"...นายเจริญ จรรย์โกมล ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการค่าใช้จ่าย ในการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ...ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตร่วมกันกับเจ้าหน้าที่กลุ่มงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง จัดทำและนำเสนอขออนุมัติจัดโครงการสัมมนาในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงทางการเมืองของตน และ พรรคการเมืองของตน และร่วมกันทุจริตจัดทำเอกสารโครงการอันเป็นเท็จเพื่อเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดโครงการ..."
คดีกล่าวหา นายเจริญ จรรย์โกมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กับพวก ทุจริตโครงการเสริมสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ ในทางการเมืองการปกครอง
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2566 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายเจริญ จรรย์โกมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีถูกกล่าวหาจัดสัมมนาเท็จ หลังตรวจสอบพบทำหลายโครงการหลายพื้นที่แต่ไม่ได้ไปจริง แค่พาหัวคะแนนมาเที่ยวสภาฯ
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดทางอาญา นายเจริญ จรรย์โกมล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157,161 , 162 ประกอบมาตรา 83 และฐานความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192
หลังไต่สวนพยานเอกสารหลักฐาน พบว่า มีการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่นหรือของพรรคการเมือง ในการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเป็นเหตุให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหาย
ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ นอกจาก นายเจริญ จรรย์โกมล แล้วยังมีกลุ่มข้าราชการเจ้าหน้าที่ และเอกชนอีก 9 ราย โดยผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มข้าราชการเจ้าหน้าที่ ที่ถูกคณะกรรมการไต่สวนเสนอชื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิด มีนายสุวิจักขณ์ หรือนายวัชระชัยย์ นาควัชระชัย หรือนาควัชระชัยท์ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวมอยู่ด้วย
- มติเอกฉันท์! ป.ป.ช.ชี้มูล'เจริญ' อดีตรองปธ.สภาฯ คดีจัดสัมมนาเท็จพาหัวคะแนนเที่ยวสภาฯ
- เผยข้อกล่าวหา 'เจริญ จรรย์โกมล 'คดีจัดสัมมนาเท็จ-ชั้นไต่สวนโดน10 คน มี 'สุวิจักขณ์' ด้วย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายเจริญ จรรย์โกมล และพวก ในคดีนี้ เป็นทางการ
โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิด ประกอบไปด้วย นายเจริญ จรรย์โกมล นางสาววรุณี ผิวนวล นายสุวิจักขณ์ หรือนายวัชระชัยย์ นาควัชระชัย หรือนาควัชระชัยท์ นายเอรวัตร อุ่นกงลาด นายเดชชาติ จันทรัตน์ นางสาวลักขะณา นามเที่ยง และนายอมรเทพ เพิกอินทร์ บริษัท เค.เอ็น.ไอ. (ไทยแลนด์) จำกัด และนางกณกพร เฟื่องศิริวัฒนกุล หรือโพธิ์เกตุ มีมูลความผิดทางอาญา ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยัง อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจต่อไป
ปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้
สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายเจริญ จรรย์โกมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กับพวก ทุจริตโครงการเสริมสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในทางการเมืองการปกครอง
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นายเจริญ จรรย์โกมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของกลุ่มงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงในการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือพรรคการเมือง
โดยนายเจริญ จรรย์โกมล ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการค่าใช้จ่าย ในการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณา กลั่นกรอง กำหนดขอบเขตแนวทางการดำเนินงานจัดกิจกรรมในโครงการตามที่ตนเองสั่งการ และใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตร่วมกันกับเจ้าหน้าที่กลุ่มงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง จัดทำและนำเสนอขออนุมัติจัดโครงการสัมมนาในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงทางการเมืองของตน และ พรรคการเมืองของตน และร่วมกันทุจริตจัดทำเอกสารโครงการอันเป็นเท็จเพื่อเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดโครงการ
ทั้งที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการไม่ได้เดินทางไปจัดโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด
การกระทำของนายเจริญ จรรย์โกมล พร้อมพวก จึงเป็นการร่วมกันทุจริตจัดโครงการไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้รับอนุมัติ เป็นเหตุให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติ ดังนี้
การดำเนินการทางอาญาและวินัย
1. การกระทำของนายเจริญ จรรย์โกมล มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 มาตรา 161 มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
2. การกระทำของนางสาววรุณี ผิวนวล มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 มาตรา 161 มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 และ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
3. การกระทำของนายสุวิจักขณ์ หรือนายวัชระชัยย์ นาควัชระชัย หรือนาควัชระชัยท์ นายเอรวัตร อุ่นกงลาด นายเดชชาติ จันทรัตน์ นางสาวลักขะณา นามเที่ยง และนายอมรเทพ เพิกอินทร์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 มาตรา 161 มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิด ทางวินัยอย่างร้ายแรง
4. การกระทำของนายจีรพงศ์ วัฒนะรัตน์ ไม่มีมูลความผิดทางอาญา ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง
5. การกระทำของบริษัท เค.เอ็น.ไอ. (ไทยแลนด์) จำกัด และนางกณกพร เฟื่องศิริวัฒนกุล หรือโพธิ์เกตุ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 มาตรา 161 มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยัง อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป
สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินในการดำเนินโครงการตามที่มีการกล่าวหา ซึ่งได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง ให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอน ดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 64 ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินคดีเป็นทางการ ผู้ถูกกล่าวหาจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ผลการต่อสู้คดีในชั้นศาล เป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
กล่าวสำหรับข้อมูลนายเจริญ จรรย์โกมล ถูกระบุว่า เคยประกอบอาชีพเป็นทนายความ เริ่มต้นเข้าสู่งานการเมืองโดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชัยภูมิ ในการเลือกตั้ง เดือนกันยายน พ.ศ. 2535 สังกัดพรรคชาติไทย ต่อมาได้ย้ายมาสังกัดพรรคความหวังใหม่ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยตามลำดับ เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร 3 คณะ คือ ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ลำดับที่ 12 แต่พรรคไทยรักษาชาติ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง
ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 นายเจริญและลูกชาย นาย ธนกฤต จรรย์โกมล เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (อ้างอิงข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
ส่วน นายสุวิจักขณ์ หรือนายวัชระชัยย์ นาควัชระชัย หรือนาควัชระชัยท์ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2566 ป.ป.ช. ได้แถลงผลชี้มูลความผิดกรณีจัดจ้างโครงการปรับปรุงระบบนาฬิกา (Clock system) สำหรับติดตั้งบริเวณภายในและโดยรอบอาคารรัฐสภา โดยมิชอบ ไปแล้ว
นับรวมคดีใหม่นี้ด้วย เท่ากับ นายสุวิจักขณ์ หรือนายวัชระชัยย์ นาควัชระชัย หรือนาควัชระชัยท์ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาไปแล้ว 2 คดี