“…สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นตัวขับเคลื่อน สนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดให้เกิด 1 ครอบครัว 1 ทักษะ ซอฟต์พาวเวอร์…”
...................................
สืบเนื่องจากในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบ ‘ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568’ ตามที่สำนักงบประมาณ เสนอ และมอบหมายให้สำนักงบประมาณรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ โดยมีประเด็นเร่งด่วน 36 ประเด็นหลัก สรุปได้ดังนี้
@แก้ปัญหาเห็นต่างในเรื่อง‘รธน.’-ปราบผู้มีอิทธิพล
1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
การดำเนินการตามประเด็นเร่งด่วน 9 ประเด็นหลัก
1.เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.สนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนกับประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิด ศาสนา และอุดมการณ์ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภายใต้หลักนิติธรรมและบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิตสร้างความเข้าใจ เป็นต้น
3.การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
4.ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติด โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย และยึดทรัพย์ เจรจาทางการทูตกับประเทศตามแนวชายแดน เพื่อควบคุมการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเสี่ยง และสนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
5.พัฒนาและการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ พร้อมทั้งรับมือและลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงและการปรับตัวรับมือกับภัยธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ พัฒนาเครือข่ายในการจัดการภัยพิบัติสร้างระบบประกันภัยและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
6.ป้องกันภัยคุกคามข้ามชาติและเพิ่มความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์ เสริมสร้างศักยภาพของกลไกและหน่วยงานระดับชาติ พัฒนาการสืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์สร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันตนเองจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย ยับยั้งแนวคิดสุดโต่ง เป็นต้น
7.เสริมสร้างความปลอดภัยและขจัดเงื่อนไขความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้และการใช้ภาษาที่หลากหลาย
8.สนับสนุนการปรับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคงให้มีความทันสมัยและสามารถตอบสนองต่อการคุกคามและภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
9.สร้างบทบาทประเทศไทยในเวทีโลก ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ อย่างสมดุล กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รักษาบทบาทนำในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคและอนุภูมิภาค ดำเนินการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เร่งเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA)
ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุน สนับสนุนการสร้างฐานเศรษฐกิจในบริบทโลกใหม่ พัฒนากฎหมายและแนวปฏิบัติที่ยกระดับไทยสู่มาตรฐานระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนนโยบายความเป็นเจ้าของอธิปไตยทางข้อมูลจากเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มที่ทำธุรกิจจากคนไทย
อำนวยความสะดวกในการปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มประเทศเป้าหมาย รวมทั้งการเจรจาเพื่อยกระดับหนังสือเดินทางไทย (Passport) เป็นต้น
@ใช้‘ซอฟต์พาวเวอร์’สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวฯ
2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
การดำเนินการตามประเด็นเร่งด่วน 10 ประเด็นหลัก
1.ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืนที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การทำประมงถูกกฎหมาย การปฏิบัติต่อแรงงานที่ถูกต้อง เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่สนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ลดต้นทุนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขอรับรองมาตรฐานต่างๆ เป็นต้น
2.พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ยกระดับประสิทธิภาพการผลิต มุ่งเน้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน ผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงกับสาขาเศรษฐกิจอื่น / สนับสนุนเอกชนให้มีส่วนร่วมในการยกระดับบริการทางการแพทย์บนฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง
สนับสนุนการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากสมุนไพรไทย อาทิ การใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ พัฒนาฐานการผลิตและสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานต้นแบบเภสัชชีวภัณฑ์ ยา สมุนไพร และวัคซีน
