย่างมากมาย กรณีไม่เป็นเรื่องปกติวิสัยที่จะเชื่อได้ว่า การสั่งสำนวนคดีนี้เกิดจากความผิดพลาดพลั้งเผลอ ไม่รอบคอบ ในแบบปกติที่พนักงานอัยการทั่วๆ ไปอาจผิดพลาดพลั้งเผลอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ไม่นำคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลปกครองกลาง ที่เกี่ยวพันกับที่ดินที่เกิดเหตุมาวิเคราะห์ อ้างอิง และรับฟังเป็นพยานหลักฐานสำคัญ เพื่อประกอบการพิจารณามีคำสั่งสำนวนคดีนี้ โดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองกลางคดีนี้ ได้วิเคราะห์พยานหลักฐานในสำนวนไว้อย่างละเอียดและได้ยกเหตุผลอย่างสมบูรณ์ประกอบไว้ในการพิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับประเด็นที่มาของการออกเอกสารสิทธิในที่ดินแปลงนี้ที่มีลักษณะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในประเด็นที่เกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพที่ดินแปลงนี้ที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ รวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับข้อพิรุธและความน่าสงสัยของการกระทำที่มิชอบของราษฎรที่รวบรวมเรื่องเพื่อขอออกเอกสารสิทธิ และเจ้าพนักงานที่ดินผู้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ
สำหรับพนักงานอัยการทั่วประเทศแล้วคำชี้ขาดความเห็นแย้งของอัยการสูงสุดเปรียบเสมือนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตุลาการทั่วประเทศจะใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาพิพากษาคดี หากการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาของกลุ่มพนักงานอัยการดังกล่าวข้างต้นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องที่ถูกต้อง และได้รับการคุ้มครองการใช้ดุลพินิจ จะก่อให้เกิดผลในทางวิบัติทำให้การสั่งสำนวนคดีนี้ถูกใช้เป็นบรรทัดฐานของพนักงานอัยการทั่วประเทศใช้อ้างอิงในการสั่งสำนวนคดีบุกรุก ยึดถือครอบครองป่าไม้ทรัพยากรของชาติทุกคดีทั่วประเทศ
โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่สามารถดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด ที่บุกรุกยึดถือครอบครองทรัพยากรป่าไม้แล้วอ้างว่าอยู่ในระหว่างยื่นขอใช้สัมปทานที่ดินของรัฐ หรืออยู่ในระหว่างรอรัฐออกโฉนดให้ได้เลย เนื่องจากพนักงานอัยการระดับสูงเคยใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องและชี้ขาดความเห็นแย้งไม่ฟ้องผู้ต้องหาด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันเช่นคดีนี้มาแล้ว
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า กลุ่มอัยการที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เพียงถูกเสนอให้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยต่ออัยการสูงสุด ยังมีอีกหลายขั้นตอนในการดำเนินการ จึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ปัจจุบัน อัยการสูงสุด ยังไม่ได้การสั่งฟ้องคดี ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาชี้ขาด บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และผู้เกี่ยวข้อง ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่เช่นกัน
หากกลุ่มอัยการที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ รวมไปถึงผู้บริหารบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีความประสงค์ที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง สามารถติดต่อกลับมาที่สำนักข่าวอิศรา ได้ตลอดเวลา
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- ทวงคืนที่ดิน บ.เครือเปรมชัย!ดีเอสไอ-กรมป่าไม้ ลุยยึด น.ส.3 ก.จ.เลย 147แปลง 6,229 ไร่
- ทำความรู้จัก บ.ซี.พี.เค.ฯ ไร่องุ่น โรงบ่มไวน์ 6 พันไร่กลุ่มเปรมชัย จ.เลย 700 ล.
- DSI ส่งสำนวนคดี บ.ซี.พี.เค.ฯเครือเปรมชัย-พวก รุกป่า 6,948 ไร่ จ.เลย ให้อัยการ
- ผลสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีฉาวเป็นเหตุ! ‘อำนาจ' สั่งยกร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อัยการสูงสุด’
- ขยะ (ยังคงซุกอยู่) ใต้พรมในสำนักงานอัยการสูงสุด?