"...กรณีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการซึ่งมิใช่หน้าที่และอำนาจของผู้ร้องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรง บุคคลใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ย่อมมีสิทธิขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการดังกล่าว หากมีข้อโต้แย้งประการใด ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา กรณีตามข้อกล่าวอ้างของผู้ร้อง จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ..."
กรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) (กรณี สำนักงาน ป.ป.ช.ร้องขอให้ศาลทบทวนพิจารณาคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลสอบคดี นาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แก่ นายวีระ สมความคิด)
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2566 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่ข่าวศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับรายละเอียดการพิจารณาคดีนี้ ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่กรณีมีมติมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยอาศัยบทบัญญัติของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นหน้าที่และอำนาจเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 และมาตรา 63 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 และมาตรา 180 ที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
ต่อมามีการโต้แย้งอำนาจดังกล่าว ผู้ร้องจึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้องค์กรอิสระมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจระหว่างองค์กรอิสระตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ซึ่งการยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรง หรือมีการกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) และ (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 กรณีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการซึ่งมิใช่หน้าที่และอำนาจของผู้ร้องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรง บุคคลใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ย่อมมีสิทธิขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการดังกล่าว หากมีข้อโต้แย้งประการใด ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา
กรณีตามข้อกล่าวอ้างของผู้ร้อง จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
- 5 : 4 เสียง! ศาล รธน.ลงมติไม่รับคำร้อง ป.ป.ช.วินิจฉัยกรณีเปิดเอกสารคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม
- เบื้องหลัง มติ ศาลรธน.ไม่รับคำร้องป.ป.ช.คดีนาฬิกาบิ๊กป้อม-'วรวิทย์' ปธ.เสียงที่ 5 ชี้ขาด
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดฉบับเต็ม คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่รับคำร้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช.กรณีนี้
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในฐานะผู้ร้อง
เรื่อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)
ข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้องสรุปได้ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ผู้ร้อง ส่งคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของผู้ร้อง ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มูลกรณีตามคําร้องสืบเนื่องจาก นายวีระ สมความคิด ยื่นหนังสือกล่าวหาต่อผู้ร้องว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่แสดงรายการทรัพย์สินประเภทนาฬิกาข้อมือหรูและแหวนจํานวนหลายรายการไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งผู้ร้องมีมติว่ายังไม่มีมูลเพียงพอว่าพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
ต่อมานายวีระ สมความคิด มีหนังสือขอข้อมูลข่าวสารในเรื่องดังกล่าวต่อผู้ร้อง จํานวน 3 รายการ คือ รายการที่ 1 รายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวม พยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด รายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคน ที่รับผิดชอบในเรื่องที่กล่าวหา และรายการที่ 3 รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช
แต่ผู้ร้อง มีมติมิให้เปิดเผยรายงานการประชุม และบันทึกเสนอรายงานผลการตรวจสอบและเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากยังอยู่ระหว่างตรวจสอบเรื่องกล่าวหาอื่น ต้องห้ามมิให้เปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลจนกว่าผู้ร้องจะได้มีมติแล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 วรรคสาม
นายวีระ สมความคิด ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ และ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับ ใช้กฎหมาย มีคําวินิจฉัยที่ สค 333/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ให้สํานักงาน คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งสามรายการให้แก่นายวีระ สมความคิด ซึ่งผู้ร้อง พิจารณาคําวินิจฉัยแล้วมีมติมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36
ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่ผู้ร้อง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ มีโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 180
ต่อมานายวีระ สมความคิด ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลาง มีคําพิพากษาให้ผู้ร้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1 รายการที่ 2 เฉพาะความเห็นของเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอประกอบการพิจารณาของผู้ร้อง และรายการที่ 3 ผู้ร้องอุทธรณ์ ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษาแก้ให้ผู้ร้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทั้งสามรายการตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหาร ราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคําร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่ศาลปกครองกลางมีคําสั่งไม่รับคําขอ ผู้ร้องอุทธรณ์คําสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดมีคําสั่งยืนตามคําสั่งศาลปกครองกลาง
ผู้ร้องเห็นว่า กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จเป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติที่ยังไม่แล้วเสร็จโดยอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของผู้ร้อง ต้องห้ามมิให้มีการเปิดเผยจนกว่าจะได้พิจารณาแล้วเสร็จตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 วรรคสาม ซึ่งเป็นหน้าที่และอํานาจของผู้ร้องที่จะดําเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 และมาตรา 63 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 และมาตรา 180 ที่บัญญัติหลักการไว้เพื่อให้ความคุ้มครองความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนและให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปราม การทุจริต เป็นกฎหมายที่มีบทบังคับเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลไว้เป็นการเฉพาะ และการนําพระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่เป็นกฎหมายทั่วไปมาลบล้างพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มิได้ การเปิดเผย ข้อมูลการไต่สวนของผู้ร้องมีผลกระทบต่อหน้าที่และอํานาจของผู้ร้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว
ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ดังนี้
1. การที่ผู้ร้องมีมติมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งสามรายการให้แก่นายวีระ สมความคิด โดยอาศัยพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบต่อรูปคดี และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 และมาตรา 63 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 และมาตรา 180 โดยชอบแล้ว หรือไม่
