"...ในการประชุม อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ครั้งนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ติดภารกิจ มอบหมายให้นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ทำหน้าที่เป็นประธานแทน ขณะที่ผู้แทน กพ.ใน อ.ก.พ.กระทรวงขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ด้วย..."
ปัจจุบัน นางจุรีพร ขันตี ได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิมแล้ว หลังจากผลการสอบสวนของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พบว่ามีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง
คือ ข้อมูลสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวในกระทรวงวัฒนธรรม ถึงสถานะของ นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลังจากก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนพ.ย.2565 ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าปฏิบัติการวางแผนเข้าจับกุมนางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท จากการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล
โดยพฤติการณ์ความผิดตามข้อกล่าวของ นางจุรีพร ถูกระบุว่า ใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่ อนุมัติให้จัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ซึ่งใช้เงินงบประมาณ ของสํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในจํานวน 80,000 บาท โดย นางจุรีพร ขันตี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณ ทําเรื่อง สัญญาว่าจ้าง กับ นาง ม. ประกอบอาชีพ เปิดร้านค้าขายของชําและสินค้าทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นป้าของผู้แจ้ง เป็นผู้รับจ้างจัดงานโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80,000 บาท แต่ไม่ได้มีการว่าจ้างกันจริง เนื่องจาก นาง ม. ผู้รับจ้างไม่ได้เป็นผู้จัดหาหรือจัดทําตามรายการใบเสนอราคาและใบสั่งจ้างของ สํานักงานวัฒนธรรมฯแต่อย่างใด โดยทางเจ้าหน้าที่สํานักงานวัฒนธรรมฯเป็นผู้ทําเอกสารการว่าจ้างมาเองทั้งหมดให้นาง ม. ลงชื่ออย่างเดียว
หลังถูกจับกุมตัว เจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา นางจุรีพร 3 ฐานความผิด คือ 1. เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย (ตาม ป.อาญา มาตรา 147)
2. เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม (ตาม ป.อาญา มาตรา 157)
3. เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ (ตาม ป.อาญา มาตรา 151) หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงได้รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษดัง กล่าวไว้ดำเนินการสอบสวนต่อไป และ ให้ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
พร้อมแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบ เบื้องต้นในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การภาคเสธ นางจุรีพรฯ อ้างว่าเป็นเงินที่รับไว้จริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด โดยสำนวนคดีอาญา ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
ต่อมามีรายงานข่าวว่า นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ลงนามในคำสั่งให้ นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา เข้ามาช่วยปฏิบัติหน้าที่ราชการในภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ส่วนกลาง) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ แต่ในคำสั่งดังกล่าว ไม่ได้มีการระบุข้อมูลเรื่องการทุจริตรับเงิน 8 หมื่นบาท ด้วยแต่อย่างใด
- ฉบับเต็ม! เปิดยุทธการจับสด วธ.อยุธยา ทุจริต 8 หมื่น จ้างทิพย์จัดพิธีกรรมบวงสรวงเทพยดา
- ทุจริตเงิน 8 หมื่น! จับสด วธ.อยุธยา จ้างจัดทิพย์พิธีกรรมบวงสรวงเทพยดาวัดใหญ่ชัยมงคล
- วธ.สั่งสอบทั่ว ปท.! สวจ.อยุธยายังไม่ทราบเรื่องวัฒนธรรมจังหวัดทุจริต 8 หมื่น
- ให้มาช่วยงานส่วนกลาง! ปลัดก.วัฒนธรรม สั่งย้ายด่วน วธ.อยุธยาถูกจับสดทุจริตเงิน 8 หมื่น
- ข่าวจริง! วธ.อยุธยา ถูกจับสดคดีจ้างทิพย์จัดพิธีกรรมฯได้คืนตำแหน่ง-สะพัดแค่ผิดไม่ร้ายแรง
หลังจากนั้น เรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่ง สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลว่า ปัจจุบัน นางจุรีพร ขันตี ได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิมแล้ว หลังจากผลการสอบสวนของ วธ. พบว่ามีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันข้อมูลเรื่องนี้ ใน 2 ส่วน คือ
1. จากการโทรศัพท์ติดต่อไปยัง วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ให้ข้อมูลยืนยันว่า นางจุรีพร ขันตี ได้ย้ายกลับไปมาปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยาตามเดิมแล้ว
ส่วนเหตุผลการย้ายกลับมาปฏิบัติหน้าที่เดิม เป็นเพราะผลการสอบสวนพบว่ามีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรงใช่หรือไม่นั้น ไม่ได้รับการยืนยันข้อมูลเป็นทางการ
เจ้าหน้าที่รายนี้ ตอบเพียงแค่ว่า "ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะเป็นเรื่องลับ และตนเองเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานเท่านั้น" เมื่อถามว่า จะขอสัมภาษณ์ นางจุรีพร ขันตี ได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่รายเดิม ตอบว่า "นางจุรีพร ขันตี ติดภารกิจประชุมอยู่"
2. จากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารเพื่อยืนยันว่า นางจุรีพร ขันตี ได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จริงหรือไม่ พบว่า ในเว็บไซต์สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ได้เผยแพร่ประกาศจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่องผู้ชนะการประกวดราคาจ้างกิจกรรมลานวัฒนธรรม ในงานยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ลงนามโดย นางจุรีพร ขันตี ในฐานะวัฒนธรรมจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรี อยุธยา
จากข้อมูลทั้งสองส่วนดังกล่าว สามารถยืนยันได้ว่า นางจุรีพร ขันตี ได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิมจริง
ส่วนข้อเท็จจริงการสอบสวนทางวินัย ที่พบว่ามีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง
อันนำมาซึ่งข้อสังเกตในประเด็นสำคัญที่ว่า ทำไมผลการสอบสวนทางวินัย ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ถึงตัดสินลงโทษนางจุรีพร ขันตี ว่ามีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง ทั้งที่ถูกจับสดขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท และถูกแจ้งข้อกล่าวหาถึง 3 ฐานความผิด
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได่รับการยืนยันข้อมูลลับจากแหล่งข่าวในกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่า ในการประชุม อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2566 ที่ประชุมได้มีการพิจารณารายงานคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง กรณี นางจุรีพร ขันตี เป็นทางการ และมีมติว่า พฤติการณ์ของนางจุรีพร เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง สมควรลงโทษตัดเงินเดือน ร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน
อย่างไรก็ดี การพิจารณาเรื่องดังกล่าว สวนทางกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง ที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายคณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างมากเห็นควร ลงโทษในระดับปลดออก
ส่วนฝ่ายคณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างน้อยเห็นควร ลงโทษในระดับไล่ออก
แต่ที่ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ครั้งดังกล่าว กลับมีมติให้ลงโทษนางจุรีพร เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง สมควรลงโทษตัดเงินเดือน ร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน เท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ ในการประชุม อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ครั้งนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ติดภารกิจ มอบหมายให้นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ทำหน้าที่เป็นประธานแทน ขณะที่ผู้แทน ก.พ.ใน อ.ก.พ.กระทรวงขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ด้วย
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
@ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร /ภาพจากhttps://www.thaigov.go.th/news/contents/details/34540)
หลังจากนั้น ทางกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนนางจุรีพร ขันตี ตามมติ อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม และยกเลิกคำสั่งพักราชการ ส่งผลทำให้ นางจุรีพร กลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิม ดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
คำถามที่ยังไม่มีคำตอบต่อกรณีนี้ คือ ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ใช้หลักการ เหตุผลอะไรในการหักล้างผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแบบนี้ ?
ข้อเท็จจริงทั้งหมดคงต้องรอฟังจาก นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่จะต้องออกมาชี้แจงเป็นทางการต่อสาธารณชนอีกครั้ง
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ ทั้งในส่วนของข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งส่วนกลางและอยุธยา รวมไปถึงเจ้าพนักงานสอบสวน ทั้งในส่วนของ ปปป. และ ป.ป.ช. ที่ทุ่มเททำคดีนี้อย่างเต็มที่ที่เริ่มมีการกังขาต่อมติ ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ดังกล่าว ยังไม่นับรวมถึงความปลอดภัย ของ นาย ส. (ชื่อย่อ) นักวิชาการประจำสำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์/กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีกับ นางจุรีพร ด้วย
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับคดีนี้ในส่วนคดีอาญา สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การสอบสวนคดีจับกุมนางจุรีพร ขันตี รับเงินจำนวน 80,000 บาท เพื่อเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและพิสูจน์เจตนาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล
ปัจจุบันศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาตัดสินชี้ขาดว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมาย
นางจุรีพร ขันตี จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่