พัฒนาต่อยอดฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ใช้นวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว พัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียน สนับสนุนการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง
ส่งเสริมการนำเทคโนโลยี อาทิ ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย 5G มาใช้พัฒนากำลังคนของประเทศ เพื่อรองรับการปรับตัวทางเทคโนโลยีนอนาคตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล
ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคส่วนต่างๆ และระบบขนส่งสาธารณะ การดัดแปลงรถเก่ามาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ขยายตลาดยานยนต์ไฟฟ้าและรักษาฐานการส่งออก ส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สร้างฐานการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ พัฒนาผู้ประกอบการเดิมให้ปรับเปลี่ยนไปสู่สายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
3.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นตัวขับเคลื่อน สนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดให้เกิด 1 ครอบครัว 1 ทักษะ ซอฟต์พาวเวอร์
พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการการท่องเที่ยวในเมืองรอง แหล่งท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวตามแนวคิดโมเดลอารมณ์ดีมีความสุข สร้างเครือข่ายและจัดหาเงินทุนเพื่อบ่มเพาะชุมชนให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมและสตาร์ทอัพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ปรับปรุงสนามบินและบริหารจัดการเที่ยวบินเพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว โดยปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มประเทศเป้าหมาย เป็นต้น
4.พัฒนาพื้นที่และเมืองให้เป็นไปตามผังเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน พัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคม เพื่อการวางแผนพัฒนาพื้นที่ สนับสนุนการเพิ่มบทบาท การขยายเครือข่ายของวิสาหกิจเพื่อสังคมในการพัฒนาพื้นที่และเมือง
ยกระดับความสามารถทางการเงินการคลังและการจัดการการลงทุนในระดับพื้นที่ ส่งเสริมการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายชุมชนเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มเปราะบาง พัฒนาและประเมินความพร้อมด้านดิจิทัลของเมืองให้พร้อมต่อการยกระดับเป็นเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น
5.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ โดยพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เป็นโครงข่ายหลักของประเทศเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มศักยภาพระบบขนส่งทางน้ำ พัฒนาร่องน้ำเศรษฐกิจ พัฒนาระบบขนส่งทางอากาศ โดยปรับปรุงสนามบินและจัดการเที่ยวบินให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
6.ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน บริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ วางแผนความต้องการ และสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้มีความพร้อมต่อปริมาณการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง สำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม สนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เป็นต้น
7.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัย นำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลรวมทั้งคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรดาวเทียมมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำรงชีพ สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายความเป็นเจ้าของอธิปไตยทางข้อมูล
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจากแพลตฟอร์มที่ทำธุรกิจจากข้อมูลของคนไทย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่สนับสนุนให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์พัฒนาบริการคลาวด์สาธารณะในประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา เป็นต้น
8.พัฒนาผู้ประกอบการในประเทศให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ เสริมสร้างความรู้พื้นฐานทางธุรกิจแก่เยาวชนและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ความรู้และทักษะเชิงลึกตามความต้องการเฉพาะด้านของสาขา
ส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระดมทุนผ่านตลาดทุนหรือแหล่งทุนทางเลือกที่หลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำ Matching Fund เพื่อลงทุนพัฒนา Start-up ให้เติบโตและแข่งขันได้ ส่งเสริม SME อย่างครบวงจร สนับสนุนตลาดทุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เร่งรัดให้มีการจดทะเบียนรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าระหว่างประเทศ (National Digital Trade Platform: NDTP) ที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วไปเข้าถึงได้สนับสนุน เป็นต้น
9.พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อเป็นฐานอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในพื้นที่ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง
ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พัฒนาต่อยอดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค ส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือและสะพานเศรษฐกิจ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและบริการในกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพ เป็นต้น
10.สนับสนุนการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตและแปรรูปแบบมุ่งเป้า ส่งเสริมและขยายผลงานวิจัยจากหน่วยงานวิจัย อาทิ มหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวศึกษา ภาคเอกชน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
พัฒนาสุดยอดผลิตภัณฑ์ อาทิ การพัฒนาระบบเซ็นเซอร์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ไฟฟ้า การจูงใจให้มีผู้ประกอบการด้านชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพิ่มขึ้น ส่งเสริมงานวิจัยเทคโนโลยีและพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนธุรกิจรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นต้น
@ส่งเสริมสถาบันศาสนาเป็น‘ซอฟต์พาวเวอร์’นำไทยสู่สากล
3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
การดำเนินการตามประเด็นเร่งด่วน 5 ประเด็นหลัก
1.ส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยมไทย ให้เป็นพื้นฐานของสังคมไทย และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการนำเสนอความเป็นไทยสู่สากล เสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อหรือภูมิคุ้มกันในการเลือกรับปรับใช้สื่อและสื่อออนไลน์
2.สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายพัฒนาทางเลือกในการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่ไม่สามารถเรียนในระบบให้มีความยืดหยุ่น หลากหลาย พัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการรอบด้าน พัฒนาครูและผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้และทักษะที่เพียงพอ
ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้วยกลไกนวัตกรรมการศึกษาขั้นสูง กระจายโอกาสในการพัฒนาสมรรถนะให้กับแรงงานทุกกลุ่ม ปรับปรุงรูปแบบการทำงานที่ทำงานได้ทุกที่ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด พัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve และ New S-Curve) เป็นต้น
3.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ในการดำรงชีพพัฒนากระบวนการเรียนรู้แนวใหม่ พัฒนาสถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัย ยกระดับการผลิตและพัฒนาครู ปรับบทบาทครูโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และวิธีการประเมินวิทยฐานะ โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
4.สร้างระบบสาธารณูปโภคให้เกิดสุขภาวะอนามัยที่ดีผ่านการพัฒนาระบบน้ำประปา สำหรับการอุปโภคและบริโภคอย่างทั่วถึง ลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พัฒนาระบบบริการ เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่นำไปสู่การสร้างสังคมสูงวัยและผลิตภัณฑ์ที่เอื้อต่อวิถีชีวิตปกติใหม่ พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับเป็นชุมชนคนสูงวัย เป็นต้น
5.ส่งเสริมและพัฒนาด้านกีฬาอย่างเป็นระบบ สนับสนุนกีฬาเพื่ออาชีพ โดยเฉพาะกีฬาที่เป็นที่นิยมในระดับสากล รวมทั้งการใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นตัวขับเคลื่อน
@หนุนกระจายอำนาจ‘ผู้ว่าฯซีอีโอ’-พักหนี้เกษตรกร
4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
การดำเนินการตามประเด็นเร่งด่วน 4 ประเด็น
1.การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่า CEO) สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากร งบประมาณ และการเลือกตัวแทนของผู้บริหารที่จะเป็นตัวแทนการพัฒนาท้องถิ่น ผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
2.เพิ่มการเข้าถึงบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง พัฒนาที่พักอาศัยให้ผู้สูงอายุได้อยู่อาศัยในบ้านพักตนเอง บูรณาการข้อมูลสวัสดิการและเงินช่วยเหลือทั้งหมดของผู้สูงอายุ พัฒนาผู้สูงอายุให้เป็นพลังของสังคม เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ภูมิปัญญา พัฒนานวัตกรรมรองรับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ
3.การพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมทั้งมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชน สนับสนุนแหล่งเงินทุนและทรัพยากรในการประกอบอาชีพ ส่งเสริมการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรและประชาชน ปรับระบบการออกเอกสารสิทธิ์ ขยายโอกาสในการเข้าถึงที่ดินทำกิน เป็นต้น
4.สร้างความเป็นธรรมในการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิประชาชนและผู้บริโภค ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพในชุมชน ส่งเสริมให้มีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม พัฒนาระบบประกันสังคมของแรงงานนอกระบบ พัฒนาและยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความเท่าเทียมคนทุกกลุ่มด้วยสวัสดิการของรัฐ บูรณาการความคุ้มครองทางสังคม โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กในครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ พัฒนากลไกการแก้ไขปัญหาครัวเรือนข้ามรุ่นในระดับพื้นที่ เป็นต้น
@แก้ปัญหาปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ
5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การดำเนินการตามประเด็นเร่งด่วน 5 ประเด็นหลัก
1.ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัย ปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และโลจิสติกส์ ให้นำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว มาใช้เป็นมาตรฐาน สนับสนุนให้มีการลงทุนด้านการใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น
2.ส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืน ตลอดจนแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคและบังคับใช้ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมประมง สนับสนุนการบริหาร อนุรักษ์ เพาะพันธุ์เพาะเลี้ยง พื้นที่ป่าชายเลนชายฝั่ง น้ำตื้น น้ำลึก และประมงพื้นบ้าน รวมถึงพันธุ์พืชเฉพาะถิ่น สัตว์น้ำและปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและผลผลิตทางการเกษตรตามธรรมชาติ
3.แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ (Carbon Neutrality) และสนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นผู้นำของอาเซียน รวมทั้งการเจรจาการค้าระหว่างประเทศภายใต้กฎกติกาใหม่ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศ
ส่งเสริมมาตรการจูงใจทั้งทางด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนามาตรฐานให้ครอบคลุมยานยนต์ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์สำหรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมและพัฒนาระบบตลาดคาร์บอน การสร้างรายได้จากการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ เป็นต้น
4.เพิ่มรายได้ชุมชนจากแนวทางขยะสุทธิเป็นศูนย์ สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่ ส่งเสริมให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างความตระหนักรู้ให้เกิดในสังคมให้คำนึงถึงความสำคัญของการดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นต้น
5.สร้างระบบสาธารณูปโภคให้เกิดสุขภาวะอนามัยที่ดีผ่านการพัฒนาระบบน้ำประปา เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาด สำหรับการอุปโภคและบริโภคอย่างทั่วถึง บริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ ส่งเสริมและผลักดันการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ เป็นต้น
@มุ่งหน้ารัฐบาลดิจิทัล-ใช้เทคโนโลยีสนับสนุนป้องกันทุจริต
6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
การดำเนินการตามประเด็นเร่งด่วน 3 ประเด็นหลัก
1.ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ พัฒนาบริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าแห่งชาติ พัฒนาระบบการเงินดิจิทัลรองรับบริการธุรกรรมทางการเงินสำหรับการลงทุนระหว่างประเทศ
ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน ส่งเสริมการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนาในมิติต่างๆ บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐโดยสมบูรณ์ พัฒนากลไกและสร้างแรงจูงใจให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
2.ส่งเสริมการจัดการปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสนับสนุนการป้องกันและขจัดการทุจริตที่ประชาชนมีส่วนร่วม สร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลภาครัฐ เปิดเผยข้อมูลผ่านเทคโนโลยีและช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชัน
3.ยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นและพัฒนากฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาและบูรณาการฐานข้อมูลกลางด้านกฎหมายของประเทศที่มีการจำแนกประเภทตามการใช้งานของประชาชนและผู้ประกอบการที่มีความสะดวก เข้าถึงได้ และเข้าใจง่าย
ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการสร้างความเป็นธรรมในการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของประชาชน
รายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย รายจ่ายเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
เหล่านี้เป็นสรุปรายละเอียดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบปี 2568 ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และจะเห็นได้ว่าในการจัดทำยุทธศาสตร์ฯปีนี้ ได้นำนโยบายของ 'พรรคเพื่อไทย' ไปขับเคลื่อนในหลายๆเรื่อง เช่น การแก้ปัญหาความเห็นต่างในรัฐธรรมนูญ ,ผู้ว่าฯซีอีโอ ,นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ ,ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค และการปราบผู้มีอิทธิพล เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม : ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568
อ่านประกอบ :
รัฐบาลเคาะ 7 แนวทางจัดทำงบปี 68 ยึด‘ยุทธศาสตร์ชาติ-หนุนเศรษฐกิจโต-เลิกโครงการไม่จำเป็น’
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า