2. การที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการ แผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย และศาลปกครองไม่ได้วินิจฉัยว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่ นายวีระ สมความคิด ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใดตาม พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่ และ หากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมีผลกระทบต่อรูปคดีและความปลอดภัยของบุคคลที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (4) และพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 และ มาตรา 140 ผู้ร้องมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้นายวีระ สมความคิด หรือไม่ เพียงใด
3. มีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย กรณีการเปิดเผยข้อมูลที่ผู้ร้องอยู่ระหว่างไต่สวน ข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71
ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า คําร้องของผู้ร้องต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่
รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้ ... (2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ...” มาตรา 234 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
(1) ไต่สวนและมีความเห็น กรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กร อิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ํารวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติ หน้าที่หรือใช้อ่านาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดําเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(2) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่ำรวยผิดปกติ กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเพื่อดําเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(3) กําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและ เปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(4) หน้าที่และอํานาจอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ...” พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
(1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (2) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ํารวย ผิดปกติ กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือ ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
(3) กําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สิน และหนี้สินของบุคคลดังกล่าว (4) ไต่สวนเพื่อดําเนินคดีในฐานความผิดอื่นที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กําหนดหรือที่มีกฎหมายกําหนดให้อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
(5) หน้าที่และอํานาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมายอื่น” และมาตรา 36 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใด จะเปิดเผยข้อมูลซึ่งมี ลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคลบรรดาที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่มิได้" วรรคสอง บัญญัติว่า “การเปิดเผยข้อมูลการดําเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในแต่ละขั้นตอน ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็น รายละเอียดของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือกระทําการใดอันจะทําให้ทราบ รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว การเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบ ให้อยู่ภายใต้ เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) ในชั้นก่อนการไต่สวน ห้ามเปิดเผยชื่อผู้ถูกร้อง เว้นแต่มีเหตุอันจําเป็น เพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว
(2) เมื่อได้ดําเนินการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นแล้วมีพยานหลักฐานพอสมควรก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาวินิจฉัย การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด (3) เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นหรือวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์การกระทํา ความผิด ให้เปิดเผยความเห็นหรือคําวินิจฉัยได้ เว้นแต่จะเปิดเผยชื่อผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ซึ่ง เป็นพยานมิได้ และต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้อง” วรรคสาม บัญญัติว่า “ห้ามมิให้มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสํานวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดําเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นความลับของทางราชการ”
พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ว่ากรณีที่ผู้ร้องมีมติมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อรูปคดี และความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคล ที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 และพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 ประกอบ มาตรา 180 อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจ นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้องค์กรอิสระมีสิทธิยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอํานาจขององค์กรอิสระได้โดยไม่จําเป็นต้องเป็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจระหว่างองค์กรอิสระตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ซึ่งการยื่นคําร้องในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหน้าที่และอํานาจ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรง หรือมีการกําหนดบทบาทและอํานาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไว้ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติหน้าที่และอํานาจของผู้ร้องไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) และ (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28
กรณีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ของราชการมิใช่หน้าที่และอํานาจของผู้ร้องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรง แต่เป็นหน้าที่และอํานาจของผู้ร้องที่จะต้องดําาเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 บุคคลใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะ เดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ย่อมมีสิทธิขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการดังกล่าว
หากมีข้อโต้แย้งประการใดย่อมเป็นหน้าที่และอํานาจของศาลที่มีเขตอํานาจพิจารณาพิพากษา กรณีตาม ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของผู้ร้องที่จะขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคําสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคําสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คําขออื่นย่อมเป็นอันตกไป
อนึ่งเกี่ยวกับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 นายวีระ สมความคิด เดินทางไปสำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ เพื่อเข้ารับเอกสารข้อมูล ผลสอบคดีนาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้เปิดเผยข้อมูลให้แก่นายวีระ อย่างเป็นทางการแล้ว แต่มีเงื่อนไขให้ปิดทับชื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อน แต่นายวีระ ยืนยันว่าต้องได้เอกสารครบ ทางกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติพิจารณาเปิดข้อมูลตามที่นายวีระขออีกครั้ง และในที่สุด ป.ป.ช.ยอมให้เอกสารทั้งหมด
แต่เอกสารทั้ง 3 รายการยังมีการคาดดำอยู่ นายวีระ เห็นว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาศาลปกครอง และเตรียมที่จะการดำเนินคดีต่อ ป.ป.ช. โดยจะนำเอกสารไปบังคับคดีกับศาลปกครอง พร้อมประกาศว่าจะฟ้องดำเนินคดีกับกรรมการ ป.ป.ช.และพนักงาน ป.ป.ช.ที่เกี่ยวข้อง ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหลังปีใหม่ด้วย
ผลการต่อสู้คดีในชั้นศาลครั้งใหม่ ระหว่าง นายวีระ กับ ป.ป.ช. ช่วงหลังปีใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